หมอจีนเผยเคล็ดลับข้อห้าม 10 ข้อ ถ้าอยากสุขภาพแข็งแรงดี

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  7058 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หมอจีนเผยเคล็ดลับข้อห้าม 10 ข้อ ถ้าอยากสุขภาพแข็งแรงดี

พฤติกรรมในชีวิตประจำวันอาจดูเป็นความเคยชิน ซึ่งพฤติกรรมบางอย่างควรหลีกเลี่ยงถ้าอยากมีสุขภาพที่ดี ในราชวงศ์ชิงมีผู้เชี่ยวชาญด้านการหย่างเซิงชื่อ อาจารย์ Xu Wenbi เขียนบทความเกี่ยวกับ “ข้อควรระวัง 10 ข้อ” โดยเชื่อว่าการรักษาสุขภาพควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เคยชิน 10 อย่างนี้

1. พึงระวังหัวเปียก หัวชื้น
พึงระวัง รักษาความอบอุ่นบนศีรษะ ด้วยการสวมหมวกเมื่อออกมานอกบ้านในตอนเช้าตรู่ หรือวันที่มีอากาศเย็นชื้น เนื่องจากตอนเช้าเป็นเวลาเริ่มต้นของพลังหยาง (Yang) ช่วงเวลานี้พลังหยางเปรียบเสมือนต้นกล้าที่มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและมีความอ่อนช้อย ง่ายต่อการถูกปัจจัยก่อโรคที่เกิดจากความเย็นมากระทบ

ลักษณะเด่นของพลังหยาง คือ ลอยขึ้นด้านบน ร่างกายของมนุษย์นั้น บริเวณศีรษะถือว่าเป็นแหล่งรวมของพลังหยาง ถ้าหากไม่ให้ความอบอุ่นแก่บริเวณศีรษะในเวลาตอนเช้าจะทำให้ปัจจัยก่อโรคที่เกิดจากความเย็นมากระทบจน ก่อให้เกิดโรคได้


2.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เย็น หรือ ห้องที่เย็นจัดนานๆ
หลีกเลี่ยงห้องที่มีความเย็นและความชื้นสูง สุขภาพร่างกายจะแข็งแรงได้นั้นต้องมีพลังหยาง (Yang) และพลังหยางกลัวการบุกรุกของพลังอิน (Yin) เป็นอย่างมาก ห้องพักที่อยู่อาศัยแสงแดดควรส่องถึงบ้าง ถ้าหากห้องไม่สามารถรับแสงแดดได้ อากาศในห้องจะหม่นหมองมีอุณหภูมิต่ำ หนาวเย็นและมีความชื้นมากระทบร่างกายจนทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาได้ ดังนั้น ควรเลือกห้องที่แสงแดดสามารถส่อง หรือมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก


3. ไม่ควรแช่ หรือ นั่งในที่เปียกชื้นนานๆ
หลีกเลี่ยงการนั่งพื้นที่เปียกเป็นเวลานาน ในความเป็นจริงแล้ว ความชื้นไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง แต่ชี่ในร่างกายและชี่จากภายนอกนั้นทำงานร่วมกัน เป็นตัวนำความชื้นเข้าสู่ร่างกาย จนส่งผลให้ชี่ในร่างกายติดขัด จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความอับชื้นเป็นเวลานาน


4. หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น ถ้าเสื้อผ้าเปียกเหงื่อจนชุ่ม ควรรีบเปลี่ยนชุด
หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่เปียกเหงื่อ ในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำจะทำให้มีเหงื่อออก หลังจากนั้นจะเกิดความชื้นขึ้น ซึ่งเวลานี้รูขุมขนบริเวณผิวหนังจะถูกเปิดออก ทำให้ความสามารถในการต้านปัจจัยการก่อโรคจากภายนอกลดลงและความเย็นชื้นมีโอกาสสูงที่เข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้น หลังจากที่มีเหงื่อออกมากควรเช็ดเหงื่อให้แห้งหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าตัวใหม่


5. เสื้อผ้าที่เพิ่งตากแดดร้อนๆ อย่าเพิ่งรีบนำมาสวมใส่ทันที
(รอให้ผ้าคลายความร้อนก่อนนะ)

หลีกเลี่ยงการตากผ้าในที่ร้อนเกินไป เสื้อผ้าที่ตากแดดเป็นระยะเวลานานจะมีพิษร้อนสะสมอยู่ และไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าตัวนั้นทันที อาจก่อให้เกิดโรคที่เกิดจากความร้อนได้



6. ไม่ควรตากลมเมื่อเหงื่อออก
เมื่อมีเหงื่อออกหลังจากออกกำลังกาย ไม่ควรโดนลมเย็นมากระทบหรือดื่มน้ำเย็นทันที แม้จะทำให้รู้สึกสดชื่นก็ตาม เนื่องจากมีปัจจัยก่อโรคที่เกิดจากความเย็นและความชื้นเข้าสู่ร่างกาย ก่อให้เกิดโรคตามมาได้


7. หลีกเลี่ยงการเปิดไฟและจุดตะเกียงเวลานอน
ธรรมชาติจัดแสงสว่างเป็นพลังหยาง ขณะนอนหลับเป็นเวลาที่พลังหยางเข้าสู่พลังอิน หากเปิดไฟหรือจุดตะเกียงเวลานอนจะทำให้พลังหยางเข้าสู่พลังอินได้ยาก ก่อให้เกิดภาวะจิตใจไม่สงบขณะหลับมีผลต่อคุณภาพการนอนหลับ 


8. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ช่วงเวลาเที่ยงคืน
เนื่องจากช่วงเวลาเที่ยงคืน (23.00-01.00) เป็นช่วงเวลาที่พลังหยางค่อยๆเพิ่มขึ้นแต่ยังค่อนข้างอ่อนแอ หากมีการใช้พลังหยางในช่วงเวลานี้อาจทำให้พลังหยางดับลงร่างกายอ่อนเพลียในวันถัดไป


9. หลีกเลี่ยงความเย็นในฤดูร้อน และความร้อนในฤดูหนาว
ทั้งสองพฤติกรรมอาจจะไม่เป็นอันตรายมากนัก ช่วงฤดูร้อนไม่ควรปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศต่ำเกินไป จะทำให้การไหลเวียนของชี่เกิดการติดขัด ช่วงฤดูหนาวไม่ควรเปิดเครื่องทำความร้อนมากเกินไป เพราะทำให้เหงื่อออกมากอาจมีจิงชี่ออกตามมาด้วย


10. พักสายตาจากการจ้องหน้าจอทีวี คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ 
ทุกวันนี้เครือข่ายโซเชียลมีเดียมีข้อมูลข่าวสารมากมาย ไม่ควรเสพข่าว ดูละคร ดูซีรี่ย์มากจนเกินไป เนื่องจากขณะที่ดูหน้าจอจิตใจของเราจะคล้อยตามไปด้วยโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากตำแหน่งของหัวใจอยู่ด้านบนของร่างกาย จึงเป็นอวัยวะหยางในทฤษฎี อิน-หยาง ศาสตร์การแพทย์แผนจีนถือว่า "หัวใจเป็นจ้าวแห่งชีพจรและเลือด"

กล่าวคือ หัวใจจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ควบคุมเลือดและการไหลเวียนของเลือด เส้นเลือดเป็นเส้นทางลำเลียงเลือดจากหัวใจ  หัวใจสูบฉีดเลือดไหลเวียนไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามเส้นเลือด  การทำงานของหัวใจจึงมีหัวใจเป็นหลัก มีเลือดและเส้นเลือดเป็นส่วนประกอบ  การเชื่อมต่อการไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดทั่วร่างกาย เป็นกิจกรรมของลมปราณของหัวใจที่เรียกว่า ชี่ของหัวใจ (心气 ซินชี่) หรือ การเต้นของหัวใจ  

หัวใจสอดคล้องกับอารมณ์ของเรา และมีการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งเร้าภายนอกในสิ่งที่นำความพึงพอใจมาให้ ในสภาวะปกติความพึงพอใจจะมีผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจมีการผ่อนคลาย  แต่ความรู้สึกดีใจที่มากเกินไปก็สามารถกระทบจิตใจ ทำให้หัวเราะไม่หยุด หรือถ้าน้อยเกินไปก็อาจทำให้มีอารมณ์ซึมเศร้าได้

แปลบทความจากต้นฉบับภาษาจีน โดย
แพทย์จีน กัญธิมา วุฒิ (กาน ตี๋ หม่า)
甘迪玛 中医师
TCM. Dr. Kanthima Wutthi (Gan Di Ma)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1113
คลินิกกระดูกและทุยหนา 


อ้างอิง
生命时报.2015.中医养生10个禁忌,一个都不能碰.[ระบบออนไลน์] แหล่งที่มาhttps://mp.weixin.qq.com/s/dcOJ7lyiP50rnj5S2eZsmA (10สิงหาคม2564)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้