Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 3444 จำนวนผู้เข้าชม |
ประจำเดือนที่มาเป็นปกติสามารถใช้บ่งบอกสุขภาพที่แข็งแรงของผู้หญิงได้อย่างหนึ่ง อาการประจำเดือนไม่ปกติกลับเป็นโรคที่ผู้หญิงพบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง ประจำเดือนผิดปกติมีหลายรูปแบบ เช่น ประจำเดือนมาก่อน ประจำเดือนมาหลัง ปริมาณประจำเดือนที่มามากหรือน้อยเกินไป รวมถึงอาการปวดท้องประจำเดือนหรือมีอาการทางร่างกายอื่นๆร่วมด้วยเช่นปวดศีรษะ ปวดหลัง ท้องเสีย คัดหน้าอก อาการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิงเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปหากผู้หญิงคนไหนมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติมักจะไปนึกถึงความผิดปกติของมดลูก เช่นจะมีเนื้องอกมดลูกหรืออุ้มเชิงกรานอักเสบไหมเป็นต้น ในการแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญของอารมณ์ที่จะส่งผลต่อการมีรอบเดือนด้วย
เมื่อผู้หญิงเราได้รับความเครียดและความกดดันจากทั้งด้านการงาน เศรษฐกิจรวมทั้งอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงจิตใจด้วย ทำให้จิตใจห่อเหี่ยว โศกเศร้า โกรธง่ายโมโหง่ายซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนไม่มาและอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนเป็นต้น กลไกขั้นตอนก่อนมีประจำเดือน ในระหว่างที่รังไข่ปล่อยฮอร์โมนออกมากระตุ้นผนังมดลูก และเกิดเป็นประจำเดือนนั้นรังไข่จะถูกควบคุมอย่างเป็นระบบโดยกระบวนการที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมองและรังไข่โดยรวมเรียกว่า hypothalamic–pituitary-ovarian (HPO) axis ซึ่งหากกระบวนการนี้ได้รับผลกระทบที่ส่วนขั้นตอนใดก็จะทำให้เกิดความผิดปกติ ของการมารอบเดือนได้
การแพทย์แผนจีนมองว่าอารมณ์ต่างๆที่เกิดจนมากเกินไปล้วนสามารถก่อเกิดโรคได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะช่วงใกล้จะมีประจำเดือน ในคัมภีร์กล่าวว่าสุขภาพของสตรีใช้เลือดเป็นพื้นฐาน ตามทฤษฎีศาสตร์การแพทย์จีนชี่สามารถสร้างเลือดและขับเคลื่อนผลักดันให้เลือดไหลเวียน ตับในการแพทย์แผนจีนจะทำหน้าที่กักเก็บเลือดและอาศัยชี่ตับผลักดันให้เลือดไหลเวียน ชี่และเลือดมีความสัมพันธ์ต่อกันคือ ชี่อาศัยเลือดเป็นตัวยึดเกาะ ชี่สามารถสร้างเลือดได้ เลือดจะหล่อเลี้ยงให้อวัยวะสร้างชี่ได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อชี่ตับไหลเวียนดีเลือดจะไหลเวียนคล่อง ชี่และเลือดก็จะสมดุล ประจำเดือนก็จะมาเป็นปกติ หากชี่และเลือดไม่สมดุลจะส่งผลกระทบต่อประจำเดือนอย่างชัดเจน เลือดไม่เพียงพอ ชี่ตับจะติดขัดส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนซึ่งเห็นได้ชัดในขณะที่มีประจำเดือน ดังนั้นการควบคุมอารมณ์ให้ดีจะไม่ทำให้เกิดอาการประจำเดือนผิดปกติได้ประการหนึ่ง
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าอารมณ์มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับอวัยวะตับเป็นอย่างมาก จากทฤษฎีการแพทย์แผนจีนยังกล่าวไว้อีกว่า ตับมีความสัมพันธ์กับเส้นลมปราณชงเส้นลมปราณเยิ่นและมดลูก เมื่อตับระบายชี่ได้ดี เลือดก็จะสามารถไหลเวียนไปกักเก็บที่มดลูกได้เป็นปกติ ประจำเดือนก็จะเป็นปกติเช่นกัน แต่หากอารมณ์ต่างๆส่งผลให้การระบายของชี่ตับติดขัดเลือดไหลเวียนไปที่มดลูกไม่ได้ประจำเดือนก็จะผิดปกติ
การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ การคลอดบุตรเหล่านี้ก็อาจเป็นปัจจัยส่งผลให้เลือดน้อยลง ถ้าเลือดน้อยไม่เพียงพอในการบำรุงหล่อเลี้ยงตับก็จะส่งผลให้การระบายของชี่ตับติดขัด รวมถึงสาเหตุอื่นที่จะทำให้ชี่ตับติดขัดเช่น อาหารการกิน ความเหนื่อยล้า ปัจจัยก่อโรคต่างๆ(邪气-เสียชี่)เป็นต้น
เมื่อชี่ตับติดขัด เส้นลมปราณชงเยิ่นจะเกิดการอุดกั้น เลือดจะไม่สามารถไหลเวียนได้สะดวก มดลูกกักเก็บเลือดไม่ได้ ทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือประจำเดือนมาน้อย เมื่อชี่ตับติดขัดมากเลือดจะไหลเวียนไม่ดีทำให้เกิดเลือดคั่ง เมื่อเลือดไหลเวียนไม่คล่องจึงเกิดอาการปวดท้องประจำเดือนได้(不通则痛)
ชี่ตับติดขัดยังส่งผลให้ชี่และเลือดส่วนอื่นๆไหลเวียนติดขัดไปด้วย จะทำให้แขนขาบวมเมื่อมีประจำเดือน ถ้าเกิดเลือดคั่ง(เลือดเก่า)ไปอุดกั้นตามเส้นลมปราณชงเยิ่นทำให้เลือดใหม่ไม่สามารถไหลเวียนในเส้นลมปราณชงเยิ่นได้ อาการเบาอาจเกิดประจำเดือนมามากผิดปกติ(月经过多)หรือประจำเดือนมาไม่หยุดได้(经期延长) ในรายที่อาการหนักอาจเกิดอาการเลือดออกกระปริดกระปรอยมามากมาน้อยสลับกันไม่หยุด(崩漏) ในช่วงตกไข่ถ้าเกิดมีเลือดคั่งในเส้นลมปราณชงเยิ่น หยางชี่จะมีบทบาทผลักดันให้เกิดไข่ตก เมื่อเส้นลมปราณอุดกั้นไม่คล่องจะไปกระทบต่อเส้นลมปราณชงเยิ่นจึงเกิดเลือดออกช่วงไข่ตก
ในช่วงมาประจำเดือน เลือดและชี่จะลงไปรวมกันที่มดลูก ตับจึงมีเลือดมาบำรุงลดน้อยลง ทำให้การระบายชี่ของตับแย่ลงกว่าเดิม จึงทำให้ช่วงที่มาประจำเดือนเกิดอารามณ์แปรปรวนได้ง่าย ในรายที่อาการเบาจะหงุดหงิดโมโหง่าย ซึมเศร้าไม่มีความสุข ในรายที่อาการหนักชี่ตับจะติดขัดจนเกิดความร้อน ความร้อนเข้ารบกวนจิตใจจนนอนไม่หลับ
ดังที่กล่าวมาข้างต้นจึงสรุปได้ว่า มีปัจจัยมากมายที่สามารถทำให้ชี่ตับติดขัด ด้วยเหตุนี้ชี่ตับติดขัดจึงเป็นสาเหตุพื้นฐานที่ส่งผลให้ประจำเดือนไม่ปกติ หากต้องการรักษาประจำเดือนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการระบายชี่ตับ บำรุงตับ ปรับสมดุลตับเพื่อให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น
แต่ถ้าใครรู้ตัวว่าเข้าข่ายอาการข้างต้นที่ได้อ่านมาแล้วนั้น เราก็สามารถใช้อาหารเพื่อช่วยระบายชี่ตับ ลดความเครียดได้เช่นกัน
โจ๊กดอกกุหลาบ
สรรพคุณ : ช่วยระบายชี่ตับ เพิ่มการไหลเวียนเลือด ระงับอาการปวด
ส่วนผสม : ดอกกุหลาบ 5 ดอกและข้าวสาร 100 กรัม
วิธีการทำ : นำดอกกุหลาบที่ยังไม่บานมาเด็ดกลีบแล้วล้างน้ำให้สะอาด เอาข้าวสาร 100 กรัมใส่น้ำต้มจนกว่าจะเป็นโจ๊ก เมื่อข้าวใกล้สุกดีใส่กลีบกุหลาบและน้ำตาลทรายพอประมาณ
วิธีรับประทาน : อุ่นให้ร้อนแล้วรับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 วัน
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567