ตับสัมพันธ์กับอารมณ์โกรธอย่างไร

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1402 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตับสัมพันธ์กับอารมณ์โกรธอย่างไร

เรามักจะได้ยินคำว่าโกรธปี๊ดจนเลือดขึ้นหน้า ขี้โมโหโกรธจนหน้าแดง หรือโกรธจนปวดตับกันมาบ่อย ๆ แล้วเราทราบมั้ยคะว่าอารมณ์โกรธเกิดจากสาเหตุใด

ก่อนอื่นเราต้องมารู้จักกับการทำงานของตับในทางการแพทย์แผนจีนกันก่อน

ตับ เป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่งมีสีม่วงแดง แบ่งเป็น 2 กลีบใหญ่ ข้างซ้ายและข้างขวา ตำแหน่งอยู่ช่องท้องตอนบน บริเวณใต้ชายโครงขวา หน้าต่อไตข้างขวา ตับในทางทฤษฎีการแพทย์แผนจีนเป็นระบบเครือข่ายเชื่อมโยงกับถุงน้ำดี เอ็น เล็บ ตา เป็นต้น ในปัญจธาตุหรืออู่สิง 五行 ตับจัดเป็นธาตุไม้ คุณสมบัติเป็นหยาง สัมพันธ์กับฤดูใบไม้ผลิ และทิศตะวันออก ตับเกี่ยบข้องกับการเติบโต (ฤดูใบไม้ผลิ) การลอยสูงขึ้น

ตับมีหน้าที่ดูแลการไหลเวียนของชี่ไม่ให้ติดขัด ซึ่งมี 6 หน้าที่หลัก ดังนี้

  1. ตับช่วยปรับกลไกของชี่
    กลไกของชี่ (气机 ชี่จี) หมายถึง ทิศทางการไหลเวียนของชี่ในทิศทางทางขึ้น-ลง เข้า-ออก ถ้ากลไกการทำงานของชี่ไม่ติดขัด เลือดลมจะไหลเวียนปกติ อวัยวะภายในและระบบเส้นลมปราณจะอยู่ในภาวะสมดุล
  2. ตับกำกับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
    การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์อารมณ์มีความสัมพันธ์กับการไหลเวียนของชี่ตับอย่างมาก ถ้าชี่ของตับไหลเวียนสะดวก เลือดลมจะไหลเวียนดี ร่างกายจะสมดุล อารมณ์ก็จะดี
  3. ควบคุมการไหลเวียนของน้ำดี
    น้ำดีสร้างที่ตับแล้วเก็บสะสมในถุงน้ำดีและหลั่งออกมาในลำไส้เล็กช่วยการย่อยอาหาร ถ้าชี่ของตับไหลเวียนเป็นปกติ การสร้างและการหลั่งน้ำดีช่วยย่อยอาหารก็เป็นปกติ
  4. ช่วยให้ชี่ของม้ามลอยขึ้น และชี่ของกระเพาะอาหารไหลลง
    ตับมีหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของชี่ม้ามและกระเพาะอาหารให้มีทิศทางถูกต้อง ซึ่งในระบบทางเดินอาหาร ม้ามควบคุมการย่อยและดูดซึมอาหาร ชี่ของม้ามช่วยการลำเลียงส่งสารอาหารที่ย่อยสลายแล้วขึ้นไปที่กระเพาะอาหารมีหน้าที่รับอาหารเพื่อย่อย หลังจากนั้นชี่ของกระเพาะอาหารจะช่วยผลักดันอาหารลงสู่สำไส้ เพื่อให้ระบบย่อยและดูดซึมอาหารทำงานอย่างสมบูรณ์
  5. ช่วยการไหลเวียนของเลือดและของเหลวในร่างกาย
    ชี่ของตับช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและของเหลวในร่างกายสะดวก ถ้าชี่ของตับติดขัด การไหลเวียนของเลือดก็จะติดขัด ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่ง เช่น ในสตรีจะเกิดอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนไม่มา หรือเกิดเนื้องอกได้ ถ้าการไหลเวียนของของเหลวในร่างกายติดขัด จะเกิดอาการเสมหะติดคอ โรคต่อมไทรอยด์ หรือมีน้ำในท้องตกค้าง ท้องมาน เป็นต้น
  6. ช่วยการขับของประจำเดือนและการหลั่งอสุจิ
    ชี่ของตับช่วยให้การมาของประจำเดือนตรงตามกำหนดในสตรีและการหลั่งอสุจิในบุรุษ รอบเดือนจะติดขัด ปวดรอบเดือนจนถึงรอบเดือนไม่มา ในผู้ชายความต้องการทางเพศลดลง หลั่งลำบาก ถ้าชี่ของตับแกร่ง รอบเดือนจะมาก่อนปกติหรือมีปริมาณมาก ในผู้ชายจะมีอารมณ์ทางเพศมากกว่าปกติและมีน้ำกามเคลื่อน เป็นต้น

ซึ่งตามหน้าที่หลักของตับในทางศาสตร์การแพทย์แผนจีนด้านการปรับอารมณ์ อารมณ์โกรธมีความสัมพันธ์กับตับ อารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน มีความรุนแรง ถ้าเป็นบ่อย ๆ จะมีผลต่อการทำงานของตับ ชี่ของตับติดขัดไม่ไหลเวียน อารมณ์จะเก็บกด ใบหน้าแดงหมองคล้ำ ถ้าชี่ของตับไหลเวียนรุนแรงเกินไป อารมณ์จะหงุดหงิด โกรธ โมโหง่ายเรื่อย ๆ จนเป็นประจำ ทำให้การควบคุมการไหลเวียนของชี่ตับไม่ปกติ อารมณ์โกรธเฉียบพลันจะชี่ของตับพุ่งขึ้นด้านบน ชี่และเลือด ให้ไหลเวียนแผ่ซ่านลอยขึ้นมากเกินไป ทำให้มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน จนถึงโกรธจนเป็นลมหมดสติได้นั่นเอง

วิธีการป้องกันและรักษา

  1. ตามหลักปัญจธาตุ หรืออู่สิง อารมณ์โกรธ (ตับ) : จะถูกควบคุมหรือข่มด้วยอารมณ์เสียใจ (ปอด)
    เมื่อผู้ป่วยหรือบุคคลมีอารมณ์โกรธรุนแรงมาก จะต้องหากลวิธีที่เหมาะสม ด้วยการเอาอารมณ์ที่ทำให้เศร้าโศกเสียใจมาระงับอารมณ์โกรธ สงบอารมณ์โกรธให้ลดลง การใช้คำพูดที่เป็นเรื่องเศร้าไปสยบความโกรธ เช่น การบอกให้เขารู้ถึงผลที่อาจจะตามมาจากการกระทำ ทำให้เขาเกิดความเสียใจกับการกระทำหรือทำให้เขาสงสาร กระทั่งทำให้หลั่งน้ำตาหรือเสียใจร้องไห้ออกมาให้ได้ อารมณ์โกรธนั้นก็จะสงบลงทันที เนื่องจากอารมณ์เสียใจ (ปอด) จะทำให้ชี่ชี่สลายรวมกันไม่ได้ เวลาโกรธพลังย้อนขึ้นบน แต่ความเศร้าโศกทำให้สูญเสียพลัง จึงหายโกรธนั่นเอง
  2. ฝึกบริหารอารมณ์ การปล่อยวางจิตใจให้เบา รักษาสมดุลทางอารมณ์ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ต้องเผชิญอย่างเหมาะสม บริหารอารมณ์ให้อยู่ในสภาวะสมดุล
  3. ฝึกมองโลกแง่บวก ในบางสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีนั้น การมองหาแง่มุมบวกที่ช่วยประคองความรู้สึกของตนเองบ้างแม้เพียงเล็กน้อย ก็ช่วยได้มาก ไม่ยึดติดไปกับทุกเรื่อง หรือเก็บทุกอย่างไปคิด มีแต่จะเปลืองพลังงานที่ดีในร่างกาย ปล่อยวางในเรื่องที่ตัวเราไม่สามารถควบคุมได้
  4. ฝึกการหายใจ ฝึกสมาธิช่วยได้เยอะ การใช้เวลาไปกับการออกกำลังกายเพื่อบริหารเลือดลมและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และฮอร์โมนในร่างกายจะช่วยปรับสมดุลในร่างกายทั้งเซลล์ประสาท สมอง เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้เป็นปกติ

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ศศิพัชญ์ อิทธิชัยโฆษิตกุล (หมอจีน สุ่ย จิง ซิน)
许精鑫  中医师
TCM.Dr.Sasiphat Aitthichaikhositkun
แผนกกระดูกและทุยหนา

อ้างอิง

  1. https://www.doctor.or.th/article/detail/3002
  2. Basic Traditional Chinese Medicineศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข ISBN : 978-974-16-0792-1
  3. 中医基础理论图表解/周学胜编著.2版.北京∶人民卫生出版社,2004.6(中医基础理论图表解丛书)ISBN 978-7-117-06093-6

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้