Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 9621 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคสะเก็ดเงิน(白疕/银屑病 - Psoriasis)
ตัวอย่างการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยตำรับยา “ตู๋หัวจี้เซิงทัง”(独活寄生汤)
โรคสะเก็ดเงินมีชื่อโรคในทางแพทย์แผนจีนเรียกว่า“ไป๋ปี่”(白疕)เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังเป็นๆหายๆเป็นระยะเวลานาน มีลักษณะเป็นผิวมีลักษณะสีแดงหรือผื่นสีแดงนูน ขอบเขตชัด ด้านบนผื่นปกคลุมด้วยขุยหรือสะเก็ดสีขาวหรือสีเงิน อาจมีความผิดปกติของเล็บและข้อร่วมด้วย
อาการทางคลินิก
ในระยะแรก รอยโรคมีลักษณะเป็นผื่นอักเสบนูนแดงขนาดเมล็ดข้าวไปจนถึงขนาดเมล็ดถั่วลันเตา มักมีการกระจายตัวเป็นจุดๆ แล้วขยายขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้านบนรอยโรคมีขุยหรือสะเก็ดสีขาวเงินหนาจำนวนหลายชั้น หากแกะขุย ออกจะพบจุดเลือดออกเล็กๆ ผื่นสะเก็ดเงินมักพบบ่อยและเริ่มต้นที่บริเวณศีรษะ ไรผม ข้อศอก หัวเข่า ก้บกบและหน้าแข้ง
ผื่นที่ปรากฏเป็นระยะเวลานานแล้วอาจมีรูปร่างคล้ายเหรียญ แผนที่ เปลือกหอยนางรมฯลฯ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจพบเล็บมีการเปลี่ยนรูป หากอาการเบาก็จะพบมีหลุมเล็กๆบนหน้าเล็บ หากอาการหนักก็จะพบว่าเล็บมีการหนาตัวขึ้น ไร้ความเงางาม หากพบผื่นบนศีรษะ ผมจะมีการรวมกันเป็นกระจุกคล้ายพู่กัน
โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง และมักกลับมาเป็นได้ง่าย มีฤดูกาลที่กำเริบชัดเจน ฤดูหนาวอาการหนัก ฤดูร้อนอาการเบา และอาจมีบางรายที่มีอาการสลับกัน มีความคันในระดับที่แตกต่างกันไป
ปัจจัยการเกิดโรค
พันธุกรรม พบว่า 15-30% ของผู้ป่วยมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงิน
- การติดเชื้อบางชนิด
-ความเครียดรุนแรง
- ยาบางชนิดกลุ่มอาการในแพทย์แผนจีน ในแพทย์แผนจีนนั้นได้มีการแบ่งกลุ่มอาการไว้หลายแบบเช่น
กลุ่มอาการลมเย็น(风寒证)
มักพบในเด็กหรือช่วงระยะแรกของโรค หรือในกลุ่มข้ออักเสบ ลักษณะสีของผื่นไม่แดงจัด ขุยสีขาวหนา เกาแล้วหลุดลอกง่ายมักอาการกำเริบหรือเป็นหนักขึ้นช่วงฤดูหนาว อาการเบาลงช่วงฤดูร้อน มักมีอาการขี้หนาวร่วมกับปวดตามข้อและคันตามผื่นเล็กน้อย
กลุ่มอาการลมร้อนเลือดร้อน(风热血热证)
ผื่นกระจายตัว ผื่นสีแดงสด หาดขูดสะเก็ดออกมีจุดเลือดออกชัดเจน ผื่นสะเก็ดหนา มีอาการคัน ช่วงอากาศร้อนฤดูร้อนอาการเป็นหนักขึ้น มักขี้ร้อน ท้องผูกปัสสาวะสีเข้ม
กลุ่มอาการร้อนชื้นสะสม(湿热蕴积证)
ผื่นมักขึ้นบริเวณรักแร้ ขาหนีบ หรือตามรอยพับ ผื่นมีสีแดงและแฉะ ร่วมกับอาการคัน หรืออาจมีตุ่มหนองตามฝ่ามือฝ่าเท้าอาการเป็นหนักขึ้นช่วงอากาศชื้นหรือฤดูฝน อาจมีอาการแน่นหน้าอกเบื่ออาหารร่วมด้วย รู้สึกเพลียไม่มีแรง รู้สึกตัวหนักช่วงครึ่งล่างลำตัวขา ในผู้หญิงอาจมีตกขาวมีสีเหลืองหรือมีปริมาณมาก
กลุ่มอาการเลือดพร่องลมแห้ง(血虚风燥证)
อาการของโรคคงที่ รอยโรคไม่ขยายกว้าง หรือมีรอยผื่นใหม่เกิดน้อย แต่ผิวแห้ง บริเวณหน้าแข้งรอยโรคหนาตัวและมีลักษณะผิวหยาบแห้ง รอยโรคมีอาการคัน คอแห้ง อาจมีเวียนศีรษะตาลาย ใบหน้าซีดขาว
กลุ่มอาการเลือดคั่ง(血瘀证)
มีประวัติการเป็นโรคยาวนาน เป็นๆหายๆไม่หายขาด รอยโรคสีแดงคล้ำหรือสีเข้ม ผื่นมีลักษณะหนา สะเก็ดติดแน่น บางรายอาจมีผื่นลักษณะคล้ายเปลือกหอย อาจมีอาการข้อติด
กลุ่มอาการตับไตพร่อง(肝肾不足证)
ผื่นสีแดงซีด ขุยสะเก็ดไม่มาก สีออกเทาขาว มีอาการปวดเอวร่วม เวียนศีรษะหูมีเสียง ในสตรีหากช่วงตั้งครรภ์ผื่นจะจางหายหรือทุเลาลงแต่หลังคลอดผื่นจะกลับมาเป็นหนักขึ้น ในบางรายมีประจำเดือนไม่ปกติ
กลุ่มอาการพิษร้อนสะสม(火毒炽盛证)
มักพบในสะเก็ดเงินชนิดรุนแรงหรือชนิดตุ่มหนอง ผิวหนังมีลักษณะแดงหรือแดงคล้ำและมีขุยลอกเกือบทั่วพื้นที่ผิวทั้งหมดของร่างกาย อาจมีอาการบวมร่วม ผิวหนังแสบร้อนหรือมีตุ่มหนองกระจาย มีอาการกระหายน้ำ ท้องผูกปัสสาวะเข้ม
หลักการรักษา
หลักการรักษาคือรักษาทั้งภายนอกและภายในไปพร้อมกัน ให้ความสำคัญกับการรักษาแบบองค์รวมและผลของการรักษาทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว หลักการรักษาหลักของแพทย์แผนจีนได้แก่ ขจัดลมเย็น ดับร้อนทำให้เลือดเย็น ดับร้อนขับพิษ ขับชื้น กระตุ้นการไหลเวียนสลายเลือดคั่ง ขับลมลดอาการคัน บำรุงตับไต พยุงเลือดให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวฯลฯ ด้วยยาสมุนไพรจีนแบบรับประทานและยาใช้ภายนอก(ยาอาบ ยาทา)ตามลักษณะอาการของผู้ป่วยในแต่ละระยะ
การดูแลและป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด ของแสลง อาหารที่ปรุงไม่สุก เลี่ยงเนื้อสัตว์ไขมันสูง เน้นทานผักผลไม้ให้มากขึ้น
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
- ป้องกันการติดเชื้อ และการเกิดแผลภายนอก โดยเฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยน หรือเปลี่ยนฤดูต้องระวังไม่ให้เป็นหวัด คออักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ
- หลีกเลี่ยงสภาวะเครียด ขจัดความกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีฤทธิ์แรง หรือ ยาที่ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำร้อน
- เสริมความแข็งแรงให้กับร่างกายด้วยการออกกำลังกาย
ตัวอย่างการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยตำรับ“ตู๋หัวจี้เซิงทัง” (独活寄生汤)
ตรวจรักษาครั้งแรกวันที่ 12-11-2021
ผู้ป่วยเพศชาย ชาวไทย อายุ 36 ปี
อุณหภูมิร่างกายปกติ (36℃), ชีพจร 81/min, ความดัน 117/73mmHg, น้ำหนัก 53.5 kg
อาการสำคัญ: คนไข้มาด้วยอาการผื่นแดงบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างและต้นคอร่วมกับมีอาการคันในบางครั้งเป็นเวลา 15 ปี
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต:
เมื่อ 15 ปีก่อนคนไข้เริ่มมีผื่นขึ้นร่วมกับอาการคัน เวลานั้นได้พบแพทย์แผนปัจจุบันถูกวินิจฉัย เป็นโรค “สะเก็ดเงิน” เคยได้รับการรักษาด้วยยารับประทานกลุ่มยากดภูมิคุ้มกันแต่หยุดทำการรักษาเป็นเวลามากกว่า 5 ปีแล้ว ในทุกๆปีช่วงอากาศเย็นผื่นจะเห่อมากขึ้นร่วมกับอาการแห้งและคัน ปัจจุบันเมื่อมีอาการคันจะใช้ยาสเตียรอยด์ทาเอง เฉลี่ยจะใช้ทาประมาณ 1 เดือนจนอาการทุเลาลงจึงหยุดใช้ประมาณ 1 สัปดาห์สลับวนไป บางครั้งมีอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านซ้ายร่วมกับอาการปวดเอว(ได้ทำการรักษาด้วยการฝังเข็มแล้วในวันนี้) ทานอาหารได้ปกติแต่ชอบดื่มน้ำเย็นเป็นประจำ และมีอาการขี้หนาว นอนหลับสนิท ขับถ่ายวันละครั้ง
การตรวจร่างกาย: ลิ้นสีแดงคล้ำฝ้าลิ้นสีขาวเหนียว ชีพจรตึงเล็ก(脉弦细)พบผื่นบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างเป็นสีแดงคล้ำบริเวณกว้างตัวผื่นมีความแห้ง
การวินิจฉัย: สะเก็ดเงิน (白疕/银屑病)
การรักษา: ทานยาสมุนไพรจีนตำรับตู๋หัวจี้เซิงทัง เพิ่มลด เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ตรวจรักษาครั้งที่ 2 วันที่ 18-11-2021
ชีพจร 83/min, ความดัน 117/77mmHg
หลังรับประทานยาจีนไปครั้งแรกไม่พบอาการไม่สบายตัวใดๆ รอยผื่นดูจางลง ยังคงมีอาการคันเป็นบางครั้ง คนไข้หยุดใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์มา 1 สัปดาห์ รับประทานอาหารปกติ ทานน้ำเย็นลดลง ช่วงระยะนี้รู้สึกมีเสมหะในลำคอ การนอนหลับปกติ การขับถ่ายปกติ อาการปวดข้อศอกและเอวลดลงหลังจากการรักษาด้วยการฝังเข็ม
การตรวจร่างกาย: ลิ้นสีแดงอ่อนคล้ำฝ้าลิ้นสีขาวบางของมีรอยฟัน ชีพจรตึงค่อนข้างเร็วมีแรง(脉弦略数有力)พบผื่นบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างเป็นสีแดงอ่อนบริเวณกว้างตัวผื่นค่อนข้างแห้ง
การรักษา : ทานยาสมุนไพรจีนตำรับตู๋หัวจี้เซิงทัง ปรับตัวยาเพิ่มสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณบำรุงม้ามและชี่ เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ตรวจรักษาครั้งที่ 4 วันที่ 15-12-2021
ชีพจร 91/min, ความดัน 117/77mmHg
ผื่นแดงแห้งบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างจางลงขอบเขตลดลง แต่ตัวผื่นมีความแห้งลอกขุยมากกว่าเดิม ระดับความคันอยู่ที่ 3/10 คะแนน ทานอาหารได้ปกติ อาการมีเสมหะในลำคอลดลง การนอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ ไม่พบอาการปวดข้อศอกและเอวแล้วจึงได้หยุดการรักษาด้วยการฝังเข็มตั้งแต่การรักษาครั้งที่ 3
การตรวจร่างกาย: ลิ้นสีค่อนข้างซีดคล้ำฝ้าลิ้นสีขาวบางขอบลิ้นมีรอยฟันกลางลิ้นมีรอยแตกเล็กน้อย ชีพจรตึงข้างขวาตำแหน่งชุ่นจม(脉弦右寸沉)พบผื่นบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างเป็นสีแดงอ่อนบริเวณกว้างตัวผื่นมีขุยแห้งลอก
การรักษา: ทานยาสมุนไพรจีนตำรับตู๋หัวจี้เซิงทัง ปรับตัวยาเพิ่มสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณบำรุงม้ามและขับเสมหะเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ร่วมกับยาสมุนไพรจีนทาภายนอกชนิดขี้ผึ้ง
ตรวจรักษาครั้งที่ 6 วันที่ 12-01-2022
ชีพจร 74/min, ความดัน 116/81mmHg
ผื่นบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างจางลงตามลำดับ ไม่ค่อยพบรอยแดง คันเล็กน้อยบางครั้งหลังอาบน้ำ การรับประทานอาหารปกติ การนอนหลับปกติ มีเสมหะใสเล็กน้อยตอนเช้า การขับถ่ายปกติ
การตรวจร่างกาย: ลิ้นสีอมชมพูฝ้าขาวบางขอบมีรอยฟันเล็กน้อยลิ้นค่อนข้างแห้ง ชีพจรจมเล็กลื่นมีแรง(脉沉细滑有力)พบผื่นบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างเป็นสีแดงอ่อนตัวผื่นค่อนข้างแห้ง
การรักษา : ยาสมุนไพรจีนตำรับตู๋หัวจี้เซิงทัง ปรับลดน้ำหนักเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ร่วมกับยาสมุนไพรจีนทาภายนอกชนิดขี้ผึ้ง
ตรวจรักษาครั้งที่ 7 วันที่ 10-02-2021
ชีพจร 79/min, ความดัน 116/69mmHg
หยุดรับประทานยาจีนมาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ อาการโดยรวมคงที่ ไม่พบผื่นใหม่ ไม่มีอาการคัน การรับประทานอาหารปกติ นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ ไม่มีเสมหะในลำคอช่วงเช้า ให้ทานยาเพื่อควบคุมอาการต่อแต่ลดปริมาณยาเป็น 1 ครั้งต่อวัน ทานอีก 2 สัปดาห์จึงหยุดยาดูอาการ จบขั้นตอนการรักษา
ตำรับยา “ตู๋หัวจี้เซิงทัง” (独活寄生汤)
คิดค้นโดยปรมาจารย์ซุนซือเหมี่ยวในสมัยราชวงศ์ถัง คัมภีร์ “เป้ยจี๋เชียนจินเย่าฟาง”(备急千金要方)สรรพคุณของตำรับนี้ช่วยในการขจัดลมความชื้นระงับอาการปวด และยังบำรุงตับไตรวมถึงชี่และเลือด เป็นตำรับที่เหมาะกับใช้รักษากลุ่มอาการปวดเรื้อรัง ในผู้ป่วยมีภาวะกลุ่มอาการตับไตชี่เลือดพร่อง ปวดเอวปวดหัวเข่า ข้อติดและเหน็บชา ร่วมกับอาการขี้หนาว โดยตัวตำรับนั้นใช้รักษากลุ่มอาการปวดจากลม ความเย็นและความชื้น ดังนั้นจากอาการของคนไข้รายนี้มีประวัติของการเกิดโรคมาหลายปี ร่วมกับมีอาการปวดข้อ(ข้อศอกและเอว)ในเบื้องต้น รวมถึงพื้นฐานเป็นคนขี้หนาว และอาการจะกำเริบขึ้นช่วงที่อากาศเย็น ซึ่งอาการโดยรวมสอดคล้องกับตำรับยา อีกทั้งในกลุ่มอาการจากลมเย็นกระทบในโรคสะเก็ดเงินจะใช้ยาตำรับนี้ในการรักษา เนื่องจากตัวยาในตำรับประกอบไปด้วยกลุ่มยาที่ช่วยในการขับความชื้น ขับความเย็นระงับอาการปวด บำรุงตับไตบำรุงชี่และเลือด
ตัวยาตู๋หัว(独活) รสเผ็ดขมฤทธิ์อุ่น ช่วยขจัดความเย็นชื้นที่อยู่ในเส้นเอ็นกระดูก ฤทธิ์ของยามีทิศลงรักษาอาการปวดหัวเข่าและเอวยาหลักของตำรับ ซี่ซิน(细辛)ฉินเจียว(秦艽)กุ้ยจือ(桂枝)ฝางเฟิง(防风)ยาทั้งสี่ช่วยเสริมฤทธิ์ในการขจัดลมขับไล่ความชื้น ความเย็นและระงับอาการปวด ซางจี้เซิง(桑寄生)ตู้จ้ง(杜仲)หนิวซี(牛膝)มีสรรพคุณบำรุงตับไต ขับลมชื้นเสริมเส้นเอ็นและกระดูกให้แข็งแรง ตัวยาเซิงตี้(生地)ตังกุย(当归)ไป๋เสา(白芍)ชวนซฺยง(川芎)บำรุงเลือดปรับเลือด โสม(人参)ฝูหลิง(茯苓)กันเฉ่า(甘草)เพิ่มชี่บำรุงม้าม เสริมการสร้างเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นกระดูกเส้นลมปราณให้แก่ร่างกาย
*** เนื่องจากพื้นฐานร่างกายแต่ละบุคคลแตกต่างกัน การรับประทานยาจีนควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนจีนไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง *
อ้างอิง
陈学荣. 中西医结合治疗皮肤病[M]. 人民卫生出版社, 2012.
陈达灿. 皮肤性病科专病中医临床诊治[M]. 人民卫生出版社, 2013.
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567