Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 11134 จำนวนผู้เข้าชม |
อวัยวะตัน (脏จั้ง)
อวัยวะตันมี 5 ชนิด คือ หัวใจ ปอด ม้าม ตับ และไต นับเยื่อหุ้มหัวใจรวมอยู่กับหัวใจ ลักษณะทางสรีระวิทยาทั่วไปของอวัยวะตันทั้ง 5 คือ การสร้างและเก็บสะสมสารจำเป็น และลมปราณ เป็นส่วนสำคัญของการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นแกนกลางในการทำงานของอวัยวะภายใน อวัยวะตันทั้ง 5 มีหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกัน โดยมีหัวใจทำหน้าที่สำคัญหลักของอวัยวะกลุ่มนี้ ในคัมภีร์เน่ย์จิง 《内经》ได้กล่าวว่า “หัวใจเป็นจ้าวแห่งอวัยวะภายใน”
Credit Photo : rawforestfoodsblog.com
1. หัวใจ (心ซิน)
ลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์
ในตำราศาสตร์การแพทย์แผนจีนเมื่อ 2,000 ปีก่อน ได้กล่าวถึงตำแหน่งที่ตั้งของหัวใจไว้ว่า ตำแหน่งของหัวใจอยู่บริเวณใจกลางช่องทรวงอกอยู่ใต้ปอด จึงทำให้เมื่อหัวใจเต้นสามารถรู้สึกได้บริเวณใต้หัวนมด้านซ้าย รูปร่างของหัวใจจะเหมือนดอกบัวตูมคว่ำหัวลง เนื่องจากตำแหน่งของหัวใจอยู่ด้านบนของร่างกาย จึงเป็นอวัยวะหยางในทฤษฎี อิน-หยาง ศาสตร์การแพทย์แผนจีนถือว่า หัวใจเป็นจ้าวแห่งชีพจรและเลือด กล่าวคือ หัวใจจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
Credit Photo : fiveseasonsmedicine.com
หน้าที่ทางสรีรวิทยา
หัวใจควบคุมเลือดและการไหลเวียนของเลือด เส้นเลือดเป็นเส้นทางลำเลียงเลือดจากหัวใจ หัวใจสูบฉีดเลือดไหลเวียนไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามเส้นเลือด การทำงานของหัวใจจึงมีหัวใจเป็นหลัก มีเลือดและเส้นเลือดเป็นส่วนประกอบ การเชื่อมต่อการไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดทั่วร่างกาย เป็นกิจกรรมของลมปราณของหัวใจที่เรียกว่า ชี่ของหัวใจ (心气ซินชี่) หรือ การเต้นของหัวใจ ทั้งนี้ความแรงของการไหลเวียนเลือดจะขึ้นกับความแรง จังหวะ และอัตราการเต้นของหัวใจ โดยสรุปความปกติของหัวใจจึงขึ้นกับปัจจัย ดังนี้
- ลมปราณของหัวใจ ที่ใช้สูบฉีดเลือดออกจากหัวใจว่าสมบูรณ์หรือไม่
- เลือดมีปริมาณเพียงพอหรือไม่
- ชีพจรหรือเส้นเลือดโล่งโปร่งหรือไม่
- จงชี่ปกติหรือไม่
เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของหัวใจและหัวใจเชื่อมต่อชีพจรโดยเปิดทวารที่ลิ้น ดังนั้น ทางสรีรวิทยาสามารถสังเกตความปกติของการทำงานของหัวใจได้จาก 4 อย่าง คือ ลักษณะชีพจร สีใบหน้า ลักษณะลิ้น และความรู้สึกบริเวณทรวงอก ตัวอย่างเช่น
Credit Photo : advisors.epinone.com
หัวใจควบคุมสติ
สติ (神เสิน) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้โดยตรง แต่สามารถสังเกตได้ทางอ้อม ดังนี้
- จากการแสดงออกของสีหน้า นัยน์ตา คำพูด ความมีชีวิตชีวา และการตอบสนองต่อสิ่งเร้า การเคลื่อนไหวของแขนขา เป็นต้น
- จากความรู้ตัว จิตสำนึก การไตร่ตรอง คัมภีร์ซู่เวิ่น หลิงหลันมี่เตี่ยนลุ่น《素问 。灵兰秘典论》กล่าวว่า “หัวใจนั้นเป็นเสมือนกษัตริย์ของข้าราชการทั้งหลาย มีลักษณะของการเห็นชอบ รับรู้ ชอบรอบรู้” แพทย์จีนจางเจี้ยปิน (长介宾) กล่าวอ้างถึงคัมภีร์เน่ย์จิง《内经》ว่า “จิตทั้ง 5 มีใจเป็นผู้ใช้ หัวใจเป็นจ้าวแห่งอวัยวะตัน อวัยวะกลวง และครอบครองข้อมูลของจิตทั้ง 4 ที่เหลือ” เป็นการเปรียบเทียบว่า หัวใจเป็นใหญ่ เป็นประธานในจิตทั้ง 5
คัมภีร์ซู่เวิ่น หลิงหลันมี่เตี่ยนลุ่น กล่าวว่า “หัวใจนั้นเป็นจ้าวแห่งอวัยวะตันทั้งห้า และอวัยวะกลวงทั้งหก” “ถ้าจ้าวรอบรู้เข้าใจไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าจ้าวไม่รู้เรื่องข้าราชการทั้งสิบตำแหน่งเป็นอันตราย” สรุปคือ หัวใจมีหน้าที่เกี่ยวกับสติ จิตสำนึก การไตร่ตรองและครอบคลุมอวัยวะภายใน ถ้าหัวใจดีดูได้จากสติสมบูรณ์จิตสำนึกแจ่มใส การไตร่ตรองว่องไว และนอนหลับได้ ถ้าหัวใจถูกกระตุ้นมากเกินไป จะเกิดอาการสติคลุ้มคลั่งไม่สงบเย็น ถ้าหัวใจถูกกดมากเกินไป จะเฉื่อยชา หลงลืม เป็นต้น
หัวใจจัดเป็นธาตุไฟ
ธาตุไฟคู่กับหัวใจในปัญจธาตุ ธาตุไฟถูกข่มด้วยธาตุน้ำของไตเพื่อให้เกิดสมดุล มิฉะนั้น ธาตุไฟจากหัวใจจะร้อนลอยขึ้นบน คัมภีร์ซู่เวิ่น เซฺวียนหมิงอู่ชี่《素问 。宣明五气》กล่าวว่า ลักษณะธาตุไฟของหัวใจจึงสามารถดูได้จากความสว่าง ความสดใส
1) ใบหน้ามีความสว่างเงาใส
2) สติปัญญา มีความสนใจในสิ่งแวดล้อม ทั้งผิวเผินตื้นและเบื้องลึก
นอกจากนั้นภาวะไฟของหัวใจยังสามารถสังเกตได้จาก บริเวณทรวงอกที่เป็นที่ตั้งของหัวใจ หัวใจเป็นหยาง ในหยางสูบฉีดเลือดและพลังหยางไปเลี้ยงทั่วร่างกาย เชื่อมโยงกับฤดูร้อนมีรากเกี่ยวข้องกับหยางของไต
หัวใจ เปรียบเหมือนกษัตริย์ ปกครองประชาชน ต้องมีสติสว่างไสว บ้านเมืองจึงสงบสุข ลักษณะสติสว่างไสวเป็นลักษณะของธาตุไฟ
หัวใจเป็นจ้าวแห่งอวัยวะภายใน ครอบครองสติจิตสำนึก ดังในคัมภีร์เน่ย์จิง《内经》 กล่าวว่า “หัวใจถูกทำอันตรายไม่ได้” และคัมภีร์ซู่เวิ่น ลิ่วเจี๋ยจั้งเซี่ยงลุ่น《素问 。六节藏象论》กล่าวว่า “หัวใจเป็นทุนของชีวิต เป็นจิตที่แปรเปลี่ยน” ดังนั้น ในการรักษาให้ป้องกันหัวใจไว้ก่อนเป็นสำคัญ เยื่อหุ้มหัวใจมีหน้าที่ปกป้องรักษาหัวใจ ป้องกันการรุกรานจากภายนอก ถ้ามีการรุกรานหัวใจจะต้องผ่านเยื่อหุ้มหัวใจก่อน
ลิ้น เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รับรสและการพูด ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับหัวใจ โดยผ่านเส้นลมปราณหัวใจ ความผิดปกติของหัวใจจะสะท้อนจากการเปลี่ยนแปลงของสีสิ้น เช่น
- ถ้าหยางของหัวใจพร่อง ลิ้นจะมีสีขาว บวม อ่อนปวกเปียก
- ถ้าเลือดที่หัวใจพร่อง ลิ้นจะซีดขาว
- ถ้าเลือดที่หัวใจไหลเวียนไม่สะดวก ลิ้นจะมีสีม่วงคล้ำ มีจ้ำเลือด จุดเลือดออก
- ถ้าไฟที่หัวใจเพิ่มสูง ปลายลิ้นจะมีสีแดง
- ถ้าหน้าที่ควบคุมทางด้านจิตใจผิดปกติ จะมีอาการลิ้นแข็ง ลิ้นไก่สั้น พูดจาติดขัด หรือพูดไม่ออก
ความสัมพันธ์ของหัวใจกับอารมณ์
ของเหลวในร่างกาย เนื้อเยื่อ และอวัยวะรับรู้
หัวใจกับอารมณ์ยินดี
ความยินดีเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งเร้าภายนอกในสิ่งที่นำความพึงพอใจมาให้ ใน สภาวะปกติความพึงพอใจจะมีผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจมีการผ่อนคลาย แต่ความรู้สึกดีใจที่มากเกินไปก็สามารถกระทบจิตใจ ทำให้หัวเราะไม่หยุด หรือถ้าน้อยเกินไปก็อาจทำให้มีอารมณ์ซึมเศร้าได้
หัวใจเกี่ยวข้องกับการขับเหงื่อออกจากร่างกายทางรูเหงื่อ
หัวใจสร้างเลือด เหงื่อสร้างจากของเหลวในเลือด เหงื่อจึงเป็นของเหลวจากหัวใจ หัวใจสร้างของเหลว 2 ชนิด คือ เลือดในร่างกาย และเหงื่อที่หลั่งออกมาภายนอก เลือดกับเหงื่อมีความเกี่ยวข้องและกระทบถึงกัน เช่น เสียเหงื่อมากจะทำให้สูญเสียของเหลว คือ เลือดและลมปราณที่ใช้เผาผลาญไปด้วย ถ้าเลือดและลมปราณพร่อง ก็ทำให้มีอาการเหงื่อออกผิดปกติ เช่น ถ้าลมปราณหัวใจพร่อง ทำให้ลมปราณเว่ย์อ่อนแอ จึงมีเหงื่อออกมากตอนกลางวัน ถ้าอินหัวใจพร่องทำให้มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน
ความสมบูรณ์ของหัวใจแสดงออกที่ใบหน้า
ใบหน้ามีเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยงมากมาย การทำงานของหัวใจสามารถสะท้อนให้เห็นได้จากสีหน้าและความสดใสของใบหน้า ถ้าการไหลเวียนของเลือดดี ใบหน้าจะมีสีออกแดงสดใส มีชีวิตชีวา ผิวพรรณสดชื่นมีน้ำมีนวล หากการไหลเวียนของเลือดติดขัด ใบหน้าจะมีสีหมองคล้ำ เป็นต้น
หัวใจเปิดทวารที่ลิ้น
หัวใจเปิดทวารที่ลิ้น หมายความว่า การดูลิ้นสามารถคาดการณ์ภาวะการทำงานของหัวใจได้
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567