Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 8762 จำนวนผู้เข้าชม |
หูอื้อ หรือการได้ยินเสียงดังในหู เป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของการได้ยิน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีเสียงก้องอยู่ในหู ที่มาจากในร่างกายมากกว่าการได้ยินเสียงที่มาจากภายนอก ซึ่งเสียงอาจมีความถี่สูงคล้ายเสียงแมลง หรือความถี่ต่ำคล้ายเสียงเครื่องจักร อาจแสดงอาการข้างเดียวหรือสองข้างพร้อมกัน หูอื้อเป็นอาการทางคลินิกที่พบได้บ่อย มีอัตราการเกิดโรคที่ค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ ถึงแม้ว่าจะเป็นอาการที่สร้างความรำคาญ แต่อาการหูอื้อไม่ได้โรคที่ร้ายแรงและสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้
สาเหตุและกลไกในทางแพทย์จีน
อาการหูอื้อมีตำแหน่งการเกิดโรคอยู่ที่หู สังกัดอวัยวะไต กลุ่มอาการแบ่งได้เป็นแกร่งและพร่อง
- ภาวะอินและเลือดพร่อง
- สารจำเป็นของไตไม่เพียงพอ
- เสมหะร้อนก่อกวนหู
- เสียชี่จากภายนอกเข้ารุกราน
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการลมร้อนจากภายนอกเข้ากระทำ
อาการ : หูอื้อในระยะแรก ร่วมกับมีอาการแน่นตึงในหู การได้ยินลดลง หรือมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ไอเป็นต้น ลิ้นแดง ฝ้าขาวบางหรือเหลืองบาง ชีพจรลอยเร็ว(浮数)
วิธีรักษา : ขับลมระบายความร้อน
2. กลุ่มอาการไฟตับเข้ารุกราน
อาการ : หูอื้อ มักเกิดอาการหรือมีอาการหนักขึ้นหลังจากหงุดหงิดโมโห ร่วมกับมีอาการปากขม คอแห้ง หน้าและตาแดง ปัสสาวะสีเหลือง ท้องผูก เจ็บเสียดชายโครง ปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะ ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเร็ว(弦数)
วิธีรักษา : ระบายความร้อนในตับ
3. เสมหะและไฟสะสม
อาการ : หูอื้อ รู้สึกตึงแน่นในหู ร่วมกับมีอาการหนักศีรษะ แน่นหน้าอก ไอมีเสมหะ ปากขม ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว(滑数)
วิธีรักษา : ระบายความร้อนขับเสมหะ
4. กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง
อาการ : หูอื้อ มักเกิดอาการหรือเป็นหนักขึ้นเมื่อตรากตรำเหน็ดเหนื่อย หรือเวลานั่งแล้วลุกขึ้นจะเป็นหนักขึ้น ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย เซื่องซึม สีหน้าไม่สดใส เบื่ออาหาร ท้องอืดแน่น ถ่ายเหลว ลิ้นซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก(细)
วิธีรักษา : เสริมม้ามบำรุงลมปราณ
5. กลุ่มอาการสารจำเป็นของไตพร่อง
อาการ : หูอื้อเป็นเวลานาน ร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยเอวและเข่าอ่อนแรง เวียนศีรษะ ตาลาย ผมร่วงหรือฟันโยกคลอน ปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อย สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เหงื่อออกในตอนกลางคืน ลิ้นซีดหรือแดงอ่อน ชีพจรอ่อนหรือเล็กเร็ว(弱或细数)
วิธีรักษา : บำรุงไตและสารจำเป็นของไต
ตัวอย่างกรณีการรักษาอาการหูอื้อ
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN 356638
ชื่อ : คุณ ณัฐXXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 26 มีนาคม พ.ศ. 2565
เพศ : หญิง อายุ : 54 ปี
อุณหภูมิ 36.1 องศาเซลเซียส ชีพจร : 86 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 118/71 mmHg น้ำหนัก : 51 กิโลกรัม
อาการสำคัญ (Chief complaint) หูมีเสียง 1 สัปดาห์
อาการปัจจุบัน (Present illness) หูมีเสียง คล้ายจิ้งหรีด เสียงดังทั้งวัน การได้ยินปกติ มีอาการเวียนศีรษะ ไม่คลื่นไส้ นอนหลับไม่สนิท เข้านอนยากเนื่องจากเสียงในหูดังรบกวน เบื่ออาหาร ขับถ่ายปกติ ลิ้นแดงฝ้าบาง ชีพจรเล็กไม่มีแรง(细无力)
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต( Past history)
- ปฏิเสธประวัติการแพ้ยา
การวินิจฉัยโรค(Diagnosis)
วินิจฉัยตามหลักแพทย์จีน
耳鸣หูมีเสียง (กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง)
วินิจฉัยตามหลักแพทย์ปัจจุบัน
หูอื้อ (Tinnitus)
วิธีการรักษา(Treatment)
รักษาด้วยการฝังเข็มเป็นหลัก ใช้หลักการรักษา เสริมม้ามบำรุงชี่ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด
ผลการรักษา (progression note)
ผู้ป่วยเข้าการรักษา ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2565 - วันที่ 10 เมษายน 2565
รักษาครั้งที่ 2 วันที่ 30 /3/2565
หลังจากฝังเข็มไป เสียงดังในหูลดลง ยังมีเสียงทั้งวัน นอนหลับได้สนิทขึ้น ไม่มีอาการเวียนศีรษะ
รักษาครั้งที่ 3 วันที่ 3/4/2565
เสียงดังในหูลดลง มีดังสลับเบาระหว่างวัน ทานอาหารได้มากขึ้น นอนหลับดีขึ้น
รักษาครั้งที่ 4 วันที่ 7/4/2565
โดยรวมเสียงในหูเบาลง ใน 3 วันที่ผ่านมากำเริบ 1-2 ครั้ง บางวันเสียงดังหายไป
รักษาครั้งที่ 5 วันที่ 10/4/2565
เสียงดังในหูหายไป การได้ยินชัดขึ้น นอนหลับปกติ ทานอาหารปกติ สามารถหยุดการรักษาได้
การดูแลและป้องกัน
นวดบริเวณหู
- ใช้มือสองข้างกดที่บริเวณใบหู นวดคลึงขึ้นและลง นวดประมาณ 15 นาที
- ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางวางบริเวณรูหูด้านนอก กดเบาๆ ข้างละ 15-30 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตึงแน่นในหูร่วมด้วย
สรุปผลการรักษา
การฝังเข็มสามารถรักษาอาการเสียงในหูได้ผลดี หากระยะเวลาในการเกิดโรคไม่เกิน 2 สัปดาห์ คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับบุคคล สาเหตุการเกิดโรค ระยะเวลาในการเข้ารับรักษา ปัจจัยกระตุ้น ช่วงอายุ และการดูแลตัวเองของคนไข้ร่วมด้วย
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567