การฝังเข็มรักษาอาการปวดเส้นประสาทจากงูสวัด

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  3285 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฝังเข็มรักษาอาการปวดเส้นประสาทจากงูสวัด

อาการปวดปลายประสาทจากงูสวัด เป็นการปวดตามปมเส้นประสาทบริเวณที่เป็นงูสวัด มักเป็นตามรอยโรคงูสวัด อาการปวดมีความสัมพันธ์กับระดับการอักเสบของปมประสาทในช่วงที่เป็นงูสวัด แม้ว่าแผลจะหายแล้วแต่ยังมีอาการแสบร้อนปวดแปล๊บๆ คล้ายถูกไฟช็อต หรือเข็มแทง ปวดแสบปวดร้อน ชา คัน อาการปวดมากขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นด้วยสัมผัสต่างๆ มักส่งผลให้กระทบต่อการใช้ชีวิต รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ในมุมมองศาสตร์การแพทย์แผนจีน อาการปวดปลายประสาทจากงูสวัดยังจัดอยู่ในขอบเขตของกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด มักเกิดจากความเครียด อารมณ์แปรปรวน การพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงการทานอาการที่ไม่สมดุล ทำให้ตับ อุดกั้น ม้ามพร่อง เมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะไม่สมดุล ภูมิต้านทานลดลง เมื่อได้รับปัจจัยก่อโรคจากภายนอก ทำให้ติดเชื้อและเกิดงูสวัดได้

อาการของโรค (อาการแสดง/ข้อบ่งชี้) (辩证要点)
1. มีประวัติเป็นงูสวัด
2. บริเวณที่เป็นงูสวัดมีอาการปวด แสบ ร้อน คัน ชา

สาเหตุของโรค (病因病机)
1. อารมณ์แปรปรวน ชี่ตับอุดกั้น ทำให้มีความร้อนในเส้นลมปราณตับ
2. การรับประทานที่ไม่สมดุล ม้ามพร่องเกิดความชื้น  ทำให้เส้นลมปราณม้ามมีความร้อนชื้นตกค้าง
3. ผู้ป่วยสูงอายุหรือสภาพร่างการอ่อนแอ มีภาวะเลือดน้อย ทำให้ชี่ติดขัดเลือดคั่ง

การวินิจฉัย (诊断)
อาการปวดเส้นประสาทจากงูสวัด (Postherpetic Neuralgia)

แนวทางการรักษา
รักษาด้วยการฝังเข็มและการกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า

ตัวอย่างกรณีศึกษา

ข้อมูลผู้ป่วยรายที่ 1
HN: 3XXXXX
เพศชาย  อายุ 36 ปี

เข้ารับการรักษาครั้งแรกวันที่  4 กุมภาพันธ์ 2566
อาการสำคัญ ปวดบริเวณช่วงอกข้างขวาถึงต้นแขนด้านใน 3 สัปดาห์ ตามรอยโรคงูสวัด

ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
ปวดบริเวณช่วงอกข้างขวาถึงต้นแขนด้านในและช่วงสะบักหลัง ลักษณะปวดแบบเข็มแทง ปวดแสบร้อนชัดเจนตามรอยแผลงูสวัดโดยเฉพาะท้องแขนด้านใน เมื่ออากาศร้อน หรือเวลาเสื้อเสียดสีช่วงอก มีอาการเจ็บจี๊ดขึ้นมา ปวดหนักตอนกลางคืน เข้านอนยาก รู้สึกตัวระหว่างคืน มีความเครียดในการทำงาน การรับประทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติ

การตรวจลิ้นและชีพจร ลิ้นแดงฝ้าเหลืองบาง ชีพจรตึงเร็ว

ประวัติการรักษาในอดีต ช่วงงูสวัด ทานยา Acyclovir 800 mg.  วันละ5ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน
-ใช้ยาgabapentin 300 mg. ทานได้3วัน ผู้ป่วยรู้สึกคลื่นไส้ เลยหยุดทานยาเอง

การวินิจฉัย
ชื่อโรคทางแพทย์แผนจีน งูสวัด (蛇串疮(U78.403)) / จัดเป็นกลุ่มอาการ ตับและถุงน้ำดีร้อนชื้น (肝胆湿热证(U79.512))
ชื่อโรคทางแผนปัจจุบัน ปวดปลายประสาทจากงูสวัด (带状疱疹后神经痛(G53.0))

การรักษา  การฝังเข็มและกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า ฝังเข็มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ประเมินผลการรักษา

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 2 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566
- อาการปวดแสบร้อนดีขึ้นชัดเจน ยังมีอาการปวดช่วงหน้าอกแต่น้อยลง กลางสะบักหลังยังมีอาการสามารถเข้านอนได้ง่ายขึ้น ตื่นระหว่างคืนน้อยลง

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 3 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566
- อาการปวดแสบร้อนหายไป มีอาการปวดเหมือนเข็มแทงช่วงหน้าอก อาการปวดกลางสะบักหลังน้อยลง บางครั้งยังมีอาการปวดจี๊ดถึงข้อศอกด้านใน การนอนหลับปกติ

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 4 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
- อาการปวดหายไป สามารถทำงานได้ปกติ คุณภาพชีวิตดีขึ้น แจ้งผู้ป่วยให้หยุดการรักษา

ติดตามอาการวันที่ 15 มีนาคม 2566
-ไม่มีอาการปวดปลายประสาทจากงูสวัดกำเริบ

สรุปผลการรักษา การฝังเข็มสามารถรักษาอาการปวดเส้นประสาทจากงูสวัดได้ผลดี มีประสิทธิภาพ เคสการรักษานี้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มเร็ว อายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว ทำให้ผลการรักษาดี

ข้อมูลผู้ป่วยรายที่ 2
HN: 3XXXXX
เพศหญิง   อายุ 59 ปี

เข้ารับการรักษาครั้งแรกวันที่  8 กุมภาพันธ์ 2566
อาการสำคัญ
ปวดบริเวณช่วงใต้อกข้างขวา ชายโครงและเอวขวา 3 เดือน ตามรอยโรคงูสวัด

ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
ปวดบริเวณช่วงใต้อกข้างขวา ชายโครงและเอวขวา
ลักษณะปวดแปล็บคล้ายไฟช็อต ปวดแบบเข็มแทง ปวดแสบร้อนใต้อกชัดเจน บางครั้งรู้สึกจุกเสียดแถวกลางอก ทำให้ไม่สามารถใส่เสื้อผ้าที่รัดหรือเข้ารูปได้ วิตกกังวลสูง นอนไม่หลับ เข้านอนยาก การรับประทานอาหารปกติ มีอาการท้องอืดบางครั้ง การขับถ่ายปกติ

การตรวจลิ้นและชีพจร ลิ้นแดงคล้ำฝ้าขาว ชีพจรตึง

โรคประจำตัว HT,DM ทานยารักษาต่อเนื่อง

ประวัติการรักษา ณ วันที่เข้ารับการฝังเข็ม ใช้ยาgabapentin 600 mg.

การวินิจฉัย
ชื่อโรคทางแพทย์แผนจีน งูสวัด (蛇串疮(U78.403)) / กลุ่มอาการ ชี่ติดขัดเลือดคั่ง (气滞血瘀(U79.227))
ชื่อโรคทางแผนปัจจุบัน ปวดปลายประสาทจากงูสวัด (带状疱疹后神经痛(G53.0))

การรักษา  การฝังเข็ม   ฝังเข็มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ประเมินผลการรักษา

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 2 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566
- อาการปวดเอวฝั่งขวาลดลง แต่ยังมีอาการปวดที่ใต้อกกับชายโครงชัดเจน อาการแสบร้อนลดลง นอนไม่หลับ

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 5 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566
- อาการปวดแสบร้อนดีขึ้น อาการปวดช่วงใต้อกและชายโครงลดลงชัดเจน สามารถใส่เสื้อชั้นในได้ แต่ยังมีอาการปวดจี๊ดบางครั้ง การนอนหลับดีขึ้น อาการวิตกกังวลเบาลง

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 8 วันที่ 10 มีนาคม 2566
- อาการแสบร้อนและปวดเอวหายไป  อาการปวดใต้อกและชายโครงลดลง แต่ยังมีกำเริบบ้าง ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถทำงานได้ปกติ         

ผู้ป่วยประสงค์ลดยาแผนปัจจุบัน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้เพื่อปรับลดยา

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 11 วันที่ 20 มีนาคม 2566
- อาการปวดใต้อกและชายโครงลดลงชัดเจน อาการแสบร้อนหายไป นอนหลับปกติ

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 12 วันที่ 29 มีนาคม 2566
- หากยกของหนักหรือใส่เสื้อรัดเกินไป ช่วงชายโครงขวามีอาการปวดกำเริบบางครั้ง แต่ไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิต  ผู้ป่วยประสงค์เข้ารับการฝังเข็มด้วยอาการอื่นแทน

สรุปผลการรักษา
การฝังเข็มสามารถรักษาอาการปวดเส้นประสาทจากงูสวัดได้ผลดี มีประสิทธิภาพ เคสการรักษารายนี้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มค่อนข้างช้า ประกอบกับอายุเยอะ มีโรคประจำตัวทำให้ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเส้นประสาท แม้ว่าอาการปวดสามารถบรรเทาลงได้ แต่หากมีปัจจัยกระตุ้นอาการยังสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ แต่ระดับความปวดน้อยลง หากเทียบกับก่อนรักษา ไม่ส่งกระทบต่อคุณภาพชีวิต

วิเคราะห์ผลการรักษา(分析)
การฝังเข็มเป็นการตุ้นการไหลเวียนเลือด สามารถบรรเทาอาการปวดได้ผลดี ไม่ว่าการปวดจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นหรือปวดจากเส้นประสาท จากการศึกษาวิจัยพบว่าการฝังเข็ม สามารถกระตุ้นการหลั่งกลุ่มฮอร์โมนendorphin serotoninและการออกฤทธิ์ยับยั้งความรู้สึกปวดโดยการกระตุ้นใยประสาท A-delta ทำให้เกิดการยับยั้งการส่งสัญญาณประสาทของความปวดไปยังไขสันหลัง[1] ทั้งนี้ผลการรักษาอาการปวดเส้นประสาทจากงูสวัดขึ้นอยู่กับช่วงอายุผู้ป่วย ตำแหน่งของผื่น ความรุนแรงของผื่นในช่วงที่เป็นงูสวัด ระยะเวลาในการเป็นรวมถึงระยะเวลาในการเข้ารับการรักษา โดยทั่วไปกลุ่มอาการทางเส้นประสาท หากเข้ารับการรักษาภายใน 2สัปดาห์ถึง1เดือนหลังจากเกิดโรค ให้ประสิทธิผลในการรักษาดีขึ้นชัดเจน

การป้องกันโรค/อาการ (预防调护)
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด
- หลีกเลี่ยงการเครียด กังวล ทำจิตใจให้แจ่มใส

------------------------

บทความโดย

แพทย์จีนรติกร อุดมไพบูลย์วงศ์  (หมอจีน เวิน เจิน ฮุ่ย)
温珍慧 中医师
TCM. Dr. Ratikon Udompriboonwong (Wen Zhen Hui)
แผนกฝังเข็ม

เอกสารอ้างอิง(参考文献)
[1] Zhang R, Lao L, Ren K, Berman BM. Mechanisms of acupuncture-electroacupuncture on persistent pain. Anesthesiology. 2014;120:482-503.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้