มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันกับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  16016 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันกับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน
(Acute Leukemia,AL)
เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยที่สุด ลักษณะสำคัญคือเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ ตำแหน่งที่จะแสดงอาการของโรคจะอยู่ที่ไขกระดูก ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง และยังส่งผลกระทบไปถึงอวัยวะอื่นๆได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถพบเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดที่ลดลง โดยจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เลือดออกผิดปกติหรือติดเชื้อได้เป็นต้น


สาเหตุของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน

1. เชื้อไวรัส : เช่นเชื้อ HTLV-1 หรือเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)

2. กรรมพันธุ์ : ผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมบางชนิดอัตราการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีแนวโน้มสูงขึ้นอาทิเช่น ดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) กลุ่มอาการบลูม (Bloom's syndrome) และภาวะเลือดจางแฟนโคนิ (Fanconi's anemia)

3. รังสี : การมีประวัติได้รับสีไออนไนซ์ (Ionizing radiation) หรือกัมมันตภาพรังสี(ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 อัตราการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวพบว่าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ)

4. สารเคมี : อาทิสารเบนซิน (Benzene) สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ยาฆ่าแมลง เป็นต้น

5. โรคทางโลหิตวิทยาบางชนิด : เช่น โรคไขกระดูกเสื่อม (MDS) โรคเลือดข้น หรือภาวะที่เม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ (Polycythemia vera) โรคเกล็ดเลือดสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (primary thrombocythemia)

อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันก็อาจเกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีปัจจัยข้างต้นก็ได้

อาการแสดง  มีลักษณะดังนี้

1. มีไข้ อ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ปวดกระดูกและข้อ

2. หากเม็ดเลือดขาวต่ำจะทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นไข้แบบเป็นๆหายๆ

3. หากเม็ดเลือดแดงต่ำจะทำให้ซีด เหนื่อยง่าย หน้ามืด เวียนศีรษะ

4. หากเกล็ดเลือดต่ำจะทำให้มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ถ่ายเป็นเลือด ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือเลือดออกบริเวณอื่นๆ

5. ปวดแน่นบริเวณชายโครงเนื่องจากตับและม้ามโต

6. มะเร็งอาจมีการแพร่ไปสะสมตามต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะต่างๆ อาทิ สมอง ปอด ช่องอก ไต เป็นต้น โดยจะมีอาการแสดงออกตามอวัยวะที่แพร่ไป

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ในทางการแพทย์แผนจีน จะเรียกชื่อโรคตามอาการที่แสดงออก โดยหากมีอาการโลหิตจางเป็นหลักจะถูกจัดอยู่ใน โรคซวีเหลา 虚劳"หากมีอาการเลือดออกเป็นหลักจะถูกจัดอยู่ใน โรคเสวี่ยเจิ้ง 血证  ตับและม้ามโตเป็นหลักจะจัดอยู่ใน โรคจีจวี้ 积聚หากมีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นหลักจะจัดอยู่ใน โรคถานเหอ 痰核 หรือ หลัวลี่ 瘰疬 หากมีไข้เป็นหลักจะจัดอยู่ในโรคเน่ยซางฟาเร่อ 内伤发热 หรือ เวินปิ้ง 温病



ในทางการแพทย์แผนจีนมองว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันมีสาเหตุภายในมาจากพิษจากเสียชี่ (ลมปราณก่อโรค) กระทบภายใน เจิ้งชี่ (ลมปราณต้านทานโรค) พร่อง เลือดคั่งภายใน ส่วนสาเหตุภายนอกนั้นเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การรักษาโรคอื่นอย่างผิดวิธีจนก่อโรคนี้ขึ้น

การรักษาโรคนี้มุ่งเน้นไปที่การบำรุงเจิ้งชี่เป็นหลัก ขับเสียชี่ หรือขับพิษเป็นรอง บำรุงเจิ้งชี่และลดพิษจากเสียชี่เพื่อเตรียมรับการทำเคมีบำบัด ในช่วงที่ให้เคมีบำบัดจะเน้นลดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดเพื่อให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ครบตามกำหนด ในช่วงหลังเคมีบำบัดจะเป็นการปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย กระตุ้นให้อวัยวะภายในร่างกายกลับมาทำงานได้ดีดังเดิมโดยเร็ว


การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ

1. ชี่และเลือดพร่อง ร่วมกับ พิษอักเสบจากร้อน
syndrome of dual deficiency of qi and blood  
and Heat toxin syndrome
(气血两虚证) Qì xuè liǎng xū zhèng
(热毒证) Rè dú zhèng  : มักมีอาการสีหน้าไม่สดใส เสียงเบาค่อย อ่อนเพลีย เหงื่อออกง่าย ใจสั่น หายใจสั้น เวียนศีรษะตาลาย นอนไม่หลับฝันมาก อาจพบก้อนโตตามบริเวณต่างๆของร่างกายหรือชายโครงคลำพบก้อน อาจพบเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน จ้ำเลือดตามผิวหนัง ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเป็นต้น อาจพบไข้ต่ำหรือไข้สูง เหงื่อออกกลัวลม ปากแห้งกระหายน้ำ ลิ้นอ้วนใหญ่ สีแดงอ่อน ฝ้าลิ้นบางขาวหรือเหลือง ชีพจรเล็กไม่มีแรงหรือเล็กเร็ว


2 .ชี่และอินพร่อง ร่วมกับ พิษอักเสบจากร้อน
syndrome of dual deficiency of qi and yin
and Heat toxin syndrome
(气阴两虚证) Qì yīn liǎng xū zhèng
(热毒证) Rè dú zhèng  : มักมีอาการสีหน้าไม่สดใส แต่โหนกแก้ม 2 ข้าง สีแดงระเรื่อ เสียงเบาค่อย อ่อนเพลีย เหงื่อออกง่าย ใจสั่น หายใจสั้น ช่วงบ่ายมีไข้ต่ำ คอและลิ้นแห้ง นอนไม่หลับ เหงื่อออกกลางคืน อาจพบใต้ชายโครงมีก้อนขึ้น หรือมีก้อนขึ้นตามรักแร้ ขาหนีบ หรือคอ อาจพบเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน จ้ำเลือดตามผิวหนัง ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเป็นต้น บางครั้งจะพบร่วมกับการมีไข้สูงไม่ยอมลด ปากแห้งกระหายน้ำ อุจจาระแห้ง ปัสสาวะสีเหลืองเข้มเป็นต้น ลิ้นผอมเล็กหรืออ้วนใหญ่ สีแดงอ่อน ฝ้าลิ้นบางขาวหรือฝ้าน้อย ชีพจรเล็กเร็ว


3. สารจิงของไตพร่อง ร่วมกับ พิษอักเสบจากร้อน
Kidney essence insufficiency syndrome
and Heat toxin syndrome
(肾精不足证) Shèn jīng bù zú zhèng
(热毒证) Rè dú zhèng  : มักมีอาการสีหน้าไม่สดใสหรือซีดเซียว เวียนศีรษะตาลาย ปากคอแห้ง มือเท้าร้อนหระวนกระวายใจ นอนไม่หลับฝันมาก ร้อนเป็นช่วงๆเหงื่อออกกลางคืน เอวและเข่าปวดเมื่อยอ่อนแรง อาจพบใต้ชายโครงมีก้อนขึ้น หรือมีก้อนขึ้นตามรักแร้ ขาหนีบ หรือคอ อาจพบเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน จ้ำเลือดตามผิวหนัง ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเป็นต้น บางครั้งจะพบมีไข้ไม่ยอมลด สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ปากลิ้นแห้งแตก ท้องผูกเป็นต้น ลิ้นสีแดงเข้ม ฝ้าลิ้นน้อยหรือหลุดลอก ชีพจรเล็กเร็วหรือเล็กไม่มีแรง


4. หยางไตพร่อง เสมหะและเลือดคั่ง
Kidney yang deficiency syndrome
and Blood stasis-phlegm syndrome
(肾阳虚证) Shèn yáng xū zhèng
(瘀痰证) Yū tán zhèng : มักมีอาการใบหน้าและตาบวม ไม่ชอบความเย็น แขนขาเย็น เอวและเข่าปวดเมื่อยไม่มีแรง อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว ปัสสาวะกลางคืนบ่อย ท้องปวดเย็น อาจพบใต้ชายโครงมีก้อนขึ้น หรือมีก้อนขึ้นตามรักแร้ ขาหนีบ หรือคอ หรือพบปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ประจำเดือนมามากหรือนานผิดปกติ จ้ำเลือดตามผิวหนังเป็นต้น ลิ้นอ้วนใหญ่หรือผอมเล็ก สีแดงอ่อนหรือขาวซีด ฝ้าลิ้นน้อยหรือไม่มีฝ้าหรือชุ่มชื้นลื่น ชีพจรเบาอ่อนหรือเล็กเร็ว


5. หยางของม้ามและไตพร่อง เสมหะและเลือดคั่ง
Spleen-kidney yang deficiency syndrome
and Blood stasis-phlegm syndrome
(脾肾阳虚证) Pí shèn yáng xū zhèng
(瘀痰证) Yū tán zhèng   : มักมีอาการใบหน้าและตาบวม ไม่ชอบความเย็น แขนขาเย็น เอวและเข่าปวดเมื่อยไม่มีแรง เหงื่อออกง่ายไม่หยุด อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว ปัสสาวะกลางคืนบ่อย เบื่ออาหาร ท้องอืดแน่น ถ่ายออกมาเป็นอาหารที่ยังไม่ย่อย อาจพบใต้ชายโครงมีก้อนขึ้น หรือมีก้อนขึ้นตามรักแร้ ขาหนีบ หรือคอ อาจพบจ้ำเลือดตามผิวหนัง ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ประจำเดือนมามากหรือนานผิดปกติเป็นต้น ลิ้นอ้วนใหญ่ สีแดงอ่อน ฝ้าลื่น ชีพจรเล็กอ่อน


6. ม้ามและกระเพาะอาหารไม่ประสานกัน
Spleen-stomach disharmony syndrome
(脾胃不和证) Pí wèi bù hé zhèng  : มักมีอาการสีหน้าอมเหลือง แขนขาอ่อนแรง ทานอาหารไม่มีรสชาติ เบื่ออาหารหรือทานอาหารได้น้อยลง คลื่นไส้อาเจียน ไม่สบายที่ลิ้นปี่หรือปวดบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืดหลังอาหารหรือท้องอืดตลอดเวลาหรือลำไส้มีเสียงโครกคราก ถ่ายเหลว ลิ้นอ้วนใหญ่ สีแดงอ่อน ฝ้าลิ้นขาวเหนียว ชีพจรเล็กและอ่อนแรง


7. ชี่ไหลย้อน
Qi counterflow syndrome
(气逆证) Qì nì zhèng : มักมีอาการสีหน้าอมเหลือง เบื่ออาหาร เรอหรือสะอึก คลื่นไส้อาเจียน หากมีอาการมากจะอาเจียนทันทีหลังอาหาร จิบน้ำก็ไม่เข้า ท้องอืด หรือปวดตึงสีข้างทั้ง2ข้าง หากเป็นมากจะมีอาการปวดท้องรุนแรง ถ่ายเหลว ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าลิ้นขาวบางหรือลื่นหรือขาวเหนียว ชีพจรตึงเร็วหรือตึงลื่น


8. ชี่ของตับติดขัดและม้ามพร่อง
syndrome of liver depression and spleen deficiency
(肝郁脾虚证) Gān yù píxū zhèng : มักมีอาการแน่นหน้าอกและชายโครง ปวดตึงสีข้าง หงุดหงิดกระวนกระวายใจ เบื่ออาหาร หรือคลื่นไส้อาเจียน แขนขาอ่อนแรง ท้องอืด ถ่ายเหลว ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าลิ้นบางเหลือง ชีพจรตึงลื่น


 

ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน


ข้อมูลทั่วไป

ชื่อ-นามสกุล : นาง ลXXX เพศหญิง อายุ 73 ปี

เลขประจำตัวผู้ป่วย 297XXX

วันที่รับการรักษา 28 ธันวาคม 2561

อาการสำคัญ อ่อนเพลีย 8เดือน

ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน

- เมื่อเดือนเมษายน 2561 ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจหอบ สีหน้าซีดเซียว
- เมื่อไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลพบว่าเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำลงทั้งหมด การเจาะตรวจไขกระดูกพบว่าปกติ
- แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไขกระดูกเสื่อม (MDS) ร่วมกับมีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
- ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการให้เลือดและเกล็ดเลือดเดือนละครั้ง ร่วมกับรับประทานยาบำรุงเลือดแผนปัจจุบัน
- ครั้งล่าสุดที่มีการให้เลือดและเกล็ดเลือดคือวันที่ 27 ธันวาคม 2561 จากการตรวจเลือดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 แพทย์ลงความเห็นว่าอาการผู้ป่วยพัฒนาเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันระยะเริ่มต้น


ผลเลือด (27 ธันวาคม 2561)

WBC 23.67 , RBC 2.14 , Hb 5.1 , Hct 15.4 , RDW 24 , PLT 12 , Metamyelocyte 8% , Myelocyte 2%

ประวัติปัจจุบัน

- ปวดศีรษะ
- อาเจียนเป็นเลือด (เมื่อวันที่ 18 ธค. 61)
- มีจ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนัง
- เลือดออกตามไรฟัน
- เลือดออกที่หูและดวงตา
- อ่อนเพลีย
- ไม่มีไข้
- ทานอาหารได้ ขับถ่ายปกติ นอนหลับได้

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ไม่มี

การตรวจวินิจฉัยร่างกายโดยแพทย์แผนจีน
(เนื่องจากผู้ป่วยอาการหนักพักอยู่ที่โรงพยาบาลและอาศัยในพื้นที่ห่างไกล จึงให้ญาติมาพบแทน โดยถ่ายรูปลิ้นให้แพทย์ดู พร้อมซักประวัติทางโทรศัพท์)
พบว่ามีลิ้นซีด ลิ้นมีฝ้าขาวบาง ลิ้นมีรอยแตก ชีพจรไม่สามารถตรวจได้ 


การวินิจฉัย
แพทย์แผนจีน : โรคซวีเหลา虚劳 (อ่อนเพลีย)และเสวี่ยเจิ้ง血证(โรคเลือด) จากกลุ่มอาการชี่และเลือดพร่องร่วมกับพิษอักเสบจากร้อน(气血两虚、热毒证)

แพทย์แผนปัจจุบัน : มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน

การรักษาในบทบาทของแพทย์แผนจีน :  บำรุงชี่และเลือด ระงับเลือด ขับพิษร้อน

คำแนะนำเพิ่มเติมให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการรักษา

1. ระวังการเดินทางต่างๆไม่ให้ลื่นล้มหรือกระทบกระแทกใดๆอย่างรุนแรง

2. ไม่ทานอาหารรสจัด ของทอด น้ำเย็น

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

4. ไม่ทานอาหารฤทธิ์ร้อน เช่น ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น

5. หลีกเลี่ยงที่ชุมชน หรือบริเวณที่มีเชื้อโรคระบาด

6. สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด รักษาความอบอุ่นของร่างกาย

หลังการประเมินผลการรักษา ครั้งที่ 1 วันที่ 5 มกราคม 2562

- จ้ำเลือดตามผิวหนังลดลง
-  ไม่มีอาการอาเจียนเป็นเลือด
-  เลือดออกที่หู ดวงตาและตามไรฟันหายไป
-  ไม่ปวดศีรษะ แต่รู้สึกหนักศีรษะ
-  เรี่ยวแรงมากขึ้น
-  มีแผลในปาก
-  หูอื้อ
-  ทานอาหารได้ นอนหลับดี ขับถ่ายปกติ
-  ค่าเกล็ดเลือด 18

หลังการประเมินผลการรักษา ครั้งที่ 2
วันที่ 12 มกราคม 2562 และ ครั้งที่ 3 วันที่ 25 มกราคม 2562


-  อาการผู้ป่วยค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ

หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่ 4 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562

-  เกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นเข้าสู่ภาวะปกติ
-  เรี่ยวแรงเพิ่มขึ้น
-  สีหน้าปกติ
-  จ้ำเลือดตามผิวหนังหายไป ไม่มีอาการเลือดออกใดๆ
-  อาการหนักศีรษะลดน้อยลงมาก
-  รับประทานอาหารได้ นอนหลับดี ขับถ่ายปกติ

ผลเลือด (31 มกราคม 2562)

WBC 2.47 , RBC 4.19 , Hb 11.1 , Hct 35.1, PLT 274

หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่ 5
วันที่  12 กุมภาพันธ์ – 30 มิถุนายน 2562


- เกล็ดเลือดลดลงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่ไม่วิกฤติ
- แพทย์สั่งงดให้เลือดและเกล็ดเลือดเนื่องจากอาการทรงตัวดี
- แพทย์เพิ่มช่วงการตรวจเลือดจากทุก 2 อาทิตย์เป็นทุก 3 เดือน
- ไม่มีอาการเลือดออกใดๆ
-  สีหน้าปกติ
-  เรี่ยวแรงปกติ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดี
- ปวดศีรษะเล็กน้อย
- รับประทานอาหารได้ นอนหลับดี ขับถ่ายปกติ

ผลเลือด (23 พฤษภาคม 2562)

WBC 2.59 , RBC 4.49 , Hb 13.4 , Hct 40.1, PLT 53 , RDW 15.8

วิเคราะห์ผลการรักษา

- ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจหอบ สีหน้าซีดเซียว ลิ้นซีด ร่วมกับมีภาวะเลือดออกตามทวารต่างๆและจ้ำเลือดตามผิวหนัง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอาการชี่และเลือดพร่องร่วมกับพิษอักเสบจากร้อน(气血两虚、热毒证)
- การที่พลังชี่พร่องส่งผลให้พลังชี่ไม่สามารถดึงรั้งเลือดให้อยู่ในเส้นเลือดได้ร่วมกับมีพิษร้อนสะสม จึงทำให้มีอาการเลือดออกข้างต้น การรักษาจึงเน้นบำรุงพลังชี่และเลือด ในขณะเดียวกันก็จะต้องให้ยาที่ช่วยระงับเลือดและขับพิษร้อนควบคู่กันไป


สรุปผลการรักษา

จากเคสตัวอย่างข้างต้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าการใช้ยาสมุนไพรจีนเข้าไปรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่มีอาการแทรกซ้อนจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถรักษาระดับค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย สามารถหยุดการให้เกล็ดเลือดและกลับมารักษาตัวที่บ้านได้ โดยแพทย์แผนปัจจุบันแนะนำให้ตรวจติดตามอาการทุก 3 เดือน อย่างไรก็ดีในความเห็นของแพทย์จีนที่ทำการรักษานั้น มีข้อเสนอแนะว่าการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวควรรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนควบคู่กันไป จึงจะสามารถได้ประสิทธิภาพการรักษาที่สูงสุด


บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน วรพงศ์ ชัยสิงหาญ (เฉินจูเซิง)
คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง




เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้