Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 14264 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคสายตาสั้น สายตายาวและสายตาเอียง เป็นกลุ่มอาการสายตาที่เกิดจากความผิดปกติของการรับแสง (Refractive errors) ซึ่งทางการแพทย์แผนปัจจุบันจะแบ่งโรคสายตาสั้นเป็นระดับเบา ระดับกลาง และระดับหนัก อาการหลักๆคือ มองในระยะใกล้ชัดเจนแต่จะมองไม่ชัดเจนในระยะไกล
การแยกแยะกลุ่มอาการ
อาการหลัก :มองเห็นชัดในระยะใกล้ มองระยะไกลไม่ชัด ตับและไตพร่อง
หัวใจและม้ามพร่อง
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
ตามหลักการของแพทย์แผนจีน สายตาสั้นนอกจากปัจจัยเกิดจากความผิดปกติของการรับแสง (Refractive errors) ในดวงตาแล้ว ยังมีปัจจัยทางร่ายกายอีกด้วย เช่น การที่หัวใจเมื่อยล้าทำลายเสิน ทำให้หยางที่หัวใจถูกบั่นทอน หยางชี่ไม่สามารถขึ้นไปหล่อเลี้ยงดวงตา เส้นลมปราณลั่วในตาถูกอุดกั้น หรือเกิดจากเป็นโรคเรื้อรัง ชี่ตับและไตพร่อง ทำให้สารจิงและเลือดไม่พอ
จากสาเหตุข้างต้นบวกกับการใช้สายตาจ้องเป็นเวลานานๆ ทำให้กล้ามเนื้อที่ตาอ่อนแรง เส้นลมปราณลั่วในตาถูกอุดกั้นทำให้เกิดโรคนี้ ดังนั้น การรักษาโรคสายตาสั้นจะต้องให้ความสำคัญที่ตำแหน่งรอบดวงตา ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญในการปรับสมดุลของร่างกายด้วยการรักษาด้วยการฝังเข็ม ซึ่งจะใช้จุดรอบดวงตาและจุดในระยางค์ทั้ง 4
การกระตุ้นจุดเหล่านี้จะช่วยในการทะลวงลมปราณ เพิ่มการไหลเวียนชี่และเลือด บำรุงเลือดอินของตับและไต กระตุ้นหยางชี่ เพื่อบำรุงสายตา
ในมุมมองของศาตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน การฝังเข็มสามารถปรับการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค นอกจากนี้ การฝังเข็มยังมีประสิทธิภาพในการต่อต้านการอักเสบ ลดอาการปวด บรรเทาอาการหดเกร็ง ป้องกันอาการช๊อกและป้องกันอาการชาได้
องค์การอนามัยโลก ( WHO ) ได้กำหนดให้โรคสายตาสั้นสามารถทำการรักษาด้วยการฝังเข็มได้
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
ในช่วงที่รักษาด้วยการฝังเข็มยังจำเป็นจะต้องดูแลปกป้องดวงตา การใช้แผ่นแปะเหม่ยกั๋วถงเรินจะมีส่วนช่วยในการฟื้นฟู Rhodopsin (เป็นสารสีม่วงพบอยู่ที่เซลล์รูปแท่งในเรตินาของตา) เพิ่มประสิทธิภาพในการการส่งกระแสประสาทในตา และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ดวงตา
การแยกแยะภาวะและกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการชี่และเลือดไม่พอ
อาการแสดงออก :มองระยะใกล้ชัดเจน มองระยะไกลไม่ชัดเจน มีภาวะ Leopard-Spot Pattern (ลายจุดคล้ายลายเสือดาว) บนจอเรตินา ใบหน้าซีดขาว มีอาการอ่อนเพลีย สีลิ้นซีด ฝ้าขาว ชีพจรเล็กและอ่อนแรง
หลักในการแยกแยะอาการ :สาเหตุเกิดจากใช้สายตามากเกินไปจะทำลายเลือด ซึ่งในทางแพทย์จีน เลือดเป็นต้นกำเนิดของชี่ (血为气之母) เลือดพร่องทำให้ชี่พร่อง เสินกวางไม่สามารถกระจายออกไปไกลได้ การใช้สายตามากไปและการมองภาพในระยะไกลไม่ชัดคือหลักสำคัญในการแยกแยะอาการ
2. กลุ่มอาการตับและไตพร่อง
อาการแสดงออก : มองระยะใกล้ชัดเจน มองระยะไกลไม่ชัดเจน อาจจะเห็นเงาดำลอยไปมา เห็นเป็นวุ้นคล้ายลูกน้ำลอยไปมา (fluid vitreous eye) มีภาวะ Leopard-Spot Pattern (ลายจุดคล้ายลายเสือดาว) บนจอเรตินา หรืออาจจะมีอาการเวียนศีรษะ หูมีเสียง ปวดเมื่อยเอว เข่าอ่อน นอนหลับยาก ฝันเยอะ สีลิ้นซีด ชีพจรเล็กและอ่อนแรง หรือชีพจรตึงและอ่อนแรง
หลักในการแยกแยะอาการ :ชี่ก่อนกำเนิดไม่เพียงพอ ชี่หยางพร่องทำให้เสินกวางไม่สามารถกระจายออกไปไกลได้ การมองไม่ชัดแต่แต่อายุน้อย คือหลักสำคัญในการแยกแยะอาการนี้
แนวทางและวิธีการรักษา
1. การฝังเข็ม
หลักในการรักษา :บำรุงตับไต บำรุงชี่ บำรุงสายตา
จุดที่ใช้ :จิงหมิง (BL1) ฉวนจู๋ (BL2) เฉิงชี่ (ST1) กวางหมิง (GB37) เฟิงฉือ (GB20) กันซู (BL18) เสิ่นซู (BL23)
หลักในการใช้จุดฝังเข็ม :จุดจิงหมิง ฉวนจู๋ เฉิงชี่ เป็นจุดใช้บ่อยในโรคเกี่ยวกับดวงตา สามารถบำรุงตับบำรุงสายตา จุดเฟิงฉือ เป็นจุดที่เชื่อมระหว่างเส้นลมปราณเส้าหยางมือ-เท้ากับเส้นลมปราณหยางเหวยม่าย สามารถทะลวงเส้นลมปราณ บำรุงตับบำรุงสายตา
n กันซู เซิ่นซู กวางหมิง สามารถบำรุงตับและไต บำรุงชี่ บำรุงสายตา
จุดเสริมตามอาการ :ม้ามและกระเพาะอาหารพร่องสามารถเพิ่มจุด ซื่อไป๋ (ST2) จู๋ซานหลี่ (ST36) ซานอินเจียว (SP6)
2.การฝังเข็มใบหู
จุดที่ใช้ :จุดตา จุดตับ จุดม้าม จุดไต จุดหัวใจ
วิธีการ : ฝังเข็มครั้งละ 2-3 จุด คาเข็มไว้ประมาณ 30-60 นาที กระตุ้นเข็มเป็นครั้งคราว หรือใช้เข็มสำหรับฝังหูฝังทิ้งไว้ หรือใช้วัสดุติดกดจุดบนใบหู คือ เมล็ดหวังปู้หลิวสิง (เมล็ดผักกาด) แปะไว้ที่จุด 3-5 วัน เปลี่ยน 1 ครั้ง ทำหูสองข้างสลับกัน และให้คนไข้หมั่นนวดกดตำแหน่งที่แปะไว้บ่อยๆ รักษาครบ 5 ครั้งใช้วัดสายตา 1 ครั้ง และติดตามผลการรักษา
3.วิธีเคาะตีจุด
จุดที่ใช้ :จุดข้างๆกระดูกต้นคอถึงจุดต้าจุย และจุดรอบดวงตา
วิธีการ : จุดข้างๆกระดูกต้นคอถึงจุดต้าจุย ใช้การเคาะแรงๆ 5-10ครั้ง ส่วนจุดรอบดวงตาให้เคาะเบาๆจากด้านในวนไปด้านนอก 3-5 ครั้ง ทำวันละ 1 ครั้ง 10 ครั้ง เป็น 1 คอร์สการรักษา
การรักษาโรคนี้ด้วยการฝังเข็ม มีผลการรักษาดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะโรคสายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) จะได้ผลดีมาก แต่การฝังเข็มจะไม่เหมาะสมกับกรณีที่สายตาสั้นตั้งแต่กำเนิด
ในขณะที่รักษาด้วยการฝังเข็ม หากใช้วิธีนวดกดจุดที่กล่าวข้างต้น นวดคลึงต้นคอครั้งละ 10 นาทีร่วมด้วย จะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในช่วงที่รักษาโรคสายตาสั้น
ยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังต่อไปนี้
- โรคสายตาสั้นต้องระษาแต่เนิ่นๆ
- การรักษาต้องใช้เวลา ไม่รีบร้อน
- ไม่รับประทานอาหารตามใจปาก ต้องรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต
- บริหารอารมณ์จิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด
- ระมัดระวังในการใช้สายตา หลีกเลี่ยงการใช้สายตาจดจ้องเป็นเวลานานๆ ดูแลบำรุงสายตาสม่ำเสมอ
- หมั่นเคลื่อนไหว ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่นั่ง-นอนเฉยๆนานๆ
เพิ่มการบำรุงด้วยสมุนไพรจีนในช่วงรักษา
1. ถั่วดำและพุทราจีน
อัตราส่วน 1∶1 ต้มทานด้วยกัน ทานวันละเล็กน้อย จะมีผลดีต่อคนที่สายตาสั้นแบบไม่รุนแรง (ต่าสายตาต่ำกว่า 400) และสายตาสั้นเทียม ในกรณีสายตาสั้นค่อนข้างหนักอาจไม่ค่อยเห็นผล
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
- ให้ใช้เวลาวันละหนึ่งชั่วโมงมองออกไปไกลๆ เช่นมองต้นไม้ที่อยู่ไกลๆ มองหลังคาบ้าน ยิ่งไกลยิ่งดี ใช้สายตามองไปในระยะไกลๆ
- ถ้าดวงตาเมื่อยล้า ให้ตาจ้องจมูกตนเอง 5 วินาที แล้วมองไปที่ไกลๆ 5 วินาที ทำสลับกัน 3 รอบขึ้นไป
ภาวะสายตายาว
อายุที่เพิ่มมากขึ้น การทำงานของดวงตาเสื่อมถอยลง ทำให้มองเห็นลำบากในที่ไกล้ การทำกิจกรรมต่างๆในที่ใกล้ นอกจากจะต้องอยู่ในที่ที่มีการหักเหของแสงคงที่บวกกับการใส่ที่มีเลนส์นูนถึงจะสามารถมองเห็นระยะไกล้ได้ชัดเจน อาการแบบนี้คือ ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ (presbyopia)
ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ถือว่าเป็นโรค และไม่ถือว่าเป็นภาวะการหักเหแสงที่ผิดปกติ (Refractive errors) เป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนเข้าสู่วัยสูงอายุ
อาการแสดงออกทางคลินิก
อาการไม่สบายของผู้ที่มีภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้สายตา ลักษณะงาน งานอดิเรกที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น คนที่ต้องทำงานที่ต้องใช้สายตาตลอดเวลา ในระยใกล้และมีความละเอียดจะมีอาการที่หนักกว่าตำรวจจราจรที่คอยดูรถวิ่งและสัญญานไฟจราจรในระยะไกล
มีอาการมองไม่ชัดในระยะใกล้ เช่น ขณะมองหนังสือ เอกสารต่างๆจะเห็นตัวอักษรได้ไม่ชัดซึ่งตรงข้ามกับอาการสายตาสั้น เวลาอ่านหนังสือคนไข้จะเงยหน้าขึ้น เอียงศีรษะไปด้านหลังโดยไม่รู้ตัวเพื่อที่จะทำให้มองตัวอักษรให้ชัดขึ้น และอายุมากขึ้นเรื่อยๆระยะห่างการมองดูหนังสือก็มากขึ้นเรื่อยๆ
เวลาอ่านหนังสือต้องมีแสงที่ค่อนข้างสว่าง ในระยะเริ่มต้น มีอาการดวงตาไม่ค่อยสบายหากอ่านหนังสือในช่วงเวลากลางคืน เพราะว่าแสงสว่างจะไม่เพียงพอ แสงสว่างไม่เพียงพอจะทำให้ ระดับ resolution threshold สูงขึ้น รูม่านตาขยายกว้าง เมื่อรูม่านตาขยายกว้าง จะก่อให้เกิด large dispersion circles ค่อนข้างใหญ่ ทำให้อาการสายตายาวจะเกิดมากขึ้น
อายุที่มากขึ้น ในช่วงกลางวันต้องทำงานที่ต้องใช้สายตามองระยะใกล้จะทำให้ดวงตาเมื่อยล้า ดังนั้น ในเวลากลางคืน ผู้ที่มีภาวะสายตายาวจะชอบอ่านหนังสือในที่มีแสงจ้า บางครั้งถึงขั้นวางโคมไฟอยู่กึ่งกลางระหว่างหนังสือและดวงตา วิธีนี้จะทำให้ความคมชัดของตัวอักษรมีมากขึ้น และยังทำให้รูม่านตาหดเล็กลง แต่วิธีนี้จะมำให้เกิดแสงจ้าเกิดรบกวนสายตา และแสงจ้านี้จะเข้าใกล้ optical axis มีผลกระทบต่อการมองเห็น นี่ก็คือสาเหตุที่ผู้สูงอายุหลายคนชอบอ่านหนังสือภายใต้แสงแดดมากกว่า
ไม่ควรจ้องมองระยะใกล้เป็นเวลานาน การฝึกปรับโฟกัสของตาสามารถมองเห็นระยะไกล้ได้ชัดขึ้น แต่ถ้าทำมากเกินไปจะทำให้เนื้อเยื่อ Ciliary body เกร็งตัว เมื่อมองจ้องในจุดโฟกัสที่ไกลอีกครั้ง เนื้อเยื่อ Ciliary body ผ่อนคลายไม่ทัน ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราว ถ้ากลับมามองใกล้อีกก็จะเกิดอาการตามัวไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นอาการแสดงออกของ Regulatory Sluggishness เมื่อการทำงานของเนื้อเยื่อ Ciliary body ถึงขีดจำกัดจะทำให้เกิดการอ่อนล้า ทำให้ประสิทธิภาพการโฟกัสของตาลดลง ผู้ป่วยจึงไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้สายตาระยะไกล้ได้ยาวนาน
ขณะเดียวกันการที่ตาปรับโฟกัสเพื่อรวมภาพต้องมีการขยายและหดตัวกล้ามเนื้อ การทำให้ดวงตาปรับโฟกัสมากไป จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตา อาจจะมองตัวอักษรสลับบรรทัดหรือมองตัวอักษรเป็นภาพซ้อน จนไม่สามารถอ่านหนังสือต่อไปได้ ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการแน่นดวงตา น้ำตาไหล ปวดศีรษะ คันดวงตาร่วมด้วย
การรักษาภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ
"โรคของผู้สูงอายุ สามารถใช้จุดอันวิเศษนี้ได้ !!"
ในตำราของแพทย์แผนจีน ที่ข้อมือจะมีจุดฝังเข็มที่ใช้ในการรักษาภาวะสายตายาว ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคของผู้สูงอายุ ชื่อว่าจุด หยางเหล่า (SI6)
วิธีหาจุด :จุดหยางเหล่าอยู่บริเวณข้อมือ (ดังรูป) ต้องคว่ำฝ่ามือลงนวดกดจุด แล้วกดที่จุดตรงกระดูกข้อมือที่นูนออกมา จากนั้นงอข้อศอกพร้อมให้ม้วนมือไปทางหน้าอก จุดที่กดก็จะอยู่ตีงรอยบุ๋มตรงกระดูกนี้ ซึ่งก็คือจุดหยางเหล่า
สรรพคุณ :การนวดกดจุดหยางเหล่าเป็นประจำ ช่วยบำรุงศีรษะบำรุงสายตา บำรุงให้หยางชี่เพียงพอ บำรุงเส้นเอ็นทะลวงลมปราณ ใช้รักษาของผู้สูงอายุเช่น โรคสายตายาว หูมีเสียง หูหนวก โรคกระดูกต้นคอ อาการชาปลายนิ้ว อัมพาตครึ่งซีก เจ้บคอ ปวดไหล่ ได้ผลค่อนข้างดี
วิธีนวด :ใช้วิธีนวดคลึงด้วยนิ้วแบบ “โหรวฝ่า(揉法)” ใช้กลางนิ้ววางที่จุดดังกล่าวผ่อนคลายข้อมือ นวดด้วยแรงที่นุ่มนวลแต่แรงส่งลึกลงไปที่จุด ทำเช้า-เย็นทุกวัน วันละ 10 ถึง 20 ครั้ง ทำต่อเนื่อง 3 เดือน อาการกดเจ็บที่จุดจะน้อยลงเรื่อยๆ อาการสายตายาวและอาการของของผู้สูงอายุอื่นๆจะค่อยๆบรรเทาลง
จุดบำรุงสายตาที่นิ้วโป้ง จุดหมิงเหยี่ยน ฟ่งเหยี่ยน ไท้คงกู่
วิธีหาจุด :ตำแหน่งของจุดนี้อยู่ที่ด้านข้างและตรงกลางของกระดูกข้อนิ้วโป้ง ดังภาพ
สรรพคุณ : จุดหมิงเหยี่ยน ฟ่งเหยี่ยน สามารถบรรเทาโรคตาแดง ยังสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ
วิธีนวด :คนที่ดวงตาเมื่อยล้าง่าย ควรจะกระตุ้น 3 จุดนี้วันละ 2 ครั้ง วิธีกระตุ้นคือให้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ในมืออีกข้างบีบที่จุด3จุดนั้น แรงกระตุ้นให้บีบพอรู้สึกเจ็บเป็นใช้ได้
จุดบำรุงตาข้างดวงตา ที่มีชื่อว่า จุดฉวนจู๋ จิงหมิง
ถ้าอยากบำรุงดวงตา จุดฉวนจู๋ จิงหมิงเป็นจุดที่ดีและเหมาสม
วิธีหาจุด :ตำแหน่งของจุดฉวนจู๋อยู่บริเวณรอยบุ๋มที่หัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง ส่วนจุดจิงหมิงอยู่ข้างๆเยื้องมาบนของขอบตาด้านใน
สรรพคุณ : จุดฉวนจู๋ สามารถบำรุงตับ บำรุงสายตา ปลุกสมอง ลดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาการหนังตากระตุก ยังมีส่วนช่วยรักษาโรคอัมพาตใบหน้า ใบหน้ากระตุก
การกดจุดจิงหมิงเป็นประจำ สามารถช่วยลบเลือนรอยคล้ำใต้ตา ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ คอไหล่ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปลุกสมองปลุกเสิน บรรเทาอาการน้ำตาไหลจากลมพัด ตาแดง ตาบวมเจ็บ เปลือกตาอักเสบ อาการเมื่อยล้าดวงตา โรคทางดวงตาอื่นๆ สายตาสั้น ตาบอดกลางคืนและตาบอดสี บรรเทาอาการปวดหลังฉับพลัน ไมเกรน โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (trigeminal neuralgia)
วิธีนวด :ก่อนจะนวดจุดใกล้ดวงตานี้จะต้องล้างมือให้สะอาดก่อน เพื่อป้องกันติดเชื้อที่ดวงตา ใช้แรงนวดที่เหมาะสม ให้รู้สึกหน่วงก็เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้แรงมากไปจนทำลายดวงตา
ข้อมูลโดย : ศาสตราจารย์ หวังเว่ย
แห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน
แปลภาษาไทย : แพทย์จีนหลี่ เฉิง จวิ้น
คลินิกอายุรกรรม
....................................................
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
LINE@ : @huachiewtcm
....................................................
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพท์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีนใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน ห้ามมิให้คัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
注意:这份文件的版权和知识产权属于华侨中医院,仅对外宣传和传播科普知识所用。禁止擅自用于任何形式的商业谋利。
Attention: The copyright and intellectual assets are belonged to the Hua Chiew (TCM) Clinic for public knowledge only. It is prohibit to copy for commercial purposes in all cases without permission.
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567