ปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอบ่าไหล่ ปัญหากวนใจของวัยทำงาน

Last updated: 21 ส.ค. 2567  |  1123 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอบ่าไหล่ ปัญหากวนใจของวัยทำงาน

          เชื่อว่าหลายๆ คนมักมีอาการปวดตึงคอ บ่า ไหล่กันเป็นประจำ โดยเฉพาะวัยทำงานและมักพบมากในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย เนื่องจากการนั่งทำงานหรือนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และความก้าวหน้าของเทคโนโลยียิ่งพัฒนาไปมากเท่าไหร่อัตราการเกิดโรคยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้อาการเหล่านี้จึงพบได้บ่อยที่สุดในบรรดาออฟฟิศซินโดรม  นอกจากนี้บางคนอาจรู้สึกปวดบริเวณสะบักด้านหลัง กดแล้วรู้สึกเจ็บเป็นพิเศษ นั่นแสดงว่าคุณกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อผังผืดบริเวณคอบ่าไหล่นั่นเอง

          กลุ่มอาการกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดบริเวณคอบ่าไหล่ เป็นอาการปวดชนิดหนึ่งที่เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ มากเกินไป หรือนานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อพังผืดถูกกระตุ้นและทำให้เกิดการอักเสบ  ซึ่งมีได้ทั้งอาการปวดเฉียบพลันและปวดเรื้อรัง  อาการปวดจะพบได้ตั้งแต่บริเวณกระดูกสะบักไปจนถึงบริเวณศีรษะ

          ยังมีโรคไหนบ้างที่ทำให้ปวดบริเวณคอบ่าไหล่ได้บ้าง สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณคอบ่าไหล่มีหลายสาเหตุ กลุ่มโรคเกี่ยวข้องกับด้านกระดูก เช่น หมอนรองกระดูกส่วนคอเสื่อม โพรงกระดูกสันหลังตีบบริเวณคอ หมอนรองกระดูกส่วนคอเคลื่อน การกดทับเส้นประสาทบริเวณคอ เป็นต้น กลุ่มโรคเกี่ยวข้องกับด้านกล้ามเนื้อ เช่น เนื้อเยื่อพังผืดอักเสบ กล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดปวดเรื้อรัง กล้ามเนื้อฉีก หรือมีการติดเชื้อบริเวณลำคอ เช่น คออักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นต้น หรืออาจเกี่ยวกับโรคหัวใจ โรคปอด ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอบ่าไหล่ได้ ดังนั้นแนะนำว่าควรไปพบแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน

การรักษาด้วยการฝังเข็มตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

          ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่าอาการปวดเกิดได้จาก 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ การไหลเวียนที่ติดขัดทำให้ปวด (不通则痛ปู้ทงเจ๋อท่ง) ซึ่งอาจพบได้จากกลุ่มอาการชี่และเลือดติดขัด กลุ่มอาการจากปัจจัยลมเย็นและความชื้น ทำให้เส้นลมปราณไหลเวียนติดขัด และการหล่อเลี้ยงไม่พอทำให้ปวด (不容则通ปู้หรงเจ๋อท่ง) ซึ่งอาจพบได้จากกลุ่มอาการชี่และเลือดไม่เพียงพอ สารจินเย่ขาดพร่อง กลุ่มอาการพร่องของอวัยวะต่างๆ หรือการทำงานไม่สมดุล ทำให้ไม่สามารถส่งไปหล่อเลี้ยงได้เพียงพอจึงทำให้วด

          การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมของศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นจุดฝังเข็มตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนของชี่และเลือดภายในร่างกาย และปรับสมดุลการไหลเวียนของชี่ บรรเทาอาการปวดและอาการไม่สบายต่างๆ  ในการฝังเข็มแพทย์จีนจะเลือกจุดฝังเข็มตามสภาวะของร่างกายและเลือกตำแหน่งเส้นลมปราณที่เป็นต้นเหตุของความเจ็บปวดหรืออาการไม่สบายต่างๆ ซึ่งจุดฝังเข็มเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย การฝังเข็มยังสามารถคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและบรรเทาความเจ็บปวดด้วยเทคนิคการกระตุ้นเข็มด้วยวิธีต่างๆ การรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอบ่าไหล่เหล่านี้ด้วยการฝังเข็มมีประสิทธิผลค่อนข้างดี สามารถลดความเจ็บปวดได้อย่างชัดเจนและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมด้วย เช่น การไม่อยู่ในอิริยาบถเดิมๆ เป็นเวลานานๆ ควรปรับเปลี่ยนท่าอยู่เสมอ หรือลุกขึ้นมายืดเหยียดผ่อนคลาย การปรับโต๊ะทำงานเก้าอี้ให้เหมาะสม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป้นต้น จะสามารถช่วยป้องกันและแก้ปัญหาอาการปวดคอบ่าไหล่ได้

ตัวอย่างกรณีการรักษา

ข้อมูลผู้ป่วย :   LXXX เพศชาย อายุ 40 ปี

เข้ารับการรักษาครั้งแรก :  วันที่  16 พฤษภาคม 2567

อาการที่มารักษา :  ปวดตึงบริเวณคอบ่าไหล่มาเป็นเวลา 3 เดือน

ประวัติอาการ :  3 เดือนก่อนเริ่มมีอาการปวดตึง ปวดเมื่อยบริเวณคอบ่าไหล่ด้านซ้าย ร่วมกับปวดบริเวณสะบักไหล่ซ้ายด้านใน  โดยปกติผู้ป่วยจะนั่งทำงานและนั่งขับรถเป็นเวลานาน ซึ่งอาการในวันที่เข้ารับการรักษายังคงมีอาการปวดตึง ปวดเมื่อยบริเวณคอบ่าไหล่ด้านซ้าย ร่วมกับปวดบริเวณสะบักไหล่ซ้ายด้านใน และปวดร้าวมาจนถึงศีรษะด้านหลังบริเวณท้ายทอย การยกแขนติดขัดเนื่องจากปวด pain score: 5  เหนื่อยอ่อนเพลียเล็กน้อย ไม่พบอาการแขนชามือชาร่วมด้วย ความอยากอาหารและการนอนหลับปกติ การขับถ่ายปกติ     

ลิ้นและชีพจร : ลิ้นสีแดงคล้ำ ฝ้าขาวบาง (舌质暗红苔薄白)  ชีพจรจมและตึง (脉沉弦)    

พฤติกรรมการใช้ชีวิต : ปกตินั่งทำงานและนั่งขับรถเป็นเวลานาน

การวินิจฉัย :

1) ชื่อโรค  ปี้เจิ้ง (痹证) / กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดบริเวณคอบ่าไหล่

2) กลุ่มอาการชี่และเลือดติดขัด เส้นลมปราณติดขัด (气血瘀滞,脉络痹阻) 

การรักษา : ใช้การฝังเข็มรักษาร่วมกับการกระตุ้นไฟฟ้า และวิธีการบำบัดด้วยการขยับเคลื่อนไหว โดยหลังจากฝังเข็มแล้วให้ผู้ป่วยขยับแขนเคลื่อนไหว 1 นาที ร่วมกับการเจาะปล่อยเลือดบริเวณจุดกดเจ็บด้านหลัง ผู้ป่วยรู้สึกอาการปวดบรรเทาโดยทันทีลดลง 90% จากนั้นได้ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนและทำการฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลร่างกายต่อ หลังจากที่ติดตามอาการและรักษาปรับสมดุลต่อเนื่อง 5 ครั้งอาการหายขาดไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก

วิเคราะห์ผลการรักษา : กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดบริเวณคอบ่าไหล่ ศาสตร์การแพทย์แผนจีนจัดอยู่ในขอบเขตของโรค “ปี้เจิ้ง” การที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมปกติจะนั่งทำงานและนั่งขับรถเป็นเวลานาน ซึ่งนานวันเข้าทำให้ชี่และเลือดติดขัดได้ง่าย จึงทำให้เส้นลมปราณติดขัดและเกิดอาการปวด ตำแหน่งของโรคอยู่ที่บ่าไหล่ วิธีการรักษากระจายลมทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ระงับปวดเป็นหลัก จากการวินิจฉัยพบว่ามีรอยโรคที่เส้นลมปราณหยางหมิงและเส้นลมปราณไท่หยาง จึงทำการฝังเข็มโดยเลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้อง และเจาะปล่อยเลือดที่บริเวณจุดเกาฮวงด้านหลัง เพื่อรักษาอาการปวดบริเวณสะบักไหล่ซ้ายด้านใน ซึ่งประสิทธิผลในการรักษาค่อนข้างดี

------------------------

บทความโดย 

แพทย์จีน หลิน ยู่ว เซิง 
林育昇  中医师
TCM. Dr. Peter Lin

แผนกฝังเข็ม  针灸科 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้