Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 73291 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการท้องผูก หมายถึง ภาวะที่มีความถี่ในการถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติ เช่น จำนวนการขับถ่ายใน 1 สัปดาห์ น้อยกว่า 3 ครั้ง โดยอุจจาระจะมีลักษณะแห้ง แข็ง หรือมีอาการถ่ายลำบาก ต้องใช้แรงเบ่งมากเวลาถ่ายอุจจาระ หรือใช้เวลาในการขับถ่ายเป็นเวลานาน หรือมีอาการถ่ายไม่สุด มีอาการปวดอยากถ่ายอีกภายหลังจากถ่ายอุจจาระไปแล้ว ต้องใช้นิ้วหรือใช้น้ำช่วยในการขับถ่าย
ในมุมมองของแพทย์แผนจีน ได้อธิบายเกี่ยวกับอาการท้องผูกได้ค่อนข้างละเอียดและจำแนกออกเป็นหลากหลายลักษณะได้แก่
1. กลุ่มอาการแกร่ง : ท้องอืด ตึง กดแล้วเจ็บ อุจจาระแข็งเหมือนมูลแพะ มีไข้ หน้าแดง หิวน้ำบ่อย กระหายน้ำ ปากแห้ง ลมหายใจมีกลิ่น ปัสสาวะน้อย สีเข้ม
2. กลุ่มอาการพร่อง : อยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง มึนงงศีรษะ ใจสั่น ผิวหมองคล้ำ
3. กลุ่มความเย็น : ท้องผูก ปวดแบบเย็นๆในท้อง ชอบความอุ่น แขนขาเย็น ปัสสาวะมากและใส
4. กลุ่มที่เกิดจากชี่ : ท้องผูก ปวดท้อง ปวดชายโครง เรอบ่อย หลังผายลมหรือถ่ายออกแล้วรู้สึกสบาย
แสดงให้เห็นว่า การจำแนกอาการท้องผูกของแพทย์แผนจีน รายละเอียดและมีการรักษาเชิงลึกที่สอดคล้องกันสำหรับสาเหตุต่าง ๆ ลดการพึ่งพายาระบายเป็นเวลานาน
การนวดกดจุดเป็นอีกวิธีการที่นิยมนำมาใช้ในการดูแลร่างกาย โดยสามารถช่วยเรื่องการขับถ่ายและปรับสมดุลลำไส้ อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงโดยมีวิธีการนวดดังนี้
ขั้นที่ 1 ลูบหน้าท้อง
ลูบเบาๆบริเวณหน้าท้องในทิศหมุนตามเข็มนาฬิกาประมาณ 30-40 รอบเพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้
ขั้นที่ 2 นวดคลึงจุดจือโกว
ใช้นิ้วหัวแม่มือกดคลึงนวดวนคล้ายรูปก้นหอยประมาณ 1-2 นาทีเพื่อลดอาการถ่ายยาก ถ่ายไม่คล่อง โดยวิธีวัดจุดจะใช้นิ้วมือทั้งสี่คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย ทาบขึ้นมาจากเส้นข้อมือจุดจะอยู่กึ่งกลางบริเวณแขนด้านนอก
ขั้นที่ 3 กดจุดเทียนซู
ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดนวดวนประมาณ 1-2 นาทีเพื่อปรับสมดุลลำไส้และกระตุ้นระบบขับถ่าย โดยวิธีวัดจุดจะใช้นิ้วมือทั้งสามนิ้วคือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง ทาบข้างสะดือโดยจุดจะอยู่ระดับสะดือออกมาด้านข้างทั้ง 2 ข้าง
เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดอาการท้องผูก ขับถ่ายได้สะดวกขึ้นอีกทั้งยังช่วยปรับสมดุลลำไส้และยังส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงอีกด้วย นอกจากวิธีการกดจุดแล้ว การรับประทานอาหารที่เหมาะสม มีกากใย ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายก็สำคัญ หลีกเลี่ยงการทานอาหารแปรรูป สำหรับผู้ที่ลองทำวิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น สามารถปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวทุกสาขาใกล้บ้านนะครับ
เอกสารอ้างอิง
1. https://www.epochtimes.com/gb/19/11/17/n11662068.htm
2.บทความเรื่อง ท้องผูก มีปัญหาในการขับถ่าย อยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก หัวเฉียวแพทย์จีน
3. https://tw.news.yahoo.com/按-天樞穴-搞定便祕-胃脹-腹瀉-000000791.html