Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 7724 จำนวนผู้เข้าชม |
เปิงโล่ว คือ ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริบกะปรอยไม่หยุด บางครั้งอาจมีเลือดออกมาก หรือบางครั้งอาจมีเลือดออกมากสลับน้อย มักมีอาการ่วมกับรอบเดือนที่ไม่แน่นอน ปริมาณประจำเดือนที่ผิดปกติ
หากเลือดออกมากไม่หยุด แพทย์จีนเรียกว่า เปิง
หากเลือดออกน้อยกะปริดกะปรอยไม่หยุด แพทย์จีนเรียกว่า โล่ว
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
โดยปกติรอบประจำเดือน ปริมาณประจำเดือน ช่วงเวลาในการเกิดประจำเดือนจะถูกควบคุมอย่างเป็นระบบโดยกระบวนการที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมองและรังไข่โดยรวมเรียกว่า hypothalamic–pituitary-ovarian (HPO) axis เมื่อร่างกายได้รับปัจจัยกระทบ เช่น ความเครียด อารมณ์แปรปรวน สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การบำรุงร่างกายที่ไม่เพียงพอ ฮอร์โมนผิดปกติ โลหิตจาง การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้การทำงานของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมอง และรังไข่สูญเสียสมดุล จนเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
สาเหตุเนื่องจากไข่ไม่ตก ผนังมดลูกจึงได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกิดไป โดยที่ไม่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนมาควบคุม เมื่อมดลูกได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากจนเกินไปในภาวะเริ่มต้น จะทำให้เกิดเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกะปรอยไม่หยุด(โร่ว) แต่หากได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากจนเกินไปเป็นเวลานาน อาจทำให้ประจำเดือนไม่มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อเกิดผนังมดลูกหนาตัว จึงง่ายต่อการเกิดเลือดออกจากช่องคลอดกะทันหันในปริมาณมาก(เปิง)
มุมมองของแพทย์จีนต่อสาเหตุและกลไกการเกิดโรค
เปิงโล่วเป็นโรคที่มีสาเหตุของการเกิดโรคที่ซับซ้อน ส่วนใหญ่สาเหตุของการเกิดโรคมักมีความเกี่ยวข้องกับอาการพร่อง ความร้อน และเลือดคั่ง กลไกการเกิดโรคคือชี่ เลือด และอวัยวะต่างๆในร่างกายเสียสมดุล ทำให้เส้นลมปราณชงและเส้นลมปราณเริ่นไม่สามารถควบคุมเลือดให้วิ่งอยู่ในเส้นเลือดได้ ส่งผลให้มีเลือดออกในช่วงที่ไม่ใช่ช่วงประจำเดือน
ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยเปิงโล่ว
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อ-นามสกุล น.ส ซXXX XXX
เพศ หญิง อายุ 23 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย 338XXX
วันที่เข้ารับการรักษา 10 มีนาคม 2565
อาการสำคัญ มีเลือดกะปริดกะปรอยออกจากช่องคลอดนาน 16 วัน
ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน
- 16 วันก่อนการมารักษาที่แพทย์แผนจีน ผู้ป่วยเริ่มมีเลือดออกกะปริดกะปรอยจากช่องคลอดไม่หยุด
- รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- มือเท้ามักมีเหงื่อออก
- ไม่เหนื่อยง่าย
- รับประทานอาหารได้ปกติ
- นอนหลับเป็นปกติ ขับถ่ายเป็นปกติ
ประวัติประจำเดือน 5/28 วัน ประจำเดือนมาล่าสุด(LMP) 14 กุมภาพันธ์ 2565 ปริมาณน้อย ประวัติตั้งครรภ์ 0-0-0-0
ประวัติเจ็บป่วยในอดีต
- เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เคยมีประวัติประจำเดือนมาไม่ปกติ 1 เดือนมา 2 ครั้ง แพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าเป็นภาวะไข่ไม่ตก
- ปฏิเสธประวัติการแพ้ยา
- ปฏิเสธประวัติการอาหาร
- ปฏิเสธประวัติผ่าตัด
การตรวจร่างกาย
- ในปี 2564 เคยอัลตร้าซาวด์มดลูกพบว่าไข่ไม่ตก ไข่เจริญเติบโตไม่ดี รังไข่ทั้ง 2 ข้างมีไข่มากกว่า 12 ใบ ผนังมดลูกหนา 1.2 CM
- ลิ้นคล้ำ มีจุดสีม่วง มีรอยฟัน ฝ้าขาวบาง ชีพจรลื่น
การวินิจฉัย
- ทางการแพทย์จีนวินิจฉัยว่าเป็นเปิงโล่ว กลุ่มอาการเลือดคั่ง
- แพทย์ปัจจุบันวินิจฉัยว่าเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
กลไกของโรค
เนื่องจากอารมณ์และความเครียด ทำให้ชี่ตับไหลเวียนติดขัด ชี่เป็นตัวขับเคลื่อนเลือด เมื่อชี่ตับติดขัดส่งผลให้เกิดการคั่งของเลือดจนเกิดเลือดคั่ง เมื่อเกิดเลือดคั่งไปอุดกั้นที่เส้นลมปราณชงและเส้นลมปราณเริ่น เลือดเก่าจึงคั่งค้างทำให้เลือดใหม่ไม่ไหลเวียน เลือดไม่สามารถไหลอยู่ในเส้นเลือดได้ จนเกิดเป็นเปิงโล่ว
วิธีการรักษา
ใช้ตำรับยาเถาหงซื่ออู้ทังเพิ่มลด(桃红四物汤加减)มีฤทธิ์ในการสลายเลือดคั่ง เพิ่มการไหลเวียนเลือด บำรุงเลือด ปรับประจำเดือน ปรับผนังมดลูก และเพิ่มยาบำรุงชี่และช่วยห้ามเลือด
เนื่องจากคนไข้ผนังมดลูกหนาทำให้มีเลือดออกไม่หยุด จึงจำเป็นต้องขับประจำเดือนเพื่อให้ผนังมดลูกบางลง(เลือดเก่า) และบำรุงชี่และห้ามเลือดไปในตัว เพื่อไม่ให้ประจำเดือนมามากจนเกินไป เมื่อประจำเดือนมา ผนังมดลูกบางลง เลือดก็จะหยุดเอง
ประเมินผลหลังการรักษา(วันที่ 18 มีนาคม 2565)
- หลังจากกินยาจีน ประจำเดือนมาเยอะขึ้นและค่อยๆน้อยลง มีลิ่มเลือดปนออกมา
- เหนื่อยง่าย
- นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ
แนวทางการรักษาด้วยแพทย์จีนต่อเนื่อง
เนื่องจากคนมีอาการเหนื่อยง่ายร่วมด้วยจึงเปลี่ยนตำรับยาที่ช่วยในการบำรุงชี่มากขึ้น และปรับประจำเดือนร่วมด้วย
ประเมินผลหลังการรักษา(วันที่ 25 มีนาคม 2565)
- ประจำเดือนหยุดสนิท ไม่มีเลือดออก
- ไม่เหนื่อย มีแรงดี
- นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ
สรุปผลการรักษา
จากกรณีตัวอย่างจะเห็นได้ว่ายาจีนสามารถปรับประจำเดือนให้กลับมาเป็นปกติได้ อีกทั้งยังสามารถบำรุงร่างกายได้อีกด้วย
วิเคราะห์ผลการรักษา
- ผู้ป่วยมีภาวะเปิงโล่วมีเลือดออกกระปิดกะปรอยจากช่องคลอดไม่หยุด มีลิ่มเลือด โดยในทางการแพทย์แผนจีนนั้นจัดเป็นอาการที่พบในกลุ่มอาการเลือดคั่ง
- สำหรับชีพจรลื่นบ่งบอกประจำเดือนที่ใกล้มาหรือประจำเดือนกำลังมาอยู่ ในกรณีนี้มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ฮอร์โมนผิดปกติ ก็อาจทำให้เกิดชีพจรลื่นได้เช่นกัน
- สำหรับลิ้นนั้นมีสีคล้ำ มีจุดสีม่วงบนลิ้น บ่งบอกถึงการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดีเกิดเป็นเลือดคั่งในร่างกาย ลิ้นมีรอยฟันเนื่องจากม้ามพร่อง
- หลังรักษาไป 2 อาทิตย์อาการต่างๆ เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ และหายสนิทในที่สุด
บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน สิตา สร้อยอัมพรกุล (หมอจีน หลิน อิ่ง เหวิน)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1049
แพทย์จีนเฉพาะทางด้านนรีเวช และรักษาโรคอายุรกรรมทั่วไป มีบุตรยาก รังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร ประจำเดือนผิดปกติ วัยทอง ปวดประจำเดือน PCOS เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกในมดลูก อุ้งเชิงกรานอักเสบ บำรุงน้ำนมหลังคลอดและโรคทางนรีเวชอื่นๆ
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567