Last updated: 8 เม.ย 2568 | 145 จำนวนผู้เข้าชม |
นวดกดจุดบรรเทาภาวะตาแห้ง
น้ำตาเป็นของเหลวที่ผลิตมาจากต่อมน้ำตา เพื่อหล่อเลี้ยง บำรุงดวงตาให้มีความชุ่มชื้น และยังเป็นเสมือนเกราะป้องกันดวงตาจากฝุ่นหรือละอองต่างๆ หากร่างกายผลิตน้ำตาได้น้อยลง ก็อาจจะทำให้เกิด “ภาวะตาแห้ง” ได้ มีอาการแสดงคือ รู้สึกแสบหรือระคายเคืองตา น้ำตาไหล ตาพร่ามัว แพ้แสง และอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณรอบกระบอกตาหรือปวดศีรษะ ซึ่งในปัจจุบันสามารถพบผู้ที่มีภาวะตาแห้งมากขึ้นในกลุ่มผู้ที่ใช้สายตาเป็นระยะเวลานานๆ เช่น นักเรียนนักศึกษา ผู้ที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตนอกจากนี้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะตาแห้ง ยกตัวอย่างเช่น การอยู่ในห้องปรับอากาศ การใส่คอนแทคเลนส์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน การใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตา มลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภูมิแพ้บริเวณดวงตา รวมไปถึงการหยอดหรือรับประทานยาที่ส่งผลข้างเคียงทำให้การสร้างน้ำตาลดลง
ในมุมมองการแพทย์แผนจีนภาวะตาแห้งมีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะตับ ตับเปิดทวารที่ตา การมองเห็นของตาจำเป็นต้องอาศัยการหล่อเลี้ยงจากเลือดของตับและจินเย่(ของเหลวและสารน้ำ,津液) หากเลือดของตับและจินเย่ไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ดวงตาขาดการหล่อเลี้ยง แนวทางในการรักษาจึงเน้นการบำรุงเลือดของตับและบำรุงจินเย่ร่วมด้วย
นวดกดจุดบรรเทาภาวะตาแห้ง
วิธีการนวดกดจุด: ใช้นิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วชี้นวดคลึงจุดต่างๆ ให้รู้สึกปวดหน่วงๆ จุดละ 3-5นาที
จุดไท่หยาง(太阳穴,EX-HN5)
ตำแหน่ง: อยู่บริเวณรอยบุ๋มของขมับ โดยวัดจากจุดกึ่งกลางระหว่างหางคิ้วและหางตามาด้านข้างประมาณหนึ่งความกว้างนิ้วมือ
จุดฉวนจู๋(攒竹穴,BL2)
ตำแหน่ง: อยู่บริเวณใบหน้า ตรงรอยบุ๋มขอบกระดูกเบ้าตาบริเวณหัวคิ้ว
จุดซือจู๋คง(丝竹空穴,TE23, SJ23)
ตำแหน่ง: อยู่บริเวณใบหน้า มีตำแหน่งอยู่ตรงรอยบุ๋มที่หางคิ้ว
อวี๋เยา(鱼腰穴,EX-HN4)
ตำแหน่ง: อยู่บริเวณหน้าผาก แนวเดียวกับรูม่านตา ตรงกึ่งกลางคิ้ว
การป้องกันและวิธีดูแลตัวเอง
รักษาความสะอาดบริเวณรอบดวงตา
หลีกเลี่ยงการใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน หากจำเป็นต้องใช้สายตาควรหยุดพักทุก 20 นาที
หากเกิดอาการระคายเคืองตา ควรเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาด้วยการใช้น้ำตาเทียมหยอด
ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นานเกิน 8 ชั่วโมง
หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีมลพิษหรือแสงจ้ามากไป หากจำเป็นควรใส่แว่นกันลมหรือกันแดด
ในกรณีที่อาการรุนแรง หรืออาการไม่บรรเทาลง ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
_____________________________________________________________________
บทความโดย
แพทย์จีน พิมพิชญ์ มุจลินทโมลี (หมอจีน เจี่ย จิ้ง เหวิน)
贾靖雯 中医师
TCM. Dr.Pimpitch Muchalintamolee (Jia Jing Wen)