ภาวะประจำเดือนไม่มา/ขาดประจำเดือน กับมุมมองทางการแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  13155 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะประจำเดือนไม่มา/ขาดประจำเดือน กับมุมมองทางการแพทย์แผนจีน

          ภาวะประจำเดือนไม่มาหรือในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เรียกว่า “ภาวะขาดประจำเดือน” สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ(Primary amenorrhea)

          คือ ผู้หญิงอายุ 18 ปีแต่ยังไม่เคยมีประจำเดือน ซึ่งโดยทั่วไปผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12 ปี หรือผู้หญิงอายุ14 ปี แต่ยังไม่มีลักษณะพัฒนาการทางเพศ เช่น การมีเต้านม ขนที่อวัยวะเพศ ขนรักแร้ และมีประจำเดือน

สาเหตุการเกิดภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ

          · ความผิดปกติทางโครงสร้างกายวิภาคของระบบสืบพันธุ์ เช่น เยื่อพรหมจารีไม่เปิด (Imperforate hymen) ซึ่งจัดเป็นความผิดปกติโดยกำเนิด ทำให้ไม่มีประจำเดือนเมื่อเข้าวัยที่ควรมีประจำเดือน

          · ความผิดปกติของโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome) เป็นภาวะผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบในเพศหญิง เนื่องจากโครโมโซมX แท่งหนึ่งผิดปกติหรือขาดหายไป ซึ่งโดยปกติผู้หญิงจะมีโครโมโซมXสองแท่ง จึงทำให้รังไข่ไม่เจริญเติบโต ไม่มีประจำเดือน มีลูกยาก เป็นต้น

2. ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ(Secondary amenorrhea)

          คือ ผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาก่อน แต่ประจำเดือนขาดหายไปติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 3 รอบประจำเดือน

สาเหตุการเกิดภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ

          · ความเครียด เนื่องจากความเครียดมีผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนควบคุมระบบสืบพันธุ์ จึงมีผลกระทบทำให้ประจำเดือนมาน้อย มามากหรือขาดประจำเดือน

          · วัยทอง โดยเมื่ออายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะค่อยๆเริ่มลดลง ทำให้การตกไข่หรือการประจำเดือนผิดปกติ  เช่น ประจำเดือนไม่มา หรือมาน้อย

          · น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดมากเกินไป โดยสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินไปมีผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนผิดปกติ ทำให้ประจำเดือนไม่มา  ส่วนสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักน้อย ร่างกายไม่มีไขมันหรือพลังงานมากพอต่อการผลิตฮอร์โมน ทำให้ไม่ตกไข่และขาดประจำเดือน

          · การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคไทรอยด์ ยาต้านโรคซึมเศร้า ยารักษาทางจิตเวชรวมถึงยาคุมกำเนิดก็อาจส่งผลกระทบทำให้ประจำเดือนไม่มาได้

          · เป็นโรคเรื้อรัง เช่น ภาวะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS)  โรคไทรอยด์  เนื้องอกในต่อมใต้สมอง เป็นต้น มีส่วนทำให้การทำงานฮอร์โมนผิดปกติส่งผลกระทบให้ประจำเดือนไม่มา


ภาวะประจำเดือนไม่มากับมุมมองทางการแพทย์แผนจีน

          ภาวะประจำเดือนไม่มาหรือในชื่อภาษาจีนเรียกว่า “ ปี้จิง (闭经)” หมายถึง ผู้หญิงอายุ 16 ปีแล้วแต่ยังไม่เริ่มมีประจำเดือนหรือผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาก่อนแต่ต่อมาประจำเดือนขาดหายไปติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไปหรือมากกว่า 3 รอบประจำเดือน  เรียกว่า “ภาวะประจำเดือนไม่มา”  สำหรับผู้หญิงอายุ16ปีแล้วแต่ยังไม่เริ่มมีประจำเดือน เรียกว่า “ภาวะประจำเดือนไม่มาแรกเริ่ม”  ส่วนผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาก่อนแต่ต่อมาประจำเดือนขาดหายไป เรียกว่า “ภาวะประจำเดือนไม่มาต่อเนื่อง”

          ประจำเดือนในทางการแพทย์แผนจีนเกิดจากไต เทียนกุ่ย (天葵) เส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉) ชี่และเลือด รวมถึงเปากง (胞宫) หรือมดลูกซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการสร้าง กักเก็บและปล่อยเลือดออกมาเป็นประจำทุกเดือน หรือที่เรียกว่าประจำเดือน

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค

          ในที่นี้ ภาวะประจำเดือนไม่มาเนื่องด้วยความผิดปกติทางโครงสร้างกายวิภาคของระบบสืบพันธุ์หรือร่างกาย  ความผิดปกติของโครโมโซม  ตั้งครรภ์ หรือช่วงระหว่างให้นมบุตรจะไม่จัดรวมอยู่ในภาวะ/กลุ่มอาการที่จะกล่าวดังต่อไป

          · ภาวะ / กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง Pattern / Syndrome of dual deficiency of qi and blood
          สาเหตุเกิดจากร่างกายมีชี่และเลือดพร่องเป็นทุนเดิม หรือได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ทำให้สร้างเลือดไม่เพียงพอ หรือเป็นโรคหรือมีเหตุที่ทำให้ร่างกายเสียเลือดมาก เป็นเหตุให้ตับและไตขาดการบำรุง เส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉)พร่อง ทะเลเลือด(血海)พร่อง ทำให้มดลูกเลือดประจำเดือนไม่เพียงพอที่จะสามารถขับออกมาเป็นประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนไม่มา

          · ภาวะ / กลุ่มอาการชี่ไตพร่อง Kidney qi deficiency pattern / syndrome 
          สาเหตุเกิดจากสารทุนตั้งต้นแต่กำเนิดไม่เพียงพอหรือร่างกายอ่อนแอ เช่น จากการให้กำเนิดบุตรเยอะ ทำให้ไตชี่พร่อง ขาดบำรุง ส่งผลให้เส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉) รวมถึงทะเลเลือด(血海)เลือดไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้เลือดในมดลูกเลือดพร่อง  ทำให้ประจำเดือนไม่มา

          · ภาวะ / กลุ่มอาการอินพร่องที่มีภาวะเลือดแห้ง Pattern / syndrome of yin deficiency and blood dryness

          สาเหตุเกิดจากทุนเดิมร่างกายมีสารอินไม่เพียงพอ หรือเป็นเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงทำให้สารอินพร่อง สารอินพร่องมีผลทำให้ร่างกายภายในเกิดความร้อน เผาผลาญสารน้ำหรือเลือดในร่างกาย ทำให้เลือดหรือสารน้ำในร่างกายแห้งขอดไม่เพียงพอ ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา

          · ภาวะ / กลุ่มอาการเลือดคั่งจากชี่ติดขัด Pattern / syndrome of qi stagnation and blood stasis

          สาเหตุเกิดจากอารมณ์ที่แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ส่งผลทำให้เกิดภาวะชี่ติดขัด ทำให้การหมุนเวียนของเลือดไม่คล่องตัว เกิดเป็นเลือดคั่ง หรือเกิดจากร่างกายกระทบความเย็นช่วงมีประจำเดือน ส่งผลให้เลือดจับตัวเป็นก้อน เกิดเป็นเลือดคั่ง อุดกลั้นเส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉) เป็นเหตุให้ประจำเดือนไม่มา

          · ภาวะ / กลุ่มอาการเสมหะชื้นก่อกุมเส้นลมปราณ Pattern / syndrome of phlegm-dampness blocking collaterals

          สาเหตุเกิดจากม้ามพร่อง ไตพร่อง เป็นเหตุก่อให้เกิดเสมหะและความชื้นในร่างกาย หรือพื้นฐานร่างกายเดิมเป็นลักษณะเสมหะชื้น

          โดยเสมหะและความชื้นที่เกิดขึ้น จะเข้าไปก่อกุมอุดกลั้นเส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉) ส่งผลให้เลือดหมุนเวียนไม่คล่องตัว ทำให้ประจำเดือนไม่มา       

*** ทะเลเลือด  ตับเป็นทะเลแห่งเลือด ทำหน้าที่กักเก็บเลือดและสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะอื่น ในกรณีเลือดของตับไม่เพียงพอ ส่งผลให้เลือดจากตับส่งไปหล่อเลี้ยงดวง ตา เส้นเอ็น และมดลูกไม่เพียงพอ ทำให้ตาแห้ง ตาลาย ตะคริว ประจำเดือนมาน้อยหรือไม่มา เป็นต้น

วิธีการจำแนกตามกลุ่มอาการและการรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

          · ภาวะ / กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง

อาการแสดง : รอบประจำเดือนมาช้า ปริมาณประจำเดือนน้อย เลือดสีแดงอ่อน ลักษณะเหลว จนเกิดภาวะเลือดประจำเดือนไม่มา ร่างกาย  อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ตาลาย ใจสั่น เป็นต้น

วิธีการรักษา : เพิ่มชี่บำรุงเลือดพร้อมกับปรับประจำเดือน

         · ภาวะ / กลุ่มอาการชี่ไตพร่อง

อาการแสดง : ผู้หญิงอายุ 16 ปีแล้วแต่ยังไม่เริ่มมีประจำเดือน หรือเริ่มมีประจำเดือนช้า มีบางครั้งประจำเดือนไม่มา หรือรอบประจำเดือนมาช้า ปริมาณประจำเดือนน้อย        จนเกิดภาวะเลือดประจำเดือนไม่มา หรือมีอาการปวดเอว ปวดขา เวียนศีรษะ มีเสียงในหู อ่อนเพลีย ชี่บ่อยช่วงกลางคืน เป็นต้น

วิธีการรักษา : บำรุงไตเพิ่มชี่ ปรับเส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉)

        · ภาวะ / กลุ่มอาการอินพร่องที่มีภาวะเลือดแห้ง

อาการแสดง : รอบประจำเดือนมาช้า ปริมาณประจำเดือนน้อย เลือดสีแดง ลักษณะข้น จนเกิดภาวะเลือดประจำเดือนไม่มา ร้อนบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า แก้มแดง ริมฝากแห้ง เวียนศีรษะ ตาลาย ใจสั่น เป็นต้น

วิธีการรักษา : บำรุงอินระบายความร้อนพร้อมกับปรับประจำเดือน

         · ภาวะ / กลุ่มอาการเลือดคั่งจากชี่ติดขัด

อาการแสดง : เลือดประจำเดือนไม่มา ปวดบริเวณชายโครง คัดแน่นหน้าอก อารมณ์หงุดหงิด ขี้โมโห ปวดบริเวณท้องน้อย  เป็นต้น

วิธีการรักษา : ระบายชี่สลายเลือดคั่งพร้อมกับปรับประจำเดือน

          · ภาวะ / กลุ่มอาการเสมหะชื้นก่อกุมเส้นลมปราณ

อาการแสดง : รอบประจำเดือนมาช้า ปริมาณประจำเดือนน้อย เลือดสีแดงอ่อน ลักษณะเหนียวข้น จนเกิดภาวะเลือดประจำเดือนไม่มา มีรูปร่างลักษณะท่วม อ่อนเพลีย  ทานอาหารได้น้อย หรือตกขาวเยอะ

วิธีการรักษา : บำรุงม้ามขับความชื้นและพร้อมกับปรับประจำเดือน

ตัวอย่างกรณีการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ข้อมูลการรักษา

ชื่อ-นามสกุล        น.ส.พัชรีxxx  xxx

เพศ         หญิง                อายุ       48 ปี

เลขประจำตัวผู้ป่วย               333400

วันที่เข้ารับการรักษา   10  ตุลาคม  2564

อาการสำคัญ   ประจำเดือนไม่มา 5 เดือน

ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน

- ในตลอดระยะ 5 เดือนที่ผ่านมาก่อนเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยมีภาวะอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย รวมถึงมีอาการท้องอืด แน่นท้อง  เรอบ่อย

- ประวัติการมีประจำเดือน รอบประจำเดือน 28-30 วัน ระยะเวลาการมีประจำเดือน2-3วัน ประจำเดือนครั้งล่าสุด เดือนพฤษภาคม 2564  ประจำเดือนในอดีตปกติ บางครั้งมีอาการปวดท้องประจำเดือน  ประจำเดือนมีลิ่มเลือด

- การนอนหลับปกติ การขับถ่ายปกติ

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต

- ปฏิเสธประวัติการแพ้ยา

การตรวจร่างกาย

- ปลายลิ้นแดงฝ้าขาวหนา   ชีพจรตึงเล็กไม่มีแรง

การวินิจฉัย

- ภาวะประจำเดือนไม่มา กลุ่มอาการเลือดคั่งจากชี่ติดขัด

          เนื่องด้วยผู้ป่วยมีภาวะอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย รวมถึงมีอาการท้องอืด แน่นท้อง เรอบ่อย ซึ่งบ่งบอกถึงชี่ในร่างกายติดขัด ส่งผลให้การหมุนเวียนของเลือดไม่คล่องตัวเกิดเป็นเลือดคั่ง อุดกลั้นชงม่าย (冲脉) เญิ่นม่าย (任脉) ส่งผลให้เกิดภาวะประจำเดือนไม่มา ปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมีลิ่มเลือด

วิธีการรักษา

          เน้นการระบายชี่ สลายเลือดคั่ง ปรับประจำเดือนให้กลับมาปกติ โดยตัวยาที่ใช้รักษาได้แก่ หวงฉี (黄芪)   หมู่ตันผี (牡丹皮)  จือจื่อ(栀子)       ไป๋เส๋า (白芍)   ตังกุย (当归)   ฝู๋หลิง (茯苓)  ไป๋จู๋ (白术)   กานเฉ่า (甘草)   จื่อเขอ (枳壳)  เจี้ยงเซียง (降香)   ซวนเจ่าเหริน (酸枣仁)   ฝู๋เสี่ยวม่าย(浮小麦)  หวงจิง (黄精)

ประเมินผลการรักษา

ครั้งที่1   17  ตุลาคม  2564

         ผู้ป่วยกลับมามีประจำเดือนปกติในวันที่ 15 ตุลาคม 2564  ปริมาณประจำเดือนมาก เลือดสีแดง มีลิ่มเลือดเล็กน้อย ไม่มีอาการปวดท้องประจำเดือน อาการท้องอืด แน่นท้อง  เรอบ่อยลดน้องลง  หิวบ่อยขึ้น ปวดเอวเล็กน้อย นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ

ลิ้นแดงฝ้าขาวหนา   ชีพจรเล็กไม่มีแรง

ครั้งที่2   31 ตุลาคม  2564
          อาการหิวบ่อย ปวดเอวลดลง ไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ ลิ้นแดงฝ้าขาว  ชีพจรเล็ก

สรุปผลการรักษา

          หลังจากผู้ป่วยทานยาสมุนไพรจีนรักษา ผู้ป่วยสามารถกลับมามีประจำเดือนได้ปกติ อีกทั้งอาการปวดประจำเดือน ท้องอืด แน่นท้อง เรอบ่อยดีขึ้น แสดงถึงชี่และเลือดในร่างกายไหลเวียนดีขึ้น การรักษาในภาพรวมดีขึ้นตามลำดับ
 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้