Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 9637 จำนวนผู้เข้าชม |
ลม ความเย็น ความร้อนอบอ้าว ความชื้น ความแห้ง และไฟ เป็นลมฟ้าอากาศ 6 ชนิด ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงปกติตามฤดูกาล เรียกว่า "ลมฟ้าอากาศทั้งหก" ปกติลมฟ้าอากาศทั้งหกไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ มนุษย์จะเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ แล้วปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศ มนุษย์จึงจะดำเนินชีวิตอยู่ได้ตามปกติ
การเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศตามฤดูกาลมีกฎเกณฑ์แน่นอนและมีขีดจำกัด ถ้าลมฟ้าอากาศมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ เช่น เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากเกินไป เปลี่ยนแปลงฉับพลัน หรือเปลี่ยนแปลงไม่ถูกต้องตามฤดูกาล ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ จึงเกิดความเจ็บป่วย หรือลมฟ้าอากาศมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่ร่างกายอ่อนแอไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงก็ทำให้เกิดโรคเช่นกัน ทั้งสองกรณีนี้ลมฟ้าอากาศทั้งหกจะกลายเป็นสาเหตุของโรคจากภายนอกทั้งหก
1. โรคที่เกิดจากปัจจัยจากภายนอกทั้งหก
โรคที่เกิดจากปัจจัยจากภายนอกทั้งหกมีคุณลักษณะพิเศษ ดังนี้
การเกิดโรคมีความสัมพันธ์กับฤดูกาล
สาเหตุของโรคจากภายนอกทั้งหก มาจากการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของลมฟ้าอากาศทั้งหก มนุษย์จึงมักจะเจ็บป่วยด้วยโรคตามลมฟ้าอากาศของฤดูกาล เช่น
- ฤดูใบไม้ผลิมักมีลมแรง จึงมักเกิดโรคจากลม
- ฤดูร้อนมักเป็นโรคที่เกิดจากความร้อนอบอ้าว
- ปลายฤดูร้อนมักเป็นโรคที่เกิดจากความชื้น
- ฤดูใบไม้ร่วงมักเป็นโรคที่เกิดจากความแห้ง
- ฤดูหนาวมักเป็นโรคที่เกิดจากความเย็น
เหล่านี้เป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปแต่ไม่แน่เสมอไป ขึ้นกับความแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคของร่างกาย และชนิดของสาเหตุที่มากระทบร่างกาย
การเกิดโรคมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
สภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยหรือสภาพที่ทำงานอาจเป็นสาเหตุก่อโรค เช่น
- ถ้าอาศัยอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน มีโอกาสเป็นโรคที่เกิดจากความชื้น
- ถ้าทำงานในที่มีอุณหภูมิสูง มักเป็นโรคที่เกิดจากความร้อนอบอ้าว ความร้อนแห้งหรือไฟ
- ถ้าอยู่ในที่แห้งแล้ง มักเป็นโรคที่เกิดจากความแห้งแล้ง
โรคอาจเกิดจากสาเหตุเดียวหรือหลายสาเหตุร่วมกัน
โรคอาจเกิดจากสาเหตุเดียวหรือหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น อาการท้องเดินอาจเกิดจากถูกความเย็นกระทบเพียงอย่างเดียว หรือจากความร้อนร่วมกับความชื้น ไข้หวัดเกิดจากลมและความเย็น ปวดข้อเกิดจากลม ความเย็น และความชื้น เป็นต้น
สาเหตุของโรคจากภายนอกทั้งหก
สาเหตุของโรคจากภายนอกทั้งหกในระหว่างการดำเนินโรคสามารถมีผลกระทบซึ่งกันและกัน และมีการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะได้ เช่น ความเย็นสะสมคั่งในร่างกายเปลี่ยนเป็นความร้อน ความร้อนและความชื้นอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานอาจเปลี่ยนเป็นความแห้ง
* สาเหตุของโรคจากภายนอกทุกชนิดสามารถเปลี่ยนเป็นไฟ *
สาเหตุของโรคจากภายนอกมักลุกลามจากส่วนนอกเข้ามาที่ส่วนในของร่างกาย
สาเหตุของโรคจากภายนอกทั้งหก มักจะผ่านเข้าสู่ร่างกายโดยจะผ่านผิวหนัง ปาก หรือจมูก เข้าสู่เส้นลมปราณแล้วไปทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะและสมดุลอิน-หยาง จึงมักเกิดกลุ่มอาการส่วนนอกของร่างกาย (表证เปี่ยวเจิ้ง) ก่อน แล้วจึงเกิดกลุ่มอาการส่วนในของร่างกาย (里证หลี่เจิ้ง) ตามมาภายหลัง ยกเว้นถ้าสาเหตุของโรคตรงเข้ารุกรานที่ส่วนในของร่างกาย ก็จะมีแต่กลุ่มอาการส่วนในของร่างกาย โรคที่เกิดจากสาเหตุภายนอก (外感病ไว่ก่านปิ้ง) มักเป็นกลุ่มอาการเกิน (实证สือเจิ้ง)
ลม ความเย็น ความชื้น ความแห้ง และไฟ เป็นสาเหตุของโรคที่มาจากสิ่งแวดล้อม และอาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะภายใน หรือความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดและลมปราณ เรียกว่า สาเหตุของโรคก่อตัวจากภายใน (内伤五邪เน่ยซางอู่เสีย) ทำให้เกิดโรคจากสาเหตุภายใน
(内伤杂病 เน่ยซางจ๋าปิ้ง) มักเป็นกลุ่มอาการพร่อง (虚证ซฺวีเจิ้ง) หรือ พร่องผสมเกิน (虚实加杂
ซฺวีสือเจียจ๋า) และมีแต่กลุ่มอาการส่วนในของร่างกาย สาเหตุของโรคชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะมาจากภายนอกหรือเกิดขึ้นจากภายในร่างกาย จะมีอาการและอาการแสดงเหมือนกัน แต่กลไกการเกิดโรคต่างกัน
2. คุณสมบัติและการเกิดโรคของปัจจัยภายนอกทั้งหก
ลมภายนอก (风邪 เฟิงเสีย)
ลม เป็นลมฟ้าอากาศหลักของฤดูใบไม้ผลิ ในฤดูใบไม้ผลิมักมีลมพัดจัด ทำให้โรคที่มีสาเหตุจากลมจึงพบบ่อยในฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็พบได้ในฤดูอื่น
คุณสมบัติของลมและการเกิดโรค
ลมมีลักษณะเบาลอยขึ้น ลมเป็นหยาง มีลักษณะเบาลอยกระจายขึ้นบน ลอยออกไปภายนอก ลมจึงมักกระทำที่ส่วนบนและส่วนนอกของร่างกาย ปอดเป็นอวัยวะภายในที่อยู่บนสุดจึงถูกลมมากระทบได้ง่าย ดังนี้
- ถ้าปอดถูกกระทบทำให้ลมปราณปอดไม่แผ่กระจาย จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คันคอ ไอ
- ถ้าลมกระทบศีรษะและใบหน้า จะมีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คอแข็ง ใบหน้าชาปวด ปากเบี้ยว
- ถ้าลมกระทบส่วนนอกของร่างกาย จะเกิดกลุ่มอาการส่วนนอกของร่างกาย เช่น กลัวลม มีไข้ ลมมีลักษณะโล่งกระจาย ถ้าลมมากระทบผิวหนังและทำให้ช่องใต้ผิวหนังและรูเหงื่อเปิด มีอาการกลัวลม มีเหงื่อออก
ลมเปลี่ยนแปลงไปมารวดเร็ว ไม่แน่นอน มาเร็วไปเร็ว จึงเกิดโรคเฉียบพลัน ตำแหน่งโรคเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ
- โรคลมพิษจะเกิดผื่นคันและหายไปอย่างรวดเร็ว เป็น ๆ หาย ๆ
- โรคปวดข้อจากลม อาการปวดจะเคลื่อนย้ายไปตามข้อต่าง ๆ
- โรคจิตอาละวาดและโรคเส้นเลือดสมองก็มีสาเหตุหนึ่งมาจากลม ทำให้มีอาการอย่างฉับพลัน คือ วิงเวียนเป็นลม หมดสติ
ลมชอบเคลื่อนไหวไม่หยุด ทำให้เกิดโรคที่มีลักษณะเคลื่อนไหวไม่หยุด เช่น ชัก สั่น กระตุก วิงเวียน
ลมเป็นตัวนำของสาเหตุโรคจากภายนอกอื่น ๆ ลมจึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคต่าง ๆ จากลมกับความร้อน ลมกับไฟ ลมกับความเย็น ลมกับความแห้ง ลมกับความชื้น
ลมที่ก่อตัวจากภายในร่างกายเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดปกติของตับ เช่น ความร้อนสูงเปลี่ยนเป็นลมในตับ หยางในตับเพิ่มสูงเปลี่ยนเป็นลม เลือด ตับพร่องเปลี่ยนเป็นลม รวมเรียกว่า ลมในตับ (肝风内动ก่านเฟิงเน่ยต้ง) มีอาการสำคัญคือ วิงเวียน แขนขาชา สั่น กระตุก
ความเย็นภายนอก (寒邪 หานเสีย)
ความเย็น เป็นลมฟ้าอากาศหลักในฤดูหนาว ในฤดูหนาวมีโอกาสป่วยจากความเย็นได้ง่าย ถ้ารักษาความอบอุ่นของร่างกายไม่เพียงพอ เช่น อยู่ในที่มีอากาศหนาวเย็นเกินไป สวมใส่เสื้อผ้าบางเกินไป ถูกฝน แช่อยู่ในน้ำเย็นนานเกินไป จะมีโอกาสเจ็บป่วยจากความเย็นได้ง่าย
คุณสมบัติของความเย็นและการเกิดโรค
ความเย็นชอบทำลายหยาง ความเย็นเป็นอิน ชอบทำลายหยางทำให้หยางพร่อง ปกติลมปราณอินถูกควบคุมด้วยลมปราณหยาง อินเพิ่มทำให้เย็นหรืออินเพิ่มทำให้หยางป่วย เกิดจากลมปราณอินเพิ่มสูงขึ้นและย้อนรอยไปข่มหยาง ลมปราณหยางไม่สามารถสร้างความอบอุ่นเป็นพลังผลักดันการทำงานของร่างกายจึงเกิดกลุ่มอาการเย็น เช่น ความเย็นมากระทบที่ส่วนนอกของร่างกาย ทำให้ผลักดัน
หยางที่ช่วยปกป้องร่างกายเข้าไปอยู่ส่วนในของร่างกาย ทำให้มีอาการกลัวหนาว มีไข้ เหงื่อไม่ออก ปวดศีรษะ ปวดตัว ปวดข้อ ชีพจรตึงแน่น เรียกว่า ซางหาน (伤寒) ถ้าความเย็นตรงเข้าส่วนในทำลายลมปราณหยางของอวัยวะภายในเรียกว่า จงหาน (中寒)
- ถ้าความเย็นเข้ารุกรานม้ามและกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการอาเจียนเป็นน้ำใส ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปวดเย็นในท้อง
- ถ้าปอดและม้ามถูกความเย็นกระทบ จะมีอาการไอ หอบ เสมหะใส บวมน้ำ
- ถ้าม้ามและไตถูกกระทบ จะมีอาการกลัวหนาว แขนขาเย็น ปวดเย็นที่เอวและหลัง ปัสสาวะมาก ถ่ายเหลว บวมน้ำ ท้องมาน
- ถ้าหัวใจและไตถูกกระทบ จะมีอาการกลัวหนาว อ่อนเพลีย ซึม มือเท้าเย็น ถ่ายเหลว ชีพจรเล็กและอ่อนนุ่ม
ความเย็นทำให้หยุดนิ่งติดขัด ถ้าความเย็นเข้ามาทำลายลมปราณหยางทำให้เลือดและลมปราณไม่ไหลเวียนหยุดนิ่งติดขัดเกิดอาการปวด ถ้าให้ความอบอุ่นจะทำให้เลือดและลมปราณไหลเวียนดีขึ้น อาการปวดจะทุเลาลง ถ้าความเย็นมากระทบที่ส่วนนอกของร่างกาย ทำให้การไหลเวียนในเส้นลมปราณติดขัด มีอาการปวดที่ศีรษะ ลำตัว แขนขา และข้อ ถ้าความเย็นตรงเข้ารุกรานส่วนในของร่างกายทำให้การไหลเวียนของลมปราณในซานเจียวติดขัด มีอาการปวดเย็นหรือปวดบิดในอกและท้อง
ความเย็นทำให้หดเกร็ง ถ้าความเย็นมากระทบที่ส่วนนอกของร่างกาย ทำให้ช่องใต้ผิวหนังหดตัว รูเหงื่อปิด เส้นลมปราณตีบตัน หยางที่ปกป้องร่างกายไม่ไหลเวียนมาที่ส่วนนอก จะมีอาการไข้ กลัวหนาว เหงื่อไม่ออก ถ้าความเย็นกระทบเส้นลมปราณและข้อ ทำให้เส้นลมปราณหดตัวหรือหดเกร็ง มีอาการข้อเย็น ปวด แขนขาเย็นและอ่อนแรง ขยับเคลื่อนไหวไม่สะดวก
ความเย็นที่ก่อตัวภายในร่างกายมักเกิดจากลมปราณหยางของหัวใจ ม้าม ไต พร่องลง โดยเฉพาะไตจะมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับโรคที่เกิดจากความเย็นก่อตัวจากภายในร่างกาย (内寒เน่ย์หาน) เพราะหยางไตเป็นรากฐานของลมปราณหยางภายในร่างกาย เป็นกลุ่มอาการพร่อง มีอาการคือ ใบหน้าซีดขาว แขนขาเย็น ปัสสาวะมาก ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ลิ้นซีดมีฝ้าขาว
ความร้อนอบอ้าว (暑邪 สู่เสีย)
ความร้อนอบอ้าว เป็นลมฟ้าอากาศที่พบในช่วงกลางฤดูร้อนเป็นต้นไป เป็นสาเหตุของโรคจากภายนอกเท่านั้น ไม่มีความร้อนอบอ้าวที่ก่อตัวจากภายในร่างกาย มักเกิดเมื่อมีอากาศร้อนจัด หรืออยู่กลางแดดจัดมากเกินไป หรือทำงานอยู่ในที่มีอากาศอบอ้าว
คุณสมบัติของความร้อนอบอ้าวและการเกิดโรค
ความร้อนอบอ้าวมีความร้อนแรงเหมือนไฟ เป็นหยาง ถ้าความร้อนอบอ้าวกระทบร่างกายจะเกิดอาการหยางร้อนแรง เช่น ไข้สูง กระวนกระวาย หน้าแดง หงุดหงิด ชีพจรใหญ่
ความร้อนอบอ้าวชอบกระจายขึ้นบน ถ้าความร้อนอบอ้าวกระทบร่างกาย มักตรงเข้าระบบลมปราณ ทำให้ช่องใต้ผิวหนังและรูเหงื่อเปิด ถ้าเหงื่อออกมากจะเกิดการสูญเสียของเหลวในร่างกาย คอแห้ง กระหายน้ำ ริมฝีปากและลิ้นแห้ง ปัสสาวะน้อยสีเข้ม ถ้าเสียเหงื่อมากก็จะสูญเสียลมปราณไปด้วย มีอาการลมปราณพร่อง เช่น หายใจเบา อ่อนแรง เป็นลมหมดสติ หากความร้อนกระทบหัวใจจะทำให้หงุดหงิด กระวนกระวาย
ความร้อนอบอ้าวมักพบร่วมกับความชื้นเสมอ เพราะฤดูร้อนมีฝนตกหนัก ความร้อนเผาผลาญน้ำฝนเปลี่ยนเป็นความร้อนชื้น ในทางคลินิกโรคที่เกิดจากความร้อนชื้น นอกจากกลุ่มอาการร้อน เช่น มีไข้ ปากแห้ง หงุดหงิด แล้วยังมีกลุ่มอาการชื้นด้วย เช่น แขนขาหนัก แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน แต่มีอาการร้อนเป็นหลัก
ความชื้น (湿邪 ซือเสีย)
ความชื้น เป็นลมฟ้าอากาศของปลายฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนและฝนตกหนัก โรคจากความชื้นเกิดในคนทำงานใกล้น้ำ เกษตรกรแช่ในน้ำ ตากฝน
คุณสมบัติของความชื้นและการเกิดโรค
ความชื้นเป็นอิน มักทำให้ลมปราณติดขัด อินเพิ่มขึ้นทำลายลมปราณหยาง ความชื้นเป็นน้ำจัดเป็นอิน ความชื้นมากระทบร่างกายมักเข้าไปอุดตันในอวัยวะภายในและเส้นลมปราณ ม้ามเป็นธาตุดิน ชอบความแห้ง กลัวความชื้น ม้ามถูกความชื้นรุกรานได้ง่าย ถ้าม้ามและกระเพาะอาหารกระทบความชื้นจะทำให้การย่อยและการดูดซึมอาหารเสียไป มีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเดิน ปัสสาวะน้อยเกิดน้ำคั่ง บวมน้ำ การรักษาใช้วิธีเพิ่มการไหลเวียนลมปราณ และขับปัสสาวะ
ความชื้นมีคุณสมบัติหนักและขุ่นสกปรก โรคที่เกิดจากความชื้นทำให้ร่างกายมีอาการหนักเป็นสำคัญ เช่น ศีรษะหนัก ตัวหนัก แขนขาหนักล้า สิ่งคัดหลั่งหรือขับถ่ายของเหลวขุ่น สกปรก ถ้าความชื้นกระทบผิวหนังร่วมกับความร้อน จะเกิดโรคผิวหนังได้ง่าย ถ้าความชื้นเข้าสู่เส้นลมปราณและข้อ ทำให้ลมปราณติดขัด มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หนักและปวดตามข้อ
- ถ้าความชื้นรุกรานที่ส่วนบนของร่างกาย ทำให้ใบหน้าหมองคล้ำ ขี้ตามาก
- ถ้าความชื้นอุดตันลำไส้ใหญ่ ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด
- ถ้าความชื้นรุกรานส่วนล่างของร่างกาย ทำให้ปัสสาวะขุ่น ผู้หญิงมีตกขาวมาก
- ถ้าความชื้นรุกรานผิวหนัง จะเกิดแผล หนอง ผื่นคันมีน้ำเหลือง
ความชื้นมีลักษณะเหนียวข้น ติดขัด ขจัดออกยาก สร้างสิ่งคัดหลั่งหรือขับถ่ายของเหลวเหนียวข้น เช่น อุจจาระเหนียวเป็นมูก ปัสสาวะขัด ฝ้าลิ้นเปียกเหนียว มีลักษณะการดำเนินโรคช้า เรื้อรัง เป็น ๆ หายๆ ไม่หายขาด
ความชื้นเป็นน้ำชอบไหลลงที่ต่ำ มักรุกรานทำให้เกิดโรคที่ส่วนล่างของร่างกาย มีอาการ เช่น เท้าบวม ตกขาว ปัสสาวะขุ่น อุจจาระเป็นมูกเลือด
ความชื้นที่ก่อตัวจากภายในร่างกายเกิดจากม้ามพร่อง ไม่สามารถย่อยดูดซึมอาหารและน้ำเกิดน้ำคั่ง เรียกว่า ม้ามพร่องทำให้เกิดความชื้น มีอาการปากเหนียว เบื่ออาหาร แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด ศีรษะและลำตัวหนัก ท้องเดิน ปัสสาวะขุ่น ตกขาว บวมน้ำ
ความแห้ง (燥邪 เจ้าเสีย)
ความแห้ง เป็นลมฟ้าอากาศของฤดูใบไม้ร่วงซึ่งมีอากาศแจ่มใสและแห้ง ความแห้งที่เป็นสาเหตุของโรค แบ่งเป็น 2 แบบ คือ ความแห้งเย็นและความแห้งร้อน ความแห้งร้อนพบในต้นฤดูใบไม้ร่วงที่มีอากาศอบอุ่นและแห้ง ความแห้งเย็นพบตอนปลายฤดูใบไม้ร่วงใกล้ฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นและแห้ง
คุณสมบัติของความแห้งและการเกิดโรค
ความแห้งทำลายอิน ระเหยของเหลวในร่างกาย ทำให้เกิดความแห้งผากของอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ผิวหนังแห้งแตก จมูกแห้ง คอแห้ง ปากแห้ง ริมฝีปากแตก ผมแห้งหยาบ ปัสสาวะน้อย ท้องผูก
ความแห้งชอบรุกรานปอด ความแห้งมีผลกระทบปอดได้ง่าย เพราะปอดควบคุมลมปราณและการหายใจ ปอดชอบความชื้นและน้ำไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ความแห้งมักเข้าสู่ร่างกายทางปากและจมูก เข้ารุกรานปอดทำลายความชื้น ทำให้ลมปราณปอดไม่แผ่กระจาย มีอาการไอแห้ง เสมหะน้อย หรือเสมหะเหนียวติดคอ หรือมีเสมหะปนเลือด หอบ เจ็บหน้าอก
ความแห้งจากภายในร่างกายเกิดจากมีไข้สูง เสียเหงื่อมาก อาเจียนมาก ท้องเดินมาก เสียเลือดมาก ผู้สูงอายุร่างกายอ่อนแอเลือดพร่อง จะพบอาการของเหลวในร่างกายพร่องกระทบไปทั่วร่างกาย คือ ผิวหนังแห้งหยาบ ปากแห้ง คอแห้ง ผมแห้ง กล้ามเนื้อลีบ ปัสสาวะน้อย ท้องผูก และอาการผิดปกติของอวัยวะภายในโดยเฉพาะปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับ ไต
ไฟ (火邪 หั่วเสีย)
ไฟ คือ ความอบอุ่น ความร้อนของร่างกาย เกิดจากหยางเพิ่มสูงขึ้นไฟ แตกต่างจากความร้อนอบอ้าว คือ
ความร้อนอบอ้าวพบได้เฉพาะในฤดูร้อน สาเหตุจากภายนอกเท่านั้น
ความอบอุ่น ความร้อน และไฟ เป็นสาเหตุของโรคที่มีความรุนแรงต่างกัน เรียงตามลำดับคือ ไฟร้อนกว่าความร้อน ความร้อนร้อนกว่าความอบอุ่น สาเหตุทั้ง 3 ชนิด มีกำเนิดเดียวกันคือ ไฟหรือหยางเพิ่มขึ้นสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นซึ่งกันและกันได้ ตามปกติไฟในร่างกาย คือ ลมปราณ
หยางของอวัยวะภายใน ทำหน้าที่ให้ความอบอุ่น ช่วยการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เรียกว่า ไฟน้อย (少火เส่าหั่ว) ถ้าหยางเพิ่มมากเกินไปแล้วไปทำลายลมปราณต้านทานโรคของร่างกาย ไฟที่เพิ่มขึ้นนี้เรียกว่า ไฟใหญ่ (壮火จ้วงหั่ว) ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ไฟใหญ่มีสาเหตุได้ทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย ดังนี้
สาเหตุจากภายนอกร่างกาย
เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนเข้าสู่ร่างกาย หรือจากสาเหตุโรคจากภายนอกทั้ง 5 ได้แก่ความเย็น ความชื้น ความแห้ง ลม และความร้อนอบอ้าว มีการสะสมคั่งเป็นเวลานานแล้วเปลี่ยนเป็นไฟ เช่น ความเย็นเปลี่ยนเป็นความร้อน ความร้อนเปลี่ยนเป็นไฟ ความร้อนชื้นเปลี่ยนเป็นไฟ ถ้าร่างกายมีอินพร่องหรือหยางเพิ่มก็จะเปลี่ยนเป็นไฟได้ง่าย อวัยวะที่ถูกรุกรานก็มีความสำคัญ เช่น กระเพาะอาหารไม่ชอบแห้ง ถ้าถูกรุกรานจะเกิดไฟได้ง่าย
สาเหตุจากภายในร่างกาย
เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะภายใน ความไม่สมดุลอิน-หยาง เลือด และ ลมปราณ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรุนแรงสะสมเป็นเวลานานเปลี่ยนเป็นไฟ
ไฟในร่างกายหรือไฟน้อย (少火เส่าหั่ว) แบ่งเป็น จฺวินหั่ว (君火) คือ ลมปราณหยางของหัวใจ และ เซียงหั่ว (相火) คือ ลมปราณหยางของตับ ไต ถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะ เยื่อหุ้มหัวใจ และซานเจียว
คุณสมบัติของไฟและการเกิดโรค
ไฟเป็นหยางมักลอยสูงขึ้นข้างบน ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายส่วนบน เช่น
- ไฟจากหัวใจลอยขึ้น ทำให้ปลายลิ้นแดงเจ็บ ลิ้นและปากเป็นแผล
- ถ้าไฟจากตับเพิ่มสูงและลอยขึ้น ทำให้ปวดศีรษะ ตาบวมแดง
- ถ้ามีไฟเพิ่มสูงในกระเพาะอาหาร ทำให้เหงือกบวมปวด มีเลือดออกตามไรฟัน
ไฟมีความร้อนแรงเผาไหม้ ทำให้หยางเพิ่มสูงขึ้น เกิดกลุ่มอาการร้อน เช่น ไข้สูง กลัวร้อน ชีพจรใหญ่มีพลัง เต้นเร็ว
ไฟทำลายของเหลวในร่างกายและลมปราณ เพราะลมปราณสร้างจากของเหลวในร่างกาย ทำให้มีอาการของเหลวในร่างกายและลมปราณพร่อง เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ คอแห้ง ลิ้นแห้ง ปัสสาวะน้อยสีเข้ม ท้องผูก หายใจเบา ซึมลง ไม่มีแรง
ถ้าไฟเข้าสู่เส้นลมปราณทำให้เลือดไหลเวียนเร็วและแรงขึ้น มักเกิดเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ผิวหนังเป็นจ้ำเลือด ระดูมามาก ตกเลือด
ไฟทำให้เกิดลมในตับ ไฟเข้าสู่ร่างกายมักไปที่ตับเข้าไปเผาผลาญของเหลวและเลือดในตับ ทำให้เอ็นขาดการหล่อเลี้ยง และเกิดลมในตับ (肝风内动กันเฟิงเน่ยต้ง) เรียกว่า ความร้อนจัดทำให้เกิดลม (热极生凤เร่อจี๋เซิงเฟิง) มีอาการไข้สูง พูดจาไม่รู้เรื่อง ตัวเกร็ง แขนขากระตุก ตาเหลือก
ไฟมักทำให้ผิวหนังเป็นแผล ถ้าไฟเข้าสู่ระบบเลือด (血分เซฺวี่ยเฟิน) แล้วไปสะสมทำลายเนื้อเยื่อตามที่ต่าง ๆ จะทำให้เกิดอาการปวดบวม แดง ร้อน ถ้ามีความร้อนชื้นมาร่วมด้วยจะเกิดเป็นฝีหนอง
ไฟชอบเผาผลาญหัวใจ หัวใจเป็นธาตุไฟและควบคุมจิตใจ ถ้าไฟเข้าสู่ร่างกายมักไปเผาผลาญหัวใจ เกิดความผิดปกติทางจิตใจ เช่น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ อาละวาด ไม่รู้สึกตัว พูดจาไม่รู้เรื่อง
ไฟจากภายนอกร่างกายมีความสัมพันธ์กับไฟที่ก่อตัวภายในร่างกาย เช่น ถ้าร่างกายมีหยางเพิ่มหรืออินพร่องเกิดไฟ ถ้าถูกกระทบจากสาเหตุของโรคจากภายนอกทั้งห้าก็เปลี่ยนเป็นไฟได้ ไฟจากภายนอกสามารถเข้ามาทำลายของเหลวและเลือดภายในร่างกาย ทำให้ลมปราณหยางในตับเพิ่มสูงเปลี่ยน เป็นไฟหรือลม
เอกสารอ้างอิง
Basic Traditional Chinese Medicine
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ISBN 978-974-16-0792-1
28 ก.พ. 2567
14 พ.ย. 2566
24 มิ.ย. 2567
24 ต.ค. 2566