Last updated: 27 ส.ค. 2567 | 30480 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการไม่พึงประสงค์ต่างๆที่เกิดขึ้นของผู้หญิงในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน ไม่ว่าจะเป็นอาการแสดงที่เห็นทางร่างกาย อารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ในทางการแพทย์แผนจีนเรียกว่า กลุ่มอาการช่วงก่อนและหลังการมีประจำเดือน ซึ่งกลุ่มอาการนี้มักเกิดขึ้นในช่วงระยะที่มีประจำเดือน ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้อาจมาจากสภาวะทางครอบครัว ภาวะเครียดจากการทำงาน หรือสภาวะทางจิตใจ พบมากในช่วงอายุ 25-45ปี
อาการมักจะเกิดขึ้นในช่วง1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และอาการจะหนักขึ้นในช่วง2-3วันก่อนมีประจำเดือน และมักจะหายไปเมื่อประจำเดือนมา อาการที่พบบ่อย เช่น หงุดหงิด เครียด วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง มีปัญหาในการเข้าสังคม นอนไม่หลับ ง่วงซึม เวียนศีรษะ ตาลาย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก ใจสั่น เหงื่อออกช่วงกลางคืน อารมณ์ทางเพศลดลง ร่างกายบวมตึง คัดตึงเต้านม ปวดศีรษะ เป็นต้น อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงระยะที่มีประจำเดือน เป็นติดต่อกันอย่างน้อย2รอบประจำเดือนขึ้นไป โดยระดับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จะมีตั้งแต่ที่สามารถสังเกตได้เล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรงมากถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
การวินิจฉัยและการรักษาในทางการแพทย์แผนจีน
กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนจะมีอาการแสดงของโรคค่อนข้างหลากหลาย และมีลักษณะโรคซับซ้อน แต่สามารถจำแนกแยกแยะได้จากอาการแสดง ประกอบกับการวิเคราะห์ปริมาณ สี และลักษณะของเลือดประจำเดือน ร่วมกับการวินิจฉัยจากการทำงานของอวัยวะภายใน ชี่และเลือด เพื่อดำเนินการรักษาตามความแตกต่างของกลุ่มอาการและจัดตำรับยาที่เหมาะสมต่อไป
1. กลุ่มอาการชี่ตับติดขัด(肝郁气滞证) มักมีสาเหตุมาจากสภาวะทางอารมณ์ อาการที่พบคือ ช่วงก่อนมีประจำเดือนจะมีอาการคัดตึงเต้านม ท้องน้อยอืดแน่น หงุดหงิดโมโหง่าย หรือรู้สึกเครียด ชอบถอนหายใจ หรือมีอาการเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ อาจมีประจำเดือนคลาดเคลื่อนหรือมาช้า ประจำเดือนติดขัด สีเลือดประจำเดือนแดงคล้ำ สีลิ้นแดงคล้ำ ฝ้าลิ้นขาวบางหรือเหลืองบาง ชีพจรตึงหรือตึงลื่น
วิธีรักษา : ระบายตับ บำรุงเลือด ปรับสมดุลประจำเดือน(疏肝解郁、养血调经)
2. กลุ่มอาการอินของตับและไตพร่อง (肝肾阴虚证) อาการที่พบคือ ช่วงมีประจำเดือนหรือหลังมีประจำเดือนจะมีอาการคัดตึงเต้านม คลำเต้านมไม่พบก้อนเนื้อ ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน ตาแห้ง เวียนศีรษะ ตาลาย ปวดเมื่อยเอวเข่า ปากและลิ้นมีแผลเปื่อย ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน ปริมาณเลือดประจำเดือนน้อย สีเลือดซีดจาง สีลิ้นแดง ฝ้าน้อย ชีพจรเล็ก
วิธีรักษา : เสริมบำรุงอินของตับและไต ปรับสมดุลประจำเดือน(滋肾养肝、育阴调经)
3. กลุ่มอาการหยางของม้ามและไตพร่อง(脾肾阳虚证) อาการที่พบคือ ช่วงก่อนมีประจำเดือนจะมีอาการหน้าบวม แขนขาบวม ท้องอืดแน่นท้อง ปวดเมื่อยเอวเข่า ทานอาหารน้อยลง ถ่ายเหลว หรือช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือนจะมีอาการมึนหนักศีรษะ อ่อนเพลีย ง่วงซึม แน่นหน้าอก ปริมาณประจำเดือนมาก สีเลือดซีด เหลวใส สีลิ้นแดงอ่อน ฝ้าขาวลื่น ชีพจรนุ่มเล็กหรือจมช้า
วิธีรักษา : อบอุ่นไต บำรุงม้าม ขับความชื้น ปรับสมดุลประจำเดือน(温肾健脾、化湿调经)
4. กลุ่มอาการไฟของหัวใจและตับกำเริบ(心肝火旺证) อาการที่พบคือ ช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือช่วงที่มีประจำเดือนจะมีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย ปวดหรือเวียนศีรษะ คอแห้ง ปากขม หน้าแดง ตาแดง ปัสสาวะเหลือง อุจจาระแห้ง ประจำเดือนติดขัด สีลิ้นแดง ฝ้าเหลือง ชีพจรตึงลื่นเร็ว
วิธีรักษา : ระบายตับ ขับความร้อน ปรับสมดุลประจำเดือน(疏肝解郁、清热调经)
5. กลุ่มอาการหัวใจและม้ามพร่อง(心脾两虚证) อาการที่พบคือ ช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือช่วงที่มีประจำเดือนจะมีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย คิดมาก วิตกกังวล ใบหน้าซีดเหลือง ไม่อยากอาหาร ขี้เกียจพูด หรือมีอาการปวดหรือเวียนศีรษะ ท้องเสีย เหงื่อออกมาก หรือเหงื่อออกกลางคืน ปริมาณประจำเดือนอาจมาน้อยหรือมาก สีเลือดซีด เหลวใส สีลิ้นแดงอ่อน ฝ้าขาว ชีพจรเล็กไม่มีแรง
วิธีรักษา : เสริมบำรุงหัวใจและม้าม บำรุงเลือด ปรับสมดุลประจำเดือน(养心益脾、补血调经)
6. กลุ่มอาการชี่อุดกั้นเลือดคั่ง(气滞血瘀证) อาการที่พบคือ ช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือช่วงที่มีประจำเดือนจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรือมีไข้ขณะมีประจำเดือน ปวดท้อง แขนขาบวมตึง ปริมาณประจำเดือนน้อยหรือมาแบบกระปริบกระปรอย สีเลือดม่วงคล้ำ มีก้อนลิ่มเลือด สีลิ้นม่วงคล้ำหรือบริเวณปลายลิ้นและขอบลิ้นมีจุดจ้ำเลือด ชีพจรตึงฝืด
วิธีรักษา : กระตุ้นการไหลเวียนชี่และเลือด สลายเลือดคั่ง ปรับสมดุลประจำเดือน(理气活血、化瘀调经)
7. กลุ่มอาการไฟเสมหะร้อนขึ้นข้างบน(痰火上扰证) อาการที่พบคือ ช่วงมีประจำเดือนจะมีอาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน หรือคลุ้มคลั่ง จุกแน่นอก เสมหะเยอะ นอนไม่หลับ หน้าแดง ตาแดง อุจจาระแข็ง ปริมาณประจำเดือนอาจมาน้อยหรือมาก สีเลือดแดงเข้ม ลักษณะเหนียวข้น สีลิ้นแดง ฝ้าเหลืองหนาหรือเหนียว ชีพจรตึงลื่นและเร็ว
วิธีรักษา : ระบายความร้อน ขับเสมหะ สงบจิตประสาท(清热化痰、宁心安神)
การดูแลและป้องกัน
วิธีบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนมีมากมายอาทิเช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ฝึกบริหารร่างกาย เช่น โยคะ จะช่วยลดอาการปวดศีรษะ ลดความวิตกกังวล หรือบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้เป็นอย่างดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และเข้านอน ให้ตรงเวลาเสมอ พยายามรับมือกับความเครียดด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพ เช่น พูดคุยกับเพื่อน เล่นโยคะ นวดผ่อนคลายหรือการบำบัดต่างๆ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือน งดการสูบบุหรี่ ดูแลโภชนาการ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและจิตใจให้ดีอยู่เสมอ
บทความโดย : พจ.ปะการัง เขตคาม (ข่ายซิน)
คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สาขาโคราช
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567