ทุยหนากับการรักษาโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบทับเส้นประสาท

Last updated: 24 ม.ค. 2568  |  147 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทุยหนากับการรักษาโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบทับเส้นประสาท

ทุยหนากับการรักษาโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบทับเส้นประสาท


https://trainingstation.co.uk/blogs/news/piriformis-syndrome-exercises

โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบทับเส้นประสาท (Piriformis Syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากกล้ามเนื้อสะโพก (Piriformis) กดทับเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic Nerve) ทำให้เกิดอาการปวดลึกๆ บริเวณก้นร้าวไปยังขาด้านหลังและรู้สึกเจ็บเมื่อกดบริเวณดังกล่าว ในบางกรณีอาจมีอาการชาร่วมด้วย ซึ่งอาการจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อนั่งหรือยืนท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการรักษาด้วยทุยหนาสามารถช่วยรักษาและบรรเทาอาการได้ โดยมีแนวทางดังนี้ :

 

ขั้นตอนการรักษาด้วยทุยหนา

1.      การตรวจประเมินสภาพร่างกาย

ตรวจสอบจุดที่ปวดหรือเกร็งของกล้ามเนื้อสะโพก พิสัยการเคลื่อนไหวของขาและสะโพก เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ

2.      การผ่อนคลายกล้ามเนื้อสะโพก

ใช้เทคนิคการนวดทุยหนาเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ Piriformis และกล้ามเนื้อรอบสะโพก เช่น การกด การคลึง การกลิ้งและการลูบตามแนวเส้นลมปราณและเส้นประสาท โดยเน้นที่บริเวณจุดสะโพกด้านข้างและบริเวณเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic Nerve)

3.    การกดจุดกระตุ้นเส้นลมปราณ (Meridian)

กระตุ้นจุดสำคัญ เช่น

             - จุดหวนเที่ยว (Huantiao, GB30) : สังกัดบนเส้นลมปราณถุงน้ำดี ช่วยลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อสะโพก

ตำแหน่ง : อยู่ระหว่างกระดูกปุ่มใหญ่ของโคนขาและกระดูกกระเบนเหน็บ หากให้ง่ายต่อการหา ให้นอนคว่ำ นำข้อเท้าขาข้างหนึ่งวางบนบริเวณข้อพับหลังเข่าของขาอีกข้างหนึ่ง จุดจะอยู่บริเวณสะโพกที่มีรอยบุ๋ม


 https://i0.wp.com/www.miridiatech.com/news/wp-content/uploads/2016/05/GB-30-line-imgae.jpg?ssl=1

 

             - จุดหยางหลิงเฉวียน (Yanglingquan, GB34) : สังกัดบนเส้นลมปราณถุงน้ำดี ช่วยปรับสมดุลกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น

ตำแหน่ง : ตั้งอยู่ด้านนอกของขา (ด้านข้างหน้าแข้ง) อยู่ในร่องด้านหน้าของกระดูกน่อง (Fibula) และกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) ต่ำกว่าข้อเข่าประมาณหนึ่งนิ้วมือ ให้ผู้ป่วยนั่งงอเข่าหรือยืนตรง คลำบริเวณด้านหน้ากระดูกน่องและหากระดูกหัวน่อง (Fibular Head) ซึ่งจะเป็นกระดูกปุ่มใหญ่ที่สัมผัสได้ชัดเจน เลื่อนนิ้วลงมาต่ำกว่ากระดูกหัวน่องประมาณ 1 ชุ่น จะพบร่องเล็ก ๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งของจุดหยางหลิงเฉวียน


 

https://i0.wp.com/www.miridiatech.com/news/wp-content/uploads/2016/08/GB34-line.jpg

 

             - จุดเฉิงฟู (Chengfu, BL36) : สังกัดเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ บรรเทาอาการปวดที่สะโพกและน่องขา

ตำแหน่ง : ตั้งอยู่ที่ส่วนกลางของร่องใต้ก้นหรืออยู่กึ่งกลางระหว่างส่วนโค้งของก้นและจุดเริ่มต้นของต้นขาด้านหลัง ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำหรือนอนตะแคงเพื่อความสะดวกคลำหาจุดกึ่งกลางของเส้นโค้งใต้ก้น ซึ่งเป็นบริเวณที่ต้นขาต่อกับสะโพกจุดเฉิงฟูจะอยู่ตรงบริเวณนั้น



https://nalaayan.com/bl-36-acupuncture-point/

 

      4.   การยืดกล้ามเนื้อ

     หลังจากการนวด ควรมีการยืดกล้ามเนื้อ Piriformis และกล้ามเนื้อรอบสะโพก เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและลด  
     การกดทับเส้นประสาทโดย



              - เริ่มต้นด้วยการนอนหงายบนพื้นหรือเตียงและชันเข่าขึ้นทั้งสองข้าง

              - ยกข้อเท้าซ้ายมาวางไว้บนเข่าขวา ให้ขาสองข้างทำมุมคล้ายเลข 4

              - ใช้มือจับเข่าขวาแล้วดึงเข้าหาลำตัว ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ระหว่างนี้ให้หายใจเข้าออกปกติ

              - กลับสู่ท่าเริ่มต้นโดยชันเข่าทั้งสองข้าง

              - เปลี่ยนเป็นยกข้อเท้าขวามาวางบนเข่าซ้าย และทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน

              - เมื่อทำครบทั้งสองข้าง นับเป็น 1 เซ็ต

              - ทำซ้ำต่อเนื่อง 5-10 เซ็ต เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดความตึงของกล้ามเนื้อสะโพก

      5.   คำแนะนำหลังการรักษา

            - หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นระยะเวลานาน นั่งเก้าอี้ที่นิ่มจนเกินไปหรือการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดการกดทับซ้ำ

            - ฝึกการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น โยคะหรือไทเก็ก

 

ความถี่ในการรักษา

 

ควรทำการรักษาด้วยทุยหนา 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วงแรกและปรับความถี่ตามอาการที่ดีขึ้น

 

ข้อควรระวัง

            หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและวางแผนการรักษา

 

การนวดทุยหนาในกรณีนี้ไม่เพียงจะช่วยบรรเทาอาการ แต่ยังช่วยปรับสมดุลกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ชี่และเลือดตามหลักการแพทย์แผนจีนได้อีกด้วย

 

เอกสารอ้างอิง :

1.     FanFanHua.   Tuinaxue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2008.

2.     WangHeWu.   Zhongyigushangkexue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2007.

------------------------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ฉันทัช เฉิน
陈泰任  中医师
TCM. Dr. Chantouch Chen (Chen Tai Ren)
แผนกกระดูกและทุยหนา
คลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน หัวเฉียว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้