Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 121086 จำนวนผู้เข้าชม |
การตรวจวินิจฉัยโรคทางการแพทย์แผนจีน
วิธีตรวจโรคทั้งสี่ ได้แก่ การมองดู (望诊 ว่างเจิ่น) การฟังและการดมกลิ่น (听诊和闻诊 ทิงเจิ่นเหอเหวินเจิ่น) การถาม (问诊 เวิ่นเจิ่น) การจับชีพจรและการคลำ (切诊和按诊 เชี่ยเจิ่นเหออั๋นเจิ่น)
"ลิ้นเปรียบเสมือนช่องทวารของหัวใจ"
การตรวจดูสภาพลิ้น (望舌 ว่างสือ) สิ่งที่ได้จากการดูลิ้นของแพทย์จีน
1) บอกภาวะของพลังเจิ้งชี่ของร่างกาย
ลิ้นแดงชุ่มชื้นพอดี-เลือดสมบูรณ์ ลิ้นซีดขาว-เลือดลมอ่อนแอ ลิ้นมีฝ้าบางขาว-ชี่ของกระเพาะอาหารสมบูรณ์ ลิ้นไม่มีฝ้า-อินกระเพาะอาหารเหือดแห้ง
2) บอกชนิดของปัจจัยก่อโรค ฝ้าเหลืองคือร้อน ฝ้าเหนียวมีความชื้น
3) บอกตำแหน่งและความลึกตื้นของโรค ฝ้าบาง หมายถึงโรคอยู่ตื้น ฝ้าหนาโรคอยู่ภายใน
4) พยากรณ์และการดำเนินโรค ฝ้าบางเปลี่ยนเป็นฝ้าหนาแสดงว่าโรคดำเนินไป หากฝ้าหนาเปลี่ยนเป็นฝ้าบางแสดงว่าอาการดีขึ้น
Cr.Photo : diabetes-matters.com
หลักปฏิบัติในขณะตรวจวินิจฉัยดูลิ้นของแพทย์จีน
1) แสงสว่างต้องเพียงพอ แสงที่ดีที่สุดควรดูใต้แสงจากธรรมชาติ หากใช้แสงไฟต้องระมัดระวัง มักทำให้สังเกตผิด เพราะแสงไฟอาจทำให้เห็นฝ้าสีเหลืองเป็นสีขาว
2) ท่าการตรวจ ผู้ป่วยอ้าปากกว้าง แลบลิ้นโดยไม่ต้องใช้แรงและไม่นานเกินไป
3) สีจากภายนอกย้อมติด อาจมีสารบางอย่างทำให้ฝ้ามีสี เช่น กาแฟ ลูกอม นม
4) เวลาและฤดูกาล ตอนเช้าฝ้าบนลิ้นจะหนามากกว่าปกติ เพราะเว่ย์ชี่ตกค้างจากม้ามและกระเพาะอาหาร เนื่องจากไม่ได้ทำงานเป็นเวลานาน ฤดูร้อนลิ้นจะแดง ฝ้าจะเหลืองขึ้น
5) อายุ ผู้สูงอายุ ลิ้นอาจจะซีด มีรอยแตกบนลิ้นบ้าง เนื่องจากเลือดลมบกพร่อง เด็ก ฝ้า หลุดร่อนได้ง่าย (ลิ้นแผนที่) เนื่องจากเว่ย์ชี่ยังไม่สมบูรณ์
6) ขนาดของร่างกาย คนอ้วน อาจมีลิ้นใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับร่างกายและมักมีสีซีด
การดูตัวลิ้น การแบ่งส่วนต่าง ๆ ของลิ้น
1) แบ่งลิ้นเป็น 3 ส่วนของร่างกาย ได้แก่ ส่วนปลายลิ้น-ร่างกายส่วนบน ส่วนกลางลิ้น-ร่างกายส่วนกลาง ส่วนโคนลิ้น-ร่างกายส่วนล่าง
2) แบ่งลิ้นออกเป็นบริเวณของอวัยวะภายใน ได้แก่ ส่วนปลายลิ้น-หัวใจและปอด ส่วนกลางลิ้น-ม้ามและกระเพาะอาหาร ส่วนขอบลิ้น-ตับและถุงน้ำดี ส่วนโคนลิ้น-ไต
การตรวจส่วนต่าง ๆ ของลิ้น
1) การมีชีวิตชีวา เช่น ลิ้นห่อเหี่ยว ลิ้นมีประกายมีน้ำมีนวล
2) สีของตัวลิ้น เช่น สีขาวซีด สีชมพู สีแดง สีแดงเข้ม
3) ลักษณะของลิ้น เช่น ลิ้นผอมเล็ก ลิ้นบวมโต ผิวลิ้นหยาบหรืออ่อนนุ่ม
4) ลักษณะการเคลื่อนไหว เช่น ลิ้นแข็งทื่อ ลิ้นอ่อนแรง ลิ้นสั่น
การดูฝ้าที่เคลือบบนลิ้น
1) ดูสีของฝ้า เช่น สีขาว สีเหลือง สีเทา สีดำ เป็นต้น
2) ดูลักษณะฝ้า เช่น ฝ้าหนาบาง ฝ้าชุ่มชื้น-แห้ง ฝ้าเหนียวหรือร่อน
การมีชีวิตชีวา
1) ลิ้นที่มีชีวิตชีวา หมายถึง ลิ้นที่มีน้ำมีนวล มีประกายไม่หมองคล้ำ มีสีแดงชมพู ซึ่งบ่งบอกถึงสภาวะมีเลือดและชี่ดี ไม่มีการอุดกั้นและเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว แสดงว่าร่างกายแข็งแรง
2) ลิ้นที่ไม่มีชีวิตชีวา หมายถึง ลิ้นที่เหี่ยวแห้ง ไม่มีประกาย สีหมองคล้ำ เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว แสดงภาวะขาดเลือดและชี่ หรือมีการอุดกั้น
สีของตัวลิ้น
1) ลิ้นสีซีดหรือสีขาวซีด หมายถึง สีของตัวลิ้นอ่อนหรือจางกว่าสีลิ้นปกติ ในรายที่ซีดมากจะมีสีขาวซีด แสดงว่าเลือดมาเลี้ยงน้อยมาก แสดงถึงกลุ่มอาการพร่อง กลุ่มอาการเย็น เลือดและชี่พร่อง
2) ลิ้นสีแดง หมายถึง สีของตัวลิ้นเข้มกว่าลิ้นปกติ ลิ้นจะแดงมากขึ้นเป็นสีแดงสด แสดงถึง อาการร้อนภายในทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนมาก แบ่งเป็นร้อนพร่องและร้อนแกร่ง
3) ลิ้นแดงจัด หมายถึง ลิ้นที่มีความแดงเข้มกว่าภาวะลิ้นแดง แสดงถึงความร้อนได้เข้าสู่ระดับเลือด หรือภาวะอินพร่องจนเกิดไฟ ภาวะเลือดอุดกั้นรุนแรง
4) ลิ้นสีม่วง หมายถึง ตัวลิ้นมีสีคล้ำออกเป็นแดงม่วง หรือเขียวอมม่วง แสดงถึงความร้อนมาก เลือดอุดกั้น ความเย็นทำให้เลือดไม่ไหลเวียน มีการอุดกั้น
5) ลิ้นสีเขียว หมายถึง ตัวลิ้นมีสีเขียวเหมือนลิ้นของควาย แสดงถึงความเย็นอุดกั้นเนื่องจากหยางพร่อง หรือมีการคั่งของเลือด
Cr.Photo : acuproacademy
ลักษณะของลิ้น
1) ความหยาบ ความนุ่มของผิวลิ้น ถ้าผิวลิ้นมีพื้นผิวหยาบและแข็งเหมือนมีแผลเล็ก ๆ เรียกว่าผิวหยาบ แสดงถึงภาวะแกร่ง ถ้าผิวลิ้นมีพื้นผิวนุ่ม มักจะอวบมีน้ำ พื้นผิวจะละเอียดเหนียว เรียกว่า ผิวนุ่ม แสดงถึงภาวะพร่อง
2) ลิ้นอ้วนใหญ่ ลิ้นที่ค่อนข้างโตกว่าปกติ เรียกว่า ลิ้นใหญ่ และลิ้นที่โตกว่าปกติมาก เมื่อแลบลิ้นออกมาจะโตคับปาก เรียกว่า ลิ้นอ้วนใหญ่ แสดงถึงภาวะหยางพร่อง น้ำและความชื้นตกค้าง ความร้อนชื้นสะสมภายใน
3) ลิ้นบวมโต หมายถึง ลิ้นที่มีลักษณะบวมโตเต็มปาก แลบลิ้นออกได้แต่ดึงลิ้นกลับไม่ได้แสดงถึงหัวใจและม้ามร้อนจัด ถูกสารพิษ
4) ลิ้นผอมเล็ก หมายถึง ตัวลิ้นมีขนาดเล็กหรือผอมบาง แสดงถึงเลือดและชี่พร่อง อินพร่องทำให้ไฟกำเริบ
5) ตุ่มรับรสบนผิวลิ้นนูน หมายถึง ลักษณะผิวลิ้นมีตุ่มเล็ก ๆ หรือเป็นตุ่มเม็ดปูดให้เห็น ถ้านูนมากก็คล้ายกับหนาม เมื่อเอามือลูบดูจะรู้สึกสาก ๆ มักพบบริเวณขอบลิ้นและบริเวณปลายลิ้น แสดงถึงความร้อนอุดกั้นอยู่ภายในเข้าสู่ระดับเลือด
6) ลิ้นมีรอยแตก หมายถึง ตัวลิ้นมีความไม่สม่ำเสมอ ลึกตื้นไม่เท่ากัน เป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นรอยขวาง มีรอยย่นคล้ายรอยหยักของสมอง หรือลักษณะต่าง ๆ ที่มีร่อง มีรอยแตกบนลิ้น แสดงถึงความร้อนมากทำลายภาวะอินในร่างกายเลือดพร่อง ขาดความชุ่มชื้น ม้ามพร่องทำให้ความชื้นสะสม
7) ลิ้นมีรอยหยักของฟัน หมายถึง ขอบลิ้นมีรอยกดทับของตัวฟัน ทำให้เห็นมีรอยหยักบริเวณด้านข้างของลิ้น แสดงถึงม้ามพร่อง ชี่พร่อง ความเย็นชื้นสะสมมาก
8) ลิ้นลื่นวาว หมายถึง ตัวลิ้นไม่มีฝ้า ดูมีลักษณะคล้ายกระจก ผิวลิ้นจะวาวลื่น บางครั้งเรียกว่า “ลิ้นแผ่นกระจก” แสดงถึง ชี่ของกระเพาะอาหารถูกทำลายอย่างรุนแรง ขาดอินของกระเพาะอาหารอย่างมาก
9) ลิ้นมีปื้นเลือดหรือมีจุดจ้ำเลือด หมายถึง ตัวลิ้นมีจุดเลือดหรือปื้นเลือดขนาดใหญ่ หรือเล็กลักษณะต่าง ๆ จุดหรือปื้นเลือดที่อุดตันจะมีสีม่วง หรือสีม่วงดำอยู่ในตัวลิ้น ไม่โผล่มาที่ตัวผิวลิ้นแสดงถึงภาวะเลือดอุดกั้น
10) หลอดเลือดใต้ลิ้นหนาหยาบและขยายโต หมายถึง หลอดเลือดดำใต้ลิ้น 2 เส้นค่อนข้างโต และขนาดความยาวของหลอด เลือดมาก 3/5 ของระยะปลายลิ้นถึงโคนลิ้น ร่วมกับมีสีเขียวม่วง แสดงถึงชี่ติดขัดมีการคั่งของเลือด
ลักษณะการเคลื่อนไหวของลิ้น
1) ลิ้นแข็งทื่อ หมายถึง ตัวลิ้นแข็งทื่อเหมือนแผ่นกระดาน การเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว ทำให้การพูดติดขัด แสดงถึงความร้อนทำลายสารน้ำ หรือความร้อนเข้าสู่เยื่อหุ้มหัวใจ หรือลมตับร่วมกับการมีเสมหะอุดกั้น หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก
2) ลิ้นอ่อนแรง หมายถึง ตัวลิ้นอ่อนปวกเปียก อ่อนแอไม่มีแรงที่จะแลบหรือเคลื่อนไหวแสดงถึงเลือดและชี่พร่อง หรือความร้อนจัดทำลายสารอิน หรือภาวะอินพร่องรุนแรงโดยเฉพาะอินของตับและไต
3) ลิ้นสั่น หมายถึง ตัวลิ้นสั่นระริก ควบคุมให้หยุดนิ่งไม่ได้ แสดงถึงเลือดและชี่พร่อง ร้อนจัดทำให้เกิดลม
4) ลิ้นเฉ หมายถึง เวลาแลบลิ้นออกมาก จะเอียงเฉไปด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง ลิ้นไม่อยู่ในแนวกลาง แสดงถึงโรคหลอดเลือดทางสมอง หรือภาวะเตือนหรือลางบอกเหตุก่อนเกิด ภาวะโรคหลอดเลือดทางสมองตีบ แตกหรือตัน ซึ่งตามมาด้วยอาการของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
5) ลิ้นแลบ หมายถึง ตัวลิ้นยื่นออกจากปาก เรียกว่า ลิ้นแลบ หรืออาการเล่นลิ้น แลบตัวลิ้นเข้าออกคล้ายการเลียลิ้นตลอดเวลา แสดงถึงหัวใจและม้ามมีความร้อน หรือเป็นลางบอกเหตุจะเกิดอาการชักในเด็ก หรือเด็กปัญญาอ่อน
6) ลิ้นหดสั้น หมายถึง ตัวลิ้นหดรั้ง ไม่สามารถแลบออกมาให้ยาวได้ บางคนเรียกว่า ม้วนลิ้น แสดงถึง ความเย็นสะสมทำให้เอ็นหด หรือเสมหะของเสียตกค้างภายใน หรือความร้อนสะสมมากทำลายสารน้ำ มีแนวโน้มจะเกิดอาการชัก หรือเลือดและชี่พร่อง
สีของฝ้าบนลิ้น
1) ฝ้าสีขาว หมายถึง ผิวลิ้นมีชั้นฝ้าสีขาวเคลือบ แสดงถึงอาการของโรคที่เกิดจากปัจจัย
ภายนอก โรคที่เกิดจากภาวะความเย็นหรือภาวะความร้อน ในบางกรณีที่ถูกมลพิษจำพวกความชื้นที่เข้มข้นเข้ากระทำแล้วก่อตัวสะสมจนเกิดพิษร้อนขึ้นภายใน
2) ฝ้าสีเหลือง หมายถึง ผิวลิ้นมีชิ้นฝ้าสีเหลืองเคลือบ แสดงถึงอาการของโรคที่เกิดจากภายใน
3) ฝ้าสีเทา หมายถึง ผิวลิ้นมีชิ้นฝ้าสีดำจาง ๆ เคลือบ แสดงถึงอาการโรคจากความร้อนภายใน หรืออาการโรคเย็นชื้น
4) ฝ้าสีดำ หมายถึง ผิวลิ้นมีชิ้นฝ้าสีดำปกคลุม แสดงถึงความร้อนสะสมในร่างกายอย่างมาก และฝ้าจะแห้งแตก หรือความเย็นสะสมในร่างกายถึงจุดสูงสุด และฝ้าจะยังดูชื้น
ลักษณะของตัวฝ้า
1) ฝ้าหนา-บาง ฝ้าบาง หมายถึง สามารถมองทะลุจากฝ้าเห็นตัวลิ้นที่อยู่ด้านล่าง แสดงถึงโรคที่เกิดจากภายนอก หรือโรคจากภายในแต่ไม่รุนแรง หรือเป็นระยะแรกของอาการเจ็บป่วย ฝ้าหนา หมายถึง มองผ่านตัวฝ้าไม่สามารถเห็นตัวลิ้นได้ แสดงถึงโรคจากภายนอกที่รุนแรงรุกสู่ภายใน เสมหะของเสียตกค้าง อาหารหรือความชื้นสะสมภายใน
2) ความชุ่มชื้น-ความแห้งของฝ้า ฝ้าชุ่มชื้น หมายถึง ผิวของฝ้ามีความชื้น มีน้ำพอเหมาะแสดงถึงพบในคนปกติ ถ้าป่วยไข้ก็อยู่ในภาวะที่ไม่สูญเสียสารน้ำของร่างกาย ฝ้าลื่น หมายถึง ผิวของฝ้ามีความชื้น มีน้ำมากเกินไป แสดงถึงมีความเย็น หรือความชื้นอยู่ภายในมาก ฝ้าแห้ง หมายถึง ผิวของฝ้ามีความแห้ง ถ้าสัมผัสดูจะรู้สึกว่าแห้งผาก แสดงถึงความร้อนมากทำลายสารน้ำ อินในร่างกายถูกทำลาย
3) ฝ้าแผ่นเต้าหู้-ฝ้าเหนียว ฝ้าแผ่นเต้าหู้ หมายถึง ลักษณะฝ้าเป็นก้อนเป็นเม็ดหลวม ๆ หยาบแต่หนา คล้ายกับผิวลิ้นปกคลุมด้วยแผ่นเต้าหู้ ถ้าขูดลิ้น ฝ้าจะทะลุได้ง่าย แสดงถึงมีเสมหะของเสีย อาหารไม่ย่อยตกค้าง ทำให้ภาวะหยางและความร้อนเกิน ฝ้าเหนียว หมายถึง ลักษณะก้อนเป็นเม็ดละเอียด เหนียวติดกันแน่น ขูดไม่ออกข้างบนฝ้าเหมือนมีน้ำมันเหนียวเป็นเมือกเหลวเคลือบทับอยู่ แสดงถึงมีเสมหะของเสีย อาหารความชื้น ซึ่งของเสียความชื้นเหล่านี้สะสมนาน เกิดความร้อนสะสม และพลังของหยางถูกปิดกั้น
4) ลิ้นที่มีฝ้าหลุดลอก ลิ้นเลี่ยนหรือลิ้นไม่มีฝ้า หมายถึง ฝ้าบนลิ้นหลุดออกหมด ไม่มีฝ้าบนลิ้น ทำให้ผิวลิ้นวาวเหมือนกระจก แสดงถึงชี่และอินของกระเพาะอาหาร ลิ้นมีฝ้าหลุดลอกเป็นหย่อม ๆ หมายถึง ฝ้าบนลิ้นมีบางส่วนหลุดลอก บริเวณส่วนที่หลุดลอกจะลื่นวาว ไม่มีฝ้า แสดงถึงภาวะของชี่และอินของกระเพาะอาหารถูกทำลาย
5) ฝ้าแท้-ฝ้าเทียม ฝ้าแท้ หมายถึง ฝ้าที่ติดแน่นกับผิวลิ้น ขูดออกยาก แสดงว่าเป็นฝ้าที่มีรากฝ้าติดกับตัวลิ้น แสดงถึงพลังของกระเพาะอาหารยังคงดำรงอยู่ มักเป็นภาวะแกร่ง ฝ้าเทียม หมายถึงฝ้าที่ไม่จริง คล้ายกับเกาะลอยอยู่บนลิ้น ขูดออกง่าย เป็นฝ้าที่ไร้ราก ฝ้าที่ไม่ติดกับตัวลิ้น แสดงถึงมักเป็นภาวะพร่อง เช่น พลังของกระเพาะอาหารพร่อง
6) การเปลี่ยนแปลงของฝ้าทางลดและทางเพิ่ม การเปลี่ยนแปลงทางลด หมายถึง ฝ้าบนลิ้นเปลี่ยนจากหนาเป็นบาง เปลี่ยนจากมากเป็นน้อย เป็นการลดปริมาณ แสดงถึงพลังพื้นฐานของร่างกายค่อย ๆ ฟื้นคืน โรคกำลังถดถอย อาการค่อย ๆ ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเพิ่ม หมายถึง ฝ้าบนลิ้นเปลี่ยนจากไม่มีฝ้าเป็นมีฝ้า เปลี่ยนจากมีฝ้าบางเป็นฝ้าหนา เป็นการเพิ่มปริมาณ แสดงถึงปัจจัยก่อโรคค่อนข้างแกร่ง รุกรานจากภายนอกสู่ภายในร่างกาย
พยาธิสภาพของลิ้นแบบอื่น ๆ
1) ลิ้นซ้อน (คล้ายมี 2 ลิ้น) หมายถึง เนื่องจากหลอดเลือดใต้ลิ้นบวมทำให้ดูคล้ายกับมีลิ้นเล็ก ๆ อีกอันอยู่ข้างล่าง แสดงถึงไฟหัวใจแกร่ง
2) ลิ้นมีเลือดออก หมายถึง บนลิ้นมีเลือดออก แสดงถึงไฟหัวใจและกระเพาะอาหารร้อน ไฟตับและม้ามพร่อง ไม่อาจดูดรั้งควบคุมเลือด
3) ลิ้นเป็นหนอง หมายถึง บนลิ้นมีหนอง ลิ้นแดงบวม แสดงถึงไฟหัวใจกำเริบ ม้ามและไตมีความร้อนสะสม เผาผลาญสารน้ำจะเกิดแผลหนอง
4) ลิ้นเป็นแผล (แผลร้อนใน) หมายถึง ลิ้นมีแผลอักเสบเน่าเปื่อยขนาดเล็กและปวดแสบแสดงถึงมีพิษร้อนของเส้นลมปราณหัวใจ ภาวะไฟจากอินพร่องลอยสู่เบื้องบน
5) ลิ้นเป็นฝี หมายถึง ตัวลิ้นมีฝีสีม่วง มีห้อเลือดขนาดเท่าเม็ดถั่ว รากลึกแน่น ร่วมกับมีอาการปวดรุนแรง แสดงถึงไฟหัวใจและม้ามกำเริบเป็นพิษ
6) ลิ้นมีก้อนเนื้อคล้ายดอกเห็ด หมายถึง มีเนื้องอกที่ลิ้นขนาดต่าง ๆ กัน บ้างก็มีการแตกบานคล้ายดอกกะหล่ำ ผิวนอกอักเสบเน่า มีอาการปวดรุนแรง แสดงถึงหัวใจและม้ามมีไฟอุดกั้น
14 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567