Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 9210 จำนวนผู้เข้าชม |
ว่านหางจระเข้ Aloe vera L.var.chinensis (Haw.) Berg หรือ 芦荟 ในทางการแพทย์แผนจีน มีฤทธิ์เย็น รสขม เข้าเส้นลมปราณ ตับและลำไส้ใหญ่ มีสรรพคุณ ในการระบาย ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย ลดความร้อนที่ตับ ส่งเสริมการไหลเวียนเลือด และขยายหลอดเลือดฝอย ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และเชื้อโรคอื่น ๆ ได้หลากหลายชนิด ทั้งยังยับยั้งการพัฒนาและการแพร่พันธุ์ของเชื้อโรค
การศึกษาสมัยใหม่และงายวิจัยหลายๆฉบับ แสดงให้เห็นว่านอกเหนือจากหน้าที่ดั้งเดิมในเรื่องการกระตุ้นระบบขับถ่าย ลดความร้อน ส่งเสริมการไหลเวียนเลือด และ ต้านเชื้อโรคแล้ว ว่านหางจระเข้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ต่อต้านความเสื่อม ต่อต้านริ้วรอย ต่อต้านเนื้องอก ปรับปรุงภูมิคุ้มกัน ลดคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเลือด และต้านการอักเสบ สมานแผล ช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น ได้อีกด้วย
ดังนั้นว่านหางจระเข้จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค และในด้านสุขภาพผิวพรรณความงามอย่างแพร่หลาย ทั้งการรับประทานบำรุงจากภายในและการรักษาโดยใช้ภายนอก
ในทางการรักษาผิวพรรณ ว่านหางจระเข้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหา สิว ผิวแห้ง ผิวขาดความชุ่มชื้น ผิวหนังอักเสบ ผิวแดง ผิวหนังแสบไหม้ จากแสงแดด หรือการทำเลเซอร์ เป็นต้น
วันนี้มีเคล็ดลับบำรุงผิวสำหรับผิวแห้ง ผิวเป็นสิว และวิธีบำรุงเส้นผมจากธรรมชาติมาฝากกันค่ะ
สำหรับผิวแห้ง ขาดน้ำ ผิวไหม้จากแสงแดด หรือหลังทำเลเซอร์ สามารถนำว่านหางจระเข้ ทาบางๆที่ผิวหน้า ก่อนลงครีมบำรุง หรือใช้ว่านหางจระเข้ มาร์คหน้า เป็นประจำทุกวัน 20-30 นาทีก่อนลงครีมบำรุงตัวอื่นๆ
สำหรับผิวเป็นสิว สามารถใช้ว่านหางจระเข้ ผสมกับถั่วเขียวต้มสุกบด ผสมจนเป็นเนื้อครีม ทาบางๆพอกหน้าเป็นประจำทุกวัน 20-30 นาที แล้วล้างออก หากมีปัญหาการเรื่องการขับถ่าย ท้องผูก ถ่ายแข็ง ร่วมด้วย สามารถรับประทานว่านหางจระเข้ต้มสุกหั่นเต๋าผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อย ชงดื่มอุ่นๆ ช่วยเรื่องการขับถ่าย ระบายของเสียออกทางอุจจาระ และช่วยลดสิวได้อีกด้วย
วิธีบำรุงเส้นผม สามารถนำเจลว่านหางจระเข้ทาบริเวณปลายผมหมาดๆ เพื่อบำรุงเส้นผมที่แห้งแตกง่าย หรือสามารถใช้เจลว่านหางจระเข้ผสมน้ำเล็กน้อยทาบนผมที่มัดไว้นานจนผมเสียทรง ให้กลับมาตรงสวยนุ่มลื่นได้อีกด้วย
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนจีนดายุ สาธุกิจชัย (พจ. จาง ลี่ เจิน)
张丽真 中医师
TCM. Dr. Dayu Sathukijchai (Zhang li zhen)
แผนกอายุรกรรมภายนอก
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567