Last updated: 6 ม.ค. 2568 | 76 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดก้นกบจุดปวดยอดฮิตที่หลายคนมองข้าม
อาการปวดก้นกบมักพบได้บ่อยในเพศหญิง อายุประมาน 40 ปี โดยพบมากกว่าเพศชายถึง 5 เท่า เนื่องจากสรีระเชิงกรานของผู้หญิงส่งผลให้เกิดอาการปวดได้ง่ายกว่าเพศชาย สาเหตุของการเกิดอาการปวดสามารถเกิดได้ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง หากอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุลื่นล้มก้นกระแทกพื้น หรือก้นกระแทกขณะทิ้งตัวลงนั่งบนเก้าอี้แข็ง ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดชัดเจนเมื่อออกแรงเบ่งอุจจาระหรือจะรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านั่งหรือยืน เวลานั่งบนเก้าอี้จะไม่สามารถนั่งได้เต็มสะโพกหากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้มีอาการปวดบริเวณอื่นเพิ่มเติมได้ ในกรณีมีอาการปวดแบบเรื้อรังมักเกิดจากการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ หากเกิดจากการนั่งทำงานนาน ๆ มักจะมีอาการปวดเอวหรือปวดในลักษณะของออฟฟิศซินโดรมร่วมด้วย
ในทางแพทย์แผนจีนการปวดก้นกบจะเรียกว่า ซางจิ่น (伤筋) กับปี้เจิ้ง (痹证) คือเกิดจากเลือดลมติดขัด (气滞血瘀)เส้นลมปราณลั่วไม่สมดุล (络脉不和) ดังนั้นการรักษาจะเน้นปรับสมดุลเลือดลม (调节局部气血) และทะลวงเส้นลมปราณจิง (疏通经脉) โดยจะเลือกใช้จุดหุ้ยอิน(会阴,CV1)
เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่สามเส้นลมปราณผ่านจุดหุ้ยอิน(会阴,CV1) เป็นจุดที่อยู่บนเส้นลมปราณเญิ่น(任脉) และเป็นจุดตัด(交会穴) ของเส้นลมปราณตู (督脉) และเส้นลมปราณชง (冲脉) โดยจุดหุ้ยอิน(会阴,CV1) ในผู้ชายจุดนี้จะอยู่กึ่งกลางระหว่างด้านหลังสุดของถุงอัณฑะกับทวารหนัก ในผู้หญิงเป็นจุดที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Posterior labial commissure กับทวารหนัก เรียกได้ว่าเป็นเสมือนก้นของทะเล (海底轮) โดยเป็นจุดตรงข้ามกับจุดไป่หุ้ย (百会, GV20)
หากใช้ทั้งสองจุดนี้ร่วมกันสามารถช่วยในการรักษาอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ โดยเฉพาะจุดหุ้ยอิน(会阴,CV1) สามารถช่วยรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฝันเปียก กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ คันรอบทวารหนัก ต่อมลูกหมากโต โดยจุดหุ้ยอิน(会阴,CV1) จะเป็นจุดหลักในการรักษาแต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพจะใช้ร่วมกับจุดอื่น ๆ ตามลักษณะอาการของผู้ป่วย
วิธีการกดจุดหุ้ยอิน(会阴,CV1) ด้วยตนเอง ผู้ป่วยสามารถทำการนอนตะแคง อาจงอเข่าทั้งสองข้างหรือขาก่ายหมอนข้าง โดยให้มือข้างที่ถนัดอยู่ด้านบนลำตัว จากนั้นใช้แขนข้างที่ถนัดเอื้อมมือกดคลึงบริเวณจุดหุ้ยอิน(会阴,CV1) และรอบๆจุดที่มีอาการปวดเป็นลักษณะก้นหอยประมาน 3-5 นาที สามารถแบ่งทำวันละประมาน 5-10 ครั้ง อาจใช้น้ำมันหรือยาหม่องที่ไม่มีฤทธิ์แสบร้อนหรือส่วนผสมของพริกช่วยในการกดคลึง หลีกเลี่ยงการนั่งพื้นหรือเก้าอี้แข็ง ๆ ควรนั่งเก้าอี้ที่มีเบาะรองนุ่มๆเสมอ และไม่ควรนั่งเอนหลังมากจนเกินไป เนื่องจากท่านั่งเอนหลังจะยิ่งส่งผลให้แรงของลำตัวกดไปบริเวณก้นกบมากเป็นพิเศษ ในทุกๆเช้าและก่อนนอนควรนั่งแช่น้ำอุ่นประมาน 10-15 นาทีเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆบริเวณก้นกบคลายตัวได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอาการอื่นๆเพิ่มเติม
--------------------------------------------
แพทย์จีน ธนภรณ์ ธนศรีวนิชชัย (หมอจีน หลิว ฉาย เผิง)
刘财蓬 中医师
TCM. Dr. Tanaporn Tanasrivanichchai (Liu Cai Peng)
แผนกกระดูกและทุยหนา
--------------------------------------------
อ้างอิง
朱丹,陈欢,仲远明.仲远明教授针刺“会阴”治疗尾骨痛医案及其体会.Journal of External Therapy of TCM Jun 2022,31(3)
การฝังเข็ม-รมยา เล่ม 3 (การฝังเข็มรักษาอาการปวด) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2554
2 ม.ค. 2568
15 พ.ย. 2567
2 ม.ค. 2568