การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  18835 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ในที่นี้จะขอกล่าวถึง การได้รับบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ ได้แก่ กล้ามเนื้อ พังผืด เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก และเยื่อหุ้มข้อ (Soft tissue injury : Sprain or Strain) โดยไม่มีกระดูกแตกหักเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เกิดบริเวณคอ ไหล่ ข้อศอก ข้อมือ แขนขา สะโพก หัวเข่า ข้อเท้า ขึ้นกับประเภทของกีฬา อาจเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังก็ได้

อาการและอาการแสดง
มีประวัติได้รับการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช่น หกล้ม ได้รับแรงกระแทก หรือบิดตัวผิดท่า แล้วมีอาการเจ็บปวด  บวมหรือฟกช้ำเฉพาะที่  อาจมีการจำกัดการเคลื่อนไหว  หรือเคลื่อนไหวร่างกายส่วนนั้นไม่ได้



กรณีที่มีอาการบวม ฟกช้ำเกิดขึ้นทันที  และเคลื่อนไหวข้อหรือร่างกายส่วนนั้นไม่ได้ อาจเกิดจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หลอดเลือดฉีกขาด หรือมีเลือดออกในข้อ และ/หรือมีการผิดรูปของร่างกายส่วนนั้น หรือมีเหตุให้สงสัยว่ามีกระดูกหัก  การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะต้องกระทำอย่างระมัดระวังและถูกต้อง รวมทั้งดามบริเวณที่สงสัยว่ามีกระดูกหักไม่ให้เคลื่อนไหว จนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

 



การตรวจภาพรังสี
ภาพรังสีช่วยในการวินิจฉัย โดยอาจพบหรือไม่พบร่องรอยกระดูกหักจากการได้รับบาดเจ็บก็ได้


การรักษา
กรณีไม่มีกระดูกหัก หลอดเลือดใหญ่ฉีกขาด หรือเลือดออกในข้อร่วมด้วย ถ้ามี
อาการเฉียบพลันหลังได้รับบาดเจ็บ ปวดเฉพาะที่ มีอาการบวมเล็กน้อย ใช้ประคบเย็นหรือยาพ่นเฉพาะที่ ถ้ามีอาการมาก รักษาด้วยยา ประคบเย็นหรือร้อนตามระยะเวลาที่ได้รับบาดเจ็บ อาจร่วมกับการดามส่วนที่ได้รับบาดเจ็บไว้ชั่วคราวประมาณ 1 – 3 สัปดาห์ เช่น การใช้ผ้ายืดพัน การใส่เฝือกอ่อน ระหว่างนี้ควรพิจารณาการทำกายภาพบำบัดและกายบริหารเพื่อป้องกันและฟื้นฟูกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวของข้อ
            
การวินิจฉัยและรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา จัดอยู่ในกลุ่มอาการบาดเจ็บเส้นเอ็น (ShangJin) มีสาเหตุจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น จากการหกล้ม การกระแทก การเคลื่อนไหวผิดท่า หรือตกจากที่สูง ทำให้ชี่ติดขัดและมีเลือดคั่งเฉพาะที่ เกิดอาการปวดและบวมเฉพาะที่ การเคลื่อนไหวส่วนของร่างกายหรือข้อลำบาก เนื่องจากเจ็บปวดหรือมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อรอบบริเวณดังกล่าว


อาการและอาการแสดง
มีอาการเจ็บปวด บวม เฉพาะที่หลังได้รับบาดเจ็บ ลิ้น ปกติ ชีพจร ปกติ หรือตึง (XianMai)


แนวทางและหลักการรักษา
ใช้วิธีการรักษาด้วยการฝังเข็ม  การนวดทุยหนา (Tuina) เทคนิคการนวดรักษาแบบแผนจีน  การรมยา  เข็มอุ่น  ครอบแก้ว เพื่อสลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด ระงับปวด






 
วิธีการรักษา
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาจเกิดขึ้นได้ขณะฝึกซ้อมหรือลงแข่งขัน และตำแหน่งของการบาดเจ็บมักขึ้นกับประเภทกีฬานั้น ๆ  เช่น ฮ็อกกี้ มักพบอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าได้บ่อย กอล์ฟมักมีปัญหาบริเวณคอและปวดหลังได้บ่อย






ข้อแนะนำ   
1. แพทย์จีนจะทำการรักษาโดยวิธีฝังเข็มในจุดฝังเข็มในกรณีเฉียบพลัน  โดยเฉพาะในรายที่ไม่แน่ใจว่ามีกระดูกหักร่วมด้วยหรือไม่

2.กรณีเป็นเรื้อรัง (Chronic sprain)  จะรักษาเป็นกรณีไป ขึ้นกับพยาธิสภาพของแต่ละบุคคล

3.  หลังการฝังเข็ม และใช้เทคนิคการปั่นเข็มแล้ว แพทย์จีนจะให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวส่วนของร่างกายที่มีอาการบาดเจ็บ เพื่อกระตุ้นให้ชี่และเลือดไหลเวียนเพิ่มขึ้น ช่วยลดอาการปวด

4. อาจพิจารณาให้ยาร่วมด้วย  ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถมารักษาได้สม่ำเสมอตามนัด  หรือต้องการทำให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น  ลดอาการทุกข์ทรมานที่รบกวนการดำรงชีวิต ประจำวันของผู้ป่วย  ทั้งนี้อาจเป็นยาจีน หรือยาแผนตะวันตกก็ได้ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยได้รับการฝังเข็มดีขึ้น   แต่ยังมีอาการเล็กน้อยรบกวนอยู่ ก็ใช้ยาร่วมด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา  และเพื่อป้องกันการเกิดอาการรุนแรงซ้ำ จึงไม่ควรปฏิเสธการใช้ยา

5. กรณีมีอาการเรื้อรัง (Chronic sprain)  แพทย์จีนที่ทำการรักษาจะวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย รวมไปถึงการปรับวิถีชีวิตประจำวันของผู้ป่วยร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมประสิทธิผลทางการรักษา

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
1. ฝังเข็มเจ็บไหม อันตรายหรือไม่
2. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
3. การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture
4. การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
5. การนวดทุยหนารักษาโรค (Tuina)
6. การเตรียมตัว / ก่อน / ขณะ / หลัง การฝังเข็ม


ข้อมูลประกอบบทความ  : การฝังเข็มรมยา เล่ม 3
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้