ภาวะมีบุตรยากกับแพทย์แผนจีน (ประสบการณ์การรักษา)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  17181 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะมีบุตรยากกับแพทย์แผนจีน (ประสบการณ์การรักษา)

ภาวะมีบุตรยาก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไทยในยุคปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงเริ่มมีอัตราการแต่งงานที่ช้าลง อีกทั้งปัจจัยต่างๆ เช่นความเครียด การทำงานหนัก นอนน้อย เป็นต้น ส่งผลให้อัตราของผู้มีบุตรยากเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปี อีกทั้งภาวะมีบุตรยากไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจและร่างกายของผู้หญิงเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอีกด้วย ดังนั้น ปัญหาภาวะมีบุตรยากจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอีกต่อไป

นิยามภาวะมีบุตรยาก คือ การที่สามีและภรรยาแต่งงานกัน โดยที่มีเพศสัมพันธุ์แบบไม่คุมกำเนิดเป็นระยะเวลา 1 ปีแต่ยังไม่มีการตั้งครรภ์ ภาวะมีบุตรยากแบ่งออกเป็นภาวะมีบุตรยากแบบปฐมภูมิ (Primary infertility) และภาวะมีบุตรยากแบบทุติยภูมิ(Secondary infertility)

ภาวะมีบุตรยากแบบปฐมภูมิ หมายถึง ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่ไม่เคยมีการตั้งครรภ์มาก่อนเลย

ภาวะมีบุตรยากแบบทุติยภูมิ หมายถึง ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่เคยมีการตั้งครรภ์มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง

สาเหตุของภาวะมีบุตรยากในแพทย์แผนปัจจุบันมีหลายสาตุ เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูดเจริญผิดที่ ท่อนำไข่ตัน โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นต้น

สาเหตุของภาวะมีบุตรยากในมุมมองแพทย์แผนจีน
《女科正宗·广嗣总论》กล่าวไว้ว่า "หนานจิงจั่วเอ้อร์หนู่จิงเถียว โหย่วจื่อจือเต้าเยียร์" (“男精状而女经调,有子之道也”) หมายความว่า พื้นฐานของการตั้งครรภ์ คือ ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจำเป็นต้องมีชี่ไตเพียงพอ มีเทียนกุ่ยถึงพร้อม (天癸) เส้นลมปราณเริ่น(任脉)เดินถึงมดลูก เส้นลมปราณชง(冲脉)เพิ่มพูน ประจำเดือนของฝ่ายหญิงมาตรงเวลา อสุจิของฝ่ายชายแข็งแรงเป็นปกติ อีกทั้งการมีเพศสัมพันธุ์ควรมีในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่นนี้จึงทำให้ไข่และอสุจิมีการปฎิสนธิกันและเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น

ดังนั้น สาเหตุของการเกิดภาวะมีบุตรยากจึงเป็นเพราะชี่ของไตพร่อง ชี่และเลือดในเส้นลมปราณชงเริ่นเสียสมดุล ทำให้เส้นลมปราณชงเริ่นติดขัด เป็นผลทำให้ไข่และอสุจิไม่สามารถปฎิสนธิได้

ตัวอย่างกรณีศึกษา
ข้อมูลทั่วไป :XXX  เพศหญิง อายุ 39 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย:XXX
วันที่เข้ามารับการรักษาครั้งแรก :วันที่ 6 มิถุนายน 2563
อาการสำคัญ :แต่งงาน 11 ปี ไม่เคยคุมกำเนิดแต่ไม่ตั้งครรภ์

ประวัติอาการ
เมื่อ 12 ปีก่อนเคยแท้งบุตร 1 ครั้ง หลังจากแท้งบุตร 1 ปีได้ดำเนินการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกและพยายามมีบุตรมาแล้ว 11 ปีแต่ไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ.2559 เคยตรวจฮอร์โมน FSH,LH,E2,T,P,PRL ผลตรวจปกติ ประจำเดือนมาช้าและไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนปริมาณปกติและมีลิ่มเลือด เมื่อประจำเดือนมาจะมีอาการปวดหัว คัดหน้าอกร่วมด้วย  ผลตรวจอสุจิฝ่ายชายระบุว่าฝ่ายชายปริมาณอสุจิน้อย


ประวัติประจำเดือน :8/45-50 วัน ประจำเดือนครั้งสุดท้าย(LMP)มาวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ปริมาณปกติ สีแดงสด มีลิ่มเลือดปนออกมาด้วย ประจำเดือนก่อนครั้งสุดท้าย (PMP)มาวันที่ 10 มีนาคม 2563

ประวัติการตั้งครรภ์ :0-0-1-0
อาการที่มาในปัจจุบัน :ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการร่วมอื่นๆได้แก่มือทั้งสองข้างมีอาการชา หนาวง่าย แน่นท้อง นอนหลับไม่สนิท ปัสสาวะบ่อย อุจจาระปกติ

ประวัติในอดีต :เมื่อปี 2552 ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

ตรวจร่างกาย :ความดันโลหิต 116/69 mmHg  อัตราการเต้นหัวใจ 76 ครั้ง/นาที ตรวจชีพจรพบชีพจรตึง ตรวจลิ้นพบลิ้นคล้ำซีดฝ้าขาวบาง ขอบลิ้นมีรอยฟัน

การวินิจฉัย :ภาวะมีบุตรยาก

กลไกการเกิดโรค :เนื่องจากคนไข้เคยแท้งบุตรทำให้เกิดภาวะไตพร่อง อีกทั้งยังมีความเครียดสะสมทำให้ชี่ตับและเลือดเดินติดขัดส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ มีลิ่มเลือด มีอาการคัดหน้าอก ชีพจรตึง อีกทั้งความเครียดและความคิดมากมีผลเสียต่อม้าม ดังที่แพทย์จีนกล่าวว่า“思伤脾”เมื่อม้ามพร่องทำให้คนไข้มีอาการแน่นท้อง ลิ้นมีรอยฟัน

วิธีการรักษา :ใช้ตำรับยาเซียวเหยาส่านเพิ่มลด(逍遥散加减)ที่มีฤทธิ์ระบายชี่ตับ บำรุงม้าม กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตร่วมกับเพิ่มสมุนไพรที่ช่วยบำรุงไต ปรับประจำเดือน

ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 8 (วันที่ 26 กรกฏาคม 2563)
- ประจำเดือนกลับมาสม่ำเสมอเป็นปกติ lmp : 05/07/63 x 7d ปริมาณปกติ สีแดงสด มีลิ่มเลือด ไม่มีอาการปวดเอว คัดแน่นหน้าอก ไม่ปวดท้องประจำเดือน
- มีการตกไข่(BBT 双相) มีอาการขี้หนาวร่วมด้วย นอนหลับดี ปัสสาวะและอุจจาระปกติ
- ตรวจชีพจรพบชีพจรตึง
- ตรวจพบลิ้นสีคล้ำฝ้าขาวบาง

แนวทางและวิธีการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีน
ใช้หลักการบำรุงไตเพื่อช่วยกระตุ้นการตกไข่ บำรุงไข่ รวมถึงนับวันตกไข่เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์


ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 19 (วันที่ 24 ตุลาคม 2563)
- ตั้งครรภ์สำเร็จ
- มีเลือดออกที่ช่องคลอดเล็กน้อย มีอาการปวดเอว นอนหลับดี ปัสสาวะและอุจจาระปกติ 
- ตรวจชีพจรพบชีพจรลื่น
-ตรวจพบลิ้นสีแดงอ่อน

แพทย์จีนที่ทำการรักษาพิจารณาปรับการรักษาอาการดังกล่าว โดยใช้ตำรับยาโซวทายหวาน เพิ่มลด(寿胎丸加减)เพื่อบำรุงไตร่วมกับสงบครรภ์ ระงับเลือดออก

สรุปผลการรักษา
จากกรณีตัวอย่างของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา แสดงให้เห็นว่ายาสมุนไพรจีนสามารถบำรุง ส่งเสริมการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เป็นอย่างดี ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยดีขึ้น

วิเคราะห์ผลการรักษา
ผู้ป่วยมีภาวะมีบุตรยาก ร่วมกับมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ มีลิ่มเลือด คัดแน่นหน้าอก ปวดท้องประจำเดือน โดยในทางการแพทย์แผนจีนนั้นจัดเป็นอาการที่พบในกลุ่มอาการชี่ตับติดขัด นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการแน่นท้อง เบื่ออาหาร อาการดังเหล่านั้นมีสาเหตุมาจากชี่ของม้ามพร่อง และคนไข้เคยแท้งมาก่อนส่งผลให้ชี่ไตพร่องร่วมด้วย

สำหรับชีพจรนั้นมีชีพจรตึงและเล็ก โดยชีพจรตึงนั้นบ่งบอกถึงการไหลเวียนของชี่และเลือดในเส้นลมปราณตับติดขัด ซึ่งเกิดจากความเครียดสะสมของคนไข้ ส่วนชีพจรเล็กนั้นจะบ่งบอกถึงภาวะพร่องในร่างกาย

สำหรับลิ้นนั้นมีสีซีดคล้ำในตอนแรก บ่งบอกถึงการไหลเวียนของชี่และเลือดที่ไม่ดี หลังการรักษาไป 8 อาทิตย์ อาการปวดหัว เบื่ออาหารและอ่อนเพลียหายไป จึงเปลี่ยนตำรับยาเพื่อเน้นบำรุงไต ช่วยในการกระตุ้นการตกไข่ และเมื่อรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 20 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์สำเร็จ

จากประสบการณ์ของผู้เขียนนั้นพบว่าภาวะมีบุตรยากสามารถใช้สมุนไพรจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาได้อย่างประสิทธิภาพ โดยผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ

บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน สิตา สร้อยอัมพรกุล (หลิน อิ่ง เหวิน)
คลินิกอายุรกรรมนรีเวช
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1049

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้