Last updated: 26 พ.ย. 2567 | 44 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคฝีดาษลิง ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะบนทวีปแอฟริกาเกิดจากเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยเชื้อไวรัสนี้แพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้
การติดต่อจากสัตว์สู่คน
ฝีดาษลิง ติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือการกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ไม่ปรุงสุก โดยในทวีปแอฟริกาพบโรคฝีดาษลิงในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู และลิงบางชนิด แหล่งโรคตามธรรมชาติยังไม่ชัดเจนแต่มีความเป็นไปได้สูงที่สุดที่จะเป็นกลุ่มสัตว์ฟันแทะ
การติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์
ฝีดาษลิงติดต่อจากมนุษย์จากการสัมผัสสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อ บาดแผล หรือสิ่งของที่ผู้ติดเชื้อสัมผัส การติดเชื้อผ่านละอองฝอยมักต้องใช้เวลาในการสัมผัสตัวต่อตัว จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อเพิ่มโอกาสติดเชื้อมากขึ้น มีโอกาสติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกผ่านทางรกหรือระหว่างคลอด
อาการของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) โรคฝีดาษลิงมักมีระยะเพาะเชื้อ 7-14 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการ โดยอาการของโรคแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
- อาการโรคฝีดาษลิง ระยะแรก (0-5 วัน) จะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโตเป็นอาการที่แยกโรคฝีดาษลิงออกจากฝีดาษและสุกใสได้ เนื่องจากโรคดังกล่าวมักไม่พบต่อมน้ำเหลืองโต
- อาการโรคฝีดาษลิง ระยะผื่น (1-3 วันหลังจากมีไข้) ผื่นจะมีมากที่ใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว สามารถพบที่บริเวณมือ เท้า เยื่อบุในช่องปาก อวัยวะเพศ เยื่อบุตาขาวและกระจกตาได้ ลักษณะของผื่นจะเริ่มจากเป็นตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น กลายเป็นตุ่มน้ำใสรู้สึกคัน แสบร้อน และกลายเป็นตุ่มหนอง หลังจากนั้นตุ่มจะแห้งเป็นสะเก็ดและหลุดไป ในรายที่เป็นมากตุ่มอาจรวมกันเป็นขนาดใหญ่และหลุดลอกไปพร้อมผิวหนังได้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายเองได้ใน 2-4 สัปดาห์ อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย บางรายมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้
ในมุมมองแพทย์จีน
ลักษณะผื่นฝีดาษลิงเป็นลักษณะตุ่มน้ำใส ต่อมากลายเป็นตุ่มหนอง ในบันทึกได้ให้คำนิยามว่าเป็นผื่นที่เรียกว่า “痘”(โต้ว) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรค天花(ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ) พบบันทึกกล่าวถึงโรคนี้ย้อนหลังนานที่สุดคือสมัยราชวงศ์จิ้น ในคัมภีร์ 《โจ่วโฮ้วจิ้วจู๋ฟาง》 ของเก๋อหงได้ปรากฏคำว่า“虏疮”(หลู่ชวง)ขึ้น หลังจากนั้นก็มีการใช้คำที่แตกต่างกันไปเรื่อยมาจนถึงบันทึกสมัยหมิงชิงมีการใช้คำว่า“痘疹”(โต้วเจิ่น) กันเป็นส่วนมาก ในสมัยราชวงศ์ชิงคัมภีร์《อีจงจินเจี้ยน·โต้วเจิ่นซินฝ่าเย้าเจว๋》มีการอธิบายอาการของโรคว่า ในระยะแรกของโรคโต้วเจิ่น อาการของโรคคล้ายกับ伤寒(ไข้ไทฟอยด์) มีไข้ตัวร้อนเกิดขึ้นฉับพลัน ซึ่งมีอาการเหมือนกับระยะแรกของฝีดาษลิง มีไข้ หนาวสั่น โดยการรักษาโรคฝีดาษลิงจะใช้ตามวิธีการรักษาโต้วเจิ่น
สาเหตุ
อู๋โย่วเข่อบันทึกในคัมภีร์《เวินอี้ลุ่น》ได้เกิดทฤษฎีใหม่ว่า“戾气”ลี่ชี่ เน้นหนักว่าโรคระบาดและ伤寒(ไข้ไทฟอยด์)นั้นแตกต่างกันสิ้นเชิง โรคระบาดไม่ได้เกิดจากลม ความเย็น ความร้อน หรือความชื้นเป็นสาเหตุ โรคนี้เมื่อเข้าร่างกายแล้วทำให้เกิดโรคและเกิดการระบาด
การรักษาแพทย์จีน
การรักษาจะเน้นการรักษาตามอาการทางคลินิก โดยอิงจากการรักษา โต้วเจิ่น จากการปฏิบัติการทางคลินิกและการอภิปรายทางวิชาการ หลักการรักษาประกอบไปด้วย ยาฤทธิ์เย็นที่มีคุณสมบัติเย็น และยาฤทธิ์อุ่นที่มีคุณสมบัติบำรุง
ในระยะแรกของโรคฝีดาษลิง จะใช้กลุ่มยาฤทธิ์เย็นที่มีคุณสมบัติเย็น พอระยะต่อมา จะใช้กลุ่มยาบำรุงร่างกายเสริมอิน
แบ่งกลุ่มอาการได้ 3 ระยะ
1. ระยะไข้หรือก่อนออกผื่น - ปัจจัยเสียชี่กระทบชั้นเว่ย
วิธีการรักษา :ยารสเผ็ดฤทธิ์เย็นระบายร้อนขับชื้น
ตำรับยา :ตำรับยาอิ๋นเชี่ยวส่าน(银翘散)
2. ระยะผื่น – ปัจจัยเสียชี่กระทบชั้นอิ๋ง
วิธีการรักษา :ระบายร้อนขับพิษกระทุ้งผื่น
ตำรับยา :ตำรับยาเซิงหมาเก๋อเกินทัง(升麻葛根汤), ไฉหูส่านจือ(柴胡散子)
3. ระยะฟื้นตัว – แผลเปื่อย เจิ้งชี่อ่อนแอ
วิธีการรักษา :ประคับประคองเจิ้งชี่เสริมอินขับปัจจัยเสียชี่
ตำรับยา :ตำรับยาเซิงหมาเปียเจี่ยทัง(升麻鳖甲汤) , ชิงอิ๋งทัง(清营汤), ซีเจี่ยวตี้หวงทัง(犀角地黄汤)
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน สมเกียรติ พัดอินท (หมอจีน หวง จื่อ เวย)
黃紫薇 中医师
TCM. Dr. Somkiat Padint (Huang Zi Wei)
แผนกอายุรกรรมภายนอก 外科 (External TCM Department)
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567