กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือในผู้สูงอายุ (Carpal tunnel syndrome in the Elderly) ส่วนที่ 1

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  233 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือในผู้สูงอายุ (Carpal tunnel syndrome in the Elderly) ส่วนที่ 1

อาการชาบริเวณมือเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชามือคือเกิดจากการกดทับของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ที่อยู่ภายในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) การเสื่อมสภาพของโครงสร้างบริเวณโพรงข้อมือในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการใช้งานข้อมือได้ง่ายขึ้น นำไปสู่ความดันในโพรงข้อมือมากขึ้นและกดทับเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) เกิดกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือในผู้สูงอายุ (Carpal tunnel syndrome in the Elderly)

ผู้สูงอายุในมุมมองทางการแพทย์แผนจีน
ในคัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายของแต่ละช่วงวัย ด้วยฐานเลข 7 ในผู้หญิงและฐานเลข 8 ในผู้ชาย กล่าวคือร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 7 ปีในผู้หญิงและทุกๆ 8 ปีในผู้ชาย ดังนี้

- ช่วงที่ 1-3 (ผู้หญิง 7-21 ปี, ผู้ชาย 8-24 ปี) เป็นช่วงของการเจริญเติบโตของร่างกาย ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน ผู้ชายเริ่มมีอสุจิ
- ช่วงที่ 3-5 (ผู้หญิง 21-35 ปี, ผู้ชาย 24-40 ปี) เป็นช่วงที่ร่างกายสมบูรณ์เต็มที่
- ช่วงที่ 5-7 (ผู้หญิง 35-49 ปี, ผู้ชาย40-64ปี) เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มเสื่อมถอย 

ผู้หญิงเมื่อถึงวัยอายุ 35 ปี พลังหยางหมิง (阳明) เริ่มถดถอย ใบหน้าเริ่มคล้ำและผมเริ่มร่วง ; อายุ 42 ปี พลังลมปราณหยาง 3 เส้น (三阳经) เริ่มถดถอย ใบหน้าหมองคล้ำและผมเริ่มขาว ; อายุ 49 ปี เญิ่นม่าย (任脉) พร่อง ไท่ชง (太冲) ถดถอย รอบเดือนเริ่มหมด รูปร่างเปลี่ยนและไม่มีบุตร

ผู้ชายเมื่อถึงวัยอายุ 40 ปี ชี่ของไตเริ่มถดถอย ผมร่วงและเหงือกร่น ; อายุ 48 ปี หยางชี่ที่ขึ้นข้างบนเริ่มถดถอยลง ใบหน้าหมองคล้ำและผมเคราหงอก ; อายุ 56 ปี ชี่ของตับเริ่มถดถอย เอ็นขยับเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว หมดวัยเจริญพันธุ์ การทำงานของไตเริ่มถดถอยและรูปร่างเปลี่ยน ; อายุ 64 ปี ฟันและผมร่วง เชื้ออสุจิจะมีปริมาณลดลง เมื่อพลังของไตลดลง จะส่งผลให้ความสามารถในการเจริญพันธุ์หมดไปด้วย

จะเห็นได้ว่า ไต กับการเสื่อมวัยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งมองได้ว่าไตมีสำคัญต่อร่างกาย เป็นรากฐานของชีวิตแต่กำเนิดและมีความเกี่ยวข้องกับร่างกายหลายระบบ เช่น ระบบสมอง กระดูก ไขกระดูก ผม หู การขับถ่ายและระบบสืบพันธุ์  เมื่อไตทำงานถดถอยลง จะส่งผลกระทบต่อการเก็บกักสารจำเป็น “สารจิง”  เมื่อ “สารจิง” ลดลง ร่างกายเสื่อมถอยลง ทำให้เกิดการชราภาพเร็วขึ้น

กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS)

กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยทางคลินิก เป็นโรคที่เกิดจากเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ที่อยู่ภายในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) ถูกกดทับ ทำให้มีอาการชาและปวดบริเวณนิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อย (3 นิ้วครึ่งฝั่ง lateral) เป็นกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทที่พบได้บ่อยทางคลินิก พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

กายวิภาคศาสตร์ของโพรงข้อมือ
โพรงข้อมือ (Carpal tunnel) คือช่องที่อยู่ด้านหน้า (Volar side) ของข้อมือ เป็นช่องทางติดต่อระหว่างแขนท่องล่าง (Forearm) ไปยังฝ่ามือ (Palm) ขอบเขตด้านหลังเป็นกระดูกข้อมือ (Carpal bones) ด้านหน้าเป็น Transverse carpal ligament ภายในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) ประกอบด้วยเส้นเอ็น Flexor pollicis longus เส้นเอ็น Flexor digitorum superficialis เส้นเอ็น Flexor digitorum profundus และเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ซึ่งเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) จะอยู่ในชั้นตื้น อยู่ระหว่างเส้นเอ็น Flexor pollicis longus เส้นเอ็น Flexor digitorum superficialis และ Transverse carpal ligament 

กลไกของการเกิดกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

สาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

1. การบาดเจ็บบริเวณข้อมือ ครอบคลุมทั้งกระดูกหัก กระดูกเคลื่อน การกระแทก อาการเคล็ดที่ทำให้รูปร่างลักษณะของโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้พื้นที่บริเวณโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) แคบลง
2. การอักเสบชนิดเรื้อรังของเส้นเอ็นโดยรอบในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) เช่น ภาวะถุงข้อต่อบวมอักเสบ (Bursitis) และเส้นเอ็นอักเสบ (Tendinitis) เป็นต้น 
3. มีก้อนเบียดทับ เช่น ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion cyst) เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (Benign tumor) เนื้องอกชนิดร้ายแรง (Malignant tumor) ที่ทำให้พื้นที่ในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) แคบลง
4. การบาดเจ็บชนิดเรื้อรัง เช่น การงอหรือเหยียดข้อมือเกินพิสัยปกติหรือการเสื่อมของข้อมือ กระดูกข้อมือมีกระดูกงอก (Bone spur) 
5. เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ มักพบได้บ่อยในสตรีระยะตั้งครรภ์ ให้นมบุตรและหมดประจำเดือน และพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน Type 2 Diabetes mellitus และ Hypothyroidism 

ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทำให้พื้นที่บริเวณโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) ตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดการเสียดสีซ้ำไปซ้ำมาระหว่างเส้นเอ็น Flexor digitorum superficialis เส้นเอ็น Flexor digitorum profundus เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) และ Transverse carpal ligament เมื่อเกิดการเสียดสีเส้นเอ็น (Tendon) และเยื่อหุ้มไขข้อ (Synovial membrane) จึงเกิดการบวมและหนาตัวขึ้น เกิดการกดทับเส้นประสาท (Median nerve)

ความดันในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) สูงขึ้น ค่าความดันในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) ของคนปกติมีประมาณ 2.5-10 mmHg ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือจะสูงประมาณ 30 mmHg ซึ่งความดันขนาด 20-30 mmHg จะปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด(Venous blood flow) และลดการส่งสัญญาณประสาท (Axonal transport) ของเส้นประสาท ทำให้ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดได้ทั้งจากการกดทับโดยตรงหรือการขาดเลือดไปเลี้ยงเส้นประสาท

อาการของกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

ในระยะเริ่มต้น จะมีอาการกดทับของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) เป็นหลัก บริเวณนิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อย (3 นิ้วครึ่งฝั่ง Lateral) มีความรู้สึกผิดปกติ ชา ปวดคล้ายเข็มแทง ปวดแสบร้อนหรือมีอาการบวม โดยอาจไม่จำเป็นต้องทีอาการทุกนิ้วที่กล่าวมาก็ได้ อาจมีอาการเพียงแค่ 1-2 นิ้วก็ได้ แรงในการกำมือ การกางนิ้วโป้งออกและหุบนิ้วโป้งเข้าหามือลดลง ขณะที่หยิบจับสิ่งอาจรู้สึกอ่อนแรงเฉียบพลันจนไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ ในเวลากลางคืน เช้าตรู่หรือเมื่อมีอาการล้าจากการใช้งานอาการจะรุนแรงขึ้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือใช้งานมืออาการจะทุเลาลง เมื่ออากาศเย็นหรือเข้าสู่ฤดูหนาวนิ้วมือข้างที่มีพยาธิสภาพอาจรู้สึกเย็นหรือผิวหนังเปลี่ยนสี

ในระยะท้าย สามารถพบกล้ามเนื้ออุ้งมือฝั่งนิ้วโป้ง (Thenar eminence) ลีบหรือกำลังลดลง แรงนิ้วโป้งในการจีบ กางออกและหยิบจับลดลง นิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อย (3 นิ้วครึ่งฝั่ง Lateral) ไม่มีความรู้สึก ระดับความรุนแรงในการลีบของกล้ามเนื้อแปรผันตรงกับระยะการดำเนินของโรค โดยทั่วไปกล้ามเนื้อจะเริ่มลีบประมาณ 4 เดือนขึ้นไป การรับความรู้สึกบริเวณนิ้วมือลดลง อาการชารุนแรงและถี่ขึ้นและมีอาการชาขณะที่ผู้ป่วยหลับไปแล้ว (Nocturnal pain) จนกระทั่งชาตลอดเวลา เหงื่อออกบริเวณมือลดลง ผิวหนังแห้งเป็นขุย

การตรวจร่างกาย 

1. พบการรับความรู้สึกลดลง และการแยก 2 Point discrimination จะกว้างขึ้นในบริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ยกเว้นกล้ามเนื้ออุ้งมือฝั่งนิ้วโป้ง (Thenar eminence) 

2. กำลังความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ Abductor pollicis brevis ลดลง อาจพบกล้ามเนื้อลีบในระยะท้าย

3. การตรวจ Tinel's test (叩诊试验) ให้ผลเป็นบวกเป็นการตรวจเพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
วิธีการ :  เมื่อมีการเคาะเบาๆบริเวณโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) ที่มีเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) อยู่  ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อ Flexor carpi radialis และกล้ามเนื้อ Palmaris longus 
การแปลผล : ผลการทดสอบเป็นบวกคือผู้ป่วยมีอาการชาหรือปวดแปล๊บบริเวณนิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อย (3 นิ้วครึ่งฝั่ง lateral) ตามแนวที่เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) หล่อเลี้ยง 

4. การตรวจ Modified Phalen's test (改良屈腕试验)  ให้ผลเป็นบวกเป็นการตรวจเพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
วิธีการ :  จัดให้ผู้ป่วยวางข้อศอกทั้งสองข้างบนโต๊ะ พร้อมกับให้งอข้อมือทั้งสองข้างหรือดันหลังมือมาชนกันเป็นเวลา  60 วินาที
การแปลผล : ผลการทดสอบเป็นบวกคือผู้ป่วยมีอาการชาหรือปวดแปล๊บบริเวณนิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อย (3 นิ้วครึ่งฝั่ง lateral) ตามแนวที่เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) หล่อเลี้ยง

5. การตรวจ Durkan’s test / Carpal compression test (手压腕部试验) ให้ผลเป็นบวก เป็นการตรวจเพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
วิธีการ :  กดบริเวณ Proximal part ของโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) เป็นเวลา 30 วินาที
การแปลผล : ผลการทดสอบเป็นบวกคือผู้ป่วยมีอาการชาหรือปวดแปล๊บบริเวณนิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อย (3 นิ้วครึ่งฝั่ง lateral) ตามแนวที่เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) หล่อเลี้ยง

6. การตรวจคลื่นไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnostic study)
การตรวจ nerve conduction velocity (NCV) และ electromyography (EMG) จะพบความเร็วในการนำกระแสประสาทของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ลดลง

7. การตรวจภาพทางรังสี
การเอกซเรย์ (X-ray) ส่วนมากไม่พบความผิดปกติ ในบางครั้งอาจพบกระดูกงอกบริเวณข้อมือ กระดูกข้อมือ
หักหรือเคลื่อน 

การวิเคราะห์แยกโรค 

1.โรคกระดูกต้นคอเสื่อมชนิดกดทับรากประสาท (Cervical spondylotic radiculopathy) เมื่อรากประสาทบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอถูกกระตุ้น บริเวณที่ชาจะไม่ได้อยู่แค่บริเวณนิ้วมือ แต่จะมีอาการปวด ชาบริเวณคอและแขนร่วมด้วย Eaten’s test (臂丛神经牵拉试验) และ Cervical compression test (叩顶试验) ให้ผลเป็นบวกร่วมกับมีอาการบริเวณคอและแขน

2.โรคปลายประสาทอักเสบ (Polyneuritis) จะมีอาการทั้งสองข้างและบริเวณที่ชาจะไม่ได้อยู่แค่บริเวณที่เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) หล่อเลี้ยง ยังรวมทั้งบริเวณที่เส้นประสาทเรเดียล (Radial nerve) และเส้นประสาทอัลน่า (Ulnar nerve) หล่อเลี้ยงด้วย

การรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

กลไกของการเกิดกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ในทางการแพทย์แผนจีนกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ Carpal tunnel syndrome : CTS (腕管综合症) จัดอยู่ในกลุ่มอาการการบาดเจ็บของเส้นเอ็น “伤筋” บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางด้านฝ่ามือและข้อมือด้านในเป็นบริเวณที่มีเส้นลมปราณมือเจวี๋ยอินเยื่อหุ้มหัวใจ (手厥阴心包经) และเส้นลมปราณมือไท่อินปอด (手太阴肺经) พาดผ่าน เมื่อเกิดการใช้งานบริเวณข้อมือด้านในเป็นระยะเวลานาน ออกแรงมากเกินไปหรือเกิดอุบัติเหตุต่างๆ จะทำให้เส้นลมปราณได้รับบาดเจ็บ ประกอบกับหากมีความเย็น ความชื้นมากระทำร่วมกันเกิดการอุดกั้นการไหลเวียนของเส้นลมปราณ จะทำให้ชี่และเลือดเกิดการไหลเวียนติดขัด เมื่อชี่และเลือดไม่สามารถหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อได้จึงทำให้เกิดอาการปวดหรือชาขึ้นมา

หลักในการรักษา : คลายเส้นเอ็นทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง (舒筋通络、活血化瘀)

การทุยหนา : ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น คลายความอ่อนล้า คลายความหนาแน่นของพังผืด ช่วยให้ข้อต่อยืดหยุ่น ลดโอกาสเสี่ยงของอาการปวดเกร็งหรือเป็นตะคริว หัตถการทุยหนามีขั้นตอนดังนี้

1. หัตถการคลายกล้ามเนื้อ : ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง ยืดมือออกมาในลักษณะหงายฝ่ามือบนโต๊ะ แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างที่มีพยาธิสภาพ ใช้ท่านิ้วดัน (อี้จื่อฉ่านทุยฝ่า一指禅推法) ลงบนบริเวณท่อนแขนด้านล่างจนถึงข้อมือซึ่งเป็นแนวของเส้นลมปราณมือเจวี๋ยอินเยื่อหุ้มหัวใจ (手厥阴心包经) ซ้ำ 3-4 รอบ เน้นบริเวณโพรงข้อมือและกล้ามเนื้ออุ้งมือฝั่งนิ้วโป้ง หัตถการควรเริ่มจากน้ำหนักมือที่เบา หลังจากนั้นค่อยๆเพิ่มน้ำหนักมือ

2. หัตถการรักษา : ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างที่มีพยาธิสภาพ ใช้มือทั้งสองข้างจับมือผู้ป่วยในลักษณะให้มือข้างหนึ่งจับมือฝั่งเรเดียลและมืออีกข้างหนึ่งจับมือฝั่งอัลน่า โดยนิ้วโป้งทั้งสองข้างกดบริเวณข้อมือด้านหลังมือ ใช้ท่าดึงเหยียด (ป๋าเซินฝ่า拔伸法) บริเวณข้อมือเพื่อยืดข้อในลักษณะงอ เหยียด ซ้ายและขวา ประมาณ 2-3 รอบ หลังจากนั้นใช้ท่าจิก (เตี๋ยนฝ่า点法) บริเวณจุดชวีเจ๋อ (PC3曲泽) 、เน่ยกวน (PC6内关) 、ต้าหลิง (PC7大陵) 、อวี๋จี้ (LU10鱼际) จุดละ 2 นาที กดให้รู้สึกหน่วงหรือหนัก 

3. หัตถการเคลื่อนไหวข้อต่อ : ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างที่มีพยาธิสภาพ ใช้ท่าหมุนข้อต่อ (เหย่าฝ่า摇法) บริเวณข้อมือเพื่อขยับข้อต่อ 10 รอบ ใช้ท่าบิด (เหนียนฝ่า捻法) บริเวณข้อนิ้วทุกนิ้ว

4. หัตถการสิ้นสุดการรักษา : ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างที่มีพยาธิสภาพ ใช้ท่าท่าถู (ชาฝ่า擦法) ด้วยฝ่ามือบนบริเวณข้อมือและฝ่ามือ 2 นาทีจนรู้สึกร้อน

การฝังเข็ม
จุดชวีเจ๋อ (PC3曲泽)
จุดเน่ยกวน (PC6内关)
จุดต้าหลิง (PC7大陵)
จุดอวี๋จี้ (LU10鱼际) 
จุดเหล่ากง (PC8劳宫)
เมื่อฝังจะรู้สึกความรู้สึกของเข็ม (得气) ให้คาเข็มทิ้งไว้ 15 นาที

ยาจีน

ตำรับยาทงปี้ทัง(通痹汤): หวงฉี(黄芪)ตังกุย(当归)、กุยปั่น(龟板)、ฉินเจียว(秦艽)、ซังจี้เซิง (桑寄生)、โก่วฉีจื่อ(枸杞)、เช่อเสา(赤芍)、ฝางจี่(防己)、เชียงหัว(羌活)、ชวนซฺยง(川芎)、เซิงตี้(生地)、กุ้ยจือ(桂枝)、ตู๋หัว(独活)、หงฮวา (红花)、มู่กวา(木瓜)、 อูเซาเฉอ(乌梢蛇)、ซานชี(三七)、จื้อชวนอู (制川乌)、ซี่ซิน(细辛)、จื้อเฉ่าอู(制草乌)、อู่กง(蜈蚣)
หลักการรักษา : บำรุงชี่และเลือด บำรุงตับและไต ขับลมทะลวงเส้นลมปราณ กระจายความเย็นระงับปวด(益气养血,补益肝肾,祛风通络,散寒止痛)

เหมาะสำหรับ : กลุ่มอาการปวดตามข้อ ข้อบวม เคลื่อนไหวติดขัดเป็นต้น

พอกยา

ตำรับยาเซียวจ๋งส่าน(消肿散) : หวงเหลียน(黄连)、หวงฉิน(黄芩)、หวงป๋อ(黄柏)、ต้าหวง(大黄)、ปิงเพี่ยน(冰片)、จางเหน่า(樟脑)

หลักการรักษา : ระบายความร้อนระงับปวด(请热止痛)


เหมาะสำหรับ : ข้อต่ออักเสบในระยะเฉียบพลัน ปวด บวม แดง ร้อน

วิธีใช้ : บดเป็นผง ผสมกับน้ำใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวดบวม วันละ 1 ครั้ง 4-6 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

ตำรับยาหัวเซว่ส่าน (活血散) : หงฮวา(红花)、ตังกุย(当归)、เซวี่ยเจี๋ย(血竭)、ซานชี(三七)、กู่สุ้ยปู่(骨碎补)、ซวี่ต้วน(续断)、หรูเซียง(乳香)、,ม่อเหย้า(没药)、เอ๋อฉา(儿茶)、ต้าหวง(大黄)、ปิงเพี่ยน(冰片)、ถู่เปียฉง(土鳖虫)

หลักการรักษา : คลายเส้นเอ็นกระตุ้นการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่งระงับปวด(舒筋活血,散瘀止痛)

เหมาะสำหรับ : ปวดตึงข้อต่อกล้ามเนื้อ

วิธีใช้ : บดเป็นผง ผสมกับน้ำอุ่นใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวด วันละ 1 ครั้ง 4-6 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

อบยา

ตำรับยาไห่ถงผีทัง(海桐皮汤): ไห่ถงผี(海桐皮)、โถ้วกู่เฉ่า(透骨草)、หรูเซียง(乳香)、ม่อเหย้า(没药)、ตังกุย(当归)、ชวนเจียว(川椒)、ชวนซฺยง(川芎)、หงฮวา(红花)、เวยหลิงเซียน(威灵仙)、กานเฉ่า(甘草)、ฝางเฟิง(防风)、ไป๋จื่อ(白芷)

หลักการรักษา : กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด(活血散瘀,通络止痛)


เหมาะสำหรับ : คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวด

วิธีใช้ : อบข้อศอกและแขนท่อนล่างประมาน 15-20 นาที วันละ 1 ครั้ง

ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวัง

1. ใช้งานมือและข้อมือด้วยความระมัดระวัง เช่น ใช้ปากกาที่จับเขียนได้สะดวก กดแป้นพิมพ์เบา ๆ ใช้เมาส์คอมพิวเตอร์ที่จับได้ถนัดมือ วางแป้นพิมพ์ในระดับเดียวกับหรือต่ำกว่าข้อศอกเล็กน้อย และหลีกเลี่ยงการแอ่นข้อมือขึ้นหรือลงจนสุด

2. พักมือเป็นระยะ โดยยืด ดัด และหมุนมือกับข้อมือ โดยเฉพาะหากต้องทำงานกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่สั่นและต้องใช้แรงมาก

3. หลีกเลี่ยงการนอนทับมือ ใส่ splint ชนิดที่มีเหล็กดามไว้เฉพาะช่วงเวลานอนเพื่อช่วยประคองข้อมือให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมระหว่างการนอนหลับ

4. รักษาความอบอุ่นของมือ เพื่อลดอาการปวดและตึง เช่น สวมถุงมือหากทำงานในสภาพอากาศที่หนาวเย็น

5. เข้ารับการรักษาและควบคุมโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์และข้ออักเสบรูมาตอยด์

การออกกำลังกายเพิ่มการเคลื่อนไหวของเส้นประสาท (Nerve gliding exercise)

1. ข้อมืออยู่ในแนวตรง กำมือตามรูป ค้างไว้ 5 นาที ทำ 10 ครั้ง ทำซ้ำ 5 รอบต่อวัน
2. ข้อมืออยู่ในแนวตรง เหยียดนิ้วตามรูป ค้างไว้ 5 นาที ทำ 10 ครั้ง ทำซ้ำ 5 รอบต่อวัน
3. ข้อมือเหยียดไปด้านหลัง นิ้วโป้งอยู่ในแนวตรง เหยียดนิ้วที่เหลือตามรูป ค้างไว้ 5 นาที ทำ 10 ครั้ง ทำซ้ำ 5 รอบต่อวัน
4. ข้อมือเหยียดไปด้านหลัง นิ้วโป้งเหยียดไปด้านหลัง เหยียดนิ้วที่เหลือตามรูป ค้างไว้ 5 นาที ทำ 10 ครั้ง ทำซ้ำ 5 รอบต่อวัน
5. หงายมือจนสุด ข้อมือ นิ้วโป้งและนิ้วที่เหลือเหยียดไปด้านหลังตามรูป ค้างไว้ 5 นาที ทำ 10 ครั้ง ทำซ้ำ 5 รอบต่อวัน
6. หงายมือจนสุด ข้อมือ นิ้วโป้งและนิ้วที่เหลือเหยียดไปด้านหลังตามรูป ใช้มืออีกด้านนึงดึงนิ้วโป้งเหยียดออก ค้างไว้ 5 นาที ทำ 10 ครั้ง ทำซ้ำ 5 รอบต่อวัน

อ่านต่อ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้