Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 23402 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะปัสสาวะเป็นเลือด คือ อาการที่ปัสสาวะแล้วพบว่าสีของปัสสาวะเปลี่ยนไป เนื่องจากมีเม็ดเลือดแดงปนมากับปัสสาวะ ซึ่งอาจมองเห็นด้วยตาเปล่า หรือ อาจจะมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า สีของปัสสาวะอาจเป็นสีชมพู , สีแดง หรือ สีน้ำตาลเข้ม หรือบางรายอาจมีสีของปัสสาวะปกติ ส่วนใหญ่จะไม่มีความรุนแรง แต่ในบางรายอาจเป็นสัญญาณเตือน ที่บ่งบอกได้ถึงโรค หรือความผิดปกติที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติโรคที่รุนแรงขึ้น เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น
สีของปัสสาวะที่ผิดปกตินั้นอาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีสีสัน หรือการรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น ทั้งนี้หากพบความผิดปกติของสีปัสสาวะ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุ หรือ ได้รับการรักษา ที่ถูกต้องได้อย่างทันท่วงที
ภาวะปัสสาวะเป็นเลือด อาจจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และ ไม่แสดงอาการอื่นๆ แต่ในบางรายอาจจะมีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น เกิดความเจ็บปวดที่ท้องน้อยหรือบริเวณหลัง ในกรณีที่มีลิ่มเลือดอุดตัน นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค
สาเหตุของภาวะปัสสาวะเป็นเลือด
เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงรั่วผ่านไต หรือส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินปัสสาวะไปสู่ปัสสาวะ อาจเกิดจากการที่มีรอยโรคตั้งแต่ เนื้อไต , กรวยไต , ท่อไต , กระเพาะปัสสาวะ , ต่อมลูกหมากในเพศชายและ ท่อปัสสาวะ เป็นต้น
ในทฤษฎีศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่า ภาวะปัสสาวะปนเลือดเกิดจากการได้รับปัจจัยภายนอกมากระทบ หรือการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด การดื่มแอลกฮออล์และสูบบุหรี่มากเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดความร้อนแผดเผาบริเวณกระเพาะปัสสาวะ หรือ ความเหน็ดเหนื่อยหักโหมมากเกินไป รวมไปถึงสภาวะทางอารมณ์ เช่น อารมณ์หงุดหงิด โมโห ที่มีมากเกินไป ส่งผลทำให้ชี่และอินพร่องเกิดไฟ ซึ่งไฟหรือความร้อนนี้อาจจะเข้าไปทำลายเส้นลมปราณลั่ว และทำให้เลือดพลุ่งพล่าน เป็นผลให้มีเลือดออกปนมากับปัสสาวะ
โรคที่พบได้บ่อยจากภาวะปัสสาวะเป็นเลือด ได้แก่
1. การอักเสบติดเชื้อในท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ มักมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย กะปริดกะปรอย ปวดเวลาปัสสาวะ หรือปวดท้องน้อยร่วมด้วย
2. โรคไตบางชนิด เช่น กรวยไตอักเสบ , นิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น มักมีอาการปัสสาวะขัด ปวดเสียด ปวดเวลาปัสสาวะ หรือปวดท้องร้าวไปหลังร่วมด้วย
3. โรคต่อมลูกหมากโต , ต่อมลูกหมากอักเสบและโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มักมีอาการปัสสาวะติดขัด ลำบาก ต้องออกแรงเบ่ง ปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะไม่สุดร่วมด้วย
4. เนื้องอกหรือโรคมะเร็ง มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และยังพบในโรคมะเร็งไต และโรคมะเร็งท่อไต จุดสังเกตุคือมักจะไม่มีอาการปวดเวลาปัสสาวะร่วมด้วย
5. ภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคเลือดออกไม่หยุดจากพันธุกรรม และโรคความผิดปกติในการแข็งตัวของเกล็ดเลือด
6. ผลข้างเคียงจากการรักษาบางอย่าง เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบหลังจากการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น
7. สาเหตุอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายที่หักโหมใช้แรงมากเกินไป หรือ การเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมกีฬา เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยวิธีแพทย์แผนปัจจุบัน
การตรวจวินิจฉัยเพื่อแยกแยะสามารถทำได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผล และเพื่อตรวจหาบริเวณที่มีรอยโรคหรือมีการอักเสบ แพทย์จะทำการตรวจด้วยการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ , การอัลตร้าซาวด์ , การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ ก็จะสามารถทำการแยกแยะโรคได้
ส่วนการรักษาในทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยว่าเกิดจากโรคอะไร เช่น หากเกิดจากการติดเชื้อให้การ ก็จะรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ หากเกิดจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา หรือ การสลายนิ่ว หากเกิดจากโรคมะเร็งต้องทำการรักษาตามระยะและความรุนแรงของโรค หรือ หากเกิดจากการฉายรังสีอาจใช้วิธีการบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูง เป็นต้น
มุมมองภาวะปัสสาวะเป็นเลือดในทฤษฎีศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ศาสตร์การแพทย์แผนจีน มองภาวะปัสสาวะเป็นเลือด โดยแบ่งโรคออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่เป็น เนี่ยวเสวี่ย (尿血 หรือ นี่เสวี่ย 溺血) กับ เสวี่ยหลิน (血淋) ทั้งสองโรคนี้มีสิ่งที่เหมือนกันคือ อาการปัสสาวะเป็นเลือด แต่เนี่ยวเสวี่ย มักจะไม่มีอาการปวดร่วมด้วย หรืออาจจะมีอาการแน่นบริเวณท้องน้อยเพียงเล็กน้อย ในทางแพทย์แผนปัจจุบัน เนี่ยวเสวี่ยอาจพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคไตบางชนิด อาการข้างเคียงจากการรักษา เป็นต้น แต่เสวี่ยหลินจะมีอาการปัสสาวะปวดแสบขัดร่วมด้วย มักพบได้บ่อยในกลุ่มของกระเพาะปัสสาวะหรือทางเดินปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น
ปัสสาวะเกิดจากสารน้ำของเหลวในร่างกาย มีกระเพาะปัสสาวะเป็นที่กักเก็บและขับออก โดยสัมพันธ์กับการทำงานของปอดและม้ามในการขับเคลื่อนขึ้นลง ชี่ของไตที่ทำหน้าที่แปรสภาพ และซานเจียวที่ทำหน้าที่กำกับทางเดินของน้ำ
ส่วนกลไกและสาเหตุการเกิดโรคของแพทย์แผนจีน มองว่ามักเกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะมีความร้อน เมื่อเลือดกระทบกับความร้อนทำให้พลุ่งพล่านและออกมาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจึงมีอาการปัสสาวะปนเลือด ซึ่งมีทั้งร้อนพร่อง และร้อนแกร่ง การเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันมักเป็นกลุ่มอาการร้อนแกร่ง ซึ่งมักพบร่วมกับความชื้นด้วย คือมีความร้อนชื้นที่เซี่ยเจียว (เซี่ยเจียว สัมพันธ์กับอวัยวะตับไต กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้) ในคนที่เป็นเรื้อรังมานาน จะเป็นกลุ่มอาการร้อนพร่อง เช่น อินพร่องเกิดความร้อนภายใน , ชี่และอินพร่อง , ชี่ม้ามและไตพร่อง เป็นต้น
การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้น หลังจากแพทย์จีนทำการวินิจฉัยแยกแยะกลุ่มอาการแล้ว จะเลือกวิธีการรักษาตามกลุ่มอาการ ถ้าแกร่งจะรักษาโดยเน้นระบายร้อน ขับความชื้น ทำให้เลือดเย็น ระงับเลือดออก หากพร่องจะรักษาโดยเน้นการเสริมบำรุงเป็นหลัก ร่วมกับตำรับยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดเย็น ช่วยเหนี่ยวรั้งและระงับเลือดออก
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. ภาวะ/กลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะร้อนชื้น (U79.531 : Bladder dampness-heat pattern / syndrome)
อาจเกิดจากการได้รับปัจจัยเสียชี่ความชื้นร้อนเข้าสู่ภายใน ผู้ที่มีภาวะอาการนี้ มักชอบรับประทานอาหารประเภทหวาน ๆ มัน ๆ หรือ เครื่องดื่มแอลกฮอลล์ ในปริมาณที่มากเกินปกติ เป็นต้น
เมื่อพฤติกรรมการดื่มกินสะสมนานวันเข้า ทำให้เกิดความร้อนชื้นและลงสู่เบื้องล่างของร่างกายไปเกาะกุมกระเพาะปัสสาวะ ทำให้หน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงชี่เกิดความผิดปกติ มักพบอาการ ปัสสาวะปนเลือด ปัสสาวะมีสีแดงสด ปวดแน่นบริเวณท้องน้อย อาจปวดท่อปัสสาวะและรู้สึกร้อน สีลิ้นแดง ฝ้าลิ้นเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว
2. ภาวะ/กลุ่มอาการตับและถุงน้ำดีร้อนชื้น (U79.512 : Liver-gallbladder dampness-heat pattern / syndrome)
ในผู้ที่มีภาวะสภาพร่างกายนี้ มักชอบรับประทานอาหารประเภททอด ๆ มัน ๆ ทำให้กระเพาะอาหารและม้ามทำงานไม่ได้ เกิดความชื้นหมักหมมภายในร่างกาย ประกอบกับมักมีสภาวะทางอารมณ์ที่หงุดหงิด โมโหง่าย ใจร้อน ทำให้ชี่ตับติดขัด ตับและถุงน้ำดีร้อน ความร้อนชื้นก่อตัวและลงสู่เบื้องล่างไปเกาะกุมกระเพาะปัสสาวะ มักพบอาการปัสสาวะปนเลือด สีเหลืองเข้มหรือแดง ปากขม คลื่นไส้อาเจียน ปวดเสียดบริเวณใต้ชายโครง แน่นท้อง ไม่อยากอาหาร สีลิ้นแดงฝ้าลิ้นเหลืองเหนียว ชีพจรตึงเร็ว
3. ภาวะ/กลุ่มอาการไฟหัวใจกำเริบ (U79.408 : Intense heart fire pattern / syndrome)
ในผู้ที่มีภาวะสภาพร่างกายนี้ โดยส่วนใหญ่จะมีอารมณ์แปรปรวน กังวลใจ หงุดหงิด สะสมนานวันเข้าจนเกิดไฟ ร่วมกับอาจชอบทานอาหารเผ็ดร้อน ทำให้ไฟกำเริบพลุ่งพล่าน ลงสู่เบื้องล่างไปทำร้ายเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ มักพบอาการ ปัสสาวะปนเลือด ปัสสาวะมีสีแดงและร้อน จิตใจร้อนรุ่ม หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ปากและลิ้นอาจมีแผลร้อนใน หน้าแดง คอแห้งกระหายน้ำเย็น ปลายลิ้นแดง ชีพจรเร็ว
4. ภาวะ/กลุ่มอาการไฟกำเริบจากอินพร่อง (U79.009 : Yin deficiency with effulgent fire pattern / syndrome) พบมากในผู้ป่วยสูงอายุ หรือ ในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ดังนั้นเมื่ออายุมากขึ้น หรือ มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังนาน ๆ จนทำให้ไตอินพร่อง ไฟกำเริบพลุ่งพล่านลงสู่เบื้องล่าง ไปทำร้ายเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ มักพบอาการ ปัสสาวะปนเลือด ปัสสาวะมีสีแดงหรือแดงอ่อน รู้สึกร้อนวูบวาบในกระดูก เหงื่อออกตอนนอนกลางคืน นอนไม่หลับกระสับกระส่าย ปากแห้งคอแห้ง ท้องผูก ลิ้นแดงฝ้าน้อยหรือไม่มี ชีพจรเล็กเร็ว
5. ภาวะ/กลุ่มอาการม้ามไม่สามารถคุมเลือด (U79.445 : Spleen failing to control the blood pattern / syndrome)
พบในผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรังมานาน หรือ มีสภาวะทางอารมณ์ที่ครุ่นคิด ทำงานงานหนักหักโหมสะสม หรือการรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล จนทำให้ชี่ม้ามพร่อง จึงไม่มีแรงที่จะควบคุมเลือดให้ไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือดได้ ทำให้มีภาวะเลือดออก มักพบอาการปัสสาวะปนเลือดเรื้อรัง ปัสสาวะมีสีแดงอ่อน เหนื่อยอ่อนเพลียไม่มีแรง น้ำเสียงเบาไม่มีแรง เวียนหัว ใจสั่น เบื่ออาหาร ใบหน้าซีด อาจถ่ายเหลว ลิ้นซีด ชีพจรเล็กเร็ว
6. ภาวะ/กลุ่มอาการชี่ไตไม่เก็บกัก (U79.523 : Kidney qi insecurity pattern / syndrome)
มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ, วัยชรา, เจ็บป่วยเรื้อรังมานาน , มีเพศสัมพันธ์มากเกินปกติ หรือทำงานหักโหมมากจนเกินไป จนทำให้ชี่ไตพร่อง ชี่ไตไม่สามารถทำหน้าที่กักเก็บได้ เลือดจึงหลุดออกไปกับปัสสาวะ มักพบอาการ ปัสสาวะสีซีด ปัสสาวะบ่อยและยาว ปวดเมื่อยเอว เวียนหัว มีเสียงดังในหู ขี้หนาว มือเท้าเย็น ถ่ายเหลว ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรจมเล็กไม่มีแรง
ตัวอย่างกรณีศึกษา
การรักษาผู้ป่วยที่มารักษาที่คลินิกอายุรกรรม-มะเร็ง
คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
ข้อมูลทั่วไป
น.ส.กXXX XXXX, เพศหญิง อายุ 39 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย HN 32XXXX
วันที่มาเข้ารับการรักษาครั้งแรก
วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
อาการสำคัญ
ปัสสาวะเป็นเลือดเป็นๆ หายๆ มา 4 ปี เป็นมากขึ้น 2 เดือน
ประวัติอาการ
เป็นผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะต้นได้ทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันเมื่อปี 2558 โดยทำการฝังแร่และทำเคมีบัดจนจบคอร์ส แต่หลังรักษาผู้ป่วยเริ่มมีอาการปัสสาวะเป็นเลือดเป็นๆหายๆ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
ตรวจเช็คร่างกายเป็นระยะตามกำหนดไม่พบมะเร็งกลับมาเป็นใหม่หรือแพร่กระจาย แต่พบว่าผลเลือดมีภาวะเลือดจางและเกร็ดเลือดต่ำมากตลอด 4 ปี โดยที่ผู้ป่วยเคยได้รับการบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูง แต่ผลการรักษายังไม่สามารถควบคุมได้ ผลการตรวจเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2463 ค่าเลือด PLT : 90,000 (L) , Hb 10.8 (L), HCT 33 (L) , WBC 4,230 (L) ผลตรวจปัสสาวะมีเลือดปน (2+) ช่วง 2 เดือนหลังปัสสาวะปนเลือดเป็นถี่มากขึ้น จึงตัดสินใจมาขอรับการรักษาด้วยวิธีของศาสตร์การแพทย์แผนจีน
อาการที่มาในปัจจุบัน
พบว่ามีปัสสาวะปนเลือด สีของปัสสาวะบางครั้งคล้ำขุ่น หรือ มีสีคล้ายน้ำชา เป็น ๆ หาย ๆ ในบางวัน โดยทั่วไปปัสสาวะคล่อง ไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย ขี้หนาว บางครั้งมีเวียนหัวหรือปวดหัว เหนื่อยง่ายไม่ชัดเจน รู้สึกเพลียบ้างเล็กน้อย ทานอาหารได้ปกติ นอนหลับได้ไม่ค่อยดี ไม่มีอาการปวดเอว ขับถ่ายปกติ
ประวัติในอดีต
เคยเป็นโรคเอสแอลอี : SLE (Systemic Lupus Erythematosus : โรคแพ้ภูมิตัวเอง : ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำลายเนื้อเยื่อร่างกายของตนเอง) เมื่อ 25 ปีก่อน / ภาวะหมดประจำเดือนจากการรักษามา 4 ปี
ตรวจร่างกาย
ความดันโลหิต 131/73mmHg อัตราการเต้นหัวใจ 67 ครั้ง/นาที อุณหภูมิ 36°C น้ำหนัก 43.5 kg ผู้ป่วยมีพื้นฐานรูปร่างผอม สีหน้าซีด สีลิ้นซีดคล้ำฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กจม
การวินิจฉัย
ภาวะปัสสาวะเป็นเลือด (เนี่ยวเสวี่ย (尿血)) / ผลข้างเคียงหลังการรักษามะเร็งปากมดลูก จัดอยู่ในกลุ่มภาวะอาการม้ามไม่สามารถคุมเลือด ร่วมกับชี่และเลือดไม่เพียงพอ
หลักการและวิธีการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีน
ใช้วิธีการบำรุงชี่ม้ามและไต บำรุงเลือดระงับเลือด
โดยผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทุก 2-3 สัปดาห์ และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
ประเมินผลการรักษา
สรุปผลการรักษา
จากเคสกรณีศึกษาข้างต้น ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย แสบขัด และอาจมีปัสสาวะปนเลือดออกมาได้
หลังจากที่ได้เริ่มรับประทานยาสมุนไพรจีน ตำรับยาที่มีสรรพคุณบำรุงชี่ม้ามและไต บำรุงเลือดระงับเลือด ประมาณสามเดือนพบว่าอาการปัสสาวะปนเลือดน้อยลง อีกทั้งค่าเลือดกลับเป็นปกติจากตลอด 4 ปีที่ผ่านมามีความผิดปกติของค่าเลือด Hb, HCT, PLT ส่วนค่าเม็ดเลือดขาว WBCก็ดีขึ้นตามลำดับ
วิเคราะห์ผลการรักษา
ภาวะปัสสาวะปนเลือดในรายที่เป็นไม่มาก แพทย์อาจให้ยาระงับอาการอักเสบและแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ และปัสสาวะทิ้งบ่อยๆ ก็สามารถบรรเทาอาการได้ ในรายที่เป็นมากอาจมีลิ่มเลือดอุดตันที่ท่อปัสสาวะ ปวดท้องรุนแรง ปัสสาวะไม่ออกอาจจะต้องเข้ารับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วย
กรณีของผู้ป่วยรายนี้ซึ่งมีภาวะปัสสาวะปนเลือดจากการฉายรังสีและการทำเคมีบำบัด ถ้าวิเคราะห์จากสภาพอาการโดยรวมแล้วพบว่าผู้ป่วยจัดอยู่ใน “กลุ่มอาการม้ามไม่สามารถคุมเลือด ร่วมกับชี่และเลือดไม่เพียงพอ” ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของผู้ป่วยที่มีพื้นฐานรูปร่างผอม สีหน้าซีด สีลิ้นซีดคล้ำฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กจม
ในทฤษฎีศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีมุมมองว่า หลังจากเจ็บป่วยหรือหลังจากการรักษา มักจะทำให้ชี่และเลือดพร่อง ในการทำเคมีบำบัดยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของม้าม ซึ่งม้าม ถือเป็นอวัยวะที่มีส่วนช่วยในการย่อยอาหารและการลำเลียงสารอาหารที่สำคัญส่งไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของร่างกายและคัดเลือกของเสียขับออกทางลำไส้ ม้ามจึงเป็นแหล่งสร้างชี่และเลือด
นอกจากนี้ม้ามยังทำหน้าที่ในการควบคุมเลือดให้อยู่ภายในเส้นเลือดอีกด้วย ดังนั้น เมื่อม้ามทำงานได้ไม่ดีพอจะยิ่งทำให้การสร้างชี่และเลือดไม่เพียงพอ และหน้าที่ในการควบคุมเลือดก็อาจจะสูญเสียไป เป็นผลให้พบอาการปัสสาวะปนเลือด เหนื่อยอ่อนเพลียได้ง่าย เมื่อเลือดไม่พอก็ไม่สามารถส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้ และไม่มีแรงส่งเลือดขึ้นสู่ด้านบน จึงทำให้พบอาการปวดศีรษะ เวียนหัว หรือใบหน้าซีดเซียวร่วมด้วย
ในการรักษานอกจากจะเสริมโดยการบำรุงชี่ของม้าม บำรุงเลือดแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในการบำรุงไตด้วย เนื่องจากตำแหน่งโรคเนี่ยวเสวี่ย (尿血) ในทางแพทย์แผนจีนมองว่าอยู่ที่ไตและกระเพาะปัสสาวะ ไตมีหน้าที่กำกับน้ำและควบคุมการขับถ่าย เมื่อไตชี่อ่อนแอก็จะทำให้การควบคุมปัสสาวะทำงานผิดปกติ ทำให้มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ หลังจากการใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณบำรุงชี่ม้ามและไต บำรุงเลือดรการระงับเลือด ร่วมกับยาสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งด้วย จึงสามารถทำให้ภาวะปัสสาวะปนเลือด และค่าเลือดของผู้ป่วยค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ
แต่ทั้งนี้ สภาวะพื้นฐานของร่างกายในแต่ละคน และลักษณะอาการของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป การรักษาก็อาจจะใช้วิธีต่างกันไปด้วย การรักษาจะถูกต้องและแม่นยำได้นั้น ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจร่างกายด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน และสามารถเข้ารับการรักษาแบบผสมผสานร่วมกัน ทั้งการแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบันด้วยกันได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรักษาทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
บทความโดย
แพทย์จีน อรกช มหาดิลกรัตน์ (ไช่เพ่ยหลิง)
คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
เอกสารอ้างอิง
1.สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์.(2563). สืบค้น 8 เมษายน 2563 จาก https://www.tuanet.org/blood_urine/
2.Beverly M, Brian JL, Nelson JC, Mrinal MG. (2021) Chemotherapy and radiation-related hemorrhagic cystitis in cancer patients. Retrieved 14 April 2021 from https://www.uptodate.com/contents/zh-Hans/chemotherapy-and-radiation-related-hemorrhagic-cystitis-in-cancer-patients?source=topic_page
14 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567