Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 14962 จำนวนผู้เข้าชม |
ในการประเมินความปวดมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน หนึ่งในรูปแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและมีความสะดวกเข้าใจง่ายคือ การประเมินด้วยมาตรวัดความปวดแบบตัวเลข (numerical rating scale: NRS)
เป็นการประเมินความปวด โดยผู้ป่วยให้คะแนนความปวดด้วยตนเอง โดย 0 คือไม่ปวดเลย และ 10 คือ ปวดมากที่สุด แบ่งออกเป็นสามระดับได้แก่ 0-3 ไม่ปวดเลยหรือปวดเล็กน้อย 4-6 ปวดปานกลาง 7-10 ปวดมากที่สุด โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยความปวดประมาน 4-10 ยิ่งคะแนนความปวดมากขึ้นก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยมากตามลำดับ ในทางแพทย์จีนมีการแบ่งความหมายและลักษณะอาการปวดออกเป็นหลากหลายรูปแบบ
ระดับความปวด 0-3 มักพบอาการปวดเบาๆ (อิ่นท่ง 隐痛) เกิดจากร่างกายที่อ่อนเพลีย เลือดและสารจิงที่จำเป็นของร่างกายพร่อง หยางชี่ไม่พอ ทำให้กลไกในร่างกายขาดการบำรุง ผู้ป่วยในระยะนี้จะรู้สึกว่ามีอาการปวดที่ไม่รุนแรง แต่จะรู้สึกปวดได้บ่อยๆ ขี้หนาว หากมีอาการปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้ มักพบในผู้ป่วยที่ร่างกายค่อนข้างอ่อนเพลีย ไม่ค่อยออกกำลังกายหรือผู้สูงอายุเป็นต้น
ระดับความปวด 4-6 มักพบอาการปวดตึง (จ้างท่ง 胀痛) เกิดจากชี่อุดกลั้นเป็นหลัก หากผู้ป่วยมีความเครียดสูง ส่งผลให้อาการปวดตึงชัดมากขึ้น ในทางคลินิกพบอาการปวดลักษณะนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันการทำงานและพฤติกรรมส่วนใหญ่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ มือถือ หรือขับรถเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการปวดตึงและมีความเครียดค่อนข้างง่าย
ระดับความปวด 7-10 มักพบอาการปวดเข็มแทง (ชื่อท่ง 刺痛) เป็นการปวดคล้ายเข็มหรือมีดแทง ผู้ป่วยจะสามารถบอกตำแหน่งของอาการปวดได้อย่างชัดเจน เกิดจากเลือดคั่ง เมื่อการไหลเวียนของเลือดไม่ปกติเกิดการติดขัด ส่งผลให้เกิดการคั่งของเลือดจุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป เมื่อปล่อยทิ้งไว้อาการอาจรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างชัดเจน
เมื่อได้รับการครอบแก้วในบริเวณที่มีเลือดคั่ง ผิวหนังของผู้ป่วยจะมีสีแดงเข้มหรือม่วงเข้มชัดเจนมาก หากพฤติกรรมการทำงานต้องค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 45 นาทีขึ้นไปเป็นประจำ หรือกินยาแก้ปวดจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ
หากเป็นเช่นนี้ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายแล้วว่าเรากำลังใช้งานอย่างผิดรูปแบบ การรักษาด้วยการทุยหนา (นวดแบบจีน) ฝังเข็ม กินยาจีน ออกกำลังกาย สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อไม่ปล่อยให้อาการปวดเป็นเรื่องปกติ หมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย เราก็จะมีความสุขในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
บทความโดย
แพทย์จีน ธนภรณ์ ธนศรีวนิชชัย (หลิว ฉาย เผิง)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.993
นวดทุยหนารักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรม ปวดศีรษะ อัมพาตใบหน้า ใบหน้ากระตุก ไหล่ติด ปวดข้อศอก ข้อเข่าเสื่อม รองช้ำ โรคกระดูกต้นคอและเอว
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567