พัฒนาการและความก้าวหน้าทางเภสัชวิทยาและการปรุงยาจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  9228 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พัฒนาการและความก้าวหน้าทางเภสัชวิทยาและการปรุงยาจีน

การปรับปรุงตำรายา มีการปรับปรุงตำรายาเสินหนงโดย ถาวหงจิ่ง (陶弘景)(Tao Hongjing) (ค.ศ. 452-536) ถาวหงจิ่งได้ตรวจสอบตำรายาเสินหนง และเขียนขึ้นใหม่เป็นตำรา เปิ๋นเฉ่าจิงจี๋จู้ (本草经集注) หรือ Collective Notes to Classic of Materia Medica หรือ การรวบรวมบันทึกเกี่ยวกับตำรายาคลาสสิค เป็นหนังสือ 7 เล่ม กล่าวถึงยาเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ 365 ขนาน เพิ่มอีก 365 ขนาน รวมเป็น 730 ขนาน มีการจัดหมวดหมู่ยาใหม่ตามความแรงของสรรพคุณยา ริเริ่มหลัก “ยาต่างกลุ่มอาจใช้รักษาโรคเดียวกันได้” และกล่าวถึงวิธีการเก็บสมุนไพร เช่น ควรเก็บสมุนไพรช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิหรือปลายฤดูใบไม้ร่วง เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ดอก ผล กิ่ง และใบ จะโตเต็มที่และสุก


ถาวหงจิ่งยังเขียนตำราไว้อีกหลายเล่ม ได้แก่ จูปิ้งทงเหย้าย่ง (诸病通药用) หรือ Effective Recipes หรือ ตำรับยาที่ได้ผล เปิ๋นเฉ่าจิงจี๋จู้ (本草经集注) หรือ Chinese Herbs in Verse หรือ ความเรียงเรื่องสมุนไพรจีน โจ่วโฮ่วไป่อีฟาง (肘后百一方) Supplement of a Hundred Formulae to Keep up Ones Sleeve หรือ ภาคผนวกของร้อยสูตรตำรับเพื่อเก็บไว้ในแขนเสื้อ เป้ย์จี๋โฮ่วฟาง (备急后方) หรือ Formulae for Keeping Good Health and Longevity หรือ สูตรตำรับเพื่อรักษาสุขภาพและทำให้อายุยืน อายุวัฒนะคลาสสิค (Classic of Longevity) และ วิธีเล่นแร่แปรธาตุ (Methods of Alchemy) 



ถาวหงจิ่งเป็นนักปราชญ์ที่มีแนวคิดผสมผสานทั้งพุทธ ขงจื่อและเต๋า แต่เขาทำงานเพียงคนเดียวเท่านั้น  และตำราของถาวหงจิ่งยังมีความเชื่อในเรื่องยาอายุวัฒนะ นอกจากตำราของถาวหงจิ่งแล้ว ในยุคราชวงศ์ถังยังจัดทำตำรายาหลวงขึ้นเผยแพร่ทั่วประเทศ ชื่อ ซินซิวเปิ๋นเฉ่า (新修本草) หรือ The Newly Revised Compendium of Materia Medica (ค.ศ. 659) เป็นหนังสือ 54 เล่ม แบ่งเป็น 3 ภาค


• ภาคแรก เรื่องตำรายา ว่าด้วยธรรมชาติ รส แหล่งกำเนิด วิธีเก็บและเตรียมยา และข้อบ่งใช้
• ภาคสอง เรื่องลักษณะยา ว่าด้วยลักษณะของยาแท้จากภาคต่าง ๆ ของประเทศ
• ภาคสาม เป็นรูปภาพคลาสสิคของยา


ซินซิวเปิ๋นเฉ่า นับเป็นตำรายาหลวงฉบับแรกของโลกที่เกี่ยวกับตัวยาสมุนไพร ก่อนตำรายานูเรมเบิร์ก (Nuremberg Pharmacopoeia) ซึ่งเผยแพร่ใน ค.ศ. 1542 เป็นเวลาถึง 800 ปี ตำรายาฉบับนี้กล่าวถึงวัสดุอุดฟันซึ่งทำจากตะกั่ว เงิน และปรอท เป็นเวลาถึง 1,000 ปีก่อนที่เบลล์ (Bell) ทันตแพทย์ชาวอังกฤษจะคิดค้นโลหะผสมเงินและปรอทเพื่อใช้อุดฟัน นอกจากตำรา 2 ฉบับที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความก้าวหน้าทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ได้แก่ การรวบรวมตำรับยาจากต่างประเทศ และการจัดทำตำรายา สืออู้เปิ๋นเฉ่า (食物本草) หรือ Compendium of Materia Medica for Dietaric Treatment หรือ ตำรายาฉบับย่อเพื่อโภชนบำบัด



การพัฒนาการรักษาเฉพาะโรค ได้แก่

• การรักษามาลาเรียด้วยสมุนไพรฮ่อมดง (常山)(Changshan หรือ Radix Dichroae)
• การรักษาโรคเหน็บชา (Beriberi) โดย เฉินฉางชี่ (陈藏器)(Chen Cangqi) พบว่าการกินข้าวขาวเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคเหน็บชา และ ซุนซือเหมี่ยว (孙思邈)(Sun Simiao) พบว่าการกินข้าวกล้องช่วยรักษาโรคเหน็บชาได้
• การรักษาโรคคอพอกด้วยสาหร่ายทะเล (Marine Algae) สาหร่ายทะเลสีน้ำตาล (Kelp) และต่อมธัยรอยด์จากสัตว์
• การรักษาโรคตามัวในที่มืด (Night Blindness) ด้วยตับสัตว์
• การรักษาวัณโรคด้วยรกสัตว์


การนำวิชาเล่นแร่แปรธาตุมาใช้ในการพัฒนาเภสัชเคมีภัณฑ์ 
เกิดจากความพยายามแสวงหายาอายุวัฒนะตั้งแต่ยุคต้นราชวงศ์ฉิน ทำให้มีการพัฒนาวิชาเล่นแร่แปรธาตุ ส่งผลให้มีการพัฒนาเภสัชเคมีภัณฑ์ในยุคเริ่มแรก


การพัฒนาการปรุงยา มีตำรา เหล่ย์กงเผ้าจื้อลุ่น (雷公炮炙论) หรือ Leis Treatise on Medicinal Preparation หรือ ตำราการปรุงยาของเหล่ย์ แนะนำการปรุงยา เพื่อเพิ่มสรรพคุณ ลดพิษและอาการข้างเคียง รวมทั้งการปรุงยาเพื่อให้ใช้ได้ง่าย และเก็บรักษาได้นาน


การพัฒนาเวชปฎิบัติ ในยุคราชวงศ์จิ้น ราชวงศ์สุย และราชวงศ์ถัง
มีแนวโน้มการพัฒนาแพทย์ให้มีความชำนาญเฉพาะทางแขนงต่าง ๆ ดังนี้



ตำราเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มีการรวบรวมและเขียนตำราชื่อ สือโฮ่วจิ้วจู๋ฟาง (时后救卒方) หรือ Emergency Formulae to Keep up Ones Sleeve หรือ ตำรายาฉุกเฉินสำหรับเก็บไว้ในแขนเสื้อ  โดยเก๋อหง (葛洪)(Ge Hong) ซึ่งนับเป็นตำราปฐมพยาบาลเล่มแรกของโลก ตั้งแต่เมื่อ 1,600 ปี มาแล้ว


ตำราฝังเข็มและรมยา มีตำราฝังเข็มและรมยาชื่อ เจินจิ่วเจี่ยอี่จิง (针灸甲乙 经) หรือ A-B Classic of Acupuncture and Moxibustion หรือตำรา เอ-บี คลาสสิค เขียนในยุคราชวงศ์ฉิน โดย หวงฝู่มี่ (皇甫谧)(Huang Fumi) (ค.ศ. 215–282) เป็นหนังสือ 12 เล่ม 128 บท  แบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรกเป็นทฤษฎีพื้นฐาน ภาคสองเป็นเวชปฏิบัติ นับเป็นตำราสำคัญของการแพทย์จีนในเรื่องฝังเข็มนับจากคัมภีร์เน่ย์จิง  ต่อมาในยุคราชวงศ์ฉินตะวันออก เปากู (鲍姑)(Bao Gu) ภรรยาของเก๋อหง เป็นแพทย์หญิงคนแรกของจีนที่ชำนาญเรื่องฝังเข็มและรมยา


ตำราเฉพาะเรื่องทางศัลยศาสตร์  มีตำราชื่อ หลิวเจวียนจื่อกุ่ยอี๋ฟาง (刘涓子鬼遗方) หรือ Liu Juanzi’s Remedies Left Over by Ghosts หรือ ตำราผีบอกของหลิวเจวียนจื่อ รวบรวมโดย ก้งชิ่งซวน (龚庆宣)(Gong Qingxuan) ในยุคราชวงศ์ฉี เป็นตำราเล่มแรกที่มีเนื้อหาเฉพาะเรื่องทางศัลยศาสตร์ เป็นหนังสือ 10 เล่ม เกี่ยวกับการรักษาบาดแผล ฝี ผิวหนังอักเสบ การบาดเจ็บ และโรคผิวหนังต่าง ๆ มีตำรับการรักษา 140 ตำรับ ประกอบด้วยเรื่องการห้ามเลือด การระงับปวด ยาสมาน การบรรเทาพิษ และการระงับความรู้สึก


ตำราเฉพาะเรื่องการบาดเจ็บ มีตำราชื่อ เซียนโซ่วหลี่ซางซู่มี่ฟาง (仙授理伤续秘方) หรือ Secret Formulae to Treat Traumatic Injury Given by Celestials หรือ ตำรับลับจากเทวดาในการรักษาการบาดเจ็บ เขียนโดยนักพรตเต๋าชื่อ ลิ่นเต้าเหริน (蔺道人)(Lin Daoren) (ค.ศ. 790-850) เป็นตำรารักษาการบาดเจ็บเล่มแรก กล่าวถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคกระดูกหักทั้งชนิดมีแผลปิดและเปิดมีการแนะนำให้ใช้ฝิ่นช่วยระงับความรู้สึกเจ็บปวดในขณะดึงจัดกระดูกให้เข้าที่


ตำราเฉพาะเรื่องทางสูติศาสตร์ มีตำราชื่อ จิงเสี้ยวฉ่านเป่า (经效产宝) หรือ Tested Prescriptions in Obstetrics หรือ ตำรับที่ทดสอบแล้วทางสูติศาสตร์ (ค.ศ. 852) เขียนโดย จ่านยิน (昝殷)(Zan Yin) ในคำนำของตำราบรรยายไว้ว่า ในปีต้าจง (大中)(Dazhong) ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 847  อัครมหาเสนาบดี (PrimeMinister) ไป๋หมินจง (Bai Minzhong) ตระหนักถึงปัญหาการคลอดยากที่พบมากขึ้น จึงส่งคนออกไปตระเวนหาแพทย์ที่ชำนาญทางสูติกรรม ได้พบกับจ่านยิน จึงนำตัวไปให้อัครมหา-เสนาบดีสัมภาษณ์ด้วยตนเอง จ่านยินตอบคำสัมภาษณ์โดยรวบรวมเป็นตำราให้ 3 เล่ม อัครมหาเสนาบดีไป๋พอใจว่าเป็นตำราที่สั้นกระชับดี จึงตั้งชื่อหนังสือให้  ตำรานี้ประกอบด้วยเนื้อหา 52 บท 317 ตำรับ


• เล่มแรก เป็นตำรารักษาภาวะขาดประจำเดือน ตกขาวและความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์
• เล่มสอง ว่าด้วยความผิดปกติในการคลอด
• เล่มสาม ว่าด้วยความผิดปกติหลังคลอด


ตำราเฉพาะเรื่องกุมารเวชศาสตร์  มีตำราชื่อ หลูซฺยงจิง (颅匈经) หรือ Manual of the Fontanel and Head หรือ คู่มือกระหม่อมและศีรษะ  เป็นตำราที่ไม่ทราบชื่อผู้เขียน  นับเป็นตำรากุมารเวชศาสตร์เล่มแรกในยุคราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง เป็นหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรก เป็นเรื่องชีพจรผิดปกติลักษณะต่าง ๆ ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก  เล่มสอง อธิบายสาเหตุและการรักษา


ระบบการศึกษาและการบริหารการแพทย์  ในยุคนี้มีพัฒนาการที่สำคัญ คือค.ศ. 581 ในยุคราชวงศ์สุย มีการก่อตั้ง ไท่อีเวี่ยน (太医院)(Imperial Medical Institute หรือ สถาบันแพทย์หลวง) ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนก คือแผนกยา การนวด และเวทมนต์ (Incantation) ค.ศ. 618 ในยุคราชวงศ์ถัง กิจการแพทย์หลวงซึ่งเดิมจำกัดขอบเขตงานอยู่เฉพาะในวังหลวง ได้ขยายออกไปทั่วประเทศ มีการเริ่มกิจการโรงเรียนแพทย์ เพิ่มระยะเวลาการฝึกอบรมเป็นแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น

• อายุรแพทย์ทั้งระบบ เน้นโรคภายใน (内科)(Internal Medicine) ใช้เวลา 7 ปี
• อายุรแพทย์ภายนอก (外科)(External Medicine) ใช้เวลา 5 ปี- กุมารแพทย์ ใช้เวลา 5 ปี
• แพทย์รักษาโรคตา หู คอ จมูก ใช้เวลา 2 ปี


มีระบบการสอบประจำเดือน ประจำภาค และประจำปี สอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  มีกรรมการจากภายนอกมาร่วมในการสอบไล่ประจำปี ผู้เข้าเรียนแพทย์มักเป็นบุตรหลานข้าราชการ ส่วนที่เรียนเภสัชศาสตร์มักเป็นบุตรหลานชาวบ้าน การศึกษาการแพทย์ของจีนในยุคนี้มีความเป็นระบบมากกว่าระบบของโรงเรียนแพทย์สมัยแรกในอีกสองศตวรรษต่อมาของยุโรป เช่น ที่ซาเลอร์โน ประเทศอิตาลี (ค.ศ. 846) ในยุคราชวงศ์ถัง มีแพทย์ที่มีชื่อเสียง คือ

ซุนซือเหมี่ยว (孙思邈)(Sun Simiao) (ค.ศ. 581-682) ขณะมีอายุ 71 ปี (ค.ศ. 652) ได้แต่งตำรา เชียนจินเอี้ยวฟาง (千金要方) หรือ Thousand Ducat Formulae หรือ ตำรับยาพันเหรียญทอง เป็นหนังสือ 30 เล่ม ต่อมายังแต่งต่ออีก 30 เล่ม ชื่อ ตำราเชียนจินอี้ฟาง (千金翼方) หรือ Supplement to the Thousand Ducat Formulae หรือ ภาคผนวกตำรับยาพันเหรียญทอง นักประวัติศาสตร์การแพทย์ เรียกตำราชุดนี้ว่า “สารานุกรมชุดแรกว่าด้วยเวชปฏิบัติในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนโบราณของจีน (The First Encyclopedia of Clinical Medicine in the History of Traditional Chinese Medicine)”   


ตำราชุดนี้มีจุดเด่นที่สำคัญ ดังนี้- กล่าวถึงตัวยาถึง 4,000 ชนิดในฉบับเดิม และอีก 2,000 ชนิดในภาคผนวก- ให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของแม่และเด็ก- ให้ความสำคัญกับโภชนบำบัด  มุ่งเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ  โดยให้ “ทำงานเบา ๆ เป็นประจำ อย่าหักโหมทำงานหนักเกินกำลัง”  ให้ความเอาใจใส่กับตำรับยาพื้นบ้าน  ส่งเสริมการศึกษาเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ  ซุนซือเหมี่ยวได้รับยกย่องเป็น “เภสัชยราชา (Medicine King)”


หวางถาว (王焘)(Wang Tao) (ค.ศ. 670-755) ได้รวบรวมตำราจากแพทย์ราว 70 คน มาเขียนใหม่ ใช้เวลา 10 ปี เสร็จใน ค.ศ. 752 คือตำรา ไว่ไถมี่เอี้ยวฟาง (外台秘要方) หรือ Arcane Essentials from Imperial Library หรือ ตำราสาระลี้ลับจากห้องสมุดราชสำนัก 
เป็นหนังสือ 40 เล่ม 450 หัวข้อ 1,104 เรื่อง ยา 6,700 ตำรับ การรมยา 7 ชนิด ใน 19 เรื่อง จุดฝังเข็ม 663 จุด ใน 19 เรื่อง  และเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกเรื่องการชิมปัสสาวะในผู้ป่วยเบาหวาน   


 
หมายเหตุ : เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพท์สินทางปัญญาของคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน  ห้ามมิให้คัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้