Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 10337 จำนวนผู้เข้าชม |
หูดับ หรือ หูตึง เฉียบพลัน
(Sudden Sensorineural Hearing Loss)
คือ ภาวะที่ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินอย่างเฉียบพลันหรือประสาทหูเสื่อมอย่างเฉียบพลัน ลดลงมากกว่า 30 เดซิเบล ในช่วงเวลาไม่กี่นาที หรือไม่กี่ชั่วโมงหรือภายใน 3 วัน ร่วมกับมีอาการหูอื้อ รู้สึกตึงแน่นหู เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แต่ไม่มีประวัติเวียนศีรษะเกิดขึ้นซ้ำ มักเกิดขึ้นกับหูข้างเดียว น้อยรายเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง พบได้ทั้งในผู้ป่วยเพศหญิงและชาย มักพบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและวัยกลางคน
สาเหตุของหูดับ
หูดับเกิดจากเซลล์รับเสียง หรือวิถีประสาทที่อยู่ระหว่างหูกับสมองได้รับความเสียหาย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดอาการหูดับเฉียบพลัน แต่โดยทั่วไป อาการหูดับมักจะยากที่จะตรวจเจอสาเหตุที่ชัดเจนได้ มีเพียง 10-15% ในผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้น ที่แพทย์สามารถระบุสาเหตุชัดเจนได้
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
มักมีปัจจัยกระตุ้นจากอารมณ์ฉุนเฉียวโมโห ตรากตรำทำงาน เป็นหวัด ฯลฯ โดยแบ่งเป็นปัจจัยภายในและภายนอก
ปัจจัยภายใน มักเกิดจากอารมณ์ฉุนเฉียวโมโห ตกใจกลัว ลมและไฟของตับและถุงน้ำดีรุกรานเบื้องบน หรือ อาจเกิดจากเลือดคั่ง เสมหะอุดกั้นทวารหูทำให้ชี่ของเส้นลมปราณเส้าหยางอุดกั้น หรือ ชี่และเลือดพร่อง ไม่สามารถหล่อเลี้ยงทวารหูจึงเกิดอาการหูดับเฉียบพลัน
ปัจจัยภายนอก มักเกิดจากลมเข้ารุกราน อุดกั้นทวารเบื้องบน จึงเกิดอาการหูดับเฉียบพลัน
ตำแหน่งการเกิดโรคอยู่ที่หู สังกัดอวัยวะไต
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ โดยแบ่งการวินิจฉัยตามกลุ่มอาการ 5 ประเภท ดังนี้
1. กลุ่มอาการลมจากภายนอกเข้ากระทำ (风邪外犯证)
อาการ : การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก หรือมีอาการปวดศีรษะ รู้สึกตึงแน่นในหู เป็นต้น หรือมีอาการกลัวลม มีไข้ ปวดเมื่อยตัว เป็นต้น ลิ้นชมพูหรือแดง ฝ้าขาวบางหรือเหลืองบาง ชีพจรลอย
วิธีรักษา : ขับไล่ลม (疏风散邪)
2. กลุ่มอาการชี่ติดขัดมีเลือดคั่ง (气滞血瘀证)
อาการ : การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการตึงแน่นในหู หรือเจ็บในหู หูอื้อ หรือมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย ลิ้นแดงคล้ำหรือมีจุดจ้ำเลือด ชีพจรฝึด
วิธีรักษา : ขับเคลื่อนชี เพิ่มการไหลเวียนเลือด(行气活血)
3. กลุ่มอาการไฟตับเข้ารุกราน (肝火上扰证)
อาการ : การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน มักเกิดอาการหลังจากอารมณ์แปรปรวน หรือ มีอาการหูอื้อร่วมด้วย หรือ ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้าและตาแดง ปากขม คอแห้ง หงุดหงิดกระวนกระวาย เจ็บเสียดชายโครง ท้องผูก ปัสสาวะสีเหลือง ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเร็วมีพลัง
วิธีรักษา : ระบายความร้อนในตับ (清肝泻火)
4. เสมหะและไฟสะสม (痰火郁结证)
อาการ : การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน หรือมีอาการหูอื้อ รู้สึกตึงแน่นในหูร่วมด้วย หนักศีรษะ แน่นหน้าอก ไอมีเสมหะ ปากขม ท้องผูก ปัสสาวะสีเหลือง ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงลื่น
วิธีรักษา : ระบายความร้อนขับเสมหะ (清热化痰)
5. กลุ่มชี่และเลือดพร่อง (气血亏虚证)
อาการ : การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน มักเกิดอาการหลังจากตรากตรำเหน็ดเหนื่อย หรือมีอาการหูอื้อ เวียนศีรษะร่วมด้วย มีอาการอ่อนเพลีย เซื่องซึม สีหน้าไม่สดใส เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว ใจสั่น นอนไม่หลับ ลิ้นซีด ฝ้าขาว ชีพจรเล็กอ่อน
วิธีรักษา : เสริมบำรุงชี่และเลือด (益气养血)
ตัวอย่างกรณีการรักษาหูดับเฉียบพลัน
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : XXX
ชื่อ : คุณ XXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 3 ตุลาคม 2564
เพศ : หญิง
อายุ : 36 ปี
อุณหภูมิ 36.6 องศาเซลเซียส
ชีพจร : 77 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 107/77 mmHg น้ำหนัก : 55 กิโลกรัม
อาการสำคัญ (Chief complaint)
การได้ยินของหูซ้ายลดลงอย่างเฉียบพลัน 20 วัน
อาการปัจจุบัน (Present illness)
การได้ยินของหูซ้ายลดลงอย่างเฉียบพลัน ไม่ได้ยินเสียงเลย ร่วมกับมีอาการหูอื้อเหมือนมีลมพัด ผู้ป่วยมีประวัติการใช้โทรศัพท์คุยงานเยอะ เครียดและกังวลเรื่องงาน นอนหลับไม่สนิท
วันที่ 15/9/2564 มีอาการหูดับ ร่วมกับหูอื้อ เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หลังจากรักษาด้วยการรับประทานยาแผนปัจจุบันและฉีดสเตียรอยด์ 5 ครั้ง รักษาด้วยออกซิเจนบำบัด(Hyperbaric Oxygen (HBO) Therapy) 7 ครั้ง
ตอนนี้ไม่มีเวียนศีรษะแล้ว แต่การได้ยินยังไม่ฟื้นตัว หูอื้อ แน่นในหู อ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้น้อยลง ขับถ่ายปกติ ประจำเดือนปกติ ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองบาง ชีพจรตึงเล็ก
ผลตรวจการได้ยิน (Audiogram)
ความถี่ | หูขวา | หูซ้าย |
ค่าเฉลี่ยของระดับการได้ยินผ่านอากาศ | 20 | 120 |
ค่าเฉลี่ยของระดับการได้ยินผ่านกระดูก | 20 | 68 |
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต (Past history)
- ปฏิเสธประวัติการแพ้ยาและอาหาร
- ปฏิเสธประวัติการติดเชื้อ มีไข้หรือเป็นหวัด
- ปฏิเสธการรับประทานหมูดิบ
การวินิจฉัยโรค (Diagnosis)
วินิจฉัยตามหลักแพทย์จีน
暴聋 หูดับเฉียบพลัน (กลุ่มอาการไฟตับเข้ารุกรานร่วมกับชี่และเลือดพร่อง)
วินิจฉัยตามหลักแพทย์ปัจจุบัน
หูดับเฉียบพลัน (Sudden Sensorineural Hearing Loss)
วิธีการรักษา (Treatment)
รักษาด้วยการฝังเข็ม
ใช้หลักการรักษา ทะลวงทวารหู ปรับการไหลเวียนของชี่ตับ ลดความเครียด ระบายร้อน ร่วมกับเสริมบำรุงชี่และเลือด บำรุงไต
ผลการรักษา (progression note)
ผู้ป่วยเข้าการรักษา ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2564 - วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564
รักษาครั้งที่ 2 : วันที่ 6 /10/2564
หลังจากฝังเข็มไปครั้งแรก การได้ยินของหูซ้ายดีขึ้นเล็กน้อย เครียดน้อยลง นอนหลับสนิท รับประทานอาหารทั่วไปได้ปกติ
ความถี่ | หูขวา | หูซ้าย |
ค่าเฉลี่ยของระดับการได้ยินผ่านอากาศ | 20 | 100 |
ค่าเฉลี่ยของระดับการได้ยินผ่านกระดูก | 20 | 68 |
รักษาครั้งที่ 3 : วันที่ 10/10/2564
การได้ยินของหูซ้ายดีขึ้น ผู้ป่วยลองฟังเพลงผ่านหูฟัง ได้ยินแต่ไม่ชัด คล้ายมีเสียงลมแทรก นอนยาก เครียดเรื่องงาน ชีพจรตึงเล็ก
รักษาครั้งที่ 4 : วันที่ 14/10/2564
การได้ยินของหูซ้ายดีขึ้น ผู้ป่วยลองฟังเพลงผ่านหูฟัง ได้ยินแต่ไม่ชัด คล้ายมีเสียงลมแทรก นอนหลับดีขึ้น ยังเครียดเรื่องงาน ชีพจรตึงเล็ก
รักษาครั้งที่ 5 : วันที่ 17/10/2564
หูอื้อดีขึ้น การได้ยินของหูซ้ายดีขึ้น พอได้ยินเสียงบ้าง นอนหลับดีขึ้น ชีพจรตึงเล็ก
รักษาครั้งที่ 6 : วันที่ 20/10/2564
การได้ยินของหูซ้ายดีขึ้น บางคืนนอนไม่สนิท หลังจากตื่น นอนต่อลำบาก อ่อนเพลีย เครียดเรื่องงาน ชีพจรตึงเล็ก
รักษาครั้งที่ 7 : วันที่ 24/10/2564
ยังมีอาการหูอื้ออยู่บ้าง แต่การได้ยินดีขึ้น เนื่องจากลองใช้หูฟังคุยโทรศัพท์กับญาติ ฟังรู้เรื่อง จับใจความได้ชีพจรตึงเล็ก
รักษาครั้งที่ 8 : วันที่ 31/10/2564
สัปดาห์นี้ผู้ป่วยย้ายที่ทำงานใหม่ ความเครียดน้อยลง นอนหลับดีขึ้น อ่อนเพลียเล็กน้อย การได้ยินของหูซ้ายดีขึ้นจากสัปดาห์ก่อน หูอื้อลดลงจากเดิม ชีพจรตึงเล็ก
รักษาครั้งที่ 9 : วันที่ 6/11/2564
การได้ยินของหูซ้ายดีขึ้น หูอื้อลดลง เริ่มมีอาการแน่นในหูขวา เนื่องจากใช้โทรศัพท์นาน การได้ยินของหูขวายังปกติ เครียดและกังวลกับอาการเจ็บป่วย นอนไม่สนิท ชีพจรจมเล็ก
ผลตรวจการได้ยิน (Audiogram)
ความถี่ | หูขวา | หูซ้าย |
ค่าเฉลี่ยของระดับการได้ยินผ่านอากาศ | 15 | 90 |
ค่าเฉลี่ยของระดับการได้ยินผ่านกระดูก | 15 | 68 |
รักษาครั้งที่ 10 : วันที่ 13/11/2564
การได้ยินของหูซ้ายดีขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย หูอื้อดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกแน่นหูขวา การได้ยินยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ชีพจรตึงเล็ก ได้ปรับเพิ่มจุดฝังเข็มรอบหูขวา
ความถี่ | หูขวา | หูซ้าย |
ค่าเฉลี่ยของระดับการได้ยินผ่านอากาศ | 22 | 87 |
ค่าเฉลี่ยของระดับการได้ยินผ่านกระดูก | 22 | 68 |
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567