Last updated: 11 ต.ค. 2567 | 941 จำนวนผู้เข้าชม |
Ramsay Hunt Syndrome เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จากการติดเชื้อ Varicella-Zoster Virus หรือเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด ทำให้เกิดผื่นเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณในหูหรือบริเวณข้างเคียง ซึ่งเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่อยู่บริเวณใบหน้า (Facial Nerve) โดยจะควบคุมการทำงาน การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า การแสดงอารมณ์ทางใบหน้า หากเกิดการอักเสบของเส้นประสาทคู่นี้จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าซีกที่เส้นประสาทอักเสบมีอาการอ่อนแรง
อาการของโรค (อาการแสดง/ข้อบ่งชี้) (辩证要点)
- มีผื่นลักษณะตุ่มน้ำใส ผื่นแดงแสบร้อน บริเวณ กกหู ช่องหูชั้นนอก หรือบริเวณข้างเคียงใบหู
- มีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ใบหน้าครึ่งซีกเป็นอัมพาตซีกเดียวกับที่มีตุ่มน้ำใสขึ้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้ ส่งผลต่อการแสดงอารมณ์ทางสีหน้า เช่น ตาปิดไม่สนิท มุมปากตก ขมวดคิ้ว ย่นจมูกลำบาก มีปัญหาพูดไม่ชัด และรับประทานอาหารหรือน้ำลำบาก
- อาการร่วม เช่น มีไข้ต่ำ การรับรสผิดปกติ ปวดหู หูอื้อ การได้ยินลดลง เวียนศีรษะ ปากแห้ง ตาแห้ง การมองเห็นผิดปกติ รวมถึงอาการปวดจากงูสวัด
สาเหตุของโรค (病因病机)
ในทางการแพทย์แผนจีน Ramsay Hunt Syndrome เกิดจากพื้นฐานร่างกายมีเจิ้งชี่(正气)ไม่เพียงพอ ประกอบกับ สภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติ เช่น อารมณ์ขุ่นมัว วิตกกังวล ภาวะเครียดสะสม ส่งผลให้ชี่ตับอุดกั้น นานวันเข้าจากชี่ที่อุดกั้นอยู่จะค่อยเกิดเป็นความร้อนสะสมเป็นพิษร้อนขึ้น พิษร้อนจึงรุกราน หรือมีลมภายนอก(风邪)มากระทบ ซึ่งคุณสมบัติของลมคือมักจะกระทบช่วงบน จึงทำให้เกิดอาการที่ใบหน้า พิษเข้าสู่เส้นลมปราณบริเวณหู ทำให้การไหลเวียนติดขัด เกิดอาการปวดหู หูมีเสียง ปวดศีรษะเป็นต้น พิษเผาทำลายผิวหนัง ชี่และเลือดติดขัด ส่งผลให้ขาดการหล่อเลี้ยงของเส้นลมปราณและเลือดที่หล่อเลี้ยงใบหน้า กล้ามเนื้อคลายตัวทำให้ปากเบี้ยว รอยย่นที่หน้าผากหายไป พิษกำเริบแสดงออกเป็นตุ่มน้ำและผื่นแดง
การวินิจฉัย(诊断)Ramsay Hunt Syndrome (外耳道疱疹三联症)
แนวทางการรักษา รักษาด้วยยาจีนและฝังเข็ม
ตัวอย่างกรณีศึกษา ผู้ป่วยหญิง อายุ42 ปี น้ำหนัก 58 kg ไม่มีโรคประจำตัว
เข้ารับการรักษาครั้งแรกด้วยยาจีนและการฝังเข็ม วันที่ 25-05-2024
มาด้วยอาการปวดหูและมีตุ่มน้ำขึ้นบริเวณหูฝั่งขวา 1 สัปดาห์ วันที่ 17-05-2024 เริ่มมีอาการปวดหูฝั่งขวาผ่านไป 5 วันเริ่มมีตุ่มน้ำขึ้นที่หูชั้นนอก ร่วมกับอาการกล้ามเนื้อใบหน้าซีกขวาอ่อนแรง ตาขวาปิดไม่สนิท มุมปากตก ขมวดคิ้ว ย่นจมูกไม่ได้ มีปัญหาพูดไม่ชัด และรับประทานอาหารหรือน้ำลำบาก ไม่มีอาการปวดหูแต่มีอาการหูอื้อ ได้รับยารักษาแผนปัจจุบัน การทดสอบการได้ยินลดลง การรับรสผิดปกติ โดยปกติชอบดื่มน้ำเย็น ขับถ่าย 2 วัน/ครั้ง นอนหลับปกติ ประจำเดือนมาน้อย ขี้หนาว ก่อนมีอาการมีประวัติทำงานหนักพักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียดสะสมจากการทำงาน ลิ้นซีดอมม่วง ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กตึงแน่น
การรักษา
- ตำรับยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณขจัดพิษลม ระบายความร้อนระงับปวด เป็นเวลา 5 วัน
- ฝังเข็มใช้จุดที่มีสรรพคุณขจัดลมและช่วยการฟื้นตัวของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า โดยทำการรักษาต่อเนื่อง 3 ครั้ง/สัปดาห์
เข้ารับการรักษา วันที่ 29-05-2024 (ติดตามอาการด้วยยาจีน ครั้งที่ 2 และการฝังเข็ม ครั้งที่ 3)
ตุ่มน้ำที่หูข้างขวาเริ่มแห้ง และมีอาการคันที่ใบหู ตาขวาเริ่มปิดสนิทขึ้น ขมวดคิ้วได้มากขึ้น ยังมีอาการพูดไม่ชัดและรับประทานอาหารหรือน้ำลำบาก การได้ยินยังลดลงเหมือนเดิม มีอาการเดินเซ ทานอาหารได้ปกติ ขับถ่าย 2 วัน/ครั้ง นอนหลับสนิทขึ้น อาการขี้หนาวลดลง ลิ้นสีซีดอมม่วง ฝ้าลิ้นบาง ชีพจรเล็กตึงแน่น
การรักษา
- ให้ตำรับยาสมุนไพรจีนเดิมเพิ่มตัวยา เป็นเวลา 5 วัน
- ฝังเข็มเพิ่มจุดที่ช่วยการฟื้นตัวของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า
โดยทำการรักษาต่อเนื่อง 3 ครั้ง/สัปดาห์
เข้ารับการรักษา วันที่ 02-06-2024 (ติดตามอาการด้วยยาจีน ครั้งที่ 3 และการฝังเข็ม ครั้งที่ 4)
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานอนดึก บางครั้งมีเสียงวี๊ดในหูบ่อยขึ้น มีอาการคันที่หู หลับตาได้สนิทกว่าเดิม มุกปากตกดีขึ้น สามารถเลิ่กคิ้วและขมวดคิ้วได้มากขึ้น แต่ยังเคี้ยวอาหารและดื่มน้ำลำบาก การรับรสดีขึ้น อาการพูดไม่ชัดหายเป็นปกติ ยังมีอาการเดินเซ ทานอาหารได้ปกติ ขับถ่าย 2 วัน/ครั้ง นอนหลับปกติ ไม่มีอาการขี้หนาว ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าลิ้นขาวบางแต่ขาดความชุ่มชื้น ชีพจรข้างซ้ายจมเล็กข้างขวาตึงลื่น
การรักษา
- ให้ตำรับยาสมุนไพรจีนเดิมเพิ่มลดตัวยา เป็นเวลา 5 วัน
- ฝังเข็มร่วมกับการกระตุ้นไฟฟ้าช่วยการฟื้นตัวของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า
โดยทำการรักษาต่อเนื่อง 3 ครั้ง/สัปดาห์
เข้ารับการรักษา วันที่ 14-06-2024 (ติดตามอาการด้วยยาจีน ครั้งที่ 5 และการฝังเข็ม ครั้งที่ 9)
อาการเวียนศีรษะลดลง หูมีเสียงเบาลง ทานอาหารได้ปกติ ขับถ่าย2วัน/ครั้ง นอนหลับได้ปกติบางครั้งอาจมีตื่นกลางดึก อาการเหนื่อยง่ายน้อยลง กล้ามเนื้อใบหน้าซีกขวากลับมาเคลื่อนไหวได้ปกติ ตาปิดสนิท ขมวดคิ้ว ย่นจมูกได้ปกติ เคี้ยวอาหารและทานน้ำได้ปกติ ลิ้นสีอมชมพู ฝ้าลิ้นขาวบางช่วงกลางและปลายลิ้นฝ้าน้อย ชีพจรเล็กตึง
การรักษา
- ให้ตำรับยาสมุนไพรจีนเดิม เป็นเวลา 7 วัน
- ฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นไฟฟ้าช่วยการฟื้นตัวของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า
เนื่องจากอาการดีขึ้น ลดจำนวนการฝังเข็ม เป็น 1 ครั้ง/สัปดาห์
เข้ารับการรักษา วันที่ 04-07-2024 (ติดตามอาการด้วยยาจีน ครั้งที่ 8 และการฝังเข็ม ครั้งที่ 12)
เมื่อขยับหรือเคลื่อนไหวยังมีอาการเวียนศีรษะแต่เบาลงกว่าเดิม ยังมีเสียงที่หูแต่หลังฉีดยารักษาแผนปัจจุบัน เสียงจะเบาลง 2-3 วันและกลับมาดังเท่าเดิม กล้ามเนื้อใบหน้าซีกขวากลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ มีอาการปากแห้งบางครั้ง การขับถ่าย 2 วัน/ครั้ง นอนหลับปกติ ลิ้นสีอมชมพู ฝ้าลิ้นขาวบางและไม่ชุ่มชื้น ชีพจรเล็กปนตึง
การรักษา
- ให้ตำรับยาสมุนไพรจีนชุดใหม่ที่มีสรรพคุณบำรุงสารอินของตับและไต
- ฝังเข็มใช้จุดที่มีสรรพคุณบำรุงสารอินของตับและไต เพิ่มจุดลดอาการเสียงในหู
วิเคราะห์ผลการรักษา(分析)
การรักษาโรค Ramsay Hunt Syndrome ด้วยการทานยาจีนและฝังเข็ม ช่วยในการปรับชี่และเลือดในร่างกาย บรรเทาอาการปวด ขจัดพิษและบำรุงให้ร่างกายคืนสู่สมดุล ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ในการฟื้นตัวจากอาการของโรค ผลข้างเคียงน้อย มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี อีกทั้งการฝังเข็มและการทานยาจีน ยังสามารถลดระยะเวลาการฟื้นฟู ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบนใบหน้าส่วนที่เป็นอัมพาต ลดอาการหลงเหลือจากการเป็นงูสวัด และยังสามารถเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายได้อีกด้วย
การป้องกันโรค/อาการ (预防调护)
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ลดความเครียด
- ในผู้ที่มีอายุมากกกว่า 60 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด สามารถช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคในผู้สูงอายุได้
- ผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงป่วยบ่อย เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ หลีกเลี่ยงสัมผัสผู้เป็นอีสุกอีใสและงูสวัด
25-05-2024 29-05-2024 02-06-2024 14-06-2024
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนอาวุโส รติกร อุดมไพบูลย์วงศ์ (หมอจีน เวิน เจิน ฮุ่ย)
温珍慧 中医师
TCM. Dr. Ratikon Udompriboonwong (Wen Zhen Hui)
แผนกฝังเข็ม 针灸科 (Acupuncture Department)
แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร (หมอจีน หวง เหม่ย ชิง)
黄美清 中医师
TCM. Dr. Mananya Anurakthanakorn (Huang Mei Qing)
แผนกอายุรกรรมภายนอก 外科 (External TCM Department)
อ้างอิง
[1]苏齐,齐昌菊,葛谈. "针药并用治疗Ramsay-Hunt综合征一例." 上海医药 37.4(2016):2.