Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1926 จำนวนผู้เข้าชม |
การแพทย์แผนจีนมีการมองปัจจัยก่อโรคออกเป็นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากภายนอก อย่างเช่น ความร้อน ความเย็น ลมก่อโรค หรือความชื้น เป็นต้น ซึ่งหากปัจจัยจากภายนอกเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายของเรา พร้อมกับพื้นฐานร่างกายของเรามีชี่และเลือดที่ไม่แข็งแรงในการต่อสู่กับปัจจัยเหล่านี้ นั่นก็อาจเท่ากับเป็นการก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้โดยง่าย เช่น อาการหวัด ภูมิแพ้ ปวดศีรษะ หรือท้องเสีย เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่ามีปัจจัยก่อโรคประเภทหนึ่งที่มักเป็นอุปสรรคต่อการรักษาโรคต่าง ๆ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ซับซ้อน เกิดขึ้นจากทั้งภายนอกและภายใน ทำให้นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของแพทย์จีน ในการรักษาปัจจัยก่อโรคดังกล่าว และเราเรียกปัจจัยนี้ว่า “ความชื้น”
ความชื้น ในทางการแพทย์จีนเป็นสิ่งที่ไม่ได้มองเห็นด้วยตาเปล่า แต่เราพอจะจินตนาการคร่าว ๆ ได้ว่า มันคล้ายกับห้องสี่เหลี่ยมที่มีกลิ่นเหม็นอับ ไม่มีอากาศถ่ายเท เห็นเป็นเชื้อราเกาะตามผนังและรู้สึกเหนียวเหนอะหนะ คำถามก็คือว่าทำไมผมถึงตั้งชื่อในหัวข้อว่า ความชื้นเป็นเรื่องกวนใจของแพทย์จีน วันนี้เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันครับ
1. ความชื้น มักก่อโรคร่วมกับปัจจัยก่อโรคอื่น
เพราะโดยทั่วไปแล้ว ความชื้นอาจไม่ได้ก่อโรคเพียงลำพัง เรามักพบเจอพร้อมกับปัจจัยก่อโรคอื่น ๆ เช่น เย็นชื้น ร้อนชื้น และเสมหะชื้น เป็นต้น ทำให้แพทย์จีนเองต้องหมั่นวิเคราะห์เสมอว่าความชื้นที่รักษาอยู่ ได้พัฒนาเป็นปัจจัยอื่นหรือไม่ อีกทั้งความชื้นที่ก่อตัวขึ้นในร่างกายนี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่รักษาได้ค่อนข้างช้า ทำให้คนไข้หลาย ๆ เคสไม่ได้ใช้เวลาในการรักษามากเพียงพอ หรืออาจเลิกทำการรักษาไปก่อนกำหนด
2. ความชื้น มีความเกี่ยวข้องกับการกิน
ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูแลได้ยากในระหว่างการรักษา เพราะอาหารการกินเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และเชื่อมโยงกับสังคม วัฒนธรรม ทำให้หลายครั้งที่เราต้องเจออาหารที่ก่อความชื้น เช่น แป้งทอด ไอศกรีม ชานมเย็น น้ำแข็ง หรืออาหารแคลอรี่สูง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากคนไข้ที่ทำการรักษาปัญหาความชื้นนี้สามารถดูแลอาหารได้ดีก็อาจจะไม่มีปัญหา แต่สำหรับเคสที่ควบคุมเรื่องอาหารได้ยาก อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กวนใจแพทย์จีนในระหว่างการรักษาได้ด้วยเช่นกัน
3. ความชื้นก่อโรคได้มากกว่าที่คุณคิด
ความชื้นในทางการแพทย์จีนสามารถก่อปัญหาได้ในหลายๆระบบพร้อมกัน เช่น กระเพาะม้ามชื้น มักทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องขับถ่าย อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร ภาวะโรคอ้วน เป็นต้น อีกทั้งยังส่งผลต่ออาการและโรคอื่น ๆ เช่น อาการคัน ปัสสาวะติดขัด ไขมัน เบาหวาน หรือส่งผลปัญหาประจำเดือน เป็นต้น ทำให้แพทย์จีนต้องแก้ไขปัญหาโรคแทรกซ้อนในหลาย ๆ ด้านพร้อมกัน และมองว่าความชื้นนี้เอง เป็นตัวเชื่อมโยงของลักษณะโรคที่เกิดขึ้นแบบทับซ้อนไปมาในร่างกายของคนไข้ โดยมีความชื้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องรีบรักษาและดูแลให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจมาพร้อมกับความชื้นนี้ตามมาอีกในอนาคต
4. ความชื้น มักทำลาย “หยางชี่”
เป็นที่ทราบกันว่า “หยางชี่” ในทางการแพทย์จีนมีบทบาทสำคัญในการดูแลภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นตัวช่วยในการผลักดันการไหลเวียนเลือด ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย รวมถึงในด้านทางเดินอาหาร ยังคงมีบทบาทสำคัญที่สามารถช่วยกระตุ้นการย่อยอาหารได้ดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การที่ร่างกายก่อความชื้นขึ้นภายในนั้น จึงไม่เป็นผลดีถ้าหากเกิดโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น เพราะหากกลไกหยางชี่ถูกทำลายลง โรคจะยิ่งมีความเรื้อรังมากขึ้น และการฟื้นฟูดูแลรักษาจะเป็นได้ค่อนข้างยากหากกลไกนี้ถูกทำลายลง
ดังนั้นจึงอยากให้ทุกท่านหมั่นคอยสังเกตสัญญาณเตือนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นว่าตัวของเรามีความชื้นสะสมมากเกินไปหรือไม่ เช่นสังเกตฝ้าหนาที่ลิ้น มีอาการรู้สึกปวดเมื่อยเนื้อตัวแบบหนัก ๆ อุจจาระเหลวเหนียวหรือมีมูกเหนียวปน พบตกขาว เป็นต้น เพราะหากเกิดขึ้นแล้ว หรือมีอาการอยู่ นั่นถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่ต้องรีบดูแลและเอาใจใส่ ป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคให้ได้มากที่สุด
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ต้นสกุล สังข์ทอง (หมอจีน ซ่ง เซียน เนี่ยน)
宋先念 中医师
TCM. Dr. Tonsakul Sungthong (Song Xian Nian)
แผนกอายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567