Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1741 จำนวนผู้เข้าชม |
เหงื่อออกที่มือ อาจดูเหมือนเป็นอาการเล็ก ๆ แต่จริง ๆ แล้วอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อความมั่นใจ กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน เช่น การเขียนหนังสือ การพิมพ์โทรศัพท์ อาชีพนักธุรกิจที่ต้องอาศัยการจับมือ เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วร่างกายมีการขับเหงื่อเพื่อปรับอุณหภูมิในร่างกาย ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย เมื่อกล่าวถึงภาวะเหงื่อออกที่มือ คือในสภาวะปกติที่ไม่ได้สัมพันธ์กับอุณหภูมิ หรือปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เช่น ตื่นเต้น ความเครียด หรือการออกกำลังกาย เป็นต้น กลับมีปริมาณเหงื่อออกมามากผิดปกติได้
เหงื่อออกที่มือในทางการแพทย์แผนจีนเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
อาการเหงื่อออกมือมักพบในผู้มีภาวะอินพร่อง ความร้อนกำเริบขึ้นภายในร่างกาย ชี่พร่องไม่สามารถควบคุมการเปิดปิดของรูขุมขน หรือหยางหมิงเกิดภาวะร้อนแกร่ง อวัยวะกลวงส่วนจงเจียว (กระเพาะอาหาร ตับ ถุงน้ำดี หรือม้าม) มีความร้อนชื้นอุดกลั้น อาจเกิดจากพื้นฐานของสภาพร่างกาย กรรมพันธุ์ หรือการใช้ชีวิตของคนในสังคมยุคปัจจุบัน เช่น การตรากตรำทำงานหนัก ชอบรับประทานของเผ็ดร้อน ของทอด ของมัน รวมถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
เหงื่อออกมือมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจจริงหรือไม่
คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง กล่าวว่า “心在液为汗” ของเหลวของหัวใจ คือ เหงื่อ เนื่องจากหัวใจกำกับหลอดเลือด เลือดและของเหลวในร่างกายล้วนมาจากแหล่งสร้างเดียวกัน เหงื่อจึงเป็นของเหลวที่แปรสภาพมาและมีความใกล้ชิดกับหัวใจ
อาการของโรคหัวใจอาจจะมีความสัมพันธ์กับโรคเหงื่อได้ แต่ต้องมีอาการของโรคหัวใจเพิ่มเติมด้วย เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอกร้าวไปที่คอหรือแขนด้านซ้าย
การรักษาอาการเหงื่อออกมือในทางการแพทย์แผนจีน
1. รับประทานยาจีน
ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาแบบการวินิจฉัยจำแนกกลุ่มอาการของโรค เพื่อแพทย์จะได้รักษาที่ต้นเหตุของโรค
2. ฝังเข็ม
ฝังเข็มเพื่อช่วยปรับสมดุลร่างกาย ปรับระบบการไหลเวียนของเลือด สารน้ำและของเหลวในร่างกาย
สุดท้ายนี้ฝากถึงผู้อ่านทุกท่านสังเกตเหงื่อออกมือครั้งต่อไปว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพราะเพียงสังเกตสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติในร่างกายที่ไม่ควรมองข้าม
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนชนกนันท์ ชวชาติ
26 ก.ย. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567