ชายวัยกลางคนกับโรคต่อมลูกหมาก ดูแลรักษาด้วยศาสตร์แพทย์จีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  9070 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชายวัยกลางคนกับโรคต่อมลูกหมาก ดูแลรักษาด้วยศาสตร์แพทย์จีน

โรคต่อมลูกหมาก ที่พบบ่อยในเพศชายวัยกลางคน คือ โรคต่อมลูกหมากอักเสบ โรคต่อมลูกหมากโต โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต่อมลูกหมากทำให้เกิดความผิดปกติในการขับปัสสาวะ เช่น

1. ต่อมลูกหมากอักเสบ อาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ ปัสสาวะปวดแสบขัด ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะเป็นเลือด และอาการที่แสดงอื่นเช่นมีสารคัดหลั่งสีขาวขุ่นไหลออกมาจากทางเดินปัสสาวะ ปวดเอว ปวดท้องน้อย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

อาการเหล่านี้สอดคล้องกับกลุ่มโรค หลินปิ้ง (ปัสสาวะบ่อยกั้นไม่ได้ปวดแสบ) จิงจั๋ว (สารคัดหลั่งขาวขุ่นไหล) เยาโท้ง (ปวดเอว) ฟู้โท้ง (ปวดท้อง)


2. ต่อมลูกหมากโต อาการปัสสาวะบ่อยกลางคืน อาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกั้นไม่อยู่ ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะกะปริบกะปรอย เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้สอดคล้องกับกลุ่มโรคหลงปี้ (ปัสสาวะไม่ออก หรือ กระปริบกระปรอย) เจิงเจี่ย (มีก้อนในร่างกาย)

3. มะเร็งต่อมลูกหมาก อาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกั้นไม่อยู่ ปัสสาวะปวดแสบขัด ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะเป็นเลือด มีก้อนร่างกาย เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้สอดคล้องกับกลุ่มโรคเจิงเจี่ย (มีก้อนในร่างกาย) เนี้ยวเสว่ (ปัสสาวะเป็นเลือด)



สาเหตุการเกิดโรคทางต่อมลูกหมากแบ่งตามโรค
1. สาเหตุการเกิดโรคต่อมลูกหมากอักเสบ
1.1 พิษร้อนมากในร่างกาย

1.1.1 ความร้อนจากสภาพอากาศ ที่ร้อนหรือร้อนมากเกินไปเมื่อเข้าสู่ร่างกายทำให้พิษร้อน หรือรับประทานอาหารที่เผ็ดร้อนมากเกินไป สองสาเหตุนี้เป็นหลักทำให้ร่างกายมีความร้อนสูง

1.1.2 อวัยวะสืบพันธุ์สกปรก เมื่ออวัยวะสืบพันธุ์ขาดการรักษาความสะอาด ทำให้มีการสะสมของเชื้อก่อโรคเป็นจำนวนมาก เมื่อเชื้อโรคมากกว่าความสามารถในการต้านทานโรคของร่างกาย เนื้อเยื่อต่อมลูกหมากก็จะถูกทำลาย ทำให้เกิดการอักเสบ การตายของเนื้อเยื่อ เกิดเป็นหนอง

1.2 ความร้อนชื้นเคลื่อนลงข้างล่าง
1.2.1 การรับประทานอาหารที่ไม่ระมัดระวัง หรือทานอาหารมากเกินไป ชอบการรับประทานอาหารพวกไขมันสูง หวานมาก เผ็ดร้อนมากเกินไป ทำให้การทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร (ระบบทางเดินอาหาร) ถูกทำลาย เมื่อม้ามไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ความชื้นไม่สามารถถูกกำจัดได้ ทำให้เกิดการตกค้างของความชื้นในร่างกาย เมื่อความชื้นรวมกันมากๆ ทำให้เกิดความร้อนขึ้น เมื่อความร้อนชื้นรวมตัวกันก็จะเคลื่อนตัวลงสู่กระเพาะปัสสาวะ (ต่อมลูกหมากรวมกับกระเพาะปัสสาวะ)

1.2.2 อวัยวะสืบพันธุ์สกปรก เมื่ออวัยวะสืบพันธุ์ขาดการรักษาความสะอาด ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อก่อโรคเป็นจำนวนมาก เมื่อเชื้อโรคมากกว่าความสามารถในการต้านทานโรคของร่างกาย เนื้อเยื่อต่อมลูกหมากก็จะถูกทำลาย

1.3.ไฟหัวใจมากเกินไป
ปัจจัยก่อโรคทั้ง6 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดความร้อน หรือชี่ตับอุดกั้นทำให้เกิดความร้อน หรือการรับประทานยาบำรุงความร้อนมากเกินไป ทำให้ไฟหัวใจมากเกินไป ไฟจากหัวใจเคลื่อนสู่ข้างล่าง ทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ

1.4 ชี่ติดขัด เลือดคั่ง
1.4.1 เมื่อความร้อนชื้นตกค้างในร่างกายเป็นเวลานาน เกิดไฟสุมอยู่ในร่างกายไม่ดับ ทำให้ชี่และเลือดที่ไหลเวียนผ่านต่อมลูกหมากติดขัด

1.4.2 อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล โมโหหงุดหงิดง่าย ทำให้การทำงานของตับสูญเสียการไหลเวียน ชี่เลือดไหลเวียนไม่ดี เส้นลมปราณลั่วของตับติดขัดอุดกั้น

1.4.3 ความหนาวชื้น ทำให้เส้นลมปราณตับติดขัด เลือดลมไหลเวียนไม่ดี

1.5 อินพร่องความร้อนเกิน
1.5.1 อินเริ่มต้นในร่างกายไม่เพียงพอ หรือสภาพร่างกายอินพร่อง เป็นสาเหตุทำให้ความร้อนสะสมในร่างกาย

1.5.2 มีเพศสัมพันธ์มากเกินไป หรือมีการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้อินถูกทำลาย

1.5.3 โรคเรื้อรังทำให้ไตพร่อง ทำให้ไตอินพร่อง

1.6 หยางพร่อง
หยางเริ่มต้นในร่างกายไม่เพียงพอ หรือสภาพร่างกายหยางพร่อง เมื่อหยางพร่องเป็นเวลานาน ทำให้อินถูกทำลายตาม อินหยางพร่อง ทำให้ส่วนล่างของร่างกายทำงานเสียสมดุล ไม่มีพลังเพียงพอในการควบคุมการเปิดปิดของระบบทางเดินปัสสาวะ

2. สาเหตุการเกิดโรคต่อมลูกหมากโต
2.1 ความร้อนชื้นสะสมมากเกินไป
ความร้อนชื้นจากภายนอก ตกค้างที่กระเพาะปัสสาวะ หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป  การรับประทานอาหารที่เผ็ดมากเกินไป  หรือมีรสชาดที่จัดจ้านมากเกินไป หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูป การรมควัน การปิ้งย่างมากเกินไปหรือเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมเป็นความร้อนชื้นในต่อมลูกหมาก ทำให้การเปิดปิดของต่อมลูกหมากทำงานได้ไม่เต็มที่เกิดเป็นหลงปี้ (ปัสสาวะไม่ออก / กะปิดกะปรอย / รอปัสสาวะนาน)

2.2 ปอดร้อนมากเกินไป
การทำงานที่ปกติของปอดทำให้พลังลมปราณ (ชี่) มีการเคลื่อนขึ้นแล้วเคลื่อนลง ทำให้ระบบการไหลเวียนของน้ำในร่างกายเป็นปกติ ปอดเป็นตัวควบคุมการไหลเวียนของน้ำในส่วนบนของร่างกาย ตรงกันข้ามกับกระเพาะปัสสาวะซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนน้ำในส่วนล่างของร่างกาย ทำให้การขับปัสสาวะเป็นปกติ ถ้าปอดมีความร้อนมากเกินไปทำให้ การไหลเวียนของน้ำมีปัญหา ก็จะเกิดการกระทบของการไหลเวียนในร่างกาย บนมีปัญหา ล่างก็ได้รับผลกระทบตาม จึงทำให้เกิดเป็นความปกติในการขับปัสสาวะ

2.3 ชี่ตับอุดกั้น
อารมณ์ที่แปรปรวน ทำให้การไหลเวียนพลังลมปราณของตับมีปัญหา ทำให้พลังลมปราณตับติดขัด  หรือ เกิดจากโมโห หงุดหงิด อาละวาดโวยวาย ทำให้ชี่ไหลเวียนสะดุด ผิดปกติไป มีผลกระทบต่อระบบการไหลเวียนน้ำในร่างกายจากส่วนบน กลาง ล่างไม่เชื่อมต่อกัน และยังกระทบไปถึงการเกิดสร้างของพลังลมปราณในร่างกายลดลง มีผลต่อการขับปัสสาวะออกจากร่างกาย

2.4 เลือดคั่งในต่อมลูกหมาก
สารตกค้างในต่อมลูกหมากอุดตัน หรือเสมหะ หนอง เลือดมีการติดขัด สะสมอยู่ในต่อมลูกหมาก ไม่สามารถสลายตัวไปได้ ทำให้ท่อต่างๆ ภายในต่อมอุดตัน การไหลผ่านของน้ำ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทำให้ปัสสาวะติดขัด

2.5 พลังในส่วนกลางพร่อง (จงชี่พร่อง)
เมื่ออายุมากขึ้น หรือผู้ที่ป่วยเรื้อรังเป็นเวลานาน ม้ามและกระเพาะอาหารไม่มีพลังในการทำงาน  หรือ การรับประทาน การดื่มอาหารที่ไม่ระมัดระวัง ทำลายการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร  หรือ ความเหนื่อยการใช้แรงทำงานมากเกินไปทำลายม้าม จนส่งผลกระทบต่อการกำจัดความชื้นในร่างกาย เปิดเป็นความชื้นติดขัดอุดกั้น การลำเลียงของสารต่าง ในระบบการไหลเวียน เมื่อม้ามพร่องสารหล่อเลี้ยงร่างกายไม่สามารถส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้

ในทางกลับกัน ของเสียต่างๆในร่างกายก็ไม่สามารถถูกขจัดทิ้งผ่านทางปัสสาวะได้ จึงเกิดเป็นความผิดปกติในการขับปัสสาวะ และความผิดปกติของม้ามยังส่งผลต่อการกำจัดเสมหะในร่างกาย  เมื่อการทำงานของม้ามพร่องตัวลง เสมหะต่างๆก็เกิดขึ้น อุดตันการไหลเวียนของเส้นลมปราณ เส้นเลือด ก็สามารถเป็นอีกสาเหตุของการขับปัสสาวะที่ผิดปกติ


2.6 ไตหยางพร่อง
ความชราภาพและผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือป่วยเรื้อรัง มีผลต่อการเสื่อมพลังของไตอย่างชัดเจน  หรือการถูกความหนาวเย็นกระทบร่างกายเป็นเวลานานโดยไม่มีการป้องกันที่ดีพอ ทำให้หลังหยางของไตถูกทำลาย พลังมิ่งเหมิน (ไฟชีวิต)ถูกทำลาย  พลังลมปราณ(ชี่) ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ ทำให้การทำงานในระบบต่างๆ เสื่อมถอยลง สารอิน พลังหยาง ไม่สามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นปกติ กระเพาะปัสสาวะรวมทั้งต่อมลูกหมากไม่สามารถเปิดปิดได้  ทำให้มีการตกค้างของน้ำ (ปัสสาวะ) และความชื้นในร่างกาย เมื่อเป็นเวลาเข้า ทำให้เกิดการอุดคั่งของของเสีย ทั้งเสมหะและความชื้นรวมตัวกัน ปิดการไหลของปัสสาวะ ทำให้เกิดโรค

2.7 ไตอินพร่อง
ความร้อนจากสภาพแวดล้อม ทำให้สารอินพร่อง หรืออาการเจ็บป่วยเรื้อรังทำให้สารอินถูกใช้จนหมด หรือการมีเพศสัมพันธ์มากเกินไป ทำให้สารอินและสารจินในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว  ทำให้เกิดเป็นความร้อนแฝงในร่างกาย เมื่อสารอินไม่เกิด พลังหยางก็ไม่สามารถสร้างได้ สารน้ำต่างๆในร่างกายไม่มีแรงพลักดันลงสู่เบื้องล่างของร่างกาย ทำให้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ไม่คล่อง ปัสสาวะลำบาก 

3. สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
3.1 สาเหตุจากภายใน
อายุที่มากขึ้นตลอดถึงความชราภาพ พลังของอวัยวะภายในอ่อนแอ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ไตพร่อง หรือมีเพศสัมพันธ์มากเกินไปทำลายไต พลังไตพร่อง เทียนกุ่ยหมดกำลัง เจิ้งชี่ไม่เพียงพอ ทำให้ของเสียตกค้างในต่อมลูกหมาก สะสมมากจนทำให้เกิดพิษร้อน ทำให้เกิดเป็นมะเร็ง

3.2  สาเหตุจากภายนอก
สาเหตุจากภายนอกคือปัจจัยก่อโรคทั้งหก โดยเฉพาะความร้อนชื้น พิษความร้อน หรือการดื่มการทานอาหารที่มากเกินไป โดยเฉพาะอาการที่มีรสเผ็ดร้อน มันมาก รสชาดเข้มข้นเกิดไปหรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดความร้อนชื้นสะสมในร่างกาย  ความร้อนชื้นมีความหนักเคลื่อนลงสู่ด้านล่างร่างกาย ติดค้างสะสมในต่อมลูกหมาก หรือความเหนื่อยของร่างกายที่มากเกินไป หรือความวิตกกังวล หรือ อารมณ์ไม่คงที่แปรปรวนง่าย หรือโมโหหงุดหงิดอารมณ์ฉุนเฉียว ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมผิดปกติสูญเสียสมดุล อุดกั้นตกค้างเป็นสารพิษในร่างกาย ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้น

การเกิดโรคในสาเหตุนี้มีความแกร่งและพร่องร่วมกัน

การรักษาโรคทางต่อมลูกหมาก
1. ยาจีน ยาจีนให้เพื่อปรับสมดุลร่างกาย เพิ่มการทำงานของอวัยวะต่างๆ เพิ่มการไหลเวียนที่ให้ไหลลื่นเป็นปกติ บำรุงพลังลมปราณและเลือด ขจัดสิ่งก่อโรคต่างๆ ออกจากร่างกาย ทำให้การทำงานของต่อมลูกหมากดีขึ้น

2. ผังเข็ม เป็นการใช้เข็มกระตุ้นไปบนจุดลมปราณต่างๆ ที่สามารถสะท้อนกลับไปยังอวัยวะต่างๆในร่างกายทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ดีขึ้น ทำให้การไหลเวียนของเส้นลมปราณและเลือดดีขึ้น

3. รมยา เป็นการใช้ความร้อนจาก โกศแท่ง (อ้ายเถียว) ให้ความร้อนความอุ่นเข้าสู่จุดฝังเข็มต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เส้นลมปราณอุ่นขึ้น การไหลเวียนต่างๆ ในร่างกายดีขึ้น

กรณีศึกษาการรักษาโรคต่อมลูกหมากตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
กรณีศึกษาที่ 1
ตรวจครั้งแรก  Li XX  เพศชาย อายุ 35 ปี  8 กันยายน  2009
อาการ   ตัวร้อน ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด กลั้นปัสสาวะไม่ได้ 2 วัน รับประทานยาแก้หวัด อาการไม่ดีขึ้น (ซื้อยาเอง)

อาการปัจจุบัน  ตัวร้อน ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีอาการปวดระหว่างปัสสาวะ บริเวณอวัยวะเพศจนถึงรอบทวารหนักมีอาการปวดหน่วง ปากแห้งและเหนียว ปัสสาวะมีสารขุ่นขาวปน ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองหนา ชีพจรตึงลื่นลอยเร็ว

ตรวจร่างกาย  ตรวจต่อมลูกหมากพบบวมใหญ่ มีอาการกดแล้วเจ็บ  ปัสสาวะมีเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก ส่งปัสสาวะและน้ำต่อมลูกหมากเพาะเชื้อวินิจฉัย ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน  กลุ่มอาการ ความร้อนชื้นเคลื่องลงล่าง

การรักษา     ใช้ตำรับยาจีนขับร้อนไล่ความชื้น

ตรวจครั้งที่สอง     Li XX  เพศชาย อายุ 35 ปี  12 กันยายน  2009

อาการนำ หลังทานยาสามวันอาการดีขึ้น ไม่มีตัวร้อน ปัสสาวะบ่อยลดจำนวนลง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ดีขึ้น ปัสสาวะแสบขัดเบาลง

ตรวจร่างกาย  ผลการเพาะเชื้อพบ Escherichia coli

วินิจฉัย ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน กลุ่มอาการ ความร้อนชื้นเคลื่องลงล่าง

ตรวจครั้งที่สาม      Li XX  เพศชาย อายุ 35 ปี  22 กันยายน  2009
อาการนำ  หลังทานยาจีนสามวันอาการดีขึ้น ไม่มีตัวร้อน ปัสสาวะบ่อยลดจำนวนลง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ดีขึ้น ปัสสาวะแสบขัดเบาลง

วินิจฉัย ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน  กลุ่มอาการ ความร้อนชื้นเคลื่องลงล่าง แพทย์จีนได้จัดตำรับยาชนิดต้มสำหรับกิน 14 วัน

ตรวจครั้งที่สี่   Li XX  เพศชาย อายุ 35 ปี  14 ตุลาคม 2009
อาการ   หลังทานยาจีน อาการปัสสาะทุกอย่างปกติดี

วินิจฉัย ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน กลุ่มอาการ ความร้อนชื้นเคลื่องลงล่าง

ตรวจครั้งที่ห้า  Li XX  เพศชาย อายุ 35 ปี  30 ตุลาคม  2009
อาการ   หลังทานยาจีน อาการทุกอย่างปกติดี  หยุดยา

กรณีศึกษาที่ 2
ตรวจครั้งแรก      Li XX  เพศชาย อายุ 32 ปี  
อาการ   ปวดท้องน้อย และปวดบริเวณอัณฑะ สมรรถภาพทางเพศลดลง 3 เดือน

จากการสอบถามคนไข้  แจ้งว่า 3 เดือนก่อนได้ดื่มแอลกอฮอลมาก หลังจากนั้นเกิดอาการ ปวดท้องน้อย และปวดบริเวณอัณฑะ อาการสามารถทนได้ ไม่มีอาการบวมของอัณฑะ หรือกดเจ็บ หรือร้อน หลังจากนั้นสมรรถภาพทางเพศลดลง ไม่ได้มารักษาในทันที ลิ้นซีด ฝ้าบนลิ้นเหลืองหนา ชีพจรตึงลื่นลอยช้า

ตรวจร่างกาย  อัณฑะ หลอดเก็บอสุจิ ทั้งสองข้างไม่มีอาการกดเจ็บ ไม่บวม ไม่พบเส้นเลือดอัณฑะขอด 

อัลตราซาวด์ ต่อมลูกหมากขนาด 3.2x4.3x2.5cm เยื่อหุ้มไม่เรียบ การสะท้อนกลับของคลื่นไม่สม่ำเสมอ EPS : lecithine(+)  เม็ดเลือดขาว(++)
Digital rectal examination : ต่อมลูกหมากค่อนข้างแข็ง ร่องบนต่อมลูกหมากไม่ชัดเจน มีอาการกดเจ็บเล็กน้อย

วินิจฉัย ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง ร่วมการกับอาการปวดเรื้อรังในช่วงอุ้งเชิงกราน  กลุ่มอาการ ไตพร่องร่วมความร้อนชื้นคั่ง

ตำรับยา ปี้เซี่ยเฟินชีงหยิน กับ อวู๋จื่อเหยียนจงหวาน เพิ่มลดตัวยาตามความเหมาะสมของผู้ป่วย  ใช้ร่วมกับยาภายนอก ยาเหน็บรักษาต่อมลูกหมาก  วันละครั้ง ก่อนนอน งดเว้นการรับประทานอาหารเผ็ดร้อนหรือมีฤทธิ์กระตุ้นการอักเสบ

ตรวจครั้งที่สอง  Li XX  เพศชาย อายุ 32 ปี  หลังเริ่มการรักษา 30 วัน
อาการ   อาการปวดในท้องน้อย ปวดอัณฑะหายเป็นปกติ ความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น ลิ้นแดงอ่อน ฝ่าบนลิ้นบางขาว ชีพจรตึงลื่น

ตรวจร่างกาย  อัลตราซาวด์ ต่อมลูกหมากขนาด 3.0x4.1x2.2cm เยื่อหุ้มเรียบ การสะท้อนกลับของคลื่นสม่ำเสมอ EPS : lecithine (+++)  เม็ดเลือดขาว (-)

วินิจฉัย ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง ร่วมการกับอาการปวดเรื้อรังในอุ้งเชิงกราน  กลุ่มอาการ ไตพร่องร่วมความร้อนชื้นคั่ง
แพทย์จีนได้จัดตำรับยาจีน ใช้ร่วมกับยาภายนอก ยาเหน็บรักษาต่อมลูกหมาก  วันละครั้ง ก่อนนอน

การปฏิบัติตัว  ห้ามรับประทานอาหารเผ็ดร้อน แอลกอฮอล์ อาหารมีฤทธิ์กระตุ้นการอักเสบ อย่างน้อยครึ่งปี ห้ามกลั้นปัสสาวะ มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

ผลการรักษา 1ปี หลังติดตามผลการรักษา ไม่มีอาการผิดปกติเกิดซ้ำ


 กรณีศึกษาที่ 3
ตรวจครั้งแรก  เหมินXX  เพศชาย อายุ 68 ปี  8 ธันวาคม 2009         
อาการ  ปัสสาวะลำบาก 2 ปี ปัสสาวะกลางคืนบ่อยมากขึ้น 1เดือน

คนไข้ ปัสสาวะลำบาก 2ปี ปัสสาวะกลางคืนบ่อยมากขึ้น1เดือน มีการตรวจวินิจฉัยเป็น BPH คนไข้ปฏิเสธเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด มีการรับประทานยา  Finasteride และ Tamsulosin รักษาอาการ

1 เดือนที่ผ่านมาอาการปัสสาวะลำบากเป็นมากขึ้น ร่วมการปัสสาวะกลางคืนบ่อย จึงมาพบแพทย์จีน อาการปวดปัสสาวะมาก ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะรอนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะกลางคืน 5-6 ครั้ง อ่อนเพลียไม่สดชื่น เบื่ออาหาร อุจจาระไม่เป็นก้อน ปวดล้าเมื่อยเอว ลิ้นบวมซีด ขอบลิ้นมีรอยฟัน ชีพจรลึกเล็ก


ตรวจร่างกาย  DRE : ผิวต่อมลูกหมากไม่เรียบ มีก้อนแข็งในเนื้อต่อมลูกหมาก ร่องบนต่อมลูกหมากไม่ชัดเจน มีอาการกดเจ็บ UA : ปัสสาวะขุ่น; WBC 10-15; RBC 2-3   

อัลตราซาวด์ ต่อมลูกหมากขนาด 4.8x3.4x2.7cm บวมใหญ่ การสะท้อนกลับของคลื่นไม่สม่ำเสมอ ปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ 86 มล.EPS : lecithine(+)  WBC 3-8  pH 7.2

วินิจฉัย ต่อมลูกหมากเจริญเกิน  ชื่อทางแพทย์แผนจีน จิงโหลง กลุ่มอาการ ม้ามไตพร่อง

การปฏิบัติตัว  ออกกำลังกายพอเหมาะ ทานอาหารรสจืด ผ่อนคลายอารมณ์

ตรวจครั้งที่สอง  เหมินXX  เพศชาย อายุ 68 ปี  15 ธันวาคม 2009
อาการ   ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะรอนาน อาการดีขึ้น ปัสสาวะกลางคืน 2-3 ครั้ง อุจจาระเป็นก้อน

วินิจฉัย ต่อมลูกหมากเจริญเกิน  ชื่อทางแพทย์แผนจีน จิงโหลง กลุ่มอาการ ม้ามไตพร่อง

ตรวจครั้งที่สาม   เหมินXX  เพศชาย อาย68 ปี  29 ธันวาคม 2009

อาการ   ปัสสาวะลำบาก อาการดีขึ้นมาก ปัสสาวะกลางคืน1-2 ครั้ง 
วินิจฉัย ต่อมลูกหมากเจริญเกิน  ชื่อทางแพทย์แผนจีน จิงโหลง กลุ่มอาการ ม้ามไตพร่อง

การปฏิบัติตัว  ออกกำลังกายพอเหมาะ ทานอาหารรสจืด ผ่อนคลายอารมณ์

การดูแลสุขภาพและป้องกันโรคต่อมลูกหมาก
1. บุหรี่ และแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปทำให้ เลือดคั่งในต่อมลูกหมากมาก จนอาจทำให้ปัสสาวะไม่ออก

2. หลีกเลี่ยงความเย็นต้องรักษาความอบอุ่น เพราะความเย็นทำให้การหดขยายตัวต่อมลูกหมากผิดปกติ การใส่กางเกงที่อบอุ่น สามารถทำให้ต่อมลูกหมากทำงานได้ดีขึ้น

3. ขยับเคลื่อนไหว การออกกำลังกายที่พอเหมาะ ทำให้อารมณ์ดีและทำให้อาการของต่อมลูกหมากดีขึ้นด้วย

4. ลดอาหารเผ็ดร้อน  อาหารรสจัด เผ็ดร้อนก็เหมือนกับการดื่มแอลกอฮอล์

5. อย่า
กลั้นปัสสาวะบ่อย  ปัสสาวะเมื่อขับออกจากร่างกายไม่ได้ หรือกลั้นปัสสาวะเป็นประจำ ทำให้กระเพาะปัสสาวะและไตได้รับผลกระทบ

6. การติดเชื้ออักเสบ การติดเชื้ออักเสบทำให้ต่อมลูกหมากบวมใหญ่ขึ้นได้ มีผลต่อการขับปัสสาวะ

 การดูแลต่อมลูกหมาก
1. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ สำเร็จความใคร่ที่มากเกินไป หรือ กลั้นการหลั่งอสุจิไว้นานหรือการมีเพศสัมพันธ์แบบรุนแรง
2. รักษาความสะอาด เช็ดอวัยวะเพศให้แห้งและถ้ามีหนังหุ้มปลายยาวต้องเปิดล้างทุกวัน ถ้าไม่สามารถเปิดล้างได้ต้องตัดหนังหุ้มปลาย
3. ไม่ควรนอนดึก หรือเหนื่อยเกินไป
4. ป้องกันการเป็นหวัด
5. ไม่นั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่นนั่งทำงาน เล่นโทรศัพท์ นั่งรถ เครื่องบิน ควรลุกขึ้นมาเดินหรือขยับร่างกายบ้าง
6. ดื่มน้ำอุ่นสม่ำเสมอ อาหารไม่เผ็ดร้อนเกินไป ระวังปริมาณแอลกอฮอล์
7. รักษาอุณหภูมิร่างกาย ไม่เย็นไม่ร้อนไม่ชื้นเกินไป
8. ผ่อนคลายความเครียด
9. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

บทความโดย
แพทย์จีน จิตติกร พิมลเศรษฐพันธ์ (พาน จ้าย ติง)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.735
แพทย์จีนเฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินปัสสาวะและโรคระบบสืบพันธุ์เพศชาย เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคต่อมลูกหมาก ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย วัยทองในเพศชาย  ปรับสมดุลสุขภาพในเพศชาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้