ข้อเท้าแพลง Ankle Sprain

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  13436 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ข้อเท้าแพลง Ankle Sprain

ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain)
        ข้อเท้าแพลง หรือโรคเส้นเอ็นข้อเท้าอักเสบ กล่าวถึงอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการก้าวเหยียบบนพื้นผิวที่ไม่เรียบอย่างไม่ระมัดระวังหรือการกระโดดในลักษณะงอข้อเท้าขณะลงสู่พื้น บริเวณเท้ารับน้ำหนักไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ข้อเท้าพลิกเข้าด้านในหรือพลิกออกด้านนอกมากเกินไป เส้นเอ็นข้อเท้าด้านในหรือด้านนอกได้รับแรงกระทำอย่างรุนแรงจนนำไปสู่การบาดเจ็บ เป็นโรคหรือกลุ่มอาการชนิดหนึ่งที่มีอาการแสดงสำคัญทางคลินิกได้แก่ อาการปวด บวม ฟกช้ำและการเคลื่อนไหวข้อเท้าติดขัด โรคนี้เป็นหนึ่งในอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในทางคลินิก สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่มักพบในวัยกลางคน และอาการบาดเจ็บจากกีฬา นิยมแบ่งประเภทของโรคข้อเท้าแพลง ตามตำแหน่งเส้นเอ็นที่มีการบาดเจ็บ ได้แก่ 
       1. การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอก (Lateral ligament complex) 
       2. การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านใน  (Medial ligament complex)

กายวิภาคศาสตร์ของข้อเท้า
        ข้อเท้า (Ankle หรือ Talocrural joint) เป็นข้อต่อแบบสไลด์ (Gliding joint) ที่เกิดจากส่วนปลายของกระดูกแข้ง (Tibia) และกระดูกน่อง (Fibula) กับกระดูกข้อเท้า ส่วนปลายของกระดูกแข้งยื่นออกมาทางด้านในเป็นตาตุ่มใน (Medial malleolus) ส่วนปลายของกระดูกน่องยื่นออกมาทางด้านนอกเป็นตาตุ่มนอก (Lateral malleolus) โดยตาตุ่มนอกจะอยู่ต่ำกว่าตาตุ่มใน

ข้อเท้าประกอบด้วยเอ็นสองกลุ่มที่สำคัญ คือ
1. กลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอก (Lateral ligament complex)  ซึ่งมีหน้าที่สร้างความมั่นคงต่อการเกิดพลิกข้อเท้าเข้าด้านใน (Inversion) และเลื่อนมาทางด้านหน้า (Anterior translation) ประกอบด้วย Anterior talofibular ligament (ATFL) Calcaneofibular ligament (CFL) และ Posterior talofibular ligament (PTFL)



รูปแสดงเส้นเอ็นบริเวณข้อเท้าขวาด้านนอก
Credit : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4994968/

2. กลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านใน (Medial ligament complex) ซึ่งมีหน้าที่สร้างความมั่นคงต่อการเกิดพลิกข้อเท้าออกด้านนอก (Eversion) และหมุนข้อเท้าออกด้านนอก (External rotation) ได้แก่ Superficial deltoid ligament และ Deep deltoid (tibiotalar) ligament



รูปแสดงเส้นเอ็นข้อเท้าขวาด้านใน
Credit : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4994968/

การเคลื่อนไหวของข้อเท้าในระนาบต่าง ๆ มีดังนี้
1. การเคลื่อนไหวในระนาบแบ่งซ้ายขวา (Sagittal plane) คือการกระดกข้อเท้าขึ้น (Dorsiflexion) พิสัยปกติอยู่ที่ 20-30 องศา และการงอข้อเท้าลง (Plantarflexion) พิสัยปกติอยู่ที่ 40-50 องศา การเคลื่อนไหวในระนาบนี้ส่วนใหญ่เกิดที่ข้อเท้า

2. การเคลื่อนไหวในระนาบแบ่งหน้าหลัง (Frontal plane หรือ Coronal plane) คือการพลิกเท้าเข้าใน (Inversion) พิสัยปกติอยู่ที่ 23 องศา และการพลิกเท้าออกนอก (Eversion) พิสัยปกติอยู่ที่ 12 องศา การเคลื่อนไหวในระนาบนี้ส่วนใหญ่เกิดที่ข้อใต้กระดูกข้อเท้า (subtalar joint)

3. การเคลื่อนไหวทั้ง 3 ระนาบ (Triplane motion) เป็นการเคลื่อนไหวของเท้าที่เกิดขึ้นทั้ง 3 ระนาบ คือ แนวระนาบแบ่งซ้ายขวา ระนาบแบ่งบนล่าง และระนาบแบ่งหน้าหลัง ได้แก่
    3.1 การคว่ำเท้า (Pronation) ประกอบด้วย การกระดกข้อเท้าขึ้น (ระนาบแบ่งช้ายขวา) การกางเท้า (ระนาบแบ่งบนล่าง) และ การพลิกเท้าออกนอก (ระนาบแบ่งหน้าหลัง)
    3.2 การหงายเท้า (Supination) ประกอบด้วย การงอข้อเท้าลง (ระนาบแบ่งซ้ายขวา) การหุบเท้า (ระนาบแบ่งบนล่าง) และการพลิกเท้าเข้าใน (ระนาบแบ่งหน้าหลัง)



รูปแสดงการเคลื่อนไหวของข้อเท้าในระนาบต่างๆ
Credit : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4994968/

กลไกของการเกิดโรคข้อเท้าแพลง
การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นด้านนอก (Lateral ligament complex) เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุด คิดเป็น 70% ของการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เส้นเอ็นด้านนอกของข้อเท้าได้รับบาดเจ็บมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่

1. กระดูกข้อเท้าด้านนอกยาวกว่ากระดูกข้อเท้าด้านใน กลุ่มเส้นเอ็นด้านนอกของข้อเท้ามีขนาดเล็กและอ่อนแอกว่ากลุ่มเส้นเอ็นด้านในของข้อเท้า จึงง่ายต่อการบาดเจ็บที่เกิดจากข้อเท้าพลิกเข้าด้านใน

2. กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กระดกและพลิกข้อเท้าออกด้านนอก (Fibularis tertius muscle) มีความแข็งแรงไม่เท่ากล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่พลิกข้อเท้าเข้าด้านใน (Anterior tibial muscle) ด้วยเหตุนี้แรงที่ทำให้ข้อเท้าพลิกออกด้านนอกไม่แข็งแรงเท่าแรงที่ทำให้ข้อเท้าพลิกเข้าด้านใน

3. ข้อเท้าเป็นข้อต่อที่มีความมั่นคงไม่สมบูรณ์ Transverse tibiofibular ligament (TTFL) เป็นเส้นเอ็นที่จัดเรียงตัวแนวเฉียงในทิศด้านล่างและทิศด้านข้างระหว่างกระดูกแข้ง (Tibia) และกระดูกน่อง (Fibula) ในขณะที่ตาตุ่มด้านนอกซึ่งเป็นส่วนประกอบของข้อเท้ามีพื้นผิวข้อต่อค่อนข้างจะเอียง ด้วยเหตุนี้ส่วนปลายของกระดูกน่อง (Distal fibula) สามารถเคลื่อนที่ไปทางทิศด้านบนหรือทิศด้านข้างได้อย่างเหมาะสม

 จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น การบาดเจ็บที่พบได้ง่ายของข้อเท้าจึงมักเกิดจากข้อเท้าพลิกเข้าด้านใน ขณะที่วิ่ง กระโดดบนพื้นผิวที่ไม่เรียบหรือลงบันได เท้าซึ่งอยู่ในท่าเหยียดจึงง่ายต่อการบิดพลิกเข้าด้านในอย่างฉับพลัน น้ำหนักตัวทั้งหมดลงไปบริเวณด้านนอกของข้อเท้า ทำให้เส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอกได้รับบาดเจ็บจากการดึงอย่างรุนแรง บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บง่ายที่สุดคือ Anterior talofibular ligament (ATFL) รองลงมาคือ Calcaneofibular ligament (CFL) การบาดเจ็บ Posterior talofibular ligament (PTFL) พบได้น้อย ในรายที่ไม่รุนแรงเส้นเอ็นจะดึงเยื่อหุ้มกระดูกแข็งด้านนอก (Periosteum) ฉีกขาดทำให้เลือดออกใต้เยื่อหุ้มกระดูก (Subperiosteal hemorrhage) ในรายที่รุนแรงเส้นเอ็นจะฉีกขาดบางส่วน หากรุนแรงมากอาจทำให้เส้นอีกฉีกขาดทั้งหมด สามารถพบกระดูกหักจากแรงกระชาก (Avulsion fracture) หรือกระดูกทาลัสเคลื่อนบางส่วน (Subluxation of talus)

การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านใน (Medial ligament complex) กลุ่มเส้นเอ็นด้านในค่อนข้างจะแข็งแรงจึงทำให้โอกาสที่ได้รับบาดเจ็บต่ำ การบาดเจ็บมักเกิดจากข้อเท้าพลิกออกด้านนอกหรือบิดอย่างฉับพลันขณะที่ออกกำลังกายโดยการวิ่ง กระโดด เท้าลงสู่พื้นไม่มั่นคง น้ำหนักตัวทั้งหมดลงไปบริเวณด้านในของข้อเท้า ข้อเท้าพลิกออกด้านนอกเกินพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเท้าในภาวะปกติอย่างฉับพลัน ทำให้เส้นเอ็นข้อเท้าด้านในได้รับบาดเจ็บ หากแรงที่กระทำให้ข้อเท้าพลิกออกด้านนอกมาก อาจทำให้เส้นเอ็นข้อเท้าด้านในฉีกขาดร่วมกับ Syndesmosis ligament of ankle ฉีกขาดหรือกระดูกแข้งส่วนปลาย (Distal tibia) กระดูกน่องส่วนปลาย (Distal fibula) แยกออกจากกัน (Separation of anterior of tibiofibular syndesmosis) ร่วมกับ กระดูกข้อเท้าด้านในหัก (Medial malleolus fracture)

โรคข้อเท้าแพลง (Ankle sprain) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติการบาดเจ็บที่เกิดจากข้อเท้าพลิกเข้าด้านในหรือพลิกออกด้านนอก บริเวณข้อเท้าด้านในหรือข้อเท้าด้านนอกมีอาการบวม แน่นและปวด มักพบเลือดออกใต้ผิวหนังร่วมด้วย เมื่อพิจารณาจากระดับความบวมและเลือดออกใต้ผิวหนัง ในรายที่ไม่รุนแรงจะพบอาการบวมเป็นบริเวณจำกัด ในรายที่รุนแรงจะพบอาการบวมทั้งข้อเท้า พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเท้าถูกจำกัด ไม่กล้า ออกแรงเหยียบในขณะเดิน แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ

1. ระยะอักเสียบเฉียบพลัน : เกิดจากกรณีบาดเจ็บเฉียบพลัน จะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน ผิวหนังฟกช้ำ ร่วมกับอาการปวดข้อเท้าด้านในหรือข้อเท้าด้านนอก พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเท้าถูกจำกัด ไม่สามารถรับน้ำหนักได้

2. ระยะอักเสบเรื้อรัง : เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ ของเส้นเอ็นรอบข้อเท้าหรือการอักเสบเฉียบพลันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะมีอาการปวดบริเวณข้อเท้าด้านในหรือข้อเท้าด้านนอก พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเท้าถูกจำกัดบางส่วน ไม่สามารถรับน้ำหนักได้เต็มที่

การตรวจร่างกาย
1. บวม แน่นและมีเลือดคั่ง : บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บมักพบเลือดออกใต้ผิวหนัง อาการบวมแน่น ในรายที่ไม่รุนแรงจะพบอาการดังกล่าวบริเวณด้านล่างค่อนไปด้านหน้าของตาตุ่มนอกหรือบริเวณด้านล่างของตาตุ่มใน ในรายที่รุนแรงจะพบอาการดังกล่าวกระจายไปทั้งข้อเท้า หลังได้รับบาดเจ็บประมาณ 2-3 วัน รอยฝกช้ำที่เกิดจากเลือดออกใต้ผิวหนังจะชัดเจนขึ้น

2. มีจุดกดเจ็บ : การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอก จะพบจุดกดเจ็บบริเวณด้านล่างค่อนไปด้านหน้าของตาตุ่มนอก Anterior talofibular ligament (ATFL) หรือบริเวณด้านล่างของข้อเท้า Calcaneofibular ligament (CFL) การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านใน มักพบจุดกดเจ็บบริเวณด้านล่างของตาตุ่มใน Syndesmosis ligament of ankle ฉีกขาด มักพบจุดกดเจ็บบริเวณข้อต่อส่วนล่างของกระดูกน่องและกระดูกแข้ง (Inferior tibiofibular joint)

3. การเคลื่อนไหวโดยมีแรงจากภายนอกมากระทำ (Passive motion) : การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอก อาการปวดบริเวณข้อเท้าด้านนอกจะมากขึ้นเมื่อเหยียดข้อเท้าร่วมกับพลิกข้อเท้าเข้าด้านใน การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านใน อาการปวดบริเวณข้อเท้าด้านในจะมากขึ้นเมื่อพลิกข้อเท้าออกด้านนอก

4. เมื่อกระดูกหักร่วมกับกระดูกเคลื่อน (Dislocation fracture) สามารถคลำกระดูกที่หักได้

5. การตรวจภาพทางรังสี  การตรวจโดยการ X-ray สามารถยืนยันได้ว่ามีกระดูกหัก การดูกเคลื่อนหรือไม่ การถ่าย X-ray ในท่า (stress view) สามารถเห็นช่องว่างข้อต่อของข้อเท้าหรือกระดูกทาลัสเคลื่อน (Talus dislocation) ซึ่งแสดงถึงเส็นเอ็นฉีกขาดสมบูรณ์

การรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
กลไกของการเกิดโรคข้อเท้าแพลงตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
โรคนี้ทางการแพทย์แผนจีนจัดอยู๋ในขอบเขตของ “伤筋” ข้อเท้าเป็นบานพับของเท้า เป็นบริเวณที่เส้นลมปราณเอ็นหยางทั้งสามและเส้นลมปราณเอ็นอินทั้งสามรวมตัวกัน เมื่อเท้าได้รับแรงที่ไม่เหมาะสม เส้นลมปราณเอ็นถูกดึงหรือเหยียดมากเกินไป ส่งผลให้เส้นลมปราณเอ็นเอ็นฉีกขาด เส้นลมปราณเอ็นหยางคลายยืด เส้นลมปราณเอ็นอินหดเกร็ง ชี่และเลือดไหลออกจากเส้นลมปราณ ทำให้เกิดการคั่งและบวม พิสัยการเคลื่อนไหวถูกจำกัด งอเหยียดติดขัดและเกิดอาการปวด

หลักในการรักษา :  กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ลดบวมระงับปวด (活血化瘀、消肿止痛)

การทุยหนา : ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น ลดการอักเสบ คลายความอ่อนล้า ช่วยให้ข้อต่อยืดหยุ่น ลดโอกาสเสี่ยงของอาการปวดเกร็งหรือเป็นตะคริว หัตถการทุยหนามีขั้นตอนดังนี้

การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอก
1. หัตถการคลายกล้ามเนื้อ : ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่ากลิ้ง (กุ๋นฝ่า滚法) หรือท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) ไปกลับบนบริเวณน่องขาด้านนอกจนถึงตาตุ่มนอกด้วยความเบาและนุ่มนวล พร้อมกับใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) บนบริเวณจุดหยางหลิงเฉวียน (GB34阳陵泉) และจุดจู๋ซานหลี่ (ST36足三里) ประมาณ 3-5 นาที จากนั้นแพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) ด้วยฝ่ามือฝั่งนิ้วโป้งหรือสันมือบนบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บและรอบๆ หัตถการต้องเบาและนุ่มนวล ประมาณ 5-8 นาที

2. หัตถการรักษา : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) ด้วยนิ้วโป้งบนบริเวณจุดชิวซวี (GB40丘墟) จุดเจี่ยซี (ST41解溪) จุดเซินม่าย (BL62申脉) จุดจินเหมิน (BL63金门) จุดละ 1 นาที และใช้ท่าบีบ (หนาฝ่า拿法) และท่าดีด (ถานโบฝ่า弹拨法) ด้วยมือบริเวณรอบๆตาตุ่มด้านนอกด้วยน้ำหนักมือที่เบา ใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที

3. หัตถการเคลื่อนไหวข้อต่อ : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่าดึงหมุน (ป๋าเซินเหยาฝ่า拔伸摇法) โดยใช้มือหนึ่งจับบริเวณเอ็นร้อยหวาย อีกมือหนึ่งจับบริเวณปลายเท้า ออกแรงดึงยืดพร้อมกับหมุนข้อเท้าเบาๆ จากนั้นค่อยๆดึงยืดข้อเท้าเข้าด้านใน จากนั้นดึงยืดข้อเท้าออกด้านนอก ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

4. หัตถการสิ้นสุดการรักษา : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่าถู (ชาฝ่า擦法) ด้วยฝ่ามือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ จนเกิดความรู้สึกร้อน หลังจากนั้นใช้ท่าดันถู (ทุยโหม่วฝ่า推抹法) ทิศบนลงล่างตามแนวเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อจนเกิดความรู้สึกร้อน

การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านใน
1. หัตถการคลายกล้ามเนื้อ : ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย ด้านที่ปกติงอเข่าขึ้น ด้านที่มีพยาธิสภาพเหยียดตรง แพทย์ผู้ทำหัตถการ ใช้ท่ากลิ้ง (กุ๋นฝ่า滚法) หรือท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) ไปกลับบนบริเวณน่องขาด้านในจนถึงใน เน้นบริเวณด้านล่างของตาตุ่มใน หัตถการต้องเบาและนุ่มนวล ประมาณ 3-5 นาที

2. หัตถการรักษา : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) ด้วยฝ่ามือฝั่งนิ้วโป้งหรือสันมือบนบริเวณด้านล่างของตาตุ่มใน ร่วมกับใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) ด้วยนิ้วโป้งบนจุดซางชิว (SP5商丘) จุดเจ้าไห่ (KI6照海) จุดไท่ซี (KI3太溪) หัตถการต้องเบาและนุ่มนวล ประมาณ 5-8 นาที

3. หัตถการเคลื่อนไหวข้อต่อ : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่าดึงหมุน (ป๋าเซินเหยาฝ่า拔伸摇法) โดยใช้มือหนึ่งจับบริเวณเอ็นร้อยหวาย อีกมือหนึ่งจับบริเวณปลายเท้า ออกแรงดึงยืดพร้อมกับหมุนข้อเท้าเบาๆ จากนั้นค่อยๆดึงยืดข้อเท้าเข้าด้านนอก จากนั้นดึงยืดข้อเท้าออกด้านใน ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

4. หัตถการสิ้นสุดการรักษา : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่าถู (ชาฝ่า擦法) ด้วยฝ่ามือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ จนเกิดความรู้สึกร้อน หลังจากนั้นใช้ท่าดันถู (ทุยโหม่วฝ่า推抹法) ทิศบนลงล่างตามแนวเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อจนเกิดความรู้สึกร้อน

การฝังเข็ม 
การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอก

  • จุดกดเจ็บ (阿是穴)
    ตำแหน่ง :
    บริเวณรอบตาตุ่มนอก หาโดยการกดบริเวณรอบตาตุ่มนอก หากกดแล้วเจ็บแสดงว่าเป็นจุดกดเจ็บ (阿是穴)
  • จุดหยางหลิงเฉวียน (GB34阳陵泉)
  • จุดจู๋ซานหลี่ (ST36足三里)
  • จุดชิวซวี (GB40丘墟)
  • จุดเจี่ยซี (ST41解溪)
  • จุดเซินม่าย (BL62申脉)
  • จุดจินเหมิน (BL63金门)

การบาดเจ็บของกลุ่มเส้นเอ็นข้อเท้าด้านใน

  • จุดกดเจ็บ (阿是穴)
    ตำแหน่ง : บริเวณรอบตาตุ่มใน หาโดยการกดบริเวณรอบตาตุ่มใน หากกดแล้วเจ็บแสดงว่าเป็นจุดกดเจ็บ (阿是穴)
  • จุดซางชิว (SP5商丘)
  • จุดเจ้าไห่ (KI6照海)
  • จุดไท่ซี (KI3太溪)

ยาจีน

  • ตำรับยาซื่อเมี่ยวซ่านเจียเจี่ยน (四妙散加减) : 
    หลักการรักษา : ระบายความร้อนขจัดความชื้น บำรุงชี่และเลือด บำรุงตับและไต ทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด(请热除湿,益气养血,补益肝肾,通络止痛)
    เหมาะสำหรับ : กลุ่มอาการปวดตามข้อ ข้อบวม เคลื่อนไหวติดขัดเป็นต้น

พอกยา

  • ตำรับยาไห่ถงผีทัง(海桐皮汤)
  • ตำรับยาเซียวจ๋งส่าน(消肿散) 
    หลักการรักษา : ระบายความร้อนระงับปวด(请热止痛)
    เหมาะสำหรับ : ข้อต่ออักเสบในระยะเฉียบพลัน ปวด บวม แดง ร้อน
    วิธีใช้ : บดเป็นผง ผสมกับน้ำใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวดบวม วันละ 1 ครั้ง 4-6 ชั่วโมง
    ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์
  • ตำรับยาหัวเซวี่ยส่าน (活血散)
    หลักการรักษา : คลายเส้นเอ็นกระตุ้นการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่งระงับปวด(舒筋活血,散瘀止痛)
    เหมาะสำหรับ : ปวดตึงข้อต่อกล้ามเนื้อ
    วิธีใช้ : บดเป็นผง ผสมกับน้ำอุ่นใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวด วันละ 1 ครั้ง 4-6 ชั่วโมง
    ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

อบยา

         หลักการรักษา : กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด(活血散瘀,通络止痛)
         เหมาะสำหรับ : คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวด
         วิธีใช้ : อบบริเวณเท้าและข้อเท้าประมาน 15-20 นาที วันละ 1 ครั้ง
         ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวัง
1. ในรายที่ได้รับบาดเจ็บเฉียบพลันและมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ภายใน 48 ชั่วโมงแรก ควรรีบประคบเย็นทันที ใช้ Cold pack หรือน้ำแข็งประคบเย็นบริเวณที่ปวด 10 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมงเพื่อห้ามเลือด ลดความปวดจากการอักเสบและลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ หากต้องการเข้ารับการรักษาด้วยหัตถการทุยหนา ควรรอหลังบาดเจ็บ 24-48 ชั่วโมง

2. ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บเฉียบพลันใช้ผ้ายืดพันรัดรอบบริเวณที่ข้อเท้าแพลงประมาณ 1-2 สัปดาห์เพื่อลดอาการบวมและลดการเคลื่อนไหวของข้อ โดยระมัดระวังไม่พันรัดรอบข้อเท้าจนแน่นเกินไป เพื่อป้องกันปัญหาจากการไหลเวียนของเลือด 3. ในระยะฟื้นตัวควรบริหารและออกกำลังกายเพื่อป้องกันการแพลงซ้ำ

การดูแลตัวเองก่อนเล่นกีฬา
1. ควรยืดกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ แขน ข้อมือ ขาและข้อเท้า ทุกครั้งก่อนตีแบดมินตัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นเส้นเอ็นรอบข้อต่อ ช่วยลดอาการบาดเจ็บ และป้องกันกล้ามเนื้อและเอ็นฉีกขาดได้ และยังช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้นอีกด้วย
2. ควรเลือกรองเท้าแบดแบบมีซัพพอร์ต เพราะจังหวะที่เท้าลงมากระแทกกับพื้น เพท่อลดอาการบาดเจ็บข้อเท้าและข้อเข่า
3. หมั่นแช่น้ำอุ่นบริเวณมือและเท้าอย่างสม่ำเสมอ อาจใช้ร่วมกับตัวยา 活血散ครั้งละ 15-20 นาที
4. ดื่มน้ำเปล่าวันละ 2 ลิตร
5. ออกกำลังกายด้วยท่ากายบริหารคัมภีร์กำลังภายในเส้าหลิน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและเส้นเอ็น สร้างกำลังภายใน บำบัดและป้องกันโรค

ท่าต้าตั่ง(大裆势) เป็นท่าพื้นฐานของคัมภีร์กำลังภายในเส้าหลิน เน้นการฝึกกำลังของขา กระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด ช่วยเพิ่มทักษะของท่านวดทุยหนา เช่น ท่าไช่ยง (踩踊法) และช่วยบริหารของกล้ามเนื้อ Gluteus maximus, Quadriceps, Triceps surea, Lateral ankle collateral ligament, Pectoralis major เป็นต้น

1. ท่าเตรียม ยืนตรง แยกขาออกเท่ากับระยะห่างของไหล่ทั้งสองข้าง
2. ก้าวขาซ้ายออกไปทางซ้าย ระยะห่างของเท้าทั้งสองข้างประมาณ 5 เท่าของความยาวเท้า
3. เท้าจิกพื้นไว้ เปิดส้นเท้าออก ปลายเท้าหันเข้าหากันเล็กน้อย ขาเหยียดตรง วางมือทั้งสองข้างไว้บนลำตัวทั้งสองข้างอย่างธรรมชาติ
4. ใช้มือทั้งสองเท้าเอว นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดที่จุดเซิ่นซู (BL32 肾俞) หนีบข้อศอก เก็บหน้าท้อง ยืดหน้าอกและเก็บสะโพกยืดลำตัวส่วนบนให้ตรง และโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
5. เหยียดข้อศอก หักข้อมือออก มือทั้งสองข้างดันออกไปด้านหลัง กระดกนิ้วโป้งขึ้น นิ้วทั้งสี่ชิดเข้าหากัน แขนกับลำตัวทำมุมกัน 30 องศา หายใจอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างมีสมาธิ
6. นำมือมาเท้าเอว
7. ผ่อนคลาย วางมือสองข้างไว้ข้างลำตัว ยืนขึ้น เตรียมกลับเข้าสู่ท่าเตรียม


รูปภาพแสดงท่าต้าตั่ง

การดูแลตัวเองหลังเล่นกีฬา
1. ควรยืดกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ แขน ข้อมือ ขาและข้อเท้า ทุกครั้งหลังตีแบดมินตัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นเส้นเอ็นรอบข้อต่อหลังจากการใช้งาน ช่วยลดอาการบาดเจ็บ
2. หมั่นแช่น้ำอุ่นบริเวณมือและเท้าอย่างสม่ำเสมอ อาจใช้ร่วมกับตัวยา 活血散ครั้งละ 15-20 นาที
3. ดื่มน้ำเปล่าวันละ 2 ลิตร
4. ออกกำลังกายด้วยท่าบริหารต่างๆเพื่อพัฒนาความยืดหยุ่นและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ดังนี้
ระยะเวลาที่ใช้ผ้ายืดรัดพันข้อ ควรบริหารด้วยการงอเหยียดนิ้วเท้าและเกร็งกล้ามเนื้อน่อง

4.1 ท่างอเหยียดนิ้วเท้า
วิธีการ :
นั่งเก้าอี้ หรือนั่งพื้น เหยียดขาให้อยู่ในท่าที่สบายจากนั้นงอนิ้วเท้าค้างไว้ 10 วินาที แล้วเหยียดนิ้วเท้าค้างไว้ 10 วินาทีนับเป็น 1 ครั้ง จนครบ 10 ครั้งนับเป็น 1 ชุด ทำซํ้า 3-4 ชุดต่อวัน

4.2 ท่าเกร็งกล้ามเนื้อน่อง
วิธีการ :
นั่งพื้นหรือบนเตียง เหยียดขาให้อยู่ในท่าที่สบายจากนั้นกระดกข้อเท้าขึ้นเล็กน้อย พร้อมกดขาให้แนบชิดกับพื้นหรือเตียง เกร็งกล้ามเนื้อน่องค้างไว้ 10 วินาที แล้วคลายกล้ามเนื้อน่อง 10 วินาทีนับเป็น 1 ครั้ง จนครบ 10 ครั้งนับเป็น 1 ชุด ทำซํ้า 3-4 ชุดต่อวัน  ระยะเวลาที่ถอดผ้ายืดพันรัดข้อ ควรค่อยๆบริหารข้อเท้าในท่าเหยียดเท้า กระดกข้อเท้า พลิกเท้าออกด้านนอก พลิกเท้าเข้าด้านใน เพื่อป้องการการยึดและเป็นการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อต่อ

4.3 ท่านั่งเหยียดขากระดกปลายเท้าขึ้นลง
วิธีการ :
นั่งเก้าอี้ หรือนั่งพื้น เหยียดขาให้อยู่ในท่าที่สบายจากนั้นกระดกปลายเท้าขึ้นค้างไว้ 10 วินาที แล้วกดปลายเท้าลงค้างไว้ 10 วินาทีนับเป็น 1 ครั้ง จนครบ 10 ครั้งนับเป็น 1 ชุด ทำซํ้า 3-4 ชุดต่อวัน

4.4 ท่าบิดปลายเท้าซ้ายขวา
วิธีการ :
นั่งเก้าอี้ หรือนั่งพื้น เหยียดขาให้อยู่ในท่าที่สบายจากนั้นบิดปลายเท้าไปทางซ้ายค้างไว้ 10 วินาที แล้วบิดปลายเท้าไปด้านขวา 10 วินาทีนับเป็น 1 ครั้ง จนครบ 10 ครั้งนับเป็น 1 ชุด ทำซํ้า 3-4 ชุดต่อวัน

    

บทความโดย

แพทย์จีน ฉันทัช เฉิน
陈泰任  中医师
TCM. Dr. Chantouch Chen (Chen Tai Ren)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1312

-----------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง

1. กิ่งแก้ว ปาจรีย์.  ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ การบำบัดรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู .  กรุงเทพมหานคร : ภาคเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2563.

2. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 1.  กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551.

3. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 3.  นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554.

4. อารี ตนาวลี.  ตำราแก่นความรู้ทางออร์โธปิดิกส์ สำหรับแพทยศาสตร์บัณฑิต.  กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557.

5. China Association of Chinese Medicine.   Guidelines for Diagnosis and Treatment of Common Disease of Orthopedics and Traumatology in Traditional Chinese Medicine.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2012.

6. FanFanHua. Tuinaxue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2008.

7. Orthopaedic Knowledge Update : Sports Medicine edited by Griffin LY, AAOS, Rosemont,1994.

8. WangHeWu. Zhongyigushangkexue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2007.

9.  WangXiaoMing.   Jingluoxueweifenbufencengxiangjietupu.  Fujian : Fujian Science&Technology Publishing House, 2018.

10. Xujun.   Tuinagongfaxue.  Shanghai : Shanghai Science&Technology Publishing House, 2011.

11. Z. Ahmad, et al,.(2013). Instructional review : shoulder and elbow lateral epicondylitis. A review of pathology and management. Vol.95-B. Cambridge : University of cambridge.
--------------------------------------------------------------------

 สอบถามข้อมูลการดูแลรักษาสุขภาพ
โดยหลักการและวิธีทางตามธรรมชาติ ใช้อินเพื่อเสริมหยาง ใช้หยางเพื่อเสริมอิน ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนแบบผสมผสาน
    LINE OA : @HuachiewTCM

คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สังกัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
สถานพยาบาลการแพทย์แผนจีนต้นแบบ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์แผนจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย
 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้