Wheelchair Taijiquan 轮椅太极拳 การฝึกรำไทเก๊กบนเก้าอี้วีลแชร์ (wheelchair)
การฝึกรำไทเก๊กเป็นวิธีหนึ่งในการดูแลสุขภาพของคนจีนที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเป็นการออกกำลังเคลื่อนไหวด้วยความสงบ ช้าและสมดุล นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการฝึกสมาธิและทำให้พลังลมปราณ หรือ ชี่ ไหลเวียนได้ดีขึ้นอีกด้วย ส่งผลกระทบต่อข้อต่อร่ายกายน้อย อีกทั้งการฝึกรำไทเก็กเป็นการออกกำลังกายที่ประหยัด สะดวก ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อื่นๆช่วย และทำได้ในหลายๆสถานที่ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะใช้ในการออกกำลังดูแลสุขภาพของบุคคลทั่วไป ต่อมาจึงได้มีการส่งเสริมให้บุคคลที่มีความพิการหรือผู้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวได้มีโอกาสในการฝึกรำไทเก๊กเพื่อฟื้นฟูร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องใช้เก้าอี้วีลแชร์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้มีผู้เชี่ยวชาญดร.โกวจือปิน (Zhibin Gou) ได้ประยุกต์ท่ารำไทเก๊กแบบดั้งเดิมให้เข้ากับข้อจำกัดของผู้ที่นั่งอยู่บนเก้าอี้วีลแชร์ และได้มีการนำเสนอสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการครั้งแรกใน มหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี ค.ศ. 2008 ทำให้เกิดกระแสความสนใจในการฝึกรำไทเก๊กสำหรับผู้ที่นั่งอยู่บนเก้าอี้วีลแชร์ในระดับนานาชาติ
ที่มา :http://news.sohu.com/20080906/n259408550.shtml
ซึ่งงานวิจัยของหวางหย่งไท่ (Yangtai Wang)ได้ศึกษาถึงผลของการฝึกรำไทเก๊กบนเก้าอี้วีลแชร์ ต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุที่มีความทุพพลภาพ พบว่า เมื่อทำการฝึกรำไทเก๊กบนเก้าอี้วีลแชร์แบบ WTC10 (Wheelchair Tai Chi 10) เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าผู้ที่ได้รับการฝึกสามารถเคลื่อนไหวได้คล่องตัวมากขึ้น เพิ่มระยะการเคลื่อนไหวของข้อต่อหัวไหล่ และการบิดเอวได้มากขึ้น รวมถึงมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นอีกด้วย
การรำไทเก๊กบนเก้าอี้วีลแชร์ ได้แบ่งเป็น 10 ท่า โดยจะทำทีละ 5 ท่า และจะพักประมาณ 5 นาที ก่อนจะทำอีก 5 ท่า
ท่าที่ 1
นั่งตรงมือสองข้างวางบนตัก ยกมือขึ้นสองข้างพร้อมกันอยู่ระดับหัวไหล่ ค่อยๆลดมือสองข้างลงและดันมือไปด้านหน้า
ท่าที่ 2
เหยียดแขนขวาออก หงายมือซ้ายขึ้น
ตะวัดแขนขวาเข้าพร้อมกับขยับมือซ้ายลงคล้ายถือลูกบอล
ปัดมือขวาลงพร้อมกับยกมือซ้ายขึ้นและเหยียดมือทั้งสองข้างออกไปทางข้างลำตัว
ทำซ้ำอีกข้างหนึ่ง
ท่าที่ 3
เหยียดแขนซ้ายออก คว่ำมือขวาลง วาดมือขวาไปหามือซ้าย
ดึงมือขวาเข้าหาตัว และคว่ำมือซ้ายลง
บิดตัวไปทางขวา และยกแขนซ้ายขึ้นไปหามือขวา
นิ้วที่ห้าจรดกันและคว่ำมือ พร้อมทั้งขยับมือซ้ายมาทางด้านหน้าพร้อมทั้งขยับตัวนั่งตรง
ยกมือขวาขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เหยียดมือซ้ายไปทางด้านซ้ายโดยหงายฝ่ามือออกจากตัว
แบมือและคว่ำมือทั้งสองข้างลงพร้อมทั้งลดแขนลง
ท่าที่ 4
ยกมือซ้ายขึ้นเป็นครึ่งวงกลมผ่านหน้า
บิดตัวไปทางซ้ายพร้อมทั้งยกแขนขวาไปทางซ้าย
สลับยกแขนขวาตั้งฉากและเอาแขนซ้ายเหยียดออกไปทางด้านล่าง
บิดตัวกลับไปด้านขวา
ทำซ้ำอีกหนึ่งรอบ
ท่าที่ 5
นิ้วมือขวาทั้ง5จรดกันและหมุนข้อมือให้ปลายนิ้วชี้ลงพื้น และวาดมือซ้ายขึ้นระดับใบหน้า
บิดนั่งตัวตรงพร้อมทั้งเลื่อนมือซ้ายผ่านหน้าไปยังฝั่งซ้าย หลังจากท่าที่ 5 นี้ ให้หยุดพัก 5 นาที
ท่าที่ 6
เอนหลังเงยหน้าขึ้นเล็กน้อยพร้อมกับกางแขนสองข้างหันไปทางขวาเล็กน้อยเป็นท่าเริ่มต้น
เลื่อนมือทั้งสองข้างเข้าหากัน โดยมือขวาหันออกจากตัว ก่อนจะบิดให้ฝ่ามือสองข้างเข้าหากัน
หันตัวไปด้านซ้ายพร้อมกับกางแขนทั้งสองข้างออก
หันตัวตรงพร้อมกับน้ำมือสองข้างเข้าหากัน และทำท่าเดิมซ้ำแต่สลับข้าง
ท่า 7 - 8
วาดมือซ้ายลงมาขนานกับหน้าตักด้านขวา หมุนมือซ้ายเป็นวงกลมตั้งฉากขนานกับมือซ้าย จากนั้นเหยียดมือซ้ายกางออกไปทางด้านซ้ายพร้อมกับวางมือขวาต่ำลงให้ขนานกับหน้าตักขวา แล้ววาดมือขวาไปหามือซ้ายโดยไม่ให้สัมผัสกัน จากนั้นคว่ำมือซ้ายและหงายมือขวา แล้ววาดมือทั้งสองข้างพร้อมกับตามองมือ หมุนวนทวนเข็มนาฬิกา ให้ถึงระดับใบหู จากนั้นตั้งฉากมือขวาขึ้น แล้ววาดมือทั้งสองพร้อมกับตามองตามมือซ้ายในลักษณะส่องกระจกไปทางด้านซ้าย จากนั้นโน้มมือขวาไปด้านหน้าให้ขนานกับมือซ้ายแล้ววาดออกกางมือให้ขนานกับหัวไหล่แล้วดึงมือเข้าหาตัว แล้วดึงลงมาให้ขนาดกับหน้าตักแล้วงอศอกเล็กน้อย จากนั้นค่อยๆเอามือเข้าหากันแล้วช้อนขึ้นดันไปข้างหน้า กางมือขวาออกแล้วหมุนเป็นวงรีตั้งฉากขนานกับมือซ้าย แล้วทำซ้ำอีกข้าง
ท่าที่ 9
วาดมือซ้ายกางออกไปทางด้านซ้ายให้อยู่ในระดับศีรษะให้เท่ากับมือขวา
แล้วค่อยๆรวบมือทั้งสองข้างลง ไขว้มือทั้งสองข้างเข้าหาลำตัวในระดับใบหน้า
ท่าที่ 10
หมุนฝ่ามือออกด้านนอกและ ค่อยๆกางมือทั้งสองข้างข้างออกให้ขนานกับหัวไหล่ ยกแขนขึ้นเหนือหัวไหล่ทั้งสองข้างเล็กน้อย จากนั้นกระดกข้อมือขึ้นลงเล็กน้อย แล้วค่อยๆวางมือทั้งสองข้างลงที่หน้าตักเป็นอันจบการรำไทเก๊กบนเก้าอี้วิลแชร์
การออกกำลังด้วยการฝึกรำไทเก๊กบนเก้าอี้วิลแชร์นี้ใช้การเคลื่อนไหวที่ช้า แต่สม่ำเสมอ และใช้เวลาออกกำลังประมาณ 45นาทีถึง1ชั่วโมง หากทำแล้วเหนื่อยสามารถหยุดพักได้ไม่ควรฝืนทำต่อเนื่องจนครบทุกท่า สามารถทำได้สัปดาห์ละ 2 ครั้งหรือมากกว่า ขึ้นกับสภาพร่างกายของผู้ฝึก
แพทย์จีน ธิติ นิลรุ่งรัตนา (พจ 1355)
แผนกกระดูกและทุยหนา
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
พจ.1355
อ้างอิง
Yong Tai Wang, Zhanghua Li, Yi Yang, Yaping Zhong, Shih-Yu Lee, Shihui Chen & Yu-ping Chen (2016) Effects of wheelchair Tai Chi on physical and mental health among elderly with disability, Research in Sports Medicine, 24:3, 157-170,DOI:10.1080/15438627.2016.1191487
https://blog.utc.edu/news/2008/02/medical-anthropologist-introduces-wheelchair-tai-ji-in-china/
http://news.sohu.com/20080906/n259408550.shtml
https://www.youtube.com/watch?v=bJHyFrDmXgU&t=1s
บทความนี้เอามาใช้ประโยชน์ได้ดีมาก