Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 42222 จำนวนผู้เข้าชม |
อารมณ์เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอก ในภาวะปกติจะไม่ทำให้เกิดโรค แต่ถ้าเกิดความผิดปกติทางอารมณ์ คืออารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน รุนแรง ติดต่อกันเป็นเวลานานจนร่างกายปรับตัวไม่ได้ ทำให้เกิดความผิดปกติในการไหลเวียนเลือดและลมปราณ อวัยวะภายในทำงานผิดปกติจนเกิดความเจ็บป่วยตามมา ความผิดปกติทางอารมณ์เป็นสาเหตุของโรคแล้วยังมีผลกระทบต่อการดำเนินโรค อาจทำให้โรคดีขึ้นหรือเลวลงก็ได้
ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เป็นสาเหตุของโรคมี 7 แบบ คือ โกรธ ยินดี เศร้าโศก วิตกกังวล ครุ่นคิด หวาดกลัว ตกใจ
เลือดและลมปราณเป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย และจำเป็นต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ความผิดปกติทางอารมณ์เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ ความผิดปกติของเลือดและลมปราณจึงเป็นสาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์ คัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง 《黄帝内经》บันทึกไว้ว่า เลือดมากเกินไปก่อให้เกิดอารมณ์โกรธ เลือดพร่องทำให้เกิดอารมณ์กลัว เลือดของหัวใจและตับพร่องทำให้ตกใจ ลมปราณหัวใจพร่องทำให้เศร้า ลมปราณหัวใจสูงเกินไปทำให้เสียสติ หัวเราะร้องไห้ไม่มีสาเหตุ
อารมณ์สะท้อนภาวะจิตใจของคนเรา การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ทั้ง 7 ในภาะปกติ ถือเป็นผลดีต่อสุขภาพของร่างกาย แต่ว่าหากมีการเกิดอารมณ์ทั้ง 7 แบบสุดโต่ง หรือ สะสมอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นระยะเวลานานผิดปกติ จะทำร้ายเราทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้
ในคัมภีร์ซูเวิ่น ได้กล่าวเอาไว้ว่า "อารมณ์โกรธจะทำร้ายตับ อารมณ์ดีทำร้ายหัวใจ ความครุ่นคิดทำร้ายม้าม อาการเศร้าโศกทำร้ายปอดความกลัวทำร้ายไต "
อารมณ์ต่างๆเหล่านี้ มีอยู่ในคนเราทุกคนอยู่แล้ว คนเราจำเป็นต้องมีอารมณ์ ถ้าเราไม่มีอารมณ์ก็เป็นคนที่ผิดปกติ แต่ก็ต้องมีในภาวะและระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่แบบสุดโต่งมากเกินไป เมื่อร่างกายและจิตใจได้รับความกระทบกระเทือนจากอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างรุนแรงต่อเนื่อง เกิดอารมณ์ผิดปกติต่อเนื่อง เสียสภาวะสมดุลทางจิตใจ จะทำให้การทำหน้าที่ของร่างกายผิดปกติ การทำงานของเนื้อเยื่อและของเหลวในร่างกายแปรปรวนติดขัด Cell Death เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติในอวัยวะภายในและภายนอก เช่น ตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ เต้านม รังไข่ ต่อมไทรอยด์ ต่อมน้ำเหลือง สมอง อารมณ์เศร้าหมอง กระวนกระวาย เสียใจ นอนไม่หลับ ปวดตามร่างกาย เมื่ออารมณ์ไม่ปกติจะยิ่งปวดมากยิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์กับอวัยวะภายใน
อารมณ์เปลี่ยนแปลงมาจากลมปราณของอวัยวะตัน เช่น ความยินดี ตกใจ สร้างจากลมปราณหัวใจ ความโกรธสร้างจากลมปราณตับ ความครุ่นคิดสร้างจากลมปราณม้าม ความเศร้าโศก วิตกกังวลสร้างจากลมปราณปอด ความกลัวสร้างจากลมปราณไต
ความผิดปกติทางอารมณ์โดยทั่วไปจะมีผลกระทบต่ออวัยวะตันที่ให้กำเนิดอารมณ์นั้น ๆ เช่น ความยินดีหรือตกใจเกินไปจะกระทบต่อหัวใจ ความโกรธจัดจะกระทบต่อตับ ความครุ่นคิดหมกมุ่นจะกระทบต่อม้าม ความเศร้าโศกวิตกกังวลจะกระทบต่อปอด ความกลัวสุดขีดจะกระทบต่อไต ความผิดปกติทางอารมณ์มีความสำพันธ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษกับหัวใจ เพราะหัวใจเป็นจ้าวแห่งอวัยวะภายใน และเป็นที่อยู่ของจิตใจ ความผิดปกติทางอารมณ์จึงมักมีผลกระทบต่อหัวใจก่อนอวัยวะอื่น ๆ
ความผิดปกติทางอารมณ์เป็นสาเหตุกระทบทุกอวัยวะตัน แต่มักจะกระทบการทำงานของหัวใจ ตับและม้าม เพราะอวัยวะทั้งสามมีบทบาทสำคัญต่อการไหลเวียนเลือดและลมปราณ ดังนี้
- หัวใจเป็นจ้าวแห่งเลือดและควบคุมจิตใจ ความยินดีหรือตกใจเกินไปกระทบต่อหัวใจ มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ ฝัน หงุดหงิด กระวนกรวาย หัวเราะร้องไห้ไม่มีสาเหตุ เป็นโรคจิตอาละวาด
- ตับเก็บสะสมเลือด ลมปราณตับแผ่ซ่าน ความโกรธจัดกระทบต่อตับ ทำให้ลมปราณตับแผ่ซ่านลอยขึ้นบน มีอาการปวดแน่นชายโครง หงุดหงิด ชอบถอนใจ จุกแน่นลำคอ ผู้หญิงระดูผิดปกติ ปวดระดู
- ม้ามควบคุมการย่อยและการดูดซึมอาหาร ความครุ่นคิดหมกมุ่นจะกระทบต่อม้าม มีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเดิน
ความผิดปกติทางอารมณ์อาจมีผลกระทบอวัยวะเดียวหรือกระทบถึงอวัยวะอื่นด้วย เช่น ความครุ่นคิดอาจกระทบต่อหัวใจและม้าม ความโกรธอาจกระทบต่อตับและม้าม เป็นต้น
ความผิดปกติทางอารมณ์สามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นไฟ ทำให้มีอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หน้าแดง ปากขม อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล เป็นต้น ความผิดปกติทางอารมณ์ยังอาจเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยจากการคั่งสะสมของลมปราณ ความชื้น ความร้อน เสมหะ เลือด และอาหาร
ความผิดปกติทางอารมณ์มีผลกระทบทิศทางการไหลเวียนลมปราณของอวัยวะภายใน
ความผิดปกติทางอารมณ์มีผลกระทบทิศทางการไหลเวียนลมปราณของอวัยวะภายใน ทำให้การไหลเวียนเลือดและลมปราณผิดปกติ ดังนี้
1. ความยินดีเป็นอารมณ์ของหัวใจ ความยินดีทำให้ผ่อนคลาย รู้สึกสบายใจ เลือดและลมปราณไหลเวียนสม่ำเสมอ เป็นผลดีต่อร่างกาย แต่ความยินดีเกินขนาดจะกระทบต่อหัวใจทำให้ลมปราณหัวใจกระจัดกระจาย จิตใจจึงไม่อยู่เป็นที่ มีอาการอ่อนเพลีย เกียจคร้าน ไม่มีสมาธิ ถ้าเป็นมากมีอาการใจสั่น กระวนกระวาย อาละวาด
2. ความโกรธกระทบต่อตับ ทำให้ลมปราณแผ่ซ่านมากเกินไป หรือลอยสวนขึ้นข้างบนและพาเอาเลือดไหลขึ้นไปด้วย ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้าแดง หูมีเสียงดัง อาเจียนเป็นเลือด หมดสติ ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญ ความผิดปกติของลมปราณตับมักจะมีผลกระทบอวัยวะอื่น ๆ ด้วย ถ้าลมปราณตับไปกระทบม้าม ทำให้ท้องอืด ท้องเดิน ถ้าลมปราณตับไปกระทบกระเพาะอาหาร ทำให้คลื่นไส้อาเจียน ตับและไตมีกำเนิดเดียวกัน ความโกรธจึงมักกระทบไตด้วย มีอาการหวาดกลัว ความจำเสื่อม ปวดเมื่อยอ่อนแรงที่เอว
3. ความเศร้าโศกเกินไปทำลายลมปราณปอด แล้วไปมีผลกระทบอวัยวะอื่น
- ถ้าลมปราณปอดถูกทำลาย จะเกิดอาการลมปราณปอดพร่อง คือ แน่นหน้าอก หายใจขัด เซื่องซึม ไม่มีแรง
- ความเศร้าโศกไปกระทบลมปราณหัวใจ มีอาการใจสั่น ใจลอย
- ความเศร้าโศกไปกระทบตับ ทำให้เกิดความผิดปกติทางจิต แน่นชายโครง แขนขาชา เกร็ง ชักกระตุก
- ความเศร้าโศกไปกระทบม้าม ทำให้การไหลเวียนของลมปราณของจงเจียวติดขัด อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แขนขาอ่อนแรง
4. ความวิตกกังวลเกินไปทำให้ลมปราณปอดติดขัด มีอาการหายใจเบา พูดเสียงต่ำ ไอ แน่นหน้าอก แล้วไปมีผลกระทบต่อลมปราณของหัวใจ ตับ และม้ามได้
5. ความครุ่นคิดมากเกินไปทำให้ลมปราณม้ามคั่งอยู่ภายใน ลมปราณของจงเจียวติดขัด กระทบการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร มีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด แน่นท้อง ท้องเดิน ถ้าเป็นมากทำให้กล้ามเนื้อลีบ
ความครุ่นคิดเกิดจากม้ามแล้วส่งผลต่อหัวใจทำให้เลือดในหัวใจพร่อง มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ ฝัน ความจำเสื่อม
6. ความหวาดกลัวทำให้ลมปราณไตไม่มั่นคง มีอาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ ฝันเปียก แขนขาไม่มีแรง ปวดเอว ความหวาดกลัวยังทำให้ไตไม่สามารถส่งสารจำเป็นและลมปราณขึ้นไปหล่อเลี้ยงหัวใจและปอด เรียกว่า น้ำกับไฟไม่ปรองดองกัน มีอาการแน่นหน้าอกและท้อง หงุดหงิด นอนไม่หลับ
7. ความตกใจเกินไปทำให้ลมปราณหัวใจสับสน เลือดและลมปราณไม่อยู่ในสมดุล มีอาการใจสั่น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หายใจขัด ถ้าเป็นมากอาจมีอาการโรคจิต
ในทัศนะของศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีแนวคิดว่า "สรรพสิ่งในโลกล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อาศัยเกื้อกูลกัน ขัดแย้งหรือข่มกัน" ซึ่งจะเห็นได้จากทฤษฎีปัญจธาตุ ซึ่งประกอบด้วย "ธาตุทั้ง 5" คือ ไม้ ไฟ ดิน ทอง และ นํ้า
หลักทฤษฎีปัญจธาตุ
สามารถใช้แทนถึงความสัมพันธ์ของหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติและร่างกายของมนุษย์เรา อาทิ ฤดูกาล รสชาติ สีสัน ทิศทาง อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และรวมถึง "อารมณ์ทั้ง 7" (อารมณ์ที่สังกัดธาตุทั้ง 5) ดังนี้
ตัวอย่างเช่น
- อารมณ์กลัว ตกใจมาก ๆ จะมีผลต่อทวารหนัก หรือทวารเบาอาจมีผลทำให้อุจจาระราด หรือ ปัสสาวะราดได้
- คนที่เครียดมากเป็นเวลานาน ๆ ครุ่นคิดมาก มักไม่รู้สึกหิวข้าวและจะมีผลต่อม้าม
- คนที่โกรธรุนแรงจะมีใบหน้าเขียวหมองคล้ำ
- คนที่มีเส้นผมดกดำ จะสะท้อนถึงการทำงานของไตยังดีอยู่
- ไตจะถูกความเย็นกระทบในทิศเหนือ
อารมณ์กับโรคมะเร็ง
หากพูดถึงโรคยอดฮิตที่ทุกคนกลัวกันมากที่สุด หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น "โรคมะเร็ง" อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ความผิดปกติของอารมณ์ทั้ง 7 ไม่ว่าจะน้อยหรือมากจนเกินไปนั้น ล้วนส่งผลให้การทำงานของอวัยวะภายในผิดปกติ เส้นลมปราณติดขัด ทำให้ตับสูญเสียหน้าที่ในการแผ่ซ่านชี่ ม้ามและกระเพาะอาหารสูญเสียหน้าที่ในการควบคุมการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ปอดสูญเสียหน้าที่ในการควบคุมการแผ่กระจายของชี่เข้าออก ไตสูญเสียหน้าที่ในการกักเก็บ หัวใจสูญเสียหน้าที่ในการควบคุมการไหลเวียนของเลือด ท้ายที่สุดจึงเกิดความชื้นและเสมหะอุดกั้น เลือดและชี่ติดขัดไม่สามารถไปไหนได้ เมื่อชี่ติดขัด เลือดคั่ง เสมหะอุดกั้นเป็นเวลานาน จึงเกิดเป็นก้อนและอาจจะกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย ที่เราเรียกว่า มะเร็งเนื้องอก หรือ ซีสต์ ได้
หลายปีที่ผ่านมานักวิชาการได้ทำการศึกษาสรีระวิทยาและพยาธิวิทยาเพื่อค้าหาสาเหตุที่ทำให้อารมณ์มีผลต่อการเกิดมะเร็ง และได้ข้อสรุปมาทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้
1. การถูกกระตุ้นอารมณ์อย่างฉับพลันขั้นรุนแรง มีผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกายให้เกิดการแปรปรวน จึงทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์ขาดการควบคุม และกลายเป็น "มะเร็ง" ในที่สุด
2. ระบบต่อมไร้ท่อทำหน้าที่รักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมรอบเซลล์ แต่หากอารมณ์ถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การส่งสัญญาณประสาทในร่างกายจะผิดปกติ ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ท้ายที่สุดจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมรอบเซลล์ให้ผิดปกติ กลายเป็นมะเร็ง
3. ระบบภูมิคุ้มกันมีความสามารถในการตรวจสอบและทำลายเซลล์ที่ผิดปกติ แต่เมื่ออารมณ์ถูกกระทบ ส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันจะถูกยับยั้ง ทำให้เซลล์ที่ผิดปกติไม่ถูกทำลายและกลายเป็นมะเร็ง
4. อารมณ์ที่ถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงหรือเป็นระยะเวลานาน จะสามารถกดยีนส์ที่ต่อต้านมะเร็งไม่ให้แสดงออก ทำให้ยีนมะเร็งสามารถแสดงออกได้และกลายเป็นมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ป่วยโรคมะเร็งพบว่า มีผู้ป่วยจำนวนมาก ก่อนที่จะตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งล้วนเคยประสบกับภาวะความกดดันทางอารมณ์ หรือการถูกกระทบกระเทือนจิตใจมาก่อน ดังนั้น หนึ่งในการป้องกันโรคมะเร็ง คือ ต้องควบคุม “อารมณ์ทั้ง 7” ข้างต้นนี้ให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์เหล่านี้มากจนเกินไปในทางใดทางหนึ่ง
อารมณ์ทั้ง 7 ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ เพราะว่าไปกระทบ/ทำลายอวัยวะภายในของเราและไปกระทบกระเทือนกับเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายทำให้เกิดโรคขึ้นมา ซึ่งจริงๆอาจจะไม่ก่อโรคมะเร็งก็ได้ อาจจะแค่เจ็บป่วยเป็นโรค เช่น ถ้าเราใช้ความคิดมาก ครุ่นคิด ใช้สมองมาก จะทำให้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ เป็นต้น
อารมณ์กับโรคทางสูตินรีเวช
อารมณ์ทั้ง 7 มีผลต่อการหมุนเวียนของชี่ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย จึงส่งผลให้ชี่ ขึ้นลงหมุนเวียนไม่ปกติ เลือดและชี่จึงทำงานไม่ผสานกัน และกระทบต่อการทำงานของเส้นลมปราณชงและเหริน (เส้นลมปราณที่ควบคุมการมีประจำเดือน) และมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางสูตินรีเวช โดยมีอารมณ์โกรธ ครุ่นคิด และ อารมณ์กลัวเป็นสาเหตุหลัก
โดยไตมีหน้าที่เก็บและปิด (司封藏) เมื่อมีอารมณ์กลัว จะส่งผลให้ชี่ของไตทำงานแปรปรวนเสียสมดุล จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการขาดประจำเดือน แท้งเป็นอาจิณ หรือส่งผลถึงภาวะมีบุตรยาก ดังนั้น ผู้หญิงต้องควบคุมรักษาอารมณ์ให้แจ่มใสอย่างสม่ำเสมอ จึงจะส่งผลให้ประจำเดือนมาปกติผิวพรรณจึงสดใสเปล่งปลั่งอ่อนกว่าวัย
การป้องกัน
1. ฝึกบริหารอารมณ์ การปล่อยวางจิตใจให้เบา รักษาสมดุลทางอารมณ์ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ต้องเผชิญอย่างเหมาะสม บริหารอารมณ์ให้อยู่ในสภาวะสมดุล
2. ฝึกมองโลกแบบอ่อนโยนแต่ไม่ได้หมายความว่าอ่อนแอ ในบางสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีนั้น การมองหาแง่มุมที่ช่วยประคองความรู้สึกของตนเองบ้างแม้เพียงเล็กน้อย ก็ช่วยได้มาก ไม่ยึดติดไปกับทุกเรื่อง หรือ เก็บทุกอย่างไปคิด มีแต่จะเปลืองสมองและใช้พลังงานมากโดยไม่จำเป็น สิ้นเปลืองพลังงานที่ดีในร่างกาย ปล่อยวางในเรื่องที่ตัวเราไม่สามารถควบคุมได้
3. ฝึกการหายใจ ฝึกสมาธิช่วยได้เยอะ การใช้เวลาไปกับการออกกำลังกายเพื่อบริหารเลือดลมและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ต่อม ฮอร์โมนในร่างกายจะช่วยปรับสมดุลในร่างกายทั้งเซลล์ประสาท สมอง เนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายให้ทำงานได้เป็นปกติ
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567