ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia, PHN)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  5131 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia, PHN)

ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia, PHN) 

ที่แผนกอายุรกรรมภายนอก คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน

  ข้อมูลทั่วไป

ผู้ป่วยหญิง     อายุ  56 ปี

เลขประจำตัวผู้ป่วย  338XXX


  วันที่รับการรักษาครั้งแรก  17 กุมภาพันธ์ 2564

  อาการสำคัญ

บริเวณอกและชายโครงขวาพร้อมด้วยอาการปวดแสบปวดร้อนมา 1 เดือน



  ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน

1 เดือนก่อน ผู้ป่วยมีกลุ่มของตุ่มน้ำขึ้นบริเวณอกและชายโครงขวาพร้อมด้วยอาการปวดแสบปวดร้อน ได้รับการวินิจฉัย ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งว่าเป็นงูสวัด รักษาด้วยการทานยาต้านไวรัส ยาต้านการอักเสบ และลดปวดปลายประสาท ตุ่มน้ำจากงูสวัดหายสนิท ไม่มีสะเก็ดแผลแล้ว แต่ปัจจุบันมีอาการปวดแสบปวดร้อนมากบริเวณบริเวณอก รักแร้และชายโครงขวา ผู้ป่วยให้คะแนนความเจ็บปวด 9/10 ปวดมากตอนกลางคืน ส่งผลต่อการนอนหลับ  

  อาการและประวัติอื่นๆ :  นอนหลับไม่ดี เวียนหัว หงุดหงิดง่าย ปากแห้ง คอแห้ง ถ่ายเหลว

  ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต  

ไม่มี

  การตรวจร่างกาย

ลิ้นมีสีแดงคล้ำ ฝ้าขาวหนา ชีพจรตึงลื่นและเร็ว 

  การวินิจฉัย

จากการซักประวัติ เริ่มแรกมีอาการปวดแสบปวดร้อน และมีกลุ่มของตุ่มน้ำขึ้นบริเวณซีกเดียวของร่างกาย วินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคงูสวัด  วันแรกที่มารักษา ตุ่มน้ำจากงูสวัดหายสนิท ไม่มีสะเก็ดแผลแล้ว ผู้ป่วยมีอาการปวดแสบปวดร้อนมากบริเวณอก รักแร้และชายโครงขวา วินิจฉัยได้ว่าเป็นอาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia, PHN) อยู่ในกลุ่มอาการตับและถุงน้ำดีร้อนชื้น (肝胆湿热证)

  วิเคราะห์กลุ่มอาการของผู้ป่วย

ผู้ป่วยมีอาการงูสวัดมา 1 เดือน ตุ่มน้ำจากงูสวัดหายสนิท ไม่มีสะเก็ดแผลแล้ว อาการปวดแสบปวดร้อนมาก วินิจฉัยได้ว่ามีความร้อนหรือไฟคั่งค้างอยู่ รวมถึงมีอาการที่บ่งบอกว่ามีความร้อนลอยขึ้นด้านบนและเผาผลาญสารน้ำในร่างกาย คือ หงุดหงิดง่าย ปากแห้ง คอแห้ง เวียนหัว นอนไม่หลับ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ ตำแหน่งรอยโรคอยู่บริเวณอก รักแร้และชายโครงขวา ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นลมปราณของตับและถุงน้ำดีพาดผ่าน นอกจากนี้ยังมีอาการที่บ่งบอกว่าร่างกายมีความชื้น สังเกตจากลิ้นมีฝ้าขาวหนา และถ่ายเหลว ตามทฤษฎีแพทย์แผนจีนอาจเกิดจากการรับความชื้นมาจากภายนอก จากอาหารหรือยาที่ทาน หรือตามทฤษฎีแพทย์แผนจีนเรื่องการทำงานที่เกี่ยวข้องกันระหว่างตับกับม้าม หรือตับกับถุงน้ำดี

รูปที่ 1 เส้นลมปราณถุงน้ำดี



รูปที่ 2 เส้นลมปราณตับ


ที่มาของรูป: https://www.sohu.com/a/297835097_100196167?sec=wd

 หลักการรักษา

การรักษาโรคงูสวัดในระยะนี้จะใช้วิธีการขับพิษควบคู่กับการบำรุง หลักการรักษาในผู้ป่วยรายนี้ คือ ขับพิษ ระบายความร้อนตับและถุงน้ำดี ขับความชื้น กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลมเพื่อลดอาการปวด และบำรุงม้าม

  การรักษา

1. จ่ายยาจีน 5 วัน  ใช้บริการต้มที่คลินิก ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที

2. ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนหลูเหมียวซิน)

  คำแนะนำแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติเพื่อช่วยส่งเสริมการรักษา

1. พักผ่อนให้เพียงพอ

2. ผ่อนคลายจิตใจ

3. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของหมักดอง อาหารทะเล

  การติดตามอาการครั้งที่ 1 (22 กุมภาพันธ์ 2564)

อาการปวดดีขึ้น ผู้ป่วยให้คะแนนความเจ็บปวด 5/10 อาการปวดยังส่งผลต่อการนอนหลับ แต่สามารถนอนได้มากขึ้น อาการหงุดหงิด ปากแห้ง คอแห้ง น้อยลง  การขับถ่ายกลับมาเป็นปกติ บ่งบอกว่าความร้อนส่วนเกินในร่างกายเริ่มลดลง

  การตรวจร่างกาย

ลิ้นมีสีแดงคล้ำ ฝ้าหนา สีขาวปนเหลือง ชีพจรตึงลื่น บ่งบอกว่าความร้อนลดลง จากชีพจรเร็วกลับมาเต้นปกติ

  การรักษา

1. ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน  7 วัน ใช้บริการต้มที่คลินิก ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที

2. ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนหลูเหมียวซิน)

  การติดตามอาการครั้งที่ 2 (1 มีนาคม 2564)

อาการปวดดีขึ้น ผู้ป่วยให้คะแนนความเจ็บปวด 2/10 นอนหลับได้ดีขึ้นมาก ตอนกลางคืนตื่นเพียง 1 ครั้ง การทานอาหาร ขับถ่าย ปกติ

  การตรวจร่างกาย

ลิ้นมีสีแดงคล้ำ ฝ้าขาวบาง ชีพจรตึง บ่งบอกว่าความชื้นในร่างกายลดลง

  การรักษา

1. จ่ายยาแคปซูลและยาลูกกลอน อย่างละ 1 กระปุก

2. ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนหลูเหมียวซิน)

  การติดตามอาการครั้งที่ 3 (8 มีนาคม 2564)

อาการปวด และความถี่ที่ปวดลดลง นอนหลับได้ดีขึ้น ขับถ่ายปกติ

  การตรวจร่างกาย

ลิ้นมีสีแดงคล้ำ ฝ้าขาวบาง ชีพจรตึง

  การรักษา

1. จ่ายยาแคปซูลและยาลูกกลอน อย่างละ 1 กระปุก

2. ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนหลูเหมียวซิน)

  การติดตามอาการครั้งที่ 4 (15 มีนาคม 2564)

อาการปวดมีเฉพาะตอนกลางคืน การนอนหลับกลับมาเป็นปกติ การทานอาหาร ขับถ่าย ปกติ

  การตรวจร่างกาย

ลิ้นมีสีแดงคล้ำ ฝ้าขาว ชีพจรตึง

  การรักษา

1. จ่ายยาแคปซูลและยาลูกกลอน อย่างละ 2 กระปุก

2. ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนหลูเหมียวซิน)

  การติดตามอาการครั้งที่ 5 (29 มีนาคม 2564 สิ้นสุดการรักษา)

แทบไม่มีอาการปวดเหลือแล้ว รู้สึกใกล้เคียงกับปกติแล้ว

  การตรวจร่างกาย

ลิ้นมีสีชมพู ฝ้าขาว ชีพจรตึง

  การรักษา

จ่ายยาแคปซูล 1 กระปุก

  สรุปผลการรักษา

ผู้ป่วยท่านนี้เป็นงูสวัดมา1เดือน  รักษาโดยการทานยาแผนปัจจุบันมาก่อน ตุ่มน้ำและสะเก็ดหายหมดแล้ว แต่ยังมีอาการปวดแสบปวดร้อน วินิจฉัยได้ว่าเป็นอาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia, PHN)  ผู้ป่วยให้คะแนนความเจ็บปวด 9/10 มีผลทำให้นอนไม่หลับ เมื่อรักษาด้วยยาจีนและฝังเข็ม อาการปวดดีขึ้นชัดเจนตามลำดับ จนสุดท้ายหายเป็นปกติ และกลับมานอนได้ รวมเวลารักษาทั้งสิ้น 1 เดือน 12 วัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้