Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 9905 จำนวนผู้เข้าชม |
วัคซีนโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง วัคซีนป้องกัน COVID-19 นั้นเหมือนกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่ไม่ได้ให้ผลในการป้องกัน 100% ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนและการตอบสนองของแต่ละบุคคล โดยประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 60-90% แล้วแต่ประเภทของวัคซีน
แต่คุณสมบัติสำคัญของวัคซีน COVID-19 ทุกตัวสามารถลดความรุนแรงของการป่วยหลังการติดเชื้อและการเสียชีวิตได้ ปัจจุบันเนื่องจากผู้คนหันมาสนใจและรับประทานยาจีนหรือดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (หย่างเซิง 养生) หรือการเยียวยารักษาโรค
หลายคนสงสัยว่าควรงดหรือรับประทานยาจีนอย่างไรก่อน-หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อไม่ให้ลดประสิทธิภาพในการได้รับวัคซีน และสามารถรับประทานยาสมุนไพรจีนได้อย่างต่อเนื่อง
ข้อควรปฎิบัติสำหรับคนที่รับประทานยาจีนเป็นประจำ
- ในช่วงก่อนฉีดวัคซีน ควรงดหรือยกเว้นอาหารที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร เช่น ของมัน ของทอด อาหารรสจัด เพื่อลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน เช่น อาการไม่อยากอาการ หรือ ท้องอืด
- ยาจีนที่รับประทานเป็นประจำ แนะนำให้งดก่อนฉีดวัคซีน 3 วัน [1] หรือหากจำเป็นต้องรับประทานให้ปรึกษาแพทย์จีนเจ้าของไข้ก่อน
ก่อนฉีดวัคซีนรับประทานยาจีนได้หรือไม่ ?
ตามความเป็นจริงแล้วยาสมุนไพรจีนไม่ได้มีผลอะไรกับวัคซีนโดยตรง แต่เพื่อป้องกันยาจีนบางชนิด ที่อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีน [2]
1.ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด สำหรับผู้ป่วยที่ทานยากลุ่ม Warfarin หรือมีผล INR อาจหยุดยาจีนก่อน 3-7 วัน หรือตามที่แพทย์แนะนำ
2. ยาจีนประเภทบำรุง (补益药) บางชนิด สามารถฉีดวัคซีนได้ตามปกติ แต่เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ใช้กับโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ รองรับ แพทย์จีนจึงแนะนำให้หยุดรับประทานยาจีนก่อน 3 วัน
3. ยาจีนประเภทขับพิษร้อน (清热解毒) มีฤทธิ์ในการต้านไวรัส หรือ มีผลต่อการไหลเวียนเลือดทำให้เลือดเย็นลง (凉血止血) อาจหยุดการรับประทานยาจีนก่อน เช่น ยาสมุนไพรป่านหลานเกิน (板蓝根) ที่มีฤทธิ์ในการต้านไวรัส ควรหยุดรับประทานก่อนฉีดวัคซีน 2 สัปดาห์
4. ยาจีนประเภทกระตุ้นการไหลเวียนเลือด (活血化瘀,破血行血) อาจจะทำให้มีผลกับวัคซีน ในกรณีผู้ป่วยบางรายมีสภาพร่างกายค่อนไปทางร้อน ทำให้หลังฉีดวัคซีนอาจมีภาวะร้อนใน กระหายน้ำได้ง่าย อาจหยุดยาจีนก่อน 3 วัน
** อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนฉีดวัคซีนทุกครั้ง**
หลังฉีดวัคซีนแล้ว เมื่อไรจึงจะเริ่มรับประทานยาจีนได้ ?
หลังจากฉีดวัคซีนและเฝ้าสังเกตุอาการจนครบ 3 วัน หากไม่มีอาการผิดปกติจึงจะรับประทานยาจีนต่อได้ เนื่องจากยาจีนหลายประเภทมีฤทธิ์ช่วยต้านไวรัส ลดการอักเสบ ปรับฮอร์โมน หลังการฉีดวัคซีนอาจจะทำให้ร่างกายเกิดการกระตุ้นและสร้างภูมิคุ้มกัน ใน 1-2 วันแรก
คนที่ได้รับวัคซีนจะมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อาการไข้ ตัวร้อน หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาการจะใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดเย็นในศาสตร์การแพทย์แผนจีน (风寒感冒)
การรับประทานตำรับยาจีนที่ช่วยบำรุง (补益剂) หรือ ยาจีนบางชนิดจะทำให้เกิดความร้อนในร่างกายได้ อาจจะทำให้เกิดอาการตัวร้อน คอแห้ง ปากแห้ง ปวดหัว เวียนหัว เพราะยังมีอาการของไข้หวัดเย็นร่วมด้วย ในระยะที่ยังมีอาการข้างเคียงดังกล่าวข้างต้น จึงยังไม่ควรรับประทานยาจีนชนิดบำรุง แพทย์จีนแนะนำดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำขิง ทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม จะช่วยอุ่นกระเพาะอาหาร โดยอาการต่าง ๆ หลังฉีดจะลดน้อยลงและหายไปใน 1-2 วัน
เพื่อไม่ให้ยาจีนส่งผลต่อประสิทธิผลของวัคซีน แพทย์จีนแนะนำว่าควรหยุดรับประทานยาจีนก่อนได้รับวัคซีน 3 วัน และเริ่มรับประทานยาจีนหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว 3วัน
หากผู้ป่วยไม่มีอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ สามารถรับประทานยาจีนต่อได้
และควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนฉีดวัคซีนทุกครั้ง
ข้อมูลโดย ดร.แพทย์จีน เยาวเกียรติ เยาวพันธุ์กุล
และทีมแพทย์แผนจีน คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
อ้างอิง
1. กรุงเทพธุรกิจ. เช็คข้อห้าม! ก่อนฉีด‘วัคซีน’; 2564 [cited 2021 Aug 30]. Available from: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/940391 (ข้อมูลจากสถานบันบำราศนราดูร)
2. Kexue Yangsheng Fang. 喝中药期间能打新冠疫苗吗 刚打完疫苗可以吃中药吗[Internet]. National Health Commission of the People's Republic of China; 2021 [cited 2021 Aug 30]. Available from: https://m.kxysf.com/zh-sg/ysmj/jibing/306682.html
28 ก.พ. 2567
24 ต.ค. 2566
24 มิ.ย. 2567
14 พ.ย. 2566