ฟื้นฟูร่างกายหลังเลิกบุหรี่ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1304 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฟื้นฟูร่างกายหลังเลิกบุหรี่ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย และบั่นทอนคุณภาพชีวิตให้ลดต่ำลง การสูบบุหรี่เป็นเวลานานทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมีความผิดปกติ โทษของบุหรี่ในทางการแพทย์แผนจีนคือ เกิดพิษร้อนและแห้งเหนียว เมื่อปัจจัยก่อโรคพิษร้อนและแห้งเหนียวเข้าสู่ร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานาน ควันและสารต่างๆจากบุหรี่เข้าสู่ร่างกายทางระบบปอด ที่เริ่มจากจมูก ปาก กล่องเสียง หลอดลม ปอด เซลล์ปอด หลอดเลือดฝอย แล้วส่งไปทั่วทุกอวัยวะทั้งร่างกาย ในทางการแพทย์แผนจีน ปอดจัดเป็นอวัยวะที่อ่อนนุ่มถูกทำลายได้ง่าย เป็นแหล่งกักเก็บเสมหะ เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของเส้นเลือดทั่วร่างกาย เป็นแหล่งกำเนิดของชี่ เป็นต้น เมื่อสูบบุหรี่จึงทำให้ ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจเกิดความผิดปกติเสียสมดุลการทำงานได้ ความผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ ชี่เลือดพร่อง เสมหะความชื้นสะสมในร่างกาย  พิษร้อนเข้ารุกรานร่างกาย เป็นต้น การแพทย์แผนจีนใช้การวินิจฉัยแยกแยะโรค จากการซักประวัติ จับชีพจร ดูลิ้น เพื่อประมวลสรุปกลุ่มอาการเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เพื่อวางแผนเลือกวิธีการฟื้นฟูรักษาร่างกายในขั้นตอนต่อไป

หลังเลิกบุหรี่ การแพทย์แผนจีนฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาสมดุล โดยการใช้กลุ่มยาต่าง ๆ อาทิ

  1. การบำรุงชี่เลือด ในผู้สูบบุหรี่มักพบอาการเหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย หายใจไม่เพียงพอ หายใจได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาการเหล่านี้ เกิดจากบุหรี่เข้าไปทำลายการสร้างชี่ของปอด ปิดกั้นการไหลเวียนของชี่และเลือดจากปอดไปสู่ทั่วทั้งร่างกาย การรักษาฟื้นฟูร่างกายทำได้โดยการรับประทานยาบำรุงชี่ บำรุงเลือด เพิ่มการไหลเวียนของชี่และเลือดทั่วทั้งร่างกาย
  2. การขับเสมหะไล่ความชื้น การสูบบุรี่ทำให้เกิดเสมหะเป็นอย่างมากในร่างกาย จากการที่ควันบุหรี่นำพาน้ำมันทาร์เข้าสู่ร่างกาย และบุหรี่ที่เป็นพิษร้อน ทำลายความชุ่มชื้นของระบบทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายต้องเพิ่มการสร้างสารคัดหลั่งเข้ามาปกคลุม เพื่อลดการถูกทำลาย นานวันเข้าเสมหะที่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบการสร้างและการจัดการเสมหะของ ปอด ม้าม ไต ทำให้ร่างกายมีเสมหะมากเกินไป ปิดกั้นการไหลเวียนของชี่เลือดความชื้นในร่างกาย หลังเลิกสูบบุหรี่แล้วอาจจะยังรู้สึกถึงเสมหะที่มากในคอ หายใจได้ไม่สะดวก ร่างกายหนัก ไม่สดชื่นเป็นต้น การรักษาฟื้นฟูร่างกายทำได้โดยการรับประทานยาขับเสมหะไล่ความชื้น บำรุงปอด ม้าม ไต
  3. การถอนพิษลดความร้อน เมื่อสูบบุหรี่ทำให้ความร้อนจากไฟ มากขึ้นตลอดระบบทางเดินหายใจ ความร้อนจากบุหรี่ที่สูบติดต่อกันเป็นเวลานาน จัดเป็นพิษต่อร่างกาย (แพทย์แผนจีนกล่าวว่า สารก่อโรคจากปัจจัยภายนอกที่มากเกินไปมากๆ เรียกว่า พิษ) ทำให้ปากแห้ง ลิ้นแห้งเจ็บ คอบวมอักเสบเจ็บ เลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น แล้วถ้าร่างกายถูกพิษร้อนเข้าทำลายเป็นเวลานานเกินไป ยังเป็นสาเหตุในการเกิดมะเร็งจากพิษร้อน ที่ทำให้เซลล์ต่างๆในร่างกายทำงานผิดปกติไปได้อีกด้วย การรักษาฟื้นฟูร่างกายทำได้โดยการรับประทานยาถอนพิษ ลดพิษร้อน เพิ่มสารน้ำ บำรุงเลือด ปรับการทำงานของตับไต ตับเป็นอวัยวะที่กักเก็บของเลือดสำรอง และมีหน้าที่ในการควบคุมการไหลเวียนของชี่เลือดให้ไปทั่วทั้งร่างกายได้ดียิ่งขึ้น พิษร้อนและเสมหะจากการสูบบุหรี่ ทำให้ตับต้องส่งเลือดสำรองของร่างกายเข้าสู่ระบบไหวเวียนมากขึ้น นานวันเข้า ส่งผลให้เลือดและตับอินพร่องตัวลง ส่งผลกระทบต่อการควบคุมการไหลเวียนของชี่และเลือดต่อกันไป นอกจากนี้ตับไตมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น กล่าวได้ว่า ตับที่แข็งแรง ไตก็จะสมบูรณ์ และไตที่แข็งแรง ตับก็ต้องสมบูรณ์ด้วย เพราะเลือดในตับนั้นอาศัยการสร้างจากจิงชี่ของไต ส่วนจิงชี่ของไตก็ต้องอาศัย เลือดจากตับเป็นสารตั้งต้นในการผลิต จึงทำให้พบอารมณ์แปรปรวนง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ นอนไม่หลับ อ่อนล้า อ่อนเพลียเรื้อรังได้ในผู้ที่สูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน การรักษาฟื้นฟูร่างกายทำได้โดยการรับประทานยาบำรุงตับ บำรุงไต เสริมสร้างจิงเลือด ปรับและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดชี่ในร่างกาย

ทฤษฎีการรักษาและการฟื้นฟูร่างกายตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน จึงเป็นอีกหนึ่งในวิธีการฟื้นฟูร่างกายหลังการเลิกบุหรี่อย่างเป็นระบบ และเป็นองค์รวม ที่คำนึงถึงความสมดุลของอวัยวะต่างๆ นอกเหนือจากปอด ที่เป็นอวัยวะหลักของการพบความผิดปกติ เช่น โรคปอดอุดกั้น(โรคถุงลมโป่งพอง) มะเร็งปอด แล้วยังคำนึงถึงการทำงานของม้าม ตับ ไต หัวใจ การไหลเวียนชี่ เลือด การจัดการเสมหะ อีกด้วย

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน จิตติกร พิมลเศรษฐพันธ์ (หมอจีน พาน จ้าย ติง)
潘在丁  中医师   
TCM. Dr. Jittikorn  Pimolsettapun (Pan  Zai  Ding)
แผนกอายุรกรรมบุรุษเวช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้