Last updated: 12 ต.ค. 2567 | 257 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) เป็นโรคทางระบบประสาทส่วนปลาย ซึ่งเป็นผลความเสียหายที่มาจากเส้นประสาทที่อยู่นอกสมองและไขสันหลัง อาจเกิดจากการบาดเจ็บ ติดเชื้อ ระบบการเผาผลาญผิดปกติ การสัมผัสสารพิษ และสาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือโรคเบาหวาน อาการของภาวะปลายประสาทอักเสบที่พบบ่อยได้แก่ อาการชา อ่อนแรง เจ็บปวดหรือแสบร้อนผิวหนัง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณปลายมือปลายเท้า ลุกลามขึ้นมาจนถึงบริเวณข้อศอกและข้อเข่า หากชามากจะรู้สึกเหมือนสวมถุงมือถุงเท้าตลอดเวลา และเป็นได้ในส่วนอื่นทั้งร่างกาย นอกจากกนี้ยังส่งผลกระทบถึงการทำงานของส่วนอื่นในร่างกาย เช่น ประสาทสัมผัสไม่ทำงาน ทำให้มีอาการเหงื่อออกผิดปกติ เสียการทรงตัว นอนไม่หลับ ความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ มีปัญหาของระบบย่อยอาหาร หรือระบบขับปัสสาวะ เป็นต้น
สาเหตุของภาวะปลายประสาทอักเสบมีหลายประการ ได้แก่
- โรคเบาหวาน เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 50% มีภาวะปลายประสาทอักเสบ
- โรคภูมิต้านทานตนเอง โรคโจเกรน (Sjogren's syndrome) โรคลูปัส (Lupus) โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) กลุ่มโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-barre syndrome) โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammatory demyelinating polyneuropathy) และการอักเสบของผนังหลอดเลือด (Necrotizing vasculitis)
- การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียบางชนิด
- พันธุกรรม
- เนื้องอกสมอง มะเร็งที่ไปกดทับเส้นประสาท และในผู้ป่วยมะเร็งที่ให้ยาเคมีบำบัด
- โรคความผิดปกติของไขกระดูก
- พิษสุราเรื้อรัง
- สัมผัสกับสารพิษ เช่น ตะกั่ว ปรอท เคมีภัณฑ์ ยาฆ่าแมลง
- ภาวะขาดวิตามินบี
การรักษาภาวะปลายประสาทอักเสบในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการ โดยรักษาที่สาเหตุ
- การให้ยาบรรเทาอาการปวด (NSAIDs) ยากลุ่มโอพิออยด์ (Opioid) หรือการให้ยาทาเฉพาะที่ ยาบำรุงปลายประสาทกลุ่มวิตามินบีรวม หรือยากลุ่มกาบาเพนติน (Gabapentin)
- การทำกายภาพบำบัด ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทผ่านผิวหนัง การพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกาย การใช้เครื่องช่วยพยุง
- การผ่าตัด เช่นผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีเนื้องอก เพื่อลดการกดทับของเส้นประสาท
- การให้อิมมูโนโกลบูลินในผู้ป่วยโรคภูมิต้านทานตนเอง การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง
ภาวะปลายประสาทอักเสบในทรรศนะของแพทย์แผนจีน
- ภาวะปลายประสาทอักเสบในศาสตร์การแพทย์แผนจีนจัดอยู่ในโรค “ปี้เจิ้ง” (痹证)หรือ “เสวี่ยปี้” (血痹)หรือ “ปู้เหริน” (不仁) หรือ “เหว่ยเจิ้ง” (痿证)จากตำราแพทย์จีนโบราณที่มีการจดบันทึกไว้ถึงอาการของโรคนี้เช่นกัน ดังที่ปรากฏในตำรา《หลิงเสียวอู่อีอั้น》《凌晓五医案》曰:“麻木痹,血不荣筋,加以风湿阻 络,阳明虚不能束筋骨以利机关,手指麻木不仁。”กล่าวถึงอาการชา(麻木)และปวด(痹)เกิดจากเลือดไม่หล่อเลี้ยงเส้นเอ็น อีกทั้งมีลมและความชื้นอุดกั้นในเส้นลมปราณ เส้นลมปราณหยางหมิงไม่สามารถความคุมเอ็นและกระดูก ทำให้นิ้วมือนิ้วเท้าชา และ《丹溪心法》曰:“或四肢麻痹不仁,皆痰饮所致。”《 ตำราตันซีซินฝ่า》กล่าวว่า มือเท้าชาเกิดจากเสมหะของเสียคั่งค้าง เป็นต้น ในทฤษฎีแพทย์แผนจีน ภาวะปลายประสาทอักเสบเกิดจากร่างกายอ่อนแอลง ทำให้ถูกเสียชี่(邪气)เช่น ลม เสมหะ ความชื้น เลือดคั่ง กระทบได้ง่าย เสียชี่ดังกล่าวไปอุดกั้นตามเส้นลมปราณจิงลั่ว หรือทำลายพลังอินและหยาง ทำให้ร่างกายส่วนปลายขาดความอบอุ่น ขาดการหล่อเลี้ยงจากชี่และเลือด เกิดเป็นอาการต่างๆตามมา
- การรักษาภาวะปลายประสาทอักเสบด้วยการฝังเข็ม เป็นหนึ่งในวิธีรักษาที่ได้ผลดีมาก การฝังเข็มจะช่วยทะลวงเส้นลมปราณ ปรับสมดุลอินหยาง เพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกายเพื่อกำจัดเสียชี่ (邪气) การฝังเข็มยังช่วยฟื้นฟูและรักษาอาการบาดเจ็บของระบบประสาทส่วนปลาย ลดอาการชา เจ็บปวดแสบร้อน กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมีกำลังมากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการรักษาที่ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง สะดวก รวดเร็ว
กรณีศึกษาการฝังเข็มรักษาโรคปลายประสาทอักเสบจากเบาหวาน
ผู้ป่วยชาย อายุ 70 ปี HN: 015XXX
อาการสำคัญ : เท้าชาทั้งสองข้าง เป็นเวลา 6 เดือน
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน : ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคเบาหวานมา 20 กว่าปี ช่วง 6 เดือนให้หลังนี้มีอาการชาที่เท้า ตั้งแต่บริเวณข้อเท้าลงไปจนถึงปลายเท้า เวลาเท้าเหยียบสัมผัสพื้นผิวหนังไม่ค่อยมีความรู้สึก บางครั้งเตะสิ่งของจนเลือดออกก็ยังไม่รู้ตัว เท้าเป็นแผลง่าย แต่แผลหายไม่ยาก รู้สึกปลายเท้าเย็นง่าย ไม่มีอาการแสบร้อน ไม่อาการมือชา ไม่มีอาการอ่อนแรงหรือเคลื่อนไหวลำบาก รับประทานอาหารและนอนหลับได้ปกติ ขับถ่ายปกติ ปัสสาวะค่อนข้างบ่อย
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต : โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไตเสื่อมระยะ 3
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีชมพูอ่อน ลิ้นค่อนข้างอ้วน ฝ้าลิ้นหนาเหนียวสีขาว ชีพจรลื่นแต่ขัด (脉滑涩)
การวินิจฉัย : อาการชาจากปลายประสาทอักเสบจากเบาหวาน ทางแพทย์แผนจีนวินิจฉัยว่าอยู่ในกลุ่มโรคตับและไตพร่อง เสมหะความชื้นอุดกั้นเส้นลมปราณ (肝肾不足,痰湿阻络证)
การรักษา :
- รักษาด้วยการฝังเข็ม โดยเลือกใช้จุด เสวี่ยไห่ (血海), อินหลิงฉวน (阴陵泉), จู๋ซานหลี่(足三里) ,เฟิงหลง (丰隆), ซานอินเจียว (三阴交), จ้าวไห่ (照海), เจี่ยซี (解溪), เซินม่าย (申脉), ปาเฟิง (八风)เป็นต้น ทิ้งเข็มไว้เป็นเวลา 30 นาที ฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน
- หลังจากรักษา 3 ครั้ง อาการชาเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ในครั้งที่ 10 ของการรักษาอาการชาเหลือเพียงที่ปลายนิ้วเท้าและฝ่าเท้า ระดับความชาเพียงเล็กน้อย เวลาเท้าสัมผัสพื้น ผิวหนังรับความรู้สึกได้มากขึ้น หลังจากรักษา 15 ครั้ง หลงเหลืออาการชาเล็กน้อยเป็นครั้งคราว แต่ไม่บ่อยที่บริเวณฝ่าเท้าเท่านั้น ผู้ป่วยพึงพอใจกับผลการรักษา และขอหยุดทำการรักษาไป
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567