การฝังเข็มช่วยลดการปัสสาวะบ่อยได้

Last updated: 27 ส.ค. 2567  |  4850 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฝังเข็มช่วยลดการปัสสาวะบ่อยได้

การปัสสาวะบ่อยแค่ไหน จึงจะถือว่าผิดปกติ ?

โดยปกติคนเราจะปัสสาวะเฉลี่ย 6 – 8 ครั้งต่อวัน ถ้าหากใครที่ปัสสาวะมากกว่า 6-8 ครั้งต่อวัน โดยไมได้มีพฤติกรรมการดื่มน้ำที่มากเกินไป อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของร่างกายหรือปัญหาสุขภาพได้
ซึ่งการปัสสาวะบ่อยเกินไปเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก บางคนไม่รู้ตัวว่าตนเองปัสสาวะบ่อยหรือมีอาการเข้าข่ายภาวะปัสสาวะบ่อยจนผิดปกติ

โดยผู้ที่มีภาวะปัสสาวะบ่อยนี้จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยกว่าคนทั่วไป เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าคนทั่วไป ทำให้ทุกครั้งที่ปวดปัสสาวะจะมีอาการรุนแรงที่ต้องเข้าห้องน้ำให้ได้ในทันที ซึ่งแม้ว่าภาวะปัสสาวะบ่อยนี้จะไมได้รุนแรงถึงชีวิต แต่ก็ปฏิเสธไมได้ว่าภาวะปัสสาวะบ่อย มักจะสร้างความทรมานและความรำคาญให้ผู้นั้น เนื่องจากในบางกรณีอาจปวดทุกชั่วโมงจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งในเวลากลางคืนด้วย

ภาวะปัสสาวะบ่อย

ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะบ่อยมักจะปัสสาวะมากกว่า 6-8 ครั้งต่อวัน โดยสามารถเปรียบเทียบความถี่ในการปัสสาวะของตนเองและคนรอบข้างในวัยที่ใกล้เคียงกันได้ รวมทั้งสามารถสังเกตความสามารถในการควบคุมปัสสาวะของตนเองว่า สามารถควบคุมได้มากหรือน้อยเพียงใด เนื่องจากผู้ที่มีภาวะปัสสาวะบ่อยมักจะไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะของตนเองได้ หากมีอาการปวดปัสสาวะมักจะต้องเข้าห้องน้ำทันที

ภาวะปัสสาวะบ่อยนี้ สามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่อาจพบในช่วงอายุที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ในผู้หญิงมักพบในวัยมหาวิทยาลัยหรือวัยทำงาน ในขณะที่ในผู้ชายมักจะพบในช่วงวัยที่มากกว่าผู้หญิง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากต่อมลูกหมากโตหรือการทำงานของสมองเริ่มบกพร่อง

หากเข้าพบแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์จะทำการตรวจหาโรคหรือภาวะอื่นก่อน ดังนี้

1) ตรวจโรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวาน ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่สูงได้ ร่างกายจึงพยายามปรับโดยกำจัดน้ำตาลกลูโคสส่วนเกินผ่านปัสสาวะ

2) ตรวจโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจเป็นการอักเสบติดเชื้อต่อเนื่องมาจากท่อปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการกลั้นปัสสาวะนาน ๆ บ่อย ๆ หรือทำความสะอาดอวัยวะเพศไม่ดีพอ

3) ตรวจโรคไต เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตจะมีภาวะการทำงานของไตที่ผิดปกติ กล่าวคือ ไตไม่สามารถดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายได้ดีเช่นเดิม ทำให้น้ำถูกขับออกจากร่างกายผ่านปัสสาวะมากกว่าและบ่อยกว่าคนทั่วไป

4) ตรวจภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี (OAB) โดยผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน ปวดปัสสาวะอย่างฉับพลันไม่สามารถรอได้ และปัสสาวะเล็ดราดบ่อยครั้ง

5) ตรวจภาวะต่อมลูกหมากโต เนื่องจากผู้ที่มีภาวะต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ และไปกดทับท่อปัสสาวะให้ตีบเล็กลง ทำให้มีอาการปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่สุด ส่งผลให้ต้องปัสสาวะบ่อย

6) ตรวจการตั้งครรภ์ เนื่องจากมดลูกของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ

7) ตรวจว่าได้รับยาหรือสารบางชนิดหรือไม่ เนื่องจากยาหรือสารบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ ด้วย

หากแพทย์พบสาเหตุของการปัสสาวะบ่อยดังที่กล่าวข้างต้น แพทย์จะทำการรักษาตามอาการของโรคหรืออาการนั้น ๆ แต่หากไม่พบอาการของโรคหรืออาการใด ๆ ข้างต้น ในปัจจุบันจะยังไม่สามารถบอกสาเหตุที่แน่ชัดได้ ทำให้ยังไม่สามาถบอกได้ว่าจะมีวิธีการรักษาที่ทำให้ภาวะปัสสาวะบ่อยหายขาดได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยหลายรายหายขาดจากภาวะปัสสาวะบ่อยเนื่องจากไม่มีสิ่งกระตุ้น โดยอาจเกิดจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองหรือปัจจัยอื่น ๆ และในผู้ป่วยบางรายก็สามารถหายได้เองตามธรรมชาติ

ภาวะปัสสาวะบ่อยในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ภาวะปัสสาวะบ่อยในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เรียกว่า หลงปี้ (癃闭) มาจากคำว่า หลง (癃) แปลว่า อาการปัสสาวะขัด หรืออาการใด ๆ ที่ทำให้ปัสสาวะลำบาก และคำว่า ปี้ (闭) แปลว่า ปิด

ดังนั้น โดยรวมคำว่า หลงปี้ (癃闭) จึงหมายถึง ลักษณะอาการหนึ่งในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งหมายถึง การปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะในปริมาณน้อยกว่าปกติ หรือปัสสาวะค้าง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการแปรสภาพของชี่ของกระเพาะปัสสาวะและซานเจียว (โดยเฉพาะเซี่ยเจียว) โดยมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่ ความร้อนชื้นเคลื่อนลงสู่เบื้องล่าง ชี่ตับติดขัดเป็นเวลานาน ชี่ของไตพร่อง และเกิดการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค

ภาวะปัสสาวะบ่อยในศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีสาเหตุมาจาก 4 สาเหตุ ดังนี้

1. ร้อนชื้นเคลื่อนลงสู่เบื้องล่าง (湿热下注) อาจเกิดจากการรับประทานอาหารหวานมันในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เกิดเป็นสิ่งสกปรกไหลลงสู่เบื้องล่างของร่างกาย และเกิดเป็นความร้อนชื้นสะสมขึ้น โดยผู้ป่วยมักจะปวดตึงบริเวณท้องน้อย ปากขมและเหนียว มักจะรู้สึกกระหายน้ำแต่ไม่อยากดื่มน้ำ ลิ้นแดง ฝ้าลิ้นเหนียวเหลือง ชีพจรเฉินและซู่

2. ความเครียดทำให้ชี่ของตับติดขัด (肝郁气滞) ปกติชี่ของตับจะต้องมีการระบายออก หากเกิดการติดขัดในด้านการระบาย ที่มักเกิดจากความเครียด ย่อมส่งผลให้อารมณ์ติดขัด ส่งผลต่อการกระจายชี่ของตับด้วยเสมอ ดังนั้นเมื่อชี่ของตับระบายออกได้ไม่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อซานเจียว ( 三 焦) ซึ่งเป็นอวัยวะหนึ่งทางการแพทย์แผนจีนที่ทำหน้าที่ลำเลียงสารน้ำ ทำให้การขับปัสสาวะมีปัญหา โดยผู้ป่วยมักจะปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ปวดบริเวณชายโครง ปากคอขม ฝ้าลิ้นขาวบาง หากตรวจชีพจรจะพบว่า ชีพจรเสียน

3. โรคเรื้อรังเป็นเวลานาน (体虚久病) ส่งผลให้ไตอ่อนแอ ซึ่งในศาสตร์การแพทย์แผนจีนถือว่า ไตเป็นไฟแห่งชีวิต ดังนั้นเมื่อไตอ่อนแอ ไฟแห่งชีวิตจึงเสื่อมถอย (命门火衰) และเมื่อหยางไม่มี ก็ย่อมส่งผลให้อินไม่เกิด (无阳则阴无以生) ทำให้ไม่มีปัสสาวะ ผู้ป่วยจึงมักจะปวดเมื่อย ไม่มีชีวิตชีวา สีลิ้นซีด หากตรวจชีพจรจะพบว่า ชีพจรเฉินและซี่

4. ทางเดินปัสสาวะอุดตัน (尿道阻塞) เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปัสสาวะติดขัด และปวดปัสสาวะบ่อยเกิดจากเลือดคั่ง ตะกอนหรือนิ่วอุดกั้นทางเดินปสสาวะ หรืออาจเกิดจากการบาดเจ็บอื่น ๆ โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดแน่นที่ท้องน้อย สีลิ้นม่วงหรือมีจุด หากตรวจชีพจรจะพบว่า ชีพจรเซ่อ

แนวทางการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม

โดยใช้วิธีการฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ ดังนี้

จุดฝังเข็มหลัก

GuanYuan (CV4), SanYinJiao (SP6), YinLingQuan (SP9), PangGuangShu (BL28)

จุดฝังเข็มประกอบ

1. กลุ่มร้อนชื้นเคลื่อนลงสู่เบื้องล่าง ใช้จุดฝังเข็ม ZhongJi (CV3), XingJian (LR2)

2. กลุ่มชี่ของตับติดขัด ใช้จุดฝังเข็ม TaiChong (LR3), ZhiGou (TE6)

3. กลุ่มชี่ของไตพร่อง ใช้จุดฝังเข็ม ShenShu (BL23), TaiXi (KI3)

4. กลุ่มเลือดคั่ง ใช้จุดฝังเข็ม XueHai (SP10), GeShu (BL17)

จุดฝังเข็มบริเวณหู

แพทย์จะเลือกใช้จุด Urinary bladder, Kidney, Triple Energizer, Urethra

โดยเลือกใช้ครั้งละ 1 - 3 จุด ประกอบกับการกระตุ้นไฟฟ้าโดยใช้ความแรงปานกลาง และคาเข็มไว้ 40 - 60 นาทีและ/หรือใช้เมล็ดหวังปู่หลิวสิง ติดที่หูตามจุดดังกล่าวก็ได้

บทสรุปและคำแนะนำ

จากสาเหตุการเกิดโรคทั้งในทางแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนใหญ่เกิดจากการไม่รู้จักดูแลตัวเองให้ดี หรือมองข้ามความสำคัญในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลายประการ

โดยภาวะปัสสาวะบ่อยก็มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการดูแลสุขภาพ แม้จะดูเหมือนเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะปัสสาวะบ่อยนั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีความผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ และเพื่อให้การรักษาได้อย่างถูกวิธีอย่างรวดเร็ว โดยศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา ซึ่งไม่เพียงแต่ให้การรักษาอาการที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น แต่มุ่งเน้นการรักษาที่ต้นเหตุเป็นสำคัญ โดยการวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการและลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้การรักษาถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในระยะยาว

------------------------

บทความโดย แพทย์จีนริฟฮาน  ยูโซะ

TCM. Dr. Rifhan Yusoh(罗如珊 中医师)

ข้อมูลอ้างอิง

- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไป-โรคที่ใครหลายคนไม่รู้ตัวว่าเป็น

- https://www.sikarin.com/health/ปัสสาวะบ่อย-อันตรายหรือไม่

- https://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news.php?names=17&news_id=5074, หัวข้อ “ระวังทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรังก้าวไปสู่โรคไต”

- https://www.blockdit.com/posts/5d5a4dad3eaf120cb570ac2b, หัวข้อ “หลงปี้ คืออะไร”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้