Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 16874 จำนวนผู้เข้าชม |
ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยมีอาการคันประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด ที่แผนกอายุรกรรมภายนอก คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ป่วยหญิง อายุ 71 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย 335XXX
วันที่รับการรักษาครั้งแรก 3 กันยายน 2564
อาการสำคัญ
บริเวณศีรษะและใบหน้าซีกขวามีอาการคันมากมา 3 เดือน
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
3 เดือนก่อน ผู้ป่วยมีกลุ่มของตุ่มน้ำขึ้นบริเวณศีรษะและใบหน้าซีกขวาพร้อมด้วยอาการปวดแสบปวดร้อนมาก
ได้รับการวินิจฉัย ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งว่าเป็นงูสวัด รักษาด้วยการทานยาและใช้ยาภายนอก ปัจจุบันบริเวณศีรษะและหน้าผากซีกขวามีอาการคันมาก ปวด ชาเป็นบางครั้ง มีอาการคันถี่มากบริเวณเปลือกตาขวา ต้องขยิบและขยี้ตาตลอดเวลา ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการนอนหลับ นอนแทบไม่ได้ ทานยาแก้แพ้และgabapentinมาตลอด แต่อาการไม่ดีขึ้น
อาการและประวัติอื่นๆ : มีอาการอ่อนเพลียมาก เครียด เวียนหัวและแน่นหน้าอกบ่อยๆ มีอาการขมปาก
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต
โรคหัวใจ
การตรวจร่างกาย
ลิ้นมีสีชมพูคล้ำ ฝ้าขาว ตัวลิ้นใหญ่ มีรอยฟัน ชีพจรเล็ก ชีพจรบางจุดมีลักษณะจมลึกร่วมด้วย
การวินิจฉัย
จากการซักประวัติ เริ่มแรกมีอาการปวดแสบปวดร้อน และมีกลุ่มของตุ่มน้ำขึ้นบริเวณซีกเดียวของร่างกาย วินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคงูสวัด วันแรกที่มารักษา ตุ่มน้ำจากงูสวัดหายสนิท ไม่มีสะเก็ดแผลแล้ว ผู้ป่วยมีอาการคันมากบริเวณศีรษะและหน้าผากซีกขวาวินิจฉัยได้ว่าเป็นอาการคันหลังเป็นโรคงูสวัด อยู่ในกลุ่มอาการเลือดและลมปราณพร่องก่อให้เกิดลม(血虚生风兼气虚证)
วิเคราะห์กลุ่มอาการของผู้ป่วย
ผู้ป่วยมีเป็นงูสวัดเมื่อ 3 เดือนก่อน และหลังจากนั้นก็มีอาการคันมากอย่างต่อเนื่อง ในทฤษฎีแพทย์แผนจีน อาการคันนั้นเกิดจากลม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ เป็นๆหายๆ ไม่อยู่กับที่ เปลี่ยนแปลงเร็ว มักเกิดตำแหน่งอวัยวะบนๆ หรือทางผิวหนัง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เกิดได้จากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ในผู้ป่วยเคสนี้มีอาการคันมาแล้ว 3 เดือน ถือว่าเป็นอาการเรื้อรัง จึงมักเกิดอาการพร่องและคั่งของเลือดลม ทำให้ผิวแห้ง ปวดและคันได้ง่าย ซึ่งตรงกับลักษณะลิ้นและชีพจรของผู้ป่วย ที่ลิ้นมีสีชมพูคล้ำ ฝ้าขาว ตัวลิ้นใหญ่ มีรอยฟัน ชีพจรเล็ก ชีพจรบางจุดมีลักษณะจมลึกร่วมด้วย รวมถึงอาการที่แสดงออกมาเช่น อ่อนเพลียมาก เวียนหัว ปัสสาวะบ่อย นอกจากนี้ เมื่อเกิดอาการคันทำให้นอนหลับไม่ดีเป็นระยะเวลานาน สารอินหรือสารน้ำในร่างกายไม่ได้รับการบำรุงอย่างต่อเนื่อง จึงยิ่งเป็นตัวเสริมให้อาการแย่ลง
หลักการรักษา
บำรุงและกระตุ้นเลือดลม ขับลมออก เมื่อเลือดลมไหลเวียนดีขึ้น อาการปวดและคันจะหายไป โดยตัวยาที่ใช้จะเน้นให้ออกฤทธิ์ไปที่ศีรษะและดวงตา
การรักษา
1. จ่ายยาจีน 5 วัน ใช้บริการต้มที่คลินิก ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
2. ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนปี้หยาหม่า)
คำแนะนำแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติเพื่อช่วยส่งเสริมการรักษา
1. พักผ่อนให้เพียงพอ
2. ผ่อนคลายจิตใจ
3. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของหมักดอง อาหารทะเล
การติดตามอาการครั้งที่ 1 (8 กันยายน 2564)
ระดับความคันลดลง 50% รวมถึงความถี่ลดลง แต่การนอนหลับยังไม่ดี ผู้ป่วยแจ้งเพิ่มเติมว่าในช่วงกลางคืนจะปัสสาวะ 5-6ครั้ง เป็นมานานแล้ว ยังมีอาการอ่อนเพลียมากเท่าเดิม แน่นหน้าอกความถี่น้อยลง ไม่มีอาการเวียนหัว ปากขมแล้ว
การตรวจร่างกาย
ลิ้นมีสีชมพูคล้ำ ฝ้าขาว ตัวลิ้นใหญ่ มีรอยฟัน ชีพจรเล็ก ชีพจรบางจุดมีลักษณะจมลึกร่วมด้วย
การรักษา
ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน 3 วัน ใช้บริการต้มที่คลินิก ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
การติดตามอาการครั้งที่ 2 (12 กันยายน 2564)
อาการคันและปวดบริเวณศีรษะและใบหน้าซีกขวาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาการกำเริบไม่บ่อย อาการชาเมื่อลูบหน้าผากลดลง ปัสสาวะตอนกลางคืน 2 ครั้ง นอนหลับได้ปกติแล้ว อาการอ่อนเพลียลดลง
การตรวจร่างกาย
ลิ้นมีสีชมพูคล้ำ ฝ้าขาว ตัวลิ้นใหญ่ มีรอยฟัน ชีพจรเล็ก ชีพจรบางจุดมีลักษณะจมลึกร่วมด้วย
การรักษา
1. ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน 3 วัน ใช้บริการต้มที่คลินิก ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
2. ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนปี้หยาหม่า)
การติดตามอาการครั้งที่ 3 (16 กันยายน 2564 สิ้นสุดการรักษา)
อาการคงที่
การตรวจร่างกาย
ลิ้นมีสีแดงคล้ำ ฝ้าขาวบาง ชีพจรตึง
การรักษา
ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน 3 วัน ใช้บริการต้มที่คลินิก ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
สรุปผลการรักษา
ผู้ป่วยท่านนี้ 3 เดือนก่อนเป็นงูสวัด รักษาโดยการทานยาแผนปัจจุบันมาก่อน ตุ่มน้ำและสะเก็ดหายหมดแล้ว แต่ยังมีอาการปวดแสบปวดร้อน และมีอาการคันที่เด่นชัด ต้องขยิบและขยี้ตาตลอดเวลา ทำให้นอนไม่ได้ เมื่อรักษาด้วยยาจีนและฝังเข็ม อาการปวดดีขึ้นตามลำดับและอาการคันลดลงอย่างรวดเร็ว จนสุดท้ายเหลืออาการเพียงเล็กน้อย และกลับมานอนได้ หลังจากนั้นจ่ายยาเพื่อลดอาการครั้งสุดท้าย รวมเวลารักษาทั้งสิ้น 9 วัน
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567