โรคเส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก LATERAL EPICONDYLITIS:TENNIS ELBOW

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  32333 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคเส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก LATERAL EPICONDYLITIS:TENNIS ELBOW

โรคเส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก (LATERAL EPICONDYLITIS : TENNIS ELBOW)

โรคเส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก (Lateral epicondylitis : Tennis elbow) เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นเอ็นกลุ่มกล้ามเนื้อกระดกข้อมือขึ้น (Extensor muscle group) ซึ่งกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหาสำคัญนั่นก็คือ กล้ามเนื้อ Extensor carpi radialis brevis , Extensor digitorum , Extensor digiti minimi และ Extensor carpi ulnaris เส้นเอ็นที่สำคัญคือเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ extensor carpi radialis brevis (ECRB) ซึ่งมีจุดเกาะร่วมที่ปุ่มกระดูก (Lateral epicondyle) ของกระดูกแขนท่อนบน (Humerus) ภาวะนี้เป็นสาเหตุของอาการปวดข้อศอกที่พบได้บ่อยที่สุด จะพบอาการปวดข้อศอกด้านนอก โดยมีอาการมากขึ้นในท่าเหยียดศอกพร้อมกับกระดกข้อมือขึ้น กลุ่มประชากรที่พบบ่อย คือวัยกลางคนช่วงอายุ 35-54 ปี เพศชายและเพศหญิงพบบ่อยพอ ๆ กัน อาชีพที่พบโรคเส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก ได้บ่อย คือ ทันตแพทย์ ช่างทำผม คนทำครัว พนักงานยกของ และกลุ่มนักกีฬาที่ใช้แรงแขนมาก ๆ เช่น เทนนิส แบดมินตัน

ตัวอย่าง : อาการบาดเจ็บจากกีฬาประเภทแบดมินตัน (BADMINTON INJURIES)

     แบดมินตัน (badminton) เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ที่ใช้ไม้ตีลูกข้ามตาข่ายโต้กันไปมา ลูกสำหรับใช้ตีนั้น เรียกกันมาช้านานว่า “ลูกขนไก่” เพราะสมัยก่อนกีฬานี้ใช้ขนของไก่มาติดกับลูกบอลทรงกลมขนาดเล็ก ปัจจุบันลูกขนไก่ผลิตจากขนเป็ดที่คัดแล้ว ลูกบอลทรงกลมขนาดเล็กที่ทำเป็นหัวลูกขนไก่ทำด้วยไม้คอร์ก
     กีฬาแบดมินตันจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย และแบ่งการเล่นออกเป็น 2 ประเภท คือ “ประเภทเดี่ยว” แบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายละ 1 คน และ “ประเภทคู่” แบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายละ 2 คน การเล่นรอบหนึ่งเรียกว่า 1 นัด นัดละ 3 เกม (บางคนเรียกเซต) ตัดสินแพ้ชนะ 2 ใน 3 เกม มีกำหนดคะแนนสูงสุด 21 คะแนน ฝ่ายใดทำคะแนนได้ถึง 21 คะแนนก่อนจะเป็นผู้ชนะในเกมนั้น

การบาดเจ็บจากกีฬาแบดมินตัน (BADMINTON)

     กีฬาแบดมินตัน หากใช้เกณฑ์การแบ่งประเภทของกีฬาตาม American Academy of Physicians Committee on Sports Medicine จะถูกจัดอยู๋ในกลุ่มกีฬาที่ไม่มีการกระทบกระแทก (noncontact) ที่ใช้กำลังปานกลาง (moderate strenuous) เป็นกีฬาที่ไม่มีแรงปะทะโดยตรงระหว่างผู้เล่น มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บน้อย
      การบาดเจ็บที่เกิดจากกีฬาประเภทนี้  ส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บที่เกี่ยวเนื่องกับอวัยวะที่เคลื่อนไหวและมีการใช้กำลัง การบาดเจ็บจากกีฬาพบบ่อยที่สุดที่กล้ามเนื้อ (muscle) รองลงมาได้แก่ เอ็นของกล้ามเนื้อ (tendon) เอ็นของข้อต่าง ๆ (ligament) และกระดูก (bone) สำหรับกีฬาแบดมินตันนั้นเป็นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายหลายส่วน ใช้หัวไหล่ แขนและข้อมือประสานงานกันในการตีลูกในท่าทางต่างๆ ใช้หัวเข่าและข้อเท้าประสานงานกันในการวิ่งหรือกระโดดตบลูก ทำให้มีอาการบาดเจ็บได้ง่ายอยู่ 5 บริเวณ ได้แก่ ข้อมือ แขน หัวไหล่ หัวเข่าและข้อเท้า
      สำหรับโรคที่พบได้บ่อยจากการเล่นกีฬาแบดมินตันในทางคลินิก ได้แก่ โรคเส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก (Lateral epicondylitis : Tennis elbow) และโรคข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain)

กายวิภาคศาสตร์ของข้อศอก 
     ข้อศอกเป็นข้อต่อแบบบานพับ (Hinge joint) ซึ่งสามารถงอและเหยียดแขนรวมทั้งยังสามารถคว่ำและหงายมือได้ประกอบไปด้วยการรวมกันของชิ้นส่วนกระดูก 3 ชิ้นคือ กระดูกแขนท่อนบน (Humerus) กระดูกแขนท่อนล่างด้านใน (Ulnar) และกระดูกแขนท่อนล่างด้านนอก (Radius) ดังนั้นจึงประกอบไปด้วยข้อต่อ Humeroulnar และ Humeroradial ซึ่งทำหน้าที่ในการงอและเหยียดข้อศอก ส่วนข้อต่อ Proximal radioulnar และ Distal radioulnar ทำหน้าที่ในการคว่ำและหงายมือและบริเวณส่วนปลายของกระดูกแขนท่อนบนจะมีปุ่มกระดูกยื่นออกมาทั้งด้านในและด้านนอกเรียกว่า Medial epicondyle และ Lateral epicondyle ซึ่งเป็นตำแหน่งจุดเกาะต้นของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นข้อต่อบริเวณข้อศอก
    ดังนั้นปุ่มกระดูก Lateral epicondyle ของกระดูก Humerus เป็นจุดเกาะของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ กลุ่มกระดกข้อมือและกล้ามเนื้อหงายแขน และเป็นจุดเกาะของ Radial collateral ligament และ Lateral ulnar collateral ligament ด้วย เนื่องจาก Lateral epicondyle เป็นจุดเกาะของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานหนักหลายกิจกรรม เช่น กล้ามเนื้อ Extensor carpi radialis brevis , Extensor digitorum , Extensor digiti minimi และ Extensor carpi ulnaris  จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บและอักเสบได้บ่อย
    พิสัยปกติของการเหยียดศอกคือ 0 องศา การงอศอกประมาณ 140 องศา การคว่ำแขนประมาณ 80 องศา และการหงายแขนประมาณ 80 องศา แต่ระหว่างการทำกิจวัตรประจำวันโดยทั่วไปไม่ได้ใช้พิสัยที่สุดข้อต่อ มักใช้เพียง 30-130 องศา สำหรับกิจกรรมที่ต้องงอเหยียดศอก และ 50 องศาสำหรับกิจกรรมที่ต้องคว่ำหรือหงายแขน

         
    รูปภาพกระดูกข้อศอกข้างขวาด้านหน้า                         รูปภาพกระดูกข้อศอกข้างขวาด้านหลัง                       รูปภาพกระดูกข้อศอกข้างขวาด้านหลัง 
                                                                                            Credit : www.musculoskeletalkey.com                                                

กลไกของการเกิดโรคเส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก
      สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอก แขนท่อนล่างหรือข้อมือนั้น เกิดจากการใช้งานซ้ำๆและต่อเนื่องในท่ากำมือกระดกขึ้นและลงจากการทำงานหรือการเล่นกีฬาโดยเฉพาะในนักกีฬาเทนนิสหรือแบดมินตัน ซึ่งเมื่อมีการใช้งานกล้ามเนื้อมากจนเกินไปจนทำให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณแขนด้านนอกที่ยึดกับปุ่มกระดูกถูกดึงรั้ง และเกิดการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน อักเสบและบวม เนื้อเยื่อด้านในฉีกขาดและหากยังทำกิจกรรมเช่นเดิมอยู่ทำให้เกิดเป็นภาวะเรื้อรังตามมาได้

อาการของโรคเส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก
โรคเส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก (Lateral epicondylitis) มักมีอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอก อาจมีอาการปวดร้าวไปตามแขนท่อนล่าง หลังมือหรือข้อมือร่วมด้วย อาการปวดขึ้นอยู่ระดับความรุนแรง บางรายอาจจะปวดขณะที่มีการขยับแขนหรือข้อมือ หรืออาจจะปวดตลอดเวลา แม้แขนอยู่ในท่าพักสบาย แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ
1. ระยะอักเสียบเฉียบพลัน : เกิดจากกรณีบาดเจ็บเฉียบพลัน จะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน ร่วมกับอาการปวดข้อศอกด้านนอกและแขนท่อนล่าง
2. ระยะอักเสบเรื้อรัง : เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ ของแขนท่อนล่างหรือการอักเสบเฉียบพลันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะมีอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอก อาจมีอาการปวดร้าวไปตามแขนท่อนล่าง หลังมือหรือข้อมือร่วมด้วย

การตรวจร่างกาย
1. มักพบจุดกดเจ็บที่บริเวณปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก อาการปวดจะมากขึ้นขณะกำมือพร้อมกระดกข้อมือ บิดข้อมือหรือข้อศอก
2. การตรวจร่างกายด้วยวิธี Cozen’s test ให้ผลเป็นบวกเป็นการตรวจเพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยภาวะ Lateral epicondylitis
วิธีการ : ให้ผู้ตรวจประคองข้อศอกผู้ป่วยงอ 90 องศา อยู่ในท่ากำมือและคว่ำมือ หลังจากนั้นกระดกข้อมือขึ้นต้านกับแรงผู้ตรวจ
การแปลผล : ผลการทดสอบเป็นบวกคือผู้ป่วยมีอาการปวดทันทีบริเวณข้อศอกด้านนอก ขณะที่ผู้ตรวจออกแรงต้าน แสดงว่ามีพยาธิสภาพที่ตำแหน่ง Lateral epicondyle

รูปภาพแสดงการตรวจร่างกายด้วยวิธี Cozen’s test
Credit : https://healthjade.net/cozen-test/

3. การตรวจ Mill’s test ให้ผลเป็นบวกเป็นการตรวจเพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยภาวะ Lateral epicondylitis
วิธีการ :  ให้ผู้ป่วยงอข้อศอก 90 องศา ในท่าคว่ำแขน ผู้ตรวจใช้มือข้างหนึ่งคลำที่บริเวณ ปุ่มกระดูก Lateral epicondyle และใช้มืออีกข้างหนึ่งเหยียดศอก คว่ำแขน และงอข้อมือของผู้ป่วยลง
การแปลผล : ผลการทดสอบเป็นบวกคือผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอกมากขึ้น แสดงว่ามีพยาธิสภาพที่ตำแหน่ง Lateral epicondyle


รูปภาพแสดงการตรวจร่างกายด้วยวิธี Mill’s test
Credit : https://sonexortho.com/tennis-elbow-test-at-home/

4. การตรวจภาพทางรังสี  มักไม่พบความผิดปกติใดๆ อาจพบแคลเซียมเกาะ (Calcification) ผิวกระดูกข้อศอกด้านนอกไม่เรียบ ขรุขระ หรือการเปลี่ยนแปลงของเยื่อหุ้มกระดูก (Periosteal reaction) เป็นต้น

การรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

กลไกของการเกิดโรคเส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอกตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

โรคนี้ทางการแพทย์แผนจีนจัดอยู๋ในขอบเขตของ “伤筋” ข้อศอกเป็นบานพับของแขน เป็นบริเวณที่เส้นลมปราณมือหยางหมิง (手阳明大肠经)พาดผ่าน เมื่อเกิดการใช้งานบริเวณข้อศอกด้านนอกเป็นระยะเวลานานหรือออกแรงมากเกินไป จะทำให้เส้นลมปราณเอ็นมือหยางหมิง (手阳明经筋)ได้รับบาดเจ็บ ในระยะเฉียบพลันจะมีอาการปวด บวม แดงและร้อน เมื่อกระทบความร้อนอาการปวดจะมากขึ้น หรือความเย็นจากภายนอกเข้ามากระทบเส้นเอ็น ทำให้การไหเวียนของชี่และเลือดติดขัด พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อศอกถูกจำกัด เมื่อกระทบความเย็นอาการปวดมากขึ้น ในระยะเรื้อรัง การไหลเวียนของชี่และเลือดติดขัดเป็นระยะเวลานาน  เส้นลมปราณและเส้นเลือดอุดกลั้น ส่งผลให้เส้นเอ็นยืดติดกัน ก่อให้เกิดอาการปวด

หลักในการรักษา : คลายเส้นเอ็นทะลวงเส้นลมปราณ ลดเกร็งระงับอาการปวด(理筋通络,解痉止痛)

การทุยหนา :  ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น คลายความอ่อนล้า คลายความหนาแน่นของพังผืด ช่วยให้ข้อต่อยืดหยุ่น ลดโอกาสเสี่ยงของอาการปวดเกร็งหรือเป็นตะคริว หัตถการทุยหนามีขั้นตอนดังนี้
1. หัตถการคลายกล้ามเนื้อ : ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหรือนอนหงาย แพทย์ผู้ทำหัตถการอยู่ด้านที่มีพยาธิสภาพของผู้ป่วย ใช้ท่าคลึง (โหรวฝ่า揉法) หรือท่ากลิ้ง (กุ่นฝ่า滚法) ไปกลับระหว่างบริเวณข้อศอกด้านนอกจนถึงแขนท่อนล่างด้านนอก สามารถใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) ด้วยนิ้วโป้งร่วมด้วย ใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที

2. หัตถการรักษา : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) ด้วยปลายนิ้วหรือท้องนิ้วบนจุดหยางหลิงเฉวียน (GB34 阳陵泉) จุดชวีฉือ (LI11曲池) และจุดโส่วซานหลี่ (LI10手三里) จุดละ 1 นาทีและใช้ท่าบีบ (หนาฝ่า拿法) และท่าดีด (ถานโบฝ่า弹拨法) ด้วยมือบริเวณกล้ามเนื้อ Extensor carpi radialis brevis ด้วยน้ำหนักมือที่เบาใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที

3. หัตถการเคลื่อนไหวข้อต่อ : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่ากด (อั้นฝ่า按法) บริเวณข้อศอกด้านนอกด้วยนิ้วโป้งของมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งจับบริเวณข้อมือ จับข้อศอกงอจนสุด จากนั้นเหยียดข้อศอกผู้ป่วยให้ตรงด้วยความรวดเร็วด้วยท่าดึงยืด (ปาเชินฝ่า拔伸法) ทำติดต่อกัน 3 ครั้ง

4. หัตถการสิ้นสุดการรักษา : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่าถู (ชาฝ่า擦法) ด้วยฝ่ามือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บจนเกิดความร้อนพร้อมกับใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) บริเวณศอกด้านนอกจนถึงแขนท่อนล่างด้านนอกด้วยน้ำหนักที่เบา ประมาณ 3 นาที

การฝังเข็ม

  • จุดกดเจ็บ (阿是穴)
    ตำแหน่ง : บริเวณปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอกและแขนท่อนล่างด้านนอก หาโดยการกดบริเวณปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอกและแขนท่อนล่างด้านนอก หากกดแล้วเจ็บแสดงว่าเป็นจุดกดเจ็บ (阿是穴)
  • จุดชวีฉือ (LI11曲池)
  • จุดโส่วซานหลี่ (LI10手三里)
  • จุดหยางหลิงเฉวียน (GB34阳陵泉)

ยาจีน 

  • ตำรับยาทงปี้ทัง(通痹汤)
    หลักการรักษา : บำรุงชี่และเลือด บำรุงตับและไต ขับลมทะลวงเส้นลมปราณ กระจายความเย็นระงับปวด(益气养血,补益肝肾,祛风通络,散寒止痛)
    เหมาะสำหรับ : กลุ่มอาการปวดตามข้อ ข้อบวม เคลื่อนไหวติดขัดเป็นต้น

พอกยา

  • ตำรับยาเซียวจ๋งส่าน(消肿散)
    หลักการรักษา : ระบายความร้อนระงับปวด(请热止痛)
    เหมาะสำหรับ : ข้อต่ออักเสบในระยะเฉียบพลัน ปวด บวม แดง ร้อน
    วิธีใช้ : บดเป็นผง ผสมกับน้ำใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวดบวม วันละ 1 ครั้ง 4-6 ชั่วโมง
    ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

  • ตำรับยาหัวเซวี่ยส่าน (活血散)
    หลักการรักษา : คลายเส้นเอ็นกระตุ้นการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่งระงับปวด(舒筋活血,散瘀止痛)
    เหมาะสำหรับ : ปวดตึงข้อต่อกล้ามเนื้อ
    วิธีใช้ : บดเป็นผง ผสมกับน้ำอุ่นใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวด วันละ 1 ครั้ง 4-6 ชั่วโมง
    ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

อบยา

  • ตำรับยาไห่ถงผีทัง(海桐皮汤)
    หลักการรักษา : กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด(活血散瘀,通络止痛)
    เหมาะสำหรับ : คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวด
    วิธีใช้ : อบข้อศอกและแขนท่อนล่างประมาน 15-20 นาที วันละ 1 ครั้ง
    ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวัง
1. ในรายที่ได้รับบาดเจ็บเฉียบพลันและมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ภายใน 48 ชั่วโมงแรก ควรรีบประคบเย็นทันที ใช้ Cold pack หรือน้ำแข็งประคบเย็นบริเวณที่ปวด 10 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมงเพื่อห้ามเลือด ลดความปวดจากการอักเสบและลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ หากต้องการเข้ารับการรักษาด้วยหัตถการทุยหนา ควรรอหลังบาดเจ็บ 24-48 ชั่วโมง ควรพักการใช้งานและงดการออกกำลังกาย

2. หากจำเป็นแพทย์จะพิจารณาให้ใช้แถบรัดใต้ข้อศอก (Tennis elbow support) กรณียังต้องใช้งานแขนมาก โดยรัดกล้ามเนื้อที่ต้นแขนไว้ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวไม่ได้เต็มที่ ทำให้ลดแรงกระชากของเอ็นกล้ามเนื้อที่จุดยึดเกาะกับกระดูก เป็นการป้องกันไม่ให้มีการบาดเจ็บซ้ำ ช่วยให้การอักเสบไม่เป็นมากขึ้น

3. ในผู้ป่วยที่บาดเจ็บเรื้อรัง ควรใช้การประคบอุ่นบริเวณที่ปวด 15 นาที วันละ 2 ครั้ง ยืดกล้ามเนื้อ กดจุดคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่มีอาการเจ็บ เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อบริเวณแขน บริหารและออกกำลังกล้ามเนื้อแขน หากไม่ดีขึ้นปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือแพทย์

4. ควรรักษาร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการกระทบความเย็น ไม่ควรตากแอร์และพัดลมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณข้อศอก เนื่องจากเป็นสาเหตุของการเกิดโรค

การดูแลตัวเองก่อนเล่นกีฬา

1. ควรยืดกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ แขน ข้อมือ ขาและข้อเท้า ทุกครั้งก่อนตีแบดมินตัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นเส้นเอ็นรอบข้อต่อ ช่วยลดอาการบาดเจ็บ และป้องกันกล้ามเนื้อและเอ็นฉีกขาดได้ และยังช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้นอีกด้วย
2. ศึกษาการใช้ไม้แบดให้ถูกวิธี เช่น ขนาดด้ามจับต้องพอดีมือ ไม่ขึ้นเอ็นจนตึงเกินไป
3. ระหว่างเล่นกีฬา ควรใช้สนับรัดพยุงข้อศอก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ไม่ควรออกแรงมากเกินไป เมื่อมีอาการเมื่อยล้าควรหยุดพัก
4. หลีกเลี่ยงการเกร็งค้างฝ่ามือ การจับ บีบ ถือไม้แบดเป็นระยะเวลานานกว่า 30 นาทีขึ้นไป
5. หมั่นแช่น้ำอุ่นบริเวณมือและเท้าอย่างสม่ำเสมอ อาจใช้ร่วมกับตัวยา 活血散ครั้งละ 15-20 นาที
7. ดื่มน้ำเปล่าวันละ 2 ลิตร
8. ออกกำลังกายด้วยท่ากายบริหารคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น อี้จินจิง 易筋经 ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและเส้นเอ็น สร้างกำลังภายใน บำบัดและป้องกันโรค

ท่าฟ้งฮวงจ่านชื่อ (凤凰展翅)

เป็นท่าพื้นฐานของคัมภีร์กำลังภายในเส้าหลิน ที่เน้นการบริหารหัวไหล่ แขน ข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือ โดยเฉพาะข้อมือและนิ้ว เมื่อฝึกฝนเป็นเวลานาน สามารถช่วยปรับสมดุลของอวัยวะภายใน ขยายทรวงอก บำรุงชี่ควบคุมชี่ สงบตับ และเพิ่มความแข็งแรงปอด ช่วยเพิ่มทักษะของท่านวดทุยหนา เช่นท่าดัน (ทุยฝ่า 推法) และ ท่ากด (อั้นฝ่า 按法) โดยส่วนใหญ่เน้นบริหารที่กล้ามเนื้อ Common extensor กล้ามเนื้อ Extensor carpi ulnaris muscle กล้ามเนื้อ Extensor carpi radialis longus เป็นต้น

1. ท่าเตรียม ยืนตรง กางขาออกเท่ากับระยะห่างของไหล่ทั้งสองข้าง
2. งอข้อศอกทั้งสองข้าง ค่อยๆยกมือทั้งสองข้างขึ้นประสานกันเป็นรูปกากบาท สูงระดับเดียวกับหน้าอก
3. เปล่งเสียง พร้อมกับกระดกหัวแม่มือขึ้น สี่นิ้วที่เหลือชิดกัน ค่อยๆออกแรงผลักออกไปด้านข้าง ให้อยู่ในลักษณะคล้ายนกกางปีก แขนสูงระดับเดียวกับหัวไหล่ หายใจอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างมีสมาธิ
4. เปล่งเสียง พร้อมกับค่อยๆดึงแขนกลับเข้าด้านใน พร้อมกับให้มือสองข้างประสานกันเป็นรูปกากบาท สูงระดับเดียวกับหน้าอก
5. กดฝ่ามือลง แล้วผายมือลงไปตามแนวด้านข้างลำตัว เหยียดแขนตรง ดันฝ่ามือออกไปทางด้านหลังลำตัว



รูปภาพแสดงท่าฟ้งฮวงจ่านชื่อ

การดูแลตัวเองหลังเล่นกีฬา
1. ควรยืดกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ แขน ข้อมือ ขาและข้อเท้า ทุกครั้งหลังตีแบดมินตัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นเส้นเอ็นรอบข้อต่อหลังจากการใช้งาน ช่วยลดอาการบาดเจ็บ
2. หมั่นแช่น้ำอุ่นบริเวณมือและเท้าอย่างสม่ำเสมอ อาจใช้ร่วมกับตัวยา 活血散ครั้งละ 15-20 นาที
3. ดื่มน้ำเปล่าวันละ 2 ลิตร
4. ออกกำลังกายด้วยท่าบริหารต่างๆเพื่อพัฒนาความยืดหยุ่นและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ดังนี้

4.1 ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้า
วิธีการ :
หงายฝ่ามือและเหยียดแขนไปทางด้านหน้า ใช้มืออีกข้างจับฝ่ามือให้กระดกลงจนรู้สึกตึง แต่ไม่เจ็บ ค้างไว้นับ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 รอบ



4.2 ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหลัง
วิธีการ :
คว่ำฝ่ามือลงและเหยียดแขนไปทางด้านหน้า ใช้มืออีกข้างจับฝ่ามือให้กระดกลงจนรู้สึกตึง แต่ไม่เจ็บ ค้างไว้นับ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 รอบ



4.3 ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้า
วิธีการ :
นั่งตัวตรง วางแขนบนโต๊ะ ข้อศอกงอ 90 องศา หงายฝ่ามือออก ถือดัมเบลหนักเริ่มต้นที่ 0.5 กก. กระดกข้อมือขึ้น 10 ครั้ง ทำซ้ำ 3 รอบ

4.4 ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหลัง
วิธีการ :
นั่งตัวตรง วางแขนบนโต๊ะ ข้อศอกงอ 90 องศา คว่ำฝ่ามือลง ถือดัมเบลหนักเริ่มต้นที่ 0.5 กก. กระดกข้อมือขึ้น 10 ครั้ง ทำซ้ำ 3 รอบ



4.5 ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อหมุนแขน
วิธีการ :
นั่งตัวตรง วางแขนบนโต๊ะ มือถือดัมเบลหนักเริ่มต้นที่ 0.5 กก. หมุนฝ่ามือให้หงายขึ้นและคว่ำฝ่ามือลง 10 ครั้ง ทำซ้ำ 3 รอบ



4.6  ท่าบิดผ้าขนหนู
วิธีการ :
นั่งตัวตรง มือทั้ง 2 ข้างจับที่ปลายผ้าขนหนูแต่ละด้าน จากนั้นหมุนบิดผ้าขนหนู 10 ครั้ง ทำซ้ำ 3 รอบ



4.7  ท่ากำลูกบอล
วิธีการ :
กำมือขย้ำลูกบอลค้างไว้นับ 1-5 แล้วปล่อย 10 ครั้ง ทำซ้ำ 3 ครั้ง


บทความโดย
แพทย์จีน ฉันทัช เฉิน
陈泰任  中医师
TCM. Dr. Chantouch Chen (Chen Tai Ren)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1312

-----------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง

1. กิ่งแก้ว ปาจรีย์. ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ การบำบัดรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู . กรุงเทพมหานคร : ภาคเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2563.

2. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551.

3. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 3.  นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554.

4. อารี ตนาวลี. ตำราแก่นความรู้ทางออร์โธปิดิกส์ สำหรับแพทยศาสตร์บัณฑิต.  กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557.

5. China Association of Chinese Medicine.   Guidelines for Diagnosis and Treatment of Common Disease of Orthopedics and Traumatology in Traditional Chinese Medicine.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2012.

6. FanFanHua. Tuinaxue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2008.

7. Orthopaedic Knowledge Update : Sports Medicine edited by Griffin LY, AAOS, Rosemont,1994.

8. WangHeWu. Zhongyigushangkexue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2007.

9. WangXiaoMing. Jingluoxueweifenbufencengxiangjietupu.  Fujian : Fujian Science&Technology Publishing House, 2018.

10. Xujun. Tuinagongfaxue.  Shanghai : Shanghai Science&Technology Publishing House, 2011.

11. Z. Ahmad, et al,.(2013). Instructional review : shoulder and elbow lateral epicondylitis. A review of pathology and management. Vol.95-B. Cambridge : University of cambridge.

--------------------------------------------------------------------

  สอบถามข้อมูลการดูแลรักษาสุขภาพ

โดยหลักการและวิธีทางตามธรรมชาติ ใช้อินเพื่อเสริมหยาง ใช้หยางเพื่อเสริมอิน ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนแบบผสมผสาน
   LINE OA : @HuachiewTCM

คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สังกัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
สถานพยาบาลการแพทย์แผนจีนต้นแบบ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์แผนจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้