Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 2342 จำนวนผู้เข้าชม |
การครอบแก้วเป็นเทคนิควิธีการรักษาที่มีมานาน แพร่หลาย โดยวิธีการหรือรูปแบบการรักษามักเกี่ยวข้องกับ ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ การใช้วัสดุอุปกรณ์ขึ้นอยู่กับภูมิภาคและยุคสมัยนั้นๆ เช่น เขาสัตว์ ไม้ไผ่ โลหะ หรือเซรามิก แก้วเป็นต้น วัตถุประสงค์ของการครอบแก้วเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ให้ร่างกายเยียวยารักษาตัวเอง ซึ่งการครอบแก้วนั้นมีการถูกค้นพบตั้งแต่สมัยโบราณ วัฒนธรรมอียิปต์ จีน เกาหลี ละตินอเมริกา และในแอฟริกาเหนือการบำบัดด้วยการครอบแก้วได้มีกล่าวถึงไว้ในตำรายาอียิปต์โบราณปาปิรุสอีเบอร์(Eber’s papyrus) กลุ่มประเทศอาหรับและอิสลาม ได้มีบันทึกเกี่ยวกับการกรอกเลือด(Hijama) ในหนังสือ Canon of Medicine(Al-Qanun fi’t-Tibb)
ส่วนในประเทศจีนได้ถึงกล่าวถึงวิธีการที่คล้ายกับการครอบแก้ว ในช่วงก่อนราชวงศ์ฉิน(先秦)หรือช่วงยุคชุนชิวจ้านกั๋ว(春秋战国) ซึ่งในช่วงนี้มีการบันทึกเกี่ยวกับการรักษาโรคฝีหนอง โดยในตำราใช้เขาสัตว์มาเป็นอุปกรณ์ เรียกว่า เจียวฟ่า(角法) โดยปลายเขาสัตว์เจาะให้เป็นรูแล้วนำมาครอบและใช้ปากดูดบริเวณที่เป็นแผลฝีหนอง มีการคาคการณ์ว่าตำราตำรับรักษาโรค52ชนิด《五十二病方》เกี่ยวกับการแพทย์ที่บันทึกเกี่ยวกับการรักษาโรคฝีหนองด้วยเจียวฟ่าปรากฏขึ้นในช่วงยุคสมัยนี้(ภายหลังถูกค้นพบในปี ค.ศ.1973 บริเวณสุสานหลวง มณฑลหูหนาน)
ช่วงยุคจิ้น(晋)และถัง(唐)
ยุคตงจิ้น(东晋)มีบุคคลสำคัญนามว่าเกอหง(葛洪)เป็นผู้เขียนโจ่วโฮ้วเป้ยจี๋ฟาง《肘后备急方》ในตำราเล่มนี้ ได้มีการรวบรวมข้อมูลวิธีการ และข้อควรระวังในการใช้เจียวฟ่ารักษาโรคฝีหนอง ก้อนต่างๆ
ยุคสุยถัง(隋唐)ในยุคนี้มีความสำคัญของวิวัฒนาการอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาจากเดิมที่ใช้เจียวฟ่า เปลี่ยนมาใช้กระบอกไม้ไผ่หรือจู๋ก้วน(竹罐)ในการครอบซึ่งหาง่าย ราคาถูก ทนทานมีแรงดูดเยอะ ในสมัยถังการครอบแก้วไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่ยังให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ มีตำรา《外台秘要》เป็นการบันทึกรายละเอียดและวิธีการใช้จู๋ก้วน(ในสมัยนั้นวิธีการคือนำกระบอกไม้ไผ่ไปต้มกับน้ำร้อน เพื่อให้ไอความร้อนของน้ำที่เดือดเกิดเป็นสุญญากาศภายในกระบอกไม้ไผ่ก่อนครอบลงบนผิวหนัง เรียกว่ากระบอกไผ่ต้มยา竹罐水煮排气法หรือ煮罐法 )
ช่วงยุคซ่ง(宋) ,จิน(金)และหยวน(元)
ยุคนี้จู้ก้วนเป็นที่นิยมและเข้ามาแทนที่วิธีการเจียวฟ่า โดยริเริ่มการใช้ตัวยาลงไปต้มกับกระบอกไม้ไผ่ เรียกว่า เย้าจู่ก้วนฟ่า(药煮罐法) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ในช่วงยุคสมัยซ่ง มีบันทึกในหนังสือซูเซิ่นเหลียงฟาง《苏沈良方》เกี่ยวกับการใช้ไฟมาเป็นตัวนำทำให้เกิดสูญญากาศในตัวแก้วแบบที่นิยมให้ในปัจจุบัน ในสมัยนั้นเรียกว่า ฮั่วท่ง(火筒)ใช้ในการรักษาอาการไอเรื้อรัง แสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยนี้ การครอบแก้วไม่ได้นำมารักษาแค่โรคภายนอก ผิวหนัง ฝีหนองเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำมารักษาโรคทางอายุรกรรมด้วย
ช่วงยุคหมิง(明)และชิง(清)
การครอบแก้วในยุคนี้มีบทบาทสำคัญสำคัญในการนำมารักษาโรคอายุรกรรมภายนอก มีตำราไว่เคอเจิ้งจง《外科正宗》บันทึกไว้เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยเย้าจู่ก้วนฟ่า ต่อมาในยุคสมัยชิงมีการพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาจากกระบอกไม้ไผ่เป็นเซรามิก เนื่องจากกระบอกไม้ไผ่ เมื่อให้ไปนาน ความทนทานน้อยลง กรอบแตกง่ายเกิดรูรั่ว ทำให้แรงดูดไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนเป็นเซรามิก และมีการกล่าวถึงการใช้ไฟมาเป็นตัวทำให้เกิดสุญญากาศ เรียกว่า ฮั่วก้วน(火罐- Fire Cupping)ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ในยุคสมัยชิงมีตำราเปิ่นเฉ่ากังมู่สืออี๋《本草纲目拾遗》รวบรวมวิธีการใช้ฮั่วก้วนอย่างละเอียดเกี่ยวกับการรักษา ข้อควรระวัง รวมถึงกลุ่มโรคที่เหมาะในการใช้วิธีการนี้
การครอบแก้วเป็นศาตร์การรักษาที่มีมานาน มีวิวัฒนาการ พัฒนารูปแบบและอุปกรณ์การรักษา จวบจนปัจจุบัน การครอบแก้วได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นครอบแก้วแบบสุญญากาศ(Dry Cupping), ครอบแก้วแบบใช้ไฟ(Fire Cupping) หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่ใช้ครอบในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบและขนาดของถ้วยแก้ว การครอบแก้วเป็นหัตถการที่ต้องอาศัยความชำนาญในการฝึกฝน แต่ละอุปกรณ์มีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ควรทำในสถานพยาบาลที่ถูกต้องภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ ควรคำนึงถึงความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ วัตถุประสงค์ในการรักษาเป็นหลัก
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนรติกร อุดมไพบูลย์วงศ์ (หมอจีน เวิน เจิน ฮุ่ย)
温珍慧 中医师
TCM. Dr. Ratikon Udompriboonwong (Wen Zhen Hui)
แผนกฝังเข็ม
REFERENCES:
1. ANNA DINALLO.A REFLECTION ON CUPPING THERAPY AND HISTORICAL MEDICAL DOMINANCE,2019.
2. Liu HL. The Development History of Cupping,The First Affiliated Hospital of Henan University of Traditional Chinese Medicine,2017.
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567