นอนไม่หลับรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  33496 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นอนไม่หลับรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม

หลายๆคนเจอปัญหาไม่สามารถนอนหลับเป็นปกติ เช่น หลับยาก หลับแล้วตื่นง่าย ตื่นแล้วหลับต่อยาก หลับไม่สนิท บางรายที่รุนแรงอาจไม่นอนตลอดทั้งคืน

โรคนอนไม่หลับในมุมมองแพทย์จีน

มีสาเหตุจากหยางไม่เข้าอยู่ในอิน ทำให้เข้านอนลำบากอยู่บ่อยครั้ง ถือเป็นลักษณะสำคัญของโรคนี้  เข้านอนลำบาก หลับไม่ลึก หลับๆตื่นๆ ตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้ หรือ ไม่หลับทั้งคืน

รูปแบบการนอนไม่หลับที่พบบ่อย
- ช่วง Sleep latency นานขึ้น ใช้เวลาเข้านอนเกินกว่า 30 นาที
- Sleep maintenance disorders  ตื่นกลางดึกมากกว่า 2 ครั้ง หรือ ตื่นก่อนฟ้าสาง
- คุณภาพการนอนลดลง หลับตื้น ฝันมาก
- Total sleep time สั้นลง โดยทั่วไปน้อยกว่า 6 ชั่วโมง
- ผลกระทบในตอนกลางวัน (diurnal residual effects)
- เช้าวันต่อมารู้สึกมึนงง ไม่สดชื่น ง่วงนอน อ่อนเพลีย เป็นต้น

ขอบเขตของการเกิดโรค
- โรคประสาท (neurosis) กลุ่มอาการวัยทอง เป็นต้น
- เมื่อมีอาการนอนไม่หลับ เป็นอาการหลักของอาการ

สาเหตุและกลไกการนอนไม่หลับ
มักเกิดจากความวิตกกังวล เครียด การเปลี่ยนแปลงของอารณ์อย่างรุนแรง การป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเรียกอาการนี้ว่า “ShiMian” ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของหัวใจ ตับ ม้าม ไต อินพร่อง และการทำงานของหยางตับมากเกินไป

- แหล่งสร้างไม่เพียงพอ เสินหัวใจขาดการหล่อเลี้ยง
- อินพร่องเกิดไฟ อินไม่เหนี่ยวรั้งหยาง
- หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง เสินหัวใจไม่สงบ
- เสมหะร้อนไฟแกร่ง รบกวนเสินหัวใจ
- หัวใจและเสินไม่สงบ หัวใจขาดการหล่อเลี้ยง



คัมภีรแพทย์จีนโบราณ บันทึกเกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับ 
คัมภีร์เล่ยเจิ้งจื้อฉาย บทปู๋เม่ยลุ่นจื้อ
“ครุ่นคิดส่งผลร้ายต่อม้าม ม้ามและเลือดถูกทำลาย นอนไม่หลับเป็นปีๆ”

คัมภีร์จิ่งเยว่เฉวียนซู บทจ๋าเจิ้งโหมว
“ไตอิน สารจำเป็น และเลือดไม่พอ อิน-หยางไม่ประสาน เสินไม่สงบอยู่ในที่พำนัก”

 คัมภีร์เจิ้งจื้อเย่าเจว๋
“มีเสมหะที่เส้นลมปราณถุงน้ำดี เสินไม่อยู่ในที่พำนัก ทำให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน”

- อินสงบหยางผนึก (阴平阳秘)
- “อินอยู่ภายใน หยางเหมือนยาม หยางอยู่ภายนอก อินทำงาน”
- อาการนอนไม่หลับมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ หัวใจ ตับ ม้าม กระเพาะอาหาร ไต

การวินิจฉัย
1.อาการหลัก :นอนไม่หลับ
ในรายที่อาการเบา จะเข้านอนลำบากหรือตื่นง่าย ตื่นแล้วนอนต่อลำบาก และในรายที่อาการหนักนั้นไม่สามารถหลับทั้งคืน

 2. อาการร่วม :ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
ใจสั่น ขี้ลืม อ่อนเพลียไม่มีแรง

จิตใจกระสับกระส่าย ฝันมาก

3.  ตรวจตามระบบและผลตรวจในห้องปฏิบัติการไม่พบความผิดปกติ

ความต้องการในการนอนของแต่ละช่วงวัย

ความต้องการทางสรีรวิทยา
- วัยกลางคน 7-8 ชั่วโมง
- ทารก 16-20 ชั่วโมง
- ผู้สูงอายุ  6 ชั่วโมง
- ประมาณ 1% ของคนที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง และ 7.5% ที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง

วงจรการหลับ
 24 ชั่วโมง หรือเกือบ 24 ชั่วโมง
- นอนไม่หลับแบบเฉียบพลัน  : ระยะเวลาน้อยกว่า 4 สัปดาห์
- นอนไม่หลับแบบกึ่งเฉียบพลัน : ระยะเวลามากกว่า 4 สัปดาห์ แต่น้อยกว่า 6 เดือน 
- นอนไม่หลับแบบเรื้อรัง : ระยะเวลามากกว่า 6 เดือน

การวินิจฉัยแยกแยะ
โรคนอนไม่หลับ ควรแยกแยะจากการนอนไม่หลับชั่วคราว นอนน้อยเป็นปกติ รวมถึงอาการเจ็บปวดต่างๆที่ทำให้เกิดการนอนไม่หลับ อาการสำคัญของนอนไม่หลับ (不寐) ถือเอาอาการนอนไม่หลับเพียงอย่างเดียวเป็นอาการแสดงหลัก โดยนอนไม่หลับแบบต่อเนื่อง นอนหลับยากขั้นรุนแรง

ถ้านอนไม่หลับชั่วคราว เนื่องจากอารมณ์ผิดปกติ หรือสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับชั่วคราว ไม่ถือว่าเป็นโรค เพียงไม่นานก็สามารถกลับเป็นปกติได้ สำหรับผู้สูงอายุที่นอนน้อย ตื่นเร็วนั้น ส่วนใหญ่เป็นอาการปกติของผู้สูงอายุ  ถ้าหากมีปัจจัยจากการเจ็บปวดที่ทำให้เกิดการนอนไม่หลับ ควรแก้ไขจากสาเหตุโรคเป็นหลัก

การวินิจฉัยแยกแยะรักษาตามกลุ่มอาการ









การวินิจฉัยแยกแยะรักษาตามกลุ่มอาการ
1. ไฟหัวใจลุกโชน
อาการหลักหงุดหงิด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ไม่สงบ
อาการร่วมปากแห้งลิ้นแห้ง ปัสสาวะน้อย สีเข้ม มีแผลในปากหรือลิ้น
ลิ้น :ปลายลิ้นแดง ฝ้าเหลืองบาง
ชีพจร :ชีพจรเร็วแรง (ซี่โหย่วลี่) หรือ ชีพจรเร็วละเอียด (ซี่ซู่)

2. เสมหะร้อนรบกวนภายใน
อาการหลักนอนไม่หลับ หงุดหงิด รำคาญใจ
อาการร่วมหนักศีรษะ ตาลาย แน่นหน้าอก จุกลิ้นปี่ เสมหะคั่งค้าง คลื่นไส้ เรอบ่อย
ลิ้น : ลิ้นแดง ฝ้าลิ้นเหลืองเหนียว
ชีพจร :ชีพจรลื่น เร็ว (ฮว่าซู่)

3. หัวใจและไตไม่ประสาน
อาการหลักใจสั่นไม่สงบ หงุดดหงิด นอนไม่หลับ
อาการร่วมเวียนศีรษะ หูอื้อ ปวดเมื่อยเอว เข่าอ่อน ขี้ลืม น้ำกามเคลื่อน หน้าฝ่ามือ
ฝ่าเท้าร้อน ร้อนเป็นเวลา เหงื่อออกขณะนอนหลับ ปากคอแห้ง สารจิน้อย
ลิ้น :ลิ้นแดงฝ้าน้อย
ชีพจร :ชีพจรละเอียด  เร็ว (ซี่ซู่)

4. หัวใจและม้ามพร่อง
อาการหลักเข้านอนลำบาก ฝันมาก ตื่นง่าย
อาการร่วมใจสั่น ขี้ลืม อ่อนเพลีย ทานน้อย มีอาการเวียนศีรษะตาลาย แขนขาไม่มีแรง
ท้องอืด ถ่ายเหลว สีหน้าซีดไม่มีประกายร่วมด้วย
ลิ้น :ลิ้นซีด ฝ้าบาง
ชีพจร :ชีพจรเล็ก (ซี่) ไม่มีแรง

5. ชี่หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง
อาการหลักนอนไม่หลับ ฝันมาก ตกใจตื่นง่าย ตื่นแล้วหลับต่อลำบาก
อาการร่วมหวาดหวั่น ใจสั่น ตกใจง่าย ระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา หายใจสั้น เหงื่อออกง่าย อ่อนเพลีย
ลิ้น :ลิ้นซีด
ชีพจร :ชีพจรตึงละเอียด (เสียนซี่)

แนวทางการรักษา
1. อายุรกรรมยาจีน นตำรับที่เหมาะสมกับสภาวะผู้ป่วย
ตัวอย่างการจัดตำรับยาจีนตามภาวะอาการ

1.1 ไฟหัวใจลุกโชน
วิธีรักษา - ระบายไฟหัวใจ สงบหัวใจและเสิน
ตำรับยา จูซาอันเสินหวาน

1.2 ชี่ตับติดขัดเปลี่ยนเป็นไฟ
วิธีรักษา - ปรับกระจายชี่ตับ สลายติดขัด ลดไฟสงบเสิน
ตำรับยา - หลงต่านเซี่ยกานทัง เพิ่มลด

1.3 เสมหะร้อนรบกวนภายใน
วิธีรักษา  - บำรุงม้ามสลายเสมหะ ดับร้อนสงบเสิน
ตำรับยา - หวงเหลียนเวินต่านทัง 

1.4 หัวใจและไตทำงานไม่ประสาน
วิธีรักษา - เสริมอินลดไฟ ประสานการทำงานหัวใจและไต
ตำรับยา ลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน  เจียวไท่หวาน

1.5 หัวใจและม้ามพร่อง
วิธีรักษา  - บำรุงหัวใจและม้าม บำรุงเลือดสงบเสิน
ตำรับยา - กุยผีทัง

1.6 ชี่หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง
วิธีรักษา - บำรุงชี่ระงับอาการตกใจ สงบเสิน
ตำรับยา อันเสินติ้งจื้อหวาน ร่วมกับซวนเจ่าเหรินทัง

2. รักษาด้วยการฝังเข็ม ตำรับพื้นฐาน
จุดหลัก เสินเหมิน ซานอินเจียว ซื่อเสินชงโท่วป่ายฮุ่ย อิ๋งถาง จ้าวไห่   
จุดเสริม : 
ไฟหัวใจลุกโชน 
เพิ่มเหลากง เส่าชง เส่าเจ๋อ เพื่อระบายไฟหัวใจ สงบเสินหัวใจ จุดเส่าชงและเส่าเจ๋อเจาะปล่อยเลือด จุดเหลากงใช้วิธีระบายจุดที่เหลือใช้วิธีบำรุง ชี่ตับติดขัดเปลี่ยนเป็นไฟ  : เพิ่มจุดสิงเจียน เสียซี เฟิงฉือ เพื่อกระจายชี่ตับ สลายติดขัด ระบายไฟ สงบเสิน ใช้วิธีระบาย จุดที่เหลือใช้วิธีบำรุง

เสมหะร้อนรบกวนภายใน
เพิ่มจุดจงหว่าน เฟิงหลง เน่ยถิง เพื่อบำรุงม้าม สลายเสมหะ ดับร้อน สงบเสิน ใช้วิธีบำรุงระบายเท่ากัน จุดที่เหลือใช้วิธีบำรุง

หัวใจและไตไม่ประสาน
เพิ่มจุดซินซู ต้าหลิง เซิ่นซู ไท่ซี เพื่อเสริมอิน ลดไฟ ทำให้หัวใจและไตทำงานประสานกัน ทุกจุดใช้วิธีบำรุง

หัวใจและม้ามพร่อง
เพิ่มซินซู ผีซู จู๋ซานหลี่ เพื่อบำรุงหัวใจและม้าม ให้เลือดหล่อเลี้ยงเสิน ใช้วิธีระบาย หรือเพิ่มการทำเข็มอุ่น

ชี่หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง
เพิ่มซินซู ต้าหลิง ต่านซู ชิวซวี เพื่อบำรุงหัวใจและถุงน้ำดี สงบเสิน ใช้วิธีบำรุง หรือเพิ่มรมยา

การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
เข็มหู  ใช้จุดเสินเหมิน หัวใจ ม้าม subcortex  sympathetic ท้ายทอย
แต่ละครั้งใช้ 2-3 จุด กระตุ้นเข็มเบาๆ คาเข็มไว้ 30 นาที ทำวันละ 1 ครั้ง อาจใช้เข็มหูหรือเม็ดหวังปู้หลิวสิงแปะไว้

เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า  ใช้จุดซื่อเสินชง ไท่หยาง เพิ่มเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ใช้คลื่นความถี่ต่ำ กระตุ้นครั้งละ 30 นาที

การรักษาด้วยเข็มผิวหนัง :เส้นลมปราณตูม่าย จากต้นคอถึงเอวและเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะบริเวณแผ่นหลังเส้นที่ 1 ใช้เข็มดอกเหมยเคาะจากบนลงล่าง เคาะจนผิวบริเวณนั้นแดงระเรื่อ ทำวันละ 1 ครั้ง

ตัวอย่างกรณีศึกษา 
ผู้ป่วย แซ่หลี เพศชาย อายุ 33 ปี
เข้านอนลำบาก ประมาณครึ่งปี อาการนี้เป็นๆหายๆช่วงเดือนนี้เป็นมาก เวียนศีรษะ หูอื้อ ปากแห้ง หงุดหงิด น้ำกามเคลื่อน เมื่อยเอว ลิ้นแดงฝ้าน้อย ชีพจรซี่ซู่

การวินิจฉัยและการรักษา:เคสนี้เกิดจากไตอินพร่อง หยางหัวใจมากเกินไป  ใช้น้ำดับไฟ ให้ไตและหัวใจทำงานประสานกัน

ตำรับฝังเข็ม :จุดซินซู เซิ่นซู เสินเหมิน ซานอินเจียว จุดซินซู รมยาโดยขนาดโกฐเท่าเมล็ดข้าว 3 จ้วง ;เซิ่นซู เสินเหมิน ซานอินเจียว ถีชาแบบบำรุงและระบาย ไม่คาเข็มทิ้งไว้

รักษาด้วยการฝังเข็มครั้งที่ 2 :นอนไม่ลึก ตกใจตื่นง่าย  ส่วนอาการอื่นๆดีขึ้น ลิ้นแดงชีพจรละเอียด ยังคงรักษาแบบเดิม มีเพิ่ม-ลด
ตำรับฝังเข็ม :เจว๋อินซู เซิ่นซู เสินเหมิน ซานอินเจียว เน่ยกวน ไท่ซี ที่จุดเจว๋อินซู รมยาก้อนโกฐเท่าเม็ดข้าว 3 จ้วง จุดอื่นถีชาบำรุงระบาย ไม่คาเข็มทิ้งไว้

รักษาด้วยการฝังเข็มครั้งที่ 3 :สามารถเข้านอนได้แล้ว ใบหน้าสดใส จิตใจดีขึ้น เวียนศีรษะและหูอื้อหายแล้ว แต่ปากแห้ง อาการหงุดหงิดก็รักษาหายแล้วเช่นกัน หลังการรักษาไม่มีอาการน้ำกามเคลื่อน แต่ยังอ่อนเพลีย เมื่อยเอว ลิ้นแดงฝ้าน้อย ชีพจรเล็ก ยังคงใช้วิธีรักษาเดิม ให้หัวใจและไตทำงานประสานกัน พร้อมกับปรับสมดุลบำรุงม้ามกระเพาะ บำรุงเลือดหล่อเลี้ยงเสิน เพื่อให้อาการคงที่ ตำรับฝังเข็ม :เน่ยกวน เสินเหมิน ซานอินเจียว ผีซู จู๋ซานหลี่ ไท่ซี ใช้วิธีถีชา ไม่คาเข็มทิ้งไว้

ผู้บันทึกกรณีศึกษา :  อู๋ จ้าว เต๋อและคณะ จากหนังสือประสบการณ์ฝังเข็มลู่โซ่วเยี่ยน สำนักพิมพ์เหรินหมินเว่ยเชิง ปี 2006

การป้องกันและการดูแล
1. สุขอนามัยการนอน ทำจิตใจให้สบาย ขจัดความวิตกกังวล
ดูแลสภาพแวดล้อมการนอนให้เงียบสงบ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆที่มากเกินไป ออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเหมาะสม

2. จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด  การรักษาด้วยการพักผ่อนอย่างถูกวิธี  สงบ และเงียบ


การรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยวิธีการฝังเข็ม
ฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ
แพทย์จีนจะรักษาโดยการฝังเข็มที่จุดหลักและจุดเสริม การรักษาแต่ละครั้งแพทย์จะเลือก 3-5 จุด สำหรับนอนไม่หลับจากฟัวใจและไฟตับมากเกิน เสลดร้อนกระทบหัวใจ ชี่ติดขัดและเลือดคั่งแพทย์จีนจะฝังเข็มกระตุ้นระบาย หัวใจและม้ามพร่องจะฝังเข็มกระตุ้นบำรุง หรือ แพทย์จีนอาจใช้การรมยาที่จุดด้านหลัง สำหรับสาเหตุของหัวใจและไตทำงานไม่ประสาน จะกระตุ้นระบายที่จุดเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีวิธีการฝังเข็มที่หู หรือ ใช้เม็ดหวังปู้หลิวสิงติดตามจุดฝังเข็ม


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : หนังสือการฝังเข็มรมยา
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ISBN 978-616-11-0277-7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้