Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 17285 จำนวนผู้เข้าชม |
การตรวจวัดไข่ตกโดยการวัดอุณหภูมิร่างกายคืออะไร?
เป็นการใช้ความรู้ด้านสรีระวิทยาในการหาวันตกไข่โดยการวัดอุณหภูมิร่างกาย(Basal body temperature – BBT) เนื่องจากก่อนที่จะมีการตกไข่ 12-24 ชั่วโมง ร่างกายจะมีอุณหภูมิต่ำลง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะสูงขึ้นประมาณ 0.5 องศา ดังนั้น BBT จึงสามารถบ่งบอกวันที่ไข่ตกได้นั่นเอง
ทำไม BBT จึงสูงขึ้นเมื่อไข่ตก?
การที่ BBT สูงขึ้นเมื่อไข่ตกเนื่องจากฮอร์โมนโพรเจนเทอโรนที่ถูกผลิตออกมาจากคอร์ปัสลูเทียม(คอร์ปัสลูเทียมคือฟองไข่ที่เปลี่ยนรูปไปหลังเกิดการตกไข่แล้ว)หลังไข่ตก ระดับโพรเจสเทอโรนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นซึ่งจะไปช่วยทำให้ผนังโพรงมดลูกมีการฟอร์มตัวหนาขึ้นมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น นอกจากนี้โพรเจสเทอโรนยังมีผลต่ออุณหภูมิร่างกายทำให้ BBT สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและสามารถวัดออกมาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างได้ หากมีการตั้งครรภ์ระดับโพรเจสเทอโรนจะสูงตลอดระยะการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยยับยั้งไม่ให้มีประจำเดือน แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์ระดับโพรเจสเทอโรนจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ และมีประจำเดือนในที่สุด ดังนั้นนอกจาก BBT จะสามารถดูวันตกไข่ได้แล้ว ยังสามารถดูการทำงานของคอร์ปัสลูเทียม และใช้ในการดูรอบประจำเดือนได้อีกด้วย
วิธีการวัดอุณหภูมิที่ถูกต้อง?
การวัดอุณหภูมิร่างกายจำเป็นต้องใช้ความละเอียดและความใส่ใจในการวัดอุณหภูมิ ในทุกวันตอนเช้าเราสามารถวัดอุณหภูมิได้โดยการวางปรอทไว้ที่ใต้ลิ้น ควรวัดในเวลาใกล้เคียงกันทุกเช้า และในการวัดปรอทแต่ละครั้งจะต้องนานประมาณ 5 นาที ห้ามทำกิจกรรมอื่นๆก่อนวัดอุณหภูมิ เช่นดื่มน้ำ พูดคุย ลุกเดินเป็นต้น เมื่อวัดอุณหภูมิเรียบร้อยแล้วจึงจดบันทึกลงบนตารางที่เตรียมไว้
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิร่างกาย?
ปัจจัยที่ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงมีหลายปัจจัยด้วยกัน
1. การพักผ่อนไม่เพียงพอ :ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอมีผลกับอุณหภูมิร่างกายทำให้อุณหภูมิร่างกายไม่คงที่
2. อาการไม่สบายต่างๆ เช่น อาการท้องเสีย มีไข้ตัวร้อน เป็นต้น
3. การลุกขึ้นทำกิจกรรมต่างๆก่อนการวัดอุณหภูมิ เช่น การพูดคุย การอาบน้ำแปรงฟัน การลุกขึ้นเดิน เป็นต้น
4. อารมณ์แปรปรวน เช่น ความเครียดสะสม หงุดหงิดโมโห เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร่างกายในมุมมองแพทย์แผนจีน?
1.ช่วงมีประจำเดือน
ช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือนเป็นช่วงที่BBTต่ำลง แพทย์จีนมองว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในร่างกายมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของอินหยาง ดังนั้นหากมองจากBBTแล้ว การที่อุณหภูมิร่างกายจากสูงลดต่ำลงบ่งบอกได้ว่าหยางค่อยๆลดลงจนถึงขีดสุดและอินค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
ถ้าหยางไม่เพียงพอ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นอินได้ หรือไฟที่หัวใจและตับมีมากเกินไป จะส่งผลให้ BBT ไม่ต่ำลง หรือBBTต่ำลงเพียงเล็กน้อย หรือBBTต่ำลงแล้วขึ้นไปอีก สามารถรักษาได้โดยการบำรุงอินและระบายไฟ
ในแพทย์แผนปัจจุบันมองว่าBBTเช่นนี้เกิดจากคอร์ปัสลูเทียม (corpus luteum) สลายไม่หมด
2.ช่วงหลังมีประจำเดือน
ช่วงนี่จะเริ่มจากประจำเดือนสิ้นสุดจนถึงช่วงก่อนไข่ตก ในช่วงนี้อินจะค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆจนถึงขีดสุด จึงสามารถผลักดันไตหยางให้ออกมาได้ เป็นช่วงเวลาสำหรับเตรียมพร้อมก่อนBBTจะสูงขึ้น ในช่วงนี้อุณหภูมิจะขยับขึ้นลงเพียงเล็กน้อย แต่ปกติจะขยับขึ้นลงไม่เกิน 0.46 องศา
ถ้าชี่ตับติดขัดแปรเปลี่ยนเป็นความร้อนทำให้อวัยวะต่างๆและอินหยางขาดสมดุล ส่งผลให้อุณหภูมิไม่คงที่ทำให้BBTมีลักษณะเหมือนฟันปลา สามารถรักษาได้โดยการระบายชี่ตับ ปรับสมดุลชี่และเลือด
ในแพทย์แผนปัจจุบันมองว่าBBTเช่นนี้เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนแอนโดรเจน(androgen)สูงเกินไปหรือเกิดจากภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ(Polycystic Ovarian Syndrome (PCOS) )
3.ช่วงไข่ตก
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด เนื่องจากมีการตกไข่ในช่วงนี้ ช่วงนี้อินที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นได้เพิ่มจนถึงขีดสุด หยางชี่ค่อยๆเพิ่มมากขึ้น เป็นกระบวนการที่อินเพิ่มถึงขีดสุดและค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นหยาง ในช่วงนี้BBTจากต่ำจะพุ่งสูงขึ้นภายใน1-2วัน อุณหภูมิจะสูงขึ้น0.4องศาขึ้นไป
ถ้าม้ามและไตพร่อง ตลอดจนหยางพร่องไม่สามารถให้ความอบอุ่นได้เพียงพอ ทำให้อุณหภูมิขึ้นสูงน้อยกว่า0.4องศา สามารถรักษาได้โดยการบำรุงม้ามและไต บำรุงหยางชี่
ในแพทย์แผนปัจจุบันมองว่าBBTเช่นนี้เกิดจากฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน(progesterone)ไม่เพียงพอหรือคอร์ปัสลูเทียมพัฒนาไม่ดีพอ
ถ้าชี่ตับติดขัด หรือไตหยางพร่อง หรือเสมหะอุดกั้นเส้นชี่ หรือเลือดคั่งอุดกั้นการขับเคลื่อนของชี่ ทำให้ชี่เดินติดขัด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้BBTใช้เวลานานกว่าปกติ (3-4วัน) ในการสูงขึ้นหรือBBTสูงขึ้นไม่เกิน12วันก็ตกลง BBTเช่นนี้สามารถรักษาได้โดยการระบายชี่ตับ บำรุงไตหยาง บำรุงม้ามขับความชื้น ขับเคลื่อนชี่สลายเลือดคั่ง
ในแพทย์แผนปัจจุบันมองว่าBBTเช่นนี้เกิดจากคอร์ปัสลูเทียมทำงานไม่ดี
ถ้าไตอินพร่อง ไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นหยางได้ หรือหัวใจและตับอินพร่องเปลี่ยนแปลงไปเป็นความร้อน หรือความร้อนชื้นและเลือดคั่งเข้าขัดขวางการทำงานของอินหยาง ส่งผลให้อินหยางขาดสมดุล สิ่งเหล่านี้ทำให้มีเลือดออกในช่วงตกไข่ หรือหลังจากBBTขึ้นสูงแล้วมักไม่คงที่ มีลักษณะเป็นฟันปลา สามารถรักษาได้โดยการบำรุงอิน ระบายความร้อน ขับความชื้น สลายเลือดคั่ง
ถ้าสารจิงและชี่ไม่มีแหล่งกำเนิดเนื่องจากม้ามและไตพร่อง หรืออินหยางชี่และเลือดไม่สมดุล หรือชี่ตับติดขัด ตลอดจนอินหยางขาดสมดุล สิ่งเหล่านี้ทำให้ BBT ไม่สูงขึ้น หรือสูงขึ้นน้อย ไม่ชัดเจน สามารถรักษาได้โดยการบำรุงม้ามและไต ปรับสมดุลอินหยาง ระบายชี่ตับ ควบคู่กับการรักษาตามอาการทางคลินิก
ในแพทย์แผนปัจจุบันมองว่าBBTเช่นนี้เกิดจากภาวะไข่ไม่ตก
4.ช่วงก่อนมีประจำเดือน
ช่วงนี้เป็นช่วงหลังจากBBTขึ้นสูงแล้ว และคงที่อยู่อย่างนี้จนถึงช่วงมีประจำเดือนวันแรก แพทย์จีนมองว่าช่วงเวลานี้อินค่อยๆลดลง และหยางค่อยๆเพิ่ม จนกระทั่งหยางขึ้นถึงขีดสุด ในวันที่ประจำเดือนมาคือช่วงก่อนที่หยางจะเปลี่ยนเป็นอิน ในช่วงเวลานี้ BBT จะคงที่อยู่ในระดับสูงติดต่อกัน 12-16 วัน หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 0.4 องศาขึ้นไป ภายใน 1-2 วัน
ถ้าม้ามและตับหยางพร่อง ไม่สามารถให้ความอบอุ่น ส่งผลให้ BBT สูงขึ้นติดต่อกันน้อยกว่า 12 วัน สามารถรักษาได้โดยการบำรุงหยางชี่ ในแพทย์แผนปัจจุบันมองว่าBBTเช่นนี้เกิดจากคอร์ปัสลูเทียมสลายตัวเร็วไป
หากBBTสูงขึ้นติดต่อกัน 16 วันขึ้นไปและไม่ตกลงมา แสดงว่าอาจจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
ดังนั้นBBTจึงสามารถใช้ในการหาวันไข่ตกเพื่อหาวันที่เหมาะสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ เพิ่มโอกาศการตั้งครรภ์ในผู้ที่มีบุตรยาก อีกทั้งยังสามารใช้ดูการทำงานของคอร์ปัสลูเทียมและดูรอบประจำเดือนเพื่อรักษาผู้ที่มีภาวะประจำเดือนมาผิดปกติ อีกทั้งหากตั้งครรภ์BBTก็สามารถใช้ในการพยากรณ์ล่วงหน้าได้อีกด้วย
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567