Last updated: 15 พ.ย. 2567 | 21 จำนวนผู้เข้าชม |
ในปัจจุบันการใช้ยาสมุนไพรจีนเพื่อการรักษาโรคต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยความรู้ของประชาชนทั่วไปก็มักจะนิยมใช้ยาสมุนไพรชนิดเดียวในการดูแลรักษาโรค เช่น การดื่มน้ำเก๊กฮวยเพื่อช่วยแก้อาการร้อนใน และบำรุงสายตา การทานลูกเดือยเพื่อบำรุงระบบย่อยและขับความชื้นในร่างกาย เป็นต้น
แต่ในทางการแพทย์แผนจีนนั้นมีอีกวิธีหนึ่งที่นิยมอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ตรงจุดและครอบคลุมการรักษา ก็คือการตั้งตำรับยาจีน ซึ่งเป็นการนำเอายาสมุนไพรจีนมากกว่า 1 ชนิดมาใช้ร่วมกัน ซึ่งจะได้ประสิทธิผลในการรักษาที่ดียิ่งขึ้นกว่าการใช้ยาเดี่ยวเป็นเท่าทวีคูณ
แต่การตั้งตำรับยาจีนให้เหมาะสมกับบุคคลนั้น ๆ มีความยากมากพอสมควร ซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง จำเป็นจะต้องมีการตรวจวินิจฉัยด้วยทักษะทั้ง 4 (มอง ดม -ฟัง ซักถาม คลำ-จับชีพจร) โดยแพทย์จีนเสียก่อน จึงจะสามารถจัดยาที่เหมาะสมกับบุคคลนั้น ๆ ออกมาได้ หากจะเปรียบเทียบในชีวิตประจำวัน เหมือนเราไปตัดเสื้อ ช่างก็จะมีการวัดตัวและตัดชุดออกมาให้พอดีตัวเรา เพื่อให้เมื่อใส่ออกมาจะได้ทรงที่ดูดีที่สุด
ดังนั้นแล้วคำถามที่ว่ายาจีนจากรุ่นสู่รุ่นดีหรือไม่ ใบสั่งยาเก่า ๆ โบราณ ๆ ที่คนเฒ่าคนแก่เก็บไว้ส่งต่อให้ลูกหลานนั้นดีรึเปล่า ก็คงไม่ใช่คำถามที่ตอบยากอะไร เพราะเราก็จะทราบแล้วว่าใบสั่งยาใบนี้ ถูกเขียนขึ้นเพื่อบุคคลนั้น ๆ ในสมัยนั้น ๆ และในเหตุการณ์ป่วยนั้น ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ยาที่จะสามารถนำมาใช้ได้กับทุกคนในทุก ๆ สถานการณ์ได้ หรือทุก ๆ คนได้ แพทย์จีนมีคำกล่าวว่า “โรคเดียวกันรักษาต่างกัน” เหตุผลคือ โรคเดียวกันมีสาเหตุมากมาย ถึงแม้การแสดงออกของโรคเหมือนกัน แต่ก็มีสาเหตุของโรคแตกต่างกันได้ การรักษาโรคจึงต้องมีความแตกต่างกันตามแต่สาเหตุ มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาชุดสูทของคุณทวดมาใส่ ซึ่งไม่มีทางดีกว่าพอดีกว่าการไปวัดตัว และตัดเสื้อสูทออกมาเป็นของเราโดยเฉพาะแน่นอน
ใบสั่งยาหรือสูตรยาจากสมัยโบราณก็ไม่ใช่จะไม่มีประโยชน์เสียทีเดียว เทคนิคในการเลือกใช้ยามาจับคู่กัน สัดส่วนยาที่เลือกใช้ในตำรับ แนวคิดในการรักษาโรคนั้น ๆ ของแพทย์แผนจีนผู้นั้น ถูกถ่ายทอดออกมาอยู่ในตำรับยานั้น ๆ แล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากที่แพทย์แผนจีนยุคหลัง ๆ จะนำไปเรียนรู้และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบุคคล เวลาและสถานที่ต่อไป หากนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องเดิม ก็เหมือนเรานำเอาเสื้อสูทของคุณทวดออกมาศึกษาถึงศิลปะและเทคนิคการตัดเย็บและนำมาแก้ทรงใหม่ให้พอดีกับเราอีกครั้งนั่นเอง
สรุปแล้วการนำเอาใบสั่งยาโบราณที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาใช้ในยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่ผิด หากแต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์แผนจีน เพื่อจะได้ช่วยวิเคราะห์ให้ว่าเหมาะสมกับบุคคลผู้นั้นหรือไม่ หากไม่เหมาะสมควรจะต้องเพิ่ม-ลดยาอย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการรักษาและปลอดภัยต่อคนไข้เป็นสำคัญ
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน วรพงศ์ ชัยสิงหาญ (หมอจีน เฉิน จู เซิง)
陈株生 中医师
TCM. Dr. Worapong Chaisingharn (Chen Zhu Sheng)