Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 25371 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดหลัง เป็นอาการที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ แผนกผู้ป่วยนอกบางแห่งอาจมีถึงร้อยละ 40 ของผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ อาการปวดหลังอาจเป็นเล็กน้อย แล้วหายเองได้ แต่มีบางรายที่ต้องผ่าตัด
ข้อสันหลังเป็นข้อที่รับน้ำหนัก การเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังเกิดที่ข้อข้างสันหลัง ( Posterior facet joint ) ซึ่งเป็นข้อชนิดมีเยื่อบุข้อ และการเคลื่อนไหวที่หมอนรองกระดูกสันหลัง ไขสันหลังสิ้นสุดที่กระดูกสันหลังระดับบั้นเอวข้อที่ 2 ดังนั้นพยาธิสภาพที่เกิดในช่องไขสันหลังในระดับบั้นเอวล่าง ๆ ที่ต่ำลงมา จึงมีเฉพาะประสาทสันหลัง (spinal nerve) ที่แยกออกมาจากไขสันหลัง (spinal cord) แล้วเท่านั้นที่จะถูกกด
ใยประสาทที่ให้ความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณหลังจะอยู่ในเอ็นยึดข้อ เอ็นหุ้มข้อของข้อข้างกระดูกสันหลัง เยื่อหุ้มกระดูกบริเวณที่เอ็นเกาะอยู่ และใยประสาทในหลอดเลือดที่อยู่ในส่วนนอก ๆ ของหมอนรองกระดูก ดังนั้น อาการปวดหลังจึงเกิดขึ้นได้หลายกรณี สาเหตุแรกเกิดจากตัวหมอนกระดูกสันหลังโป่งนูนออกมากด สาเหตุการกดอื่น ๆ ได้แก่ ข้อสันหลังเสื่อมมีกระดูกสร้างใหม่เป็นสันรอบข้อ (spur) ถ้าหมอนกระดูกสันหลังเป็นต้นเหตุ จะถูกกดมากในท่ายกของหนัก หรือในท่าก้มหลังมาก ๆ หรือในท่านั่งก็จะเป็นการเพิ่มแรงกดที่หมอนกระดูกสันหลังเช่นกัน
สาเหตุของการปวดหลังที่พบบ่อย
1. สาเหตุจากการผิดท่า หรือผิดรูปทางกลศาสตร์
1.1 หมอนกระดูกสันหลังโป่งนูน
1.2 ข้อข้างสันหลังเสื่อม
1.3 ช่องไขสันหลังตีบ
1.4 ข้อสันหลังเสื่อม
1.5 ความผิดปกติแต่กำเนิด
1.6 กระดูกอ่อนอักเสบจากโรค Scheuermann
1.7 กระดูกสันหลังหัก
2. สาเหตุจากการอักเสบของข้อสันหลัง
2.1 ข้อสันหลังอักเสบยึดติด
2.2 ข้ออักเสบรูมาตอยด์
2.3 ภาวะติดเชื้อ
3. สาเหตุเนื่องจากเนื้องอก
3.1 เนื้องอกที่กระดูก
3.2 เนื้องอกในไขสันหลัง
4. สาเหตุจากต่อมไร้ท่อ
4.1 กระดูกบาง
4.2 กระดูกตายจากการขาดเลือด
5. สาเหตุอื่นๆ
5.1 การอักเสบในช่องเชิงกราน
5.2 สาเหตุเกิดจากอิริยาบถที่ผิด
การวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการโรค
อาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการ จากประวัติในพวกที่มีความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังไม่ตรง แอ่นเกินไป หรือหลังค่อมเกินไป ผู้ป่วยพวกนี้จะมีอาการปวดเวลาเคลื่อนไหว ถ้าได้พักจะทุเลา
พวกที่มีข้อสันหลังอักเสบ แม้พักก็จะไม่ทุเลา ในรายที่การอักเสบลุกลามจนมีอาการบวมในส่วนที่เป็นโรค การเคลื่อนไหวหลังก็จะมีอาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น พวกที่กระดูกสันหลังอักเสบอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหลังแข็งตรงบริเวณบั้นเอว
พวกที่เป็นเนื้องอกของกระดูกสันหลัง หรือจากต่อมไร้ท่อที่มีความผิดปกติ อาการ
ปวดในกระดูกก็จะพบได้ โดยเฉพาะเวลานอนพักยิ่งปวดมากขึ้น และจะปวดตลอดเวลาเมื่อเคลื่อนไหวกระดูกสันหลัง บางครั้งจะเห็นอาการกระดูกสันหลังของผู้ป่วยคด (scoliosis) ทั้งนี้เป็นเพราะกล้ามเนื้อหลังหดเกร็งตัว การที่กระดูกสันหลังคด ทำให้การหดเกร็งของกล้ามเนื้อไม่สมดุล จึงทำให้ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน
พวกที่มีข้อสันหลังเสื่อม จะเคลื่อนไหวไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะท่าเอียงตัวไปซ้ายหรือขวา ในโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด จะเอียงตัวไปด้านซ้ายหรือขวาไม่ได้เลย
การตรวจกระดูกสันหลัง จำเป็นต้องตรวจหาอาการกดทับประสาทสันหลังด้วย เช่น การดึงตัวของประสาทขาทางด้านหลัง (Sciatic nerve) พวกนี้ถ้าก้มตัวจะปวดร้าวลงไปตามขาทางด้านหลัง และยิ่งถ้าไอหรือจามก็จะปวดหลังมาก มีอาการปวดร้าวแปลบไปตามแนวด้านหลังขาที่ประสาทผ่านไป
การตรวจภาพรังสี
ในโรคปวดหลัง โดยทั่วไป เงากระดูกสันหลังจะปกติในพวกที่มีสาเหตุจากกลศาสตร์ของสันหลังที่เสียไป แม้ในพวกที่มีการเสื่อมของหมอนกระดูกสันหลัง ก็อาจไม่พบความผิด ปกติในภาพรังสีได้สูง
กระดูกสันหลังบาง ถ้าเป็นน้อยจะมองไม่เห็นความจางในเงารังสีกระดูก
การตรวจพิเศษโดยวิธีฉีดสารทึบรังสีเข้าช่องไขสันหลัง หรือทำ MRI เพื่อหาตำแหน่งการกดรากประสาทสันหลัง จะใช้ในรายที่มีอาการมาก
อาการปวดหลังบางครั้งเกิดจากเนื้องอกประสาท การวินิจฉัยลำบาก แต่มักมีอาการรบกวนของระบบขับถ่ายปัสสาวะ และ/หรืออุจจาระร่วมด้วย
หลักการรักษา
แนะนำวิธีบริหารกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำคัญมากสำหรับผู้ปวดหลัง ต้องทำเป็นอันดับแรกเพราะเป็นทั้งการป้องกันและรักษา ในรายที่มีอาการปวดมากต้องนอนพัก อาจต้องรักษาโดยกายภาพบำบัด เช่น การดึงถ่วงหลัง การนวด หรือการรักษาอื่น ๆ รวมทั้งการใช้เครื่องพยุงหลังและในที่สุดอาจต้องผ่าตัด
มุมมองต่อโรคในศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ปวดหลังบั้นเอว อาจปวดข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด
ระหว่างแนวกลางกระดูกสันหลัง และบริเวณด้านข้างทั้งสองข้าง โดยเฉพาะเวลามีอาการปวดจะเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกว่า Lumbospinal pain โดยทั่วไปมักเรียก Lumbago หรือ TCM เรียกอาการนี้ว่า Yao Tong บริเวณบั้นเอวเป็นที่อยู่ของไต ดังนั้นอาการปวดบั้นเอวจึงสัมพันธ์กับไต อาการอาจเป็นแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรังก็ได้
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
1. ความเย็นชื้น
เป็นสาเหตุที่พบบ่อย เช่น อาจเกิดจากอยู่กลางสายฝนเป็นเวลา นาน นั่งในที่ชื้นแฉะ ถูกลมโกรกใบหน้าขณะที่มีเหงื่อออก สวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น ทำงานในที่ชื้นเย็น ชอบนอนบนพื้นปูน นำไปสู่อาการปวดหลังแบบความเย็นชื้น เนื่องจากทำให้เกิดชี่ติดขัดและเลือดคั่งในเส้นลมปราณ แต่หากความเย็นและชื้นสะสมอยู่เป็นเวลานาน จะแปรสภาพเป็นร้อน เกิดอาการปวดเอวแบบร้อนชื้น
2. ชี่ติดขัดและเลือดคั่ง
สาเหตุจากได้รับบาดเจ็บ บริเวณเส้นลมปราณ และกล้าม เนื้อที่บั้นเอว ทำให้การไหลเวียนของชี่และเลือดบริเวณดังกล่าวถูกรบกวนติดขัด เช่น ได้รับอุบัติเหตุจากตกที่สูงหรือถูกกระแทก ใช้งานบั้นเอวหนักมากเกินไป หรือเคลื่อนไหวผิดท่าผิดจังหวะ เป็นต้น
3. ไตพร่อง
สาเหตุจากร่างกายอ่อนแอแต่กำเนิด เจ็บป่วยเรื้อรัง คนสูงอายุ หรือมีกามกิจมากเกินไป ทำให้สารจำเป็นของไตพร่อง และมีผลต่อภาวะขาดสารอาหารในกล้าม เนื้อ รวมทั้งเส้นลมปราณ
4. ความผิดปกติในเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องกับไต
โดยปกติ เมื่อชี่ก่อโรคจากภายนอกรุกรานร่างกาย จะก่อให้เกิดความผิดปกติบริเวณผิวนอกร่างกายบางส่วน ซึ่งมีเส้นลมปราณผ่าน และเชื่อมต่อกับเส้นลมปราณไต และ/หรือผ่านแนวกระดูกไขสันหลัง ความ ผิดปกติของกระดูกสันหลังและไต นอกจากเกิดอาการปวดหลังแล้ว ยังมีอาการผิดปกติของอวัยวะภายใน รวมทั้งเนื้อเยื่อที่สัมพันธ์ตามแต่เส้นลมปราณที่ผิดปกติ อาการและอาการแสดงของเส้นลมปราณที่ผิดปกติ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการวินิจฉัยและรักษาโรค เส้นลมปราณที่เกี่ยวกับการปวดบั้นเอว ได้แก่
4.1 เส้นลมปราณตู แขนงของเส้นตูวิ่งผ่านเส้นไตเข้าสู่ไขสันหลัง แล้วออกมาเข้าไต
อีกแขนงหนึ่งวิ่งลงไปบริเวณบั้นเอวทั้งสองข้างของแนวไขสันหลัง แล้ววิ่งเข้าสู่ไต ดังนั้นเมื่อมีชี่ก่อโรคกระทำต่อเส้นลมปราณตู อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังบั้นเอว หลังแข็ง เนื่องจากมีการอุดกั้นชี่ในเส้นลมปราณ
4.2 เส้นลมปราณเญิ่น เส้นลมปราณเญิ่นและชง มีจุดกำเนิดที่มดลูก แขนงหนึ่งของเส้นเญิ่นวิ่งไปด้านหลังเข้าสู่เส้นไตและวิ่งต่อตามแนวไขสันหลัง เส้นเญิ่นเป็นทะเลของอิน และควบคุมอินของร่างกายทั้งหมด เมื่อใดก็ตามที่การไหลเวียนชี่ในเส้นเญิ่นผิดปกติ จะทำให้เกิดไส้เลื่อนในชาย หรือก้อนบริเวณท้องน้อยในหญิง ร่วมกับอาการปวดบั้นเอว
4.3 เส้นลมปราณชง เหมือนกับเส้นลมปราณตูและเญิ่น ที่มีจุดกำเนิดจากมดลูก เส้นชงม่ายวิ่งขึ้นบนตามแนวด้านในของไขสันหลัง เส้นชงม่ายเป็นทะเลของเส้นลมปราณหลัก 12 เส้น และเป็นทะเลแห่งเลือด เพราะมีจุดกำเนิดดังกล่าวข้างต้น เมื่อมีพยาธิสภาพต่อเส้นชง จึงมีอาการปวดหลังอย่างเฉียบพลันจากชี่ตีกลับ
4.4 เส้นลมปราณไต้ วิ่งรอบบั้นเอวและท้องน้อยเหมือนเข็มขัด มีหน้าที่เชื่อมเส้นลมปราณอินขา 3 เส้นและเส้นลมปราณหยางขา 3 เส้น แพทย์จีนโบราณกล่าวว่า “ความผิด ปกติในเส้นลมปราณต้าย ผู้ป่วยจะมีอาการท้องตึงแน่นและรู้สึกว่าบั้นเอวจมอยู่ในน้ำ” เมื่อเส้นลมปราณต้ายมีพยาธิสภาพ เท้าจะอ่อนแรง มีปัญหาด้านสูตินรีเวช เช่น ประจำเดือนมาไม่แน่นอน ตกขาวมาก เป็นต้น ร่วมกับปวดบั้นเอว
4.5 เส้นลมปราณไต เริ่มจากด้านในนิ้วก้อยของเท้า วิ่งเฉียงไปยังฝ่าเท้า ขึ้นบนไปด้านหลังในของขาและต้นขา แล้วผ่านไปตามแนวไขสันหลังเข้าสู่ไต และมีแขนงเชื่อมต่อกับกระเพาะปัสสาวะ ถ้ามีชี่ก่อโรครุกรานเส้นลมปราณไต จะมีอาการปวดบั้นเอว และปวดเย็น ๆ บริเวณด้านหลังในของต้นขา
4.6 เส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ เป็นเส้นลมปราณที่ก่อให้เกิดอาการปวดบริเวณเอว หลัง และด้านหลังนอกของขาเป็นหลัก เส้นกระเพาะปัสสาวะเริ่มจากด้านในของเบ้าตา วิ่งเข้าและเชื่อมต่อกับสมองบริเวณกระหม่อม วิ่งต่อเข้าด้านในแตกเป็นสองแขนง วิ่งขนานลงตามแนวกระดูกสันหลัง ผ่านหลังคอ ด้านในขอบสะบัก เชื่อมกับไตและกระเพาะปัสสาวะ ถ้าเส้นลมปราณนี้มีพยาธิสภาพ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหนัก ๆ ที่ศีรษะ ปวดเบ้าตาเหมือนนัยน์ตาจะถลนออก คอแข็ง ปวดหลังประหนึ่งบั้นเอวขาดสะบั้น ต้นขาและข้อพับเข่าจะแข็งเกร็ง รู้สึกเหมือนกล้ามเนื้อบริเวณ Fibula ฉีกแยก
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการของโรค
1. จากความเย็นชื้น ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเอวหนัก ๆ กล้ามเนื้อเกร็งแข็งเหมือนไม้กระดาน และเป็นมานานไม่หาย อาการปวดหนักไม่รุนแรง แต่รู้สึกหนักมากกว่า บิดเอวลำบาก อาจมีปวดขา อาการเลวลงในวันที่มีฝนตกและอากาศเย็น ร่วมกับมีประวัติดังกล่าวข้างต้น ลิ้น มีฝ้า ถ้าความเย็นเด่นฝ้าขาว ความชื้นเด่นฝ้าเหนียว หรืออาจขาวเหนียว ชีพจร จม-ช้า (Chen-ChiMai)
ากความร้อนชื้น ผู้ป่วยมีอาการปวดเอว รู้สึกอุ่นบริเวณที่ปวด อาการเลวลงในหน้าร้อนหรือมีฝนตก อาการจะทุเลาถ้ามีการเคลื่อนไหวบั้นเอว ลิ้นมีฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่น-เร็ว (Hua-ShuMai)
2. จากชี่ติดขัดและเลือดคั่ง ปวดเอวเวลาบิดเอวไปมา ก้มหรือเงยหลังจะรู้สึกตึงหลัง ถ้าอาการรุนแรงจะบิดเอวซ้าย-ขวาลำบาก ปฏิเสธการกดบริเวณบั้นเอว บางครั้งจามหรือไอจะปวดมากขึ้นได้ อาจมีอาการปวดอยู่กับที่เหมือนเข็มทิ่มแทง ร่วมกับมีประวัติดังกล่าวข้างต้น ลิ้นคล้ำออกม่วง ชีพจร ตึง-ฝืด (Xian-SeMai)
3. ไตพร่อง ปวดเมื่อยล้าบริเวณเอวไม่ปวดมาก ขาอ่อนแรงร่วมด้วยเสมอ ถ้าทำงานมาก พักผ่อนไม่พอจะปวดหลังมากขึ้น การอยู่ในอิริยาบถนั่ง เดิน ยืน นอน ในท่าใดท่าหนึ่ง
นานหรือมากเกินไป จะปวดหลังมากขึ้นได้ ร่วมกับมีประวัติดังกล่าวข้างต้น
ถ้าร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย แขนขาเย็น อสุจิหลั่ง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เมื่อกดนวดหรือพักผ่อน อาการจะดีขึ้น แต่ทำงานหนักอาการจะมากขึ้น รู้สึกเกร็งท้องน้อย หน้าซีดขาว ลิ้นซีด ชีพจรเล็กจม จัดเป็น ไตหยางพร่อง แต่ถ้ามีอาการหงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ปากคอแห้ง โหนกแก้มแดง มีอาการร้อนฝ่ามือฝ่าเท้า ปัสสาวะเหลือง ลิ้นแดง ชีพจรเล็กเร็ว เป็นไตอินพร่อง
4. ความผิดปกติของเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องกับไต
4.1 เส้นลมปราณตู เอวแข็งและปวดโดยเฉพาะแนวกระดูกสันหลังระดับเอว ไม่สามารถก้มหรือเงยหลังได้
4.2 เส้นลมปราณเญิ่น ปวดเอวร่วมกับกล้ามเนื้อเกร็ง ปวดท้องน้อย ตกขาวมากในผู้ป่วยหญิง ปัสสาวะราดและปวดเหมือนเข็มทิ่มแทงบริเวณฝีเย็บ
4.3 เส้นลมปราณชง ปวดเอวและท้องน้อย ในผู้ป่วยหญิงประจำเดือนผิดปกติและปวดระหว่างมีประจำเดือน
4.4 เส้นลมปราณไต้ ปวดเอว ฝีเย็บและด้านในของต้นขา ขาอ่อนแรง ท้องอืดและแน่นตึง ตกขาวออกแดง
4.5 เส้นลมปราณไต ปวดเอว เย็นเท้าและอ่อนแรง หรือปวดด้านหลังในของต้นขาและข้อพับเข่า ร่วมกับปวดบริเวณฝ่าเท้า ปากคอแห้ง
4.6 เส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ ปวดหลังและบริเวณเอว ประหนึ่งบั้นเอวขาดสะบั้น ร่วมกับปวดเย็นและชาบริเวณขาส่วนล่างประหนึ่งข้อเท้าหลุดหรือเคลื่อน
หลักการรักษา
1. ความเย็นชื้น ขับความเย็น สลายความชื้น ทะลวงและอุ่นเส้นลมปราณ
ความร้อนชื้น ขจัดร้อน สลายความชื้น คลายกล้ามเนื้อและเอ็นเพื่อระงับปวด
2. ชี่ติดขัดและเลือดคั่ง กระตุ้นเลือดให้ไหลเวียน เพื่อสลายเลือดคั่ง ปรับการไหล เวียนของชี่เพื่อระงับปวด
3. ไตพร่อง บำรุงไตเพื่อเสริมความแข็งแรงให้บั้นเอว เป็นหลักการทั่วไป กรณีไต หยางพร่อง บำรุงไตหยาง เพื่อเสริมความแข็งแรงให้บั้นเอว กรณีไตอินพร่อง เลี้ยงบำรุงไตอินให้สมบูรณ์
4. ความผิดปกติของเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องกับไต ทะลวงเส้นลมปราณ ปรับการไหลเวียนของจิงชี่ บริเวณบั้นเอว และระงับปวด
การรักษา
1. การฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ ร่วมกับ รมยา เข็มอุ่น ครอบแก้ว
ภาวะไตพร่องเป็นจุดกำเนิดของอาการปวดหลัง โดยมีเสียชี่จากภายนอกหรือการได้รับอุบัติเหตุเป็นปัจจัยเสริม ดังนั้น การรักษาอาการปวดหลัง จึงต้องมีจุดเสริมบำรุงไตเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับบั้นเอวด้วย และยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายเพื่อขจัดเสียชี่ออกไป นอกจากนี้อาการปวดหลังบั้นเอว อาจเป็นลักษณะผสมระหว่างพร่องและแกร่ง ดังนั้นการรักษาจีงควรรักษาทั้งเปียวและเปิน ( Biao and Ben ) ไปพร้อม ๆ กัน
ระยะเวลาฝังเข็ม
การฝังเข็ม 10 ครั้งนับเป็น 1 รอบการรักษา ปักวันเว้นวัน หรือทุกวันถ้ามีอาการปวดมาก อาการดีขึ้นปักห่างได้ หยุดพักระหว่างระยะการรักษา 3 - 5 วัน แนะนำผู้ป่วยปรับเปลี่ยนวิถีและการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการรักษาและป้องกันอาการปวดหลังในอนาคต อาจใช้รมยา ส่อง TDP เจาะปล่อยเลือด เครื่องกระตุ้นเข็ม หรือ Moving cupping (การครอบแก้วแบบเคลื่อนที่) ร่วมตามความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป
หมายเหตุ
1. กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน แพทย์จีนจะฝังเข็มระงับปวดก่อน ค่อยหาสาเหตุ และรักษาในภายหลัง ดังนี้
- ผู้ป่วยมีประวัติยกของหนักมาก่อน แล้วมีอาการปวดหลังเฉียบพลันอย่างมากจนนั่ง หรือยืนเดินไม่ได้
- ถ้าผู้ป่วยมีประวัติปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ มานาน แล้วเกิดปวดหลังเฉียบพลัน ก้มหรือเงยหลังลำบาก ผู้ป่วยยังพอเดินไปมาได้
- ปวดกึ่งกลางหลัง แนวเส้นเอ็นยึดข้อต่อกระดูกสันหลัง มักเป็นข้อเดียว
2. การฝังเข็มเหมาะสำหรับอาการปวดหลังที่เกิดจากกล้ามเนื้อ
และเอ็นบริเวณเอวเป็นส่วนใหญ่ หากเกิดจากกระดูก จะใช้จุดฝังเข็มแบบอื่น ๆ ที่มีรายละเอียดเฉพาะเป็นกรณี
3. ผู้สูงอายุ ถ้าฝังเข็มแล้วไม่ได้ผล ในผู้ป่วยชายอาจเกิดจากปัญหาต่อมลูกหมากโต
ส่วนผู้ป่วยหญิงอาจมีปัญหาอุ้งเชิงกรานอักเสบ
4. การใช้เครื่องกระตุ้นเข็มไฟฟ้า ความถี่ต่ำ
5. ถ้าหากผู้ป่วยกลัวเข็ม อาจพิจารณาใช้ครอบกระปุกแทนได้ ผู้ป่วยที่ฝังเข็มได้อาจใช้ Moving Cupping (การครอบแก้วแบบเคลื่อนที่) เสริม
6. ผู้ที่ผ่าตัดหลังมาแล้ว ยังมีอาการปวดหลัง สามารถฝังเข็มและรมยาได้เช่นกัน
7. ผู้ป่วยเป็นเนื้องอก หรือวัณโรคกระดูกสันหลัง การฝังเข็มและรมยาควรงด หญิงที่มีประจำเดือน หรืออยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงจุดฝังเข็มบริเวณบั้นเอวและกระเบนเหน็บ ระหว่างรักษาผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงถูกลมเย็น การใช้ชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง ทั้งการรับประทานอาหาร การทำงาน การพักผ่อน และการออกกำลังกาย
ตัวอย่างผู้ป่วย
ชายไทยคู่ อายุ 28 ปี อาชีพลูกจ้างส่งน้ำแข็ง อาการสำคัญ มีอาการปวดบั้นเอวสองข้าง ตึงหลัง ก้มและเงยลำบากปกติต้องยกก้อนน้ำแข็งหนักเป็นประจำ ก่อนมาพบแพทย์ 1 วัน ผู้ป่วยยกน้ำแข็งผิดจังหวะ จึงมีอาการปวดดังกล่าว ตรวจร่างกายให้ผู้ป่วยก้มหลังจะมีอาการตีงด้านหลังต้นขา และกล้ามเนื้อหลังเกร็งทั้งสองข้าง SLRT : negative ลิ้นบวมคล้ำ ฝ้าขาวบาง ชีพจรตึง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Acute low back pain from sprain
การรักษา
- ฝังเข็มแบบระบายทั้งสองข้าง ตามด้วยจุด Ashi ที่กดเจ็บ กระตุ้นเข็มทุก 10 นาที คาเข็ม 40 นาที ตามด้วย Moving cupping บริเวณแผ่นหลังทั้งสองข้าง นัดฝังเข็มทุกวัน รักษา 3 ครั้ง ผู้ป่วยอาการทุเลาเกือบเป็นปกติ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : หนังสือการฝังเข็มรมยา เล่ม 3
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ISBN 978-616-11-0277-7
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567