Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 3512 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะกระดูกพรุนในวัยทอง (Postmenopausal Osteoporosis,PMO)เกิดขึ้นเนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยทองมีปริมาณน้อยลง โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนมีหน้าที่ควบคุมความสมดุลของแคลเซียม ช่วยในการดูดซึมและลดการสลายตัวแคลเซียม ซึ่งการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลทำให้มวลกระดูกในร่างกายค่อย ๆ ลดน้อยลง จนท้ายที่สุดก่อให้เกิดภาวะกระดูกพรุนในวัยทอง
จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าผู้หญิงทั่วโลกมากกว่า200ล้านคนมีภาวะกระดูกพรุน จนกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ2ของโลก รองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด สำหรับประเทศไทยจากสำรวจพบว่า1/3ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและอายุมากกว่า60ปีมีภาวะกระดูกพรุน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นในบทความนี้จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะกระดูกพรุนในวัยทองด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
ภาวะกระดูกพรุนจะจัดอยู่ในกลุ่ม “กู่ปี้(骨痹)”“กู่เหว่ย(骨痿)” ในทางการแพทย์แผนจีนมีบันทึกในตำราสู้เวิ่น(素问)ระบุว่าไตมีความสัมพันธ์กับกระดูก ไตมีหน้าที่กักเก็บสารจิง ซึ่งสารจิงให้กำเนิดน้ำหล่อเลี้ยงและช่วยหล่อเลี้ยงบำรุงกระดูก หากชี่ไตมากสารจิงมีปริมาณเพียงพอหล่อเลี้ยงกระดูกก็จะทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ในทางกลับกันหากชี่ไตพร่องสารจิงน้อยก็ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลงก่อเกิดเป็นกู่เหว่ย(骨痿)กระดูกพรุนได้
ปกติทั่วไปของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนตามหลักทฤษฎีเจ็ดเจ็ด(七七) ในคัมภีร์โบราณระบุถึงการเปลี่ยนแปลงตามวัยของผู้หญิงไว้ว่า ผู้หญิงเมื่ออายุ 49 ปี เส้นลมปราณเริ่น(任脉)และเส้นลมปราณชง(冲脉)พร่อง ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือนและไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ สารจิงในไตพร่อง เพราะสารจิงในไตมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้มีประจำเดือน อีกทั้งไตยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการระบบการสืบพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและมีภาวะกระดูกพรุน ล้วนสัมพันธ์กับอวัยวะไตเป็นหลักตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการและวิธีการรักษา
สาเหตุหลักของการเกิดภาวะกระดูกพรุนในวัยทองมาจากสารจิงของไตพร่องส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลงจนก่อให้เกิดเป็นภาวะกระดูกพรุนในที่สุด นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับอวัยวะตับ ม้าม และกระเพาะอาหาร ซึ่งมีหน้าที่กักเก็บเลือดและสร้างเลือดมาหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงสมดุลอินหยางในร่างกาย ดังนั้นวิธีการรักษาจะเน้นการบำรุงไตและปรับสมดุลร่างกายตามสภาวะอินและหยางที่เปลี่ยนแปลง
1. กลุ่มอาการสารจิงของไตพร่อง
อาการ:ปวดเอวปวดหลัง ปวดหน้าขาและหัวเข่า อาการร่วมอื่นๆ เช่น เวียนศีรษะ มีเสียงในหู ผมบาง ผมร่วง ฟันโยก ปัสสาวะเล็ด ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าบางขาว ชีพจรเฉินซี่ม่ายและไม่มีแรง(脉沉细无力)
วิธีการรักษา:บำรุงไตเพิ่มสารจิง
อาหารที่แนะนำ:งาดำ(黑芝麻)ถั่วดำ(黑豆)เห็ดหูหนูดำ(黑木耳)
2. กลุ่มอาการร้อนภายในจากอินพร่อง
อาการ:ปวดเอวปวดหลัง หรือปวดส้นเท้า อาการร่วมอื่นๆ เช่น ใจร้อน หงุดหงิดง่าย ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน กระวนกระวายใจ นอนหลับได้น้อย ปวดหัวเข่าไม่มีแรง ใบหน้าแดงร้อน มีเหงื่อออก ลิ้นแดงหรือแดงเข้ม ชีพจรซี่ซู่ม่าย(脉细数)
วิธีการรักษา:บำรุงอินระบายความร้อน บำรุงไต
อาหารที่แนะนำ:เก๋ากี้(枸杞子) ฮ่วยซัว(山药)
3. กลุ่มอาการอินและหยางทั้งสองอย่าง
อาการ:มือเท้าเย็น ปวดกระดูกบางครั้งหรือปวดเอวปวดหลัง หรือปวดส้นเท้า ปวดหัวเข่า อาการร่วมอื่นๆ เช่น กลัวหนาวชอบความอบอุ่น แขนขาเมื่อยล้าไม่มีแรง อ่อนเพลีย ลิ้นแดงอ่อน ชีพจรเฉินซี่ม่าย(脉沉细)
วิธีการรักษา:บำรุงไตเพิ่มหยาง เพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงกระดูก
อาหารที่แนะนำ:กุ้ยช่าย(韭菜)เก๋ากี้(枸杞子)เก๋าลัด(栗子)
4.กลุ่มอาการม้ามและไตพร่อง
อาการ:ปวดเอวปวดหลัง ปวดหน้าขาและหัวเข่า อาการร่วมอื่นๆ เช่น สีหน้าไม่ผ่องใส แขนขาเมื่อยล้าไม่มีแรง ทานอาหารได้น้อย อุจจาระเหลว ลิ้นแดงอ่อน ด้านข้างลิ้นมีรอยฟัน ฝ้าบางขาว ชีพจรซี่ม่าย(脉细)
วิธีการรักษา:บำรุงไตและม้าม
อาหารที่แนะนำ:กุ้ยช่าย(韭菜)ไก่ดำ(乌鸡)ลูกเดือย(薏苡仁)พุทราจีน(大枣)
วิธีการดูแลเบื้องต้น
1. รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมสด โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง ฟองเต้าหู้ งาดำ ถั่วแดง ปลาตัวเล็กตัวน้อย ผักขม คะน้า ตำลึง ฟักทองและแครอทเป็นต้น
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอโดยเฉพาะช่วงเช้า เช่น รำมวยจีน การแกว่งแขน วิ่งเหยาะๆ เป็นต้น ซึ่งแสงแดดยามเช้าจะมีวิตามินดีช่วยในเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ กาแฟ น้ำอัดลม
4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567