การฝังเข็มเพิ่มความสูงในเด็ก

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  10588 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฝังเข็มเพิ่มความสูงในเด็ก

ทำไมส่วนสูงของเด็กคนหนึ่งถึงไม่เท่ากับเด็กอีกคนทั้งๆที่อายุเท่ากัน พ่อแม่ตัวสูงแต่ลูกตัวเล็ก หรือพี่น้องตัวสูงต่างกันมาก เกิดจากสาเหตุอะไร? ผู้ปกครองหลายๆท่านกังวลกลัวว่าบุตรหลานจะตัวเล็กและส่งผลต่อโอกาสการทำงานในอนาคต ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า อะไรเป็นปัจจัยในการกำหนดส่วนสูงของคนๆหนึ่ง โดยสรุปได้ดังนี้

ส่วนสูงของเด็กขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย
1. “ทุนก่อนกำเนิด” หรือ กรรมพันธุ์
2.  “ทุนหลังกำเนิด” หรือโภชนาการที่เหมาะสม รวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ความเครียด และฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย เช่น Growth Hormones ,Thyroid Hormones ,Sex Hormones
3. ความผิดปกติอื่นๆของร่างกาย โรคทางพันธุกรรม ภาวะเติบโตช้าที่ไม่พบสาเหตุ เป็นต้น

ทุนก่อนกำเนิดหรือกรรมพันธุ์ เป็นสิ่งที่ได้จากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง โดยการคำนวนส่วนสูงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมี 2 วิธี ได้แก่ การคำนวณความสูงสุดท้ายจากภาพถ่ายเอกซเรย์อายุกระดูก (Bone Age) (Predicted Adult Height)และ การคำนวณความสูงสุดท้ายโดยใช้สูตร Mid-parent  rule

การคะเนส่วนสูงอย่างง่ายโดยใช้สูตร Mid-parent  rule หรือ  Gray Method Predictor ซึ่งสูตรนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาครั้งแรกในปี 1948 โดย Horace Gray ใช้ส่วนสูงของพ่อบวกส่วนสูงของแม่(หน่วยเป็นนิ้วหรือเซนติเมตร ในที่นี้จะใช้หน่วยเป็นเซนติเมตร) บวกด้วย 13 ในเด็กผู้ชาย และลบด้วย 13 ในเด็กผู้หญิง จากนั้นนำผลที่ได้หารด้วย 2 จะเท่ากับส่วนสูงมาตรฐานของเด็กคนนั้น มีความคลาดเคลื่อนบวกลบประมาณ 9 เซนติเมตร ตัวเลขที่ได้จะเท่ากับส่วนสูงสุดท้ายต่ำสุดและสูงสุดที่มีความเป็นไปได้

ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อสูง 183 เซนติเมตร คุณแม่สูง 166 เซนติเมตร
ลูกสาวจะสูงเท่ากับ (183+166-13)/2 = 168 เซนติเมตร ±9
ส่วนสูงสุดท้ายต่ำสุด คือ 159 เซนติเมตร
ส่วนสูงสุดท้ายสูงสุด คือ 177 เซนติเมตร
ลูกชายจะสูงเท่ากับ (183+166+13)/2  = 181 เซนติเมตร
ส่วนสูงสุดท้ายต่ำสุด คือ 172 เซนติเมตร
ส่วนสูงสุดท้ายสูงสุด คือ 190 เซนติเมตร

การเจริญเติบโตของเด็กจะมีช่วง Growth spurt  (การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว) อยู่ 2 ช่วงวัย คือ ช่วงวัยทารก และ ช่วงวัยรุ่น หากได้รับการบำรุงหล่อเลี้ยงไม่ดีพอ อาจทำให้เสียโอกาสตรงนี้ได้ การเจริญเติบโตของกระดูก จะเป็นการเจริญเติบโตแบบแทนที่ กระดูกอ่อนสร้างกระดูกแข็งสร้างตาม สร้างตามกันไปเรื่อย ๆจนกว่า Epiphysial Plate หรือ Growth Plate จะหยุดสร้าง นึกภาพกระดูกไก่ที่มีกระดูกอ่อนขาวๆอยู่ตรงปลาย  Growth Plate ตัวนี้จะเริ่มหยุดเติบโตเมื่ออายุประมาณ 17-18 ปี ในเด็กบางรายก็เร็วกว่านั้น

 สิ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ “ทุนหลังกำเนิด”  หรือภาวะโภชนาการที่เหมาะสม ทั้งนี้หมายรวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

1.  ภาวะโภชนาการที่เหมาะสม อาหาร คือ ทุนหลังกำเนิด  后天之本 หากได้รับอาหารไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ จะทำให้เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้ว  แต่สิ่งนึงที่ถูกละเลยคือ การทานอาหารไม่ใช่เพียงแค่ทานให้อิ่ม หรือทานให้ครบสามมื้อ แต่คือการเลือกประเภทของอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ อาหารห้าหมู่ ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันดี วิตามินแร่ธาตุอื่นๆ แหล่งของแคลเซียมมีทั้งปลาตัวเล็กๆ หรือแม้แต่ในผักใบเขียวล้วนมีมีปริมาณแคลเซียมและธาตุเหล็กอยู่ไม่น้อย

สารอาหารที่ช่วยให้รูปร่างสูงใหญ่ไม่ได้มีเฉพาะแคลเซียมเท่านั้น การดื่มนมก็ไม่ได้มีนัยยะสำคัญว่าทำให้ตัวสูง ในทางกลับกัน กลับพบว่ามีเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัวมากขึ้นเรื่อยๆ อาการจะแสดงออกได้หลายระบบไม่ว่าจะเป็น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบผิวหนัง และอื่นๆ  หลีกเลี่ยงการทานอาหารขยะ หรือเนื้อสัตว์ที่ใช้ยาเร่ง เพราะมีโอกาสที่เด็กจะได้รับฮอร์โมนจากขั้นตอนการผลิตเหล่านั้น ส่งผลให้เด็กโตเกินอายุและกระดูกปิดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น  รักษารูปร่างไม่อ้วนและไม่ผอมเกินไป

ในเด็กที่ม้ามพร่องจะมีปัญหาในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร เพื่อเปลี่ยนไปเป็นพลังงานหรือเลือดได้ไม่ดีพอ ความไม่สมดุลของอาหาร เช่น ทานของหวานมัน ทอดมากเกินไป จะเกิดเสมหะชื้นในร่างกายอุดกั้นทวารต่างๆ


2. การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ การนอนหลับไม่ได้มีเพียงแค่การนับชั่วโมงให้ครบ 8 ชั่วโมงเท่านั้น ช่วงเวลาในการเข้านอนกว่าที่ร่างกายจะหลับสนิท ในช่วงเวลากลางคืน เพื่อให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเพื่อซ่อมแซมร่างกาย และมีส่วนให้ระดับสารเคมีในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงานทำงานได้เป็นปกติ  ศาสตร์การแพทย์แผนจีน อธิบายด้วย
หลักอินหยาง 阴阳

กลางวันคือ “หยาง 阳” พลังงานเยอะ
เปรียบเสมือนการเคลื่อนไหว กลางคืน คือ “อิน 阴” เสมือนความเงียบ มืด สงบ กลางคืนต้องนอนเพื่อชาร์จอินให้เต็มและเปลี่ยนไปเป็นหยางเมื่อเราตื่น กลางวันคือช่วงเวลาที่เราต้องแอคทีฟร่างกายเพื่อชาร์จหยางให้เต็มและเปลี่ยนกลับไปเป็นอินในตอนกลางคืน การใช้ชีวิตในสองช่วงเวลาต้องสมดุลกัน เป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมคนนอนดึกตื่นเช้าจะยังเพลีย ยิ่งนอนกลางวันเยอะยิ่งเพลียหนักกว่าเดิม อ้วนง่าย หิวบ่อย และร่างกายทรุดโทรม


3. การออกกำลังกาย ไม่น้อยกว่า 120 นาที/สัปดาห์ โดยเฉลี่ยเวลาต่อวัน ไม่หักโหมออกกำลังหนักๆเพียงครั้งเดียว ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เด็กสมัยใหม่ออกกำลังกายน้อย เคลื่อนไหวร่างกายน้อยมาก มักจะนั่งอยู่หน้าจอทำให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อน้อยลง กิจกรรมกลางแจ้งน้อย ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีน้อยลง ประสิทธิภาพในการดึงแคลเซียมเข้ากระดูกน้อยลง อีกทั้งช่วยให้ “ชี่” ในร่างกาย ไหลเวียนได้ดีไม่ติดขัด เมื่อชี่ไหลเวียนได้ดี จะนำพาเลือดให้สูบฉีดทั่วร่างกาย

4. ความเครียด ไม่เพียงแค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่มีความเครียด และความเครียดก็ไม่ได้ส่งผลแค่สภาพจิตใจเท่านั้น แต่ส่งผลไปถึงกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลาย ทำให้ชี่ไหลเวียนติดขัด อัดอั้นจนไปกระทบการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร บางครั้งเด็กจะเบื่ออาหารง่าย หงุดหงิด ถอนหายใจบ่อย เด็กบางคนวิตกกังวลง่ายจนนอนไม่หลับเลยก็มี

จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า สาเหตุที่เด็กมีปัญหาด้านการเจริญเติบโต มักมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยแวดล้อมเรื่องวินัยในการใช้ชีวิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง การฝังเข็ม เป็นอีกวิธีการปรับสมดุลของอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ตับ ม้าม ไต เพื่อให้อวัยวะเหล่านี้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ บำรุงเลือด บำรุงชี่ รวมถึงสมดุลอินหยางในร่างกาย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในครอบครัวของเด็กด้วย การรักษาจะกำหนดอายุไว้ที่ไม่เกิน 17 ปี เพราะถึงแม้ Growth Hormone จะยังหลั่งได้ แต่อย่าลืมว่ามีปัจจัยของอายุกระดูกที่ต้องพิจารณา

มีคำถามที่ถามเข้ามาเยอะมากว่า เด็กเริ่มฝังเข็มได้เมื่อไหร่ คำตอบก็คือ “เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กพร้อม”  พูดคุยตกลงกับลูกให้ดี ไม่อยากให้ต้องบังคับจับกด จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลโดยไม่จำเป็น 


บทความโดย
แพทย์จีน กนิษฐา ใจเย็น แสงสกุล (จาง เยว่ ฟาง)
张月芳 中医师
TCM. Dr. Kanittha Jaiyen Saengsakul ( Zhang Yue Fang)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.557
ฝังเข็มรักษาโรคระบบเมตาบอลิกผิดปกติ ระบบการเผาผลาญ โรคอ้วน กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อเข่า ปวดศีรษะ ออฟฟิศซินโดรม นอนไม่หลับ อาการทางผิวหนัง เช่น สิว ฝ้า ริ้วรอยก่อนวัย ริ้วรอยบนใบหน้า ระบบประสาทและสมอง โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาตใบหน้า หน้าเบี้ยว โรคลมชัก เพิ่มความสูงในเด็ก โรคในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะสมองเสื่อม พาร์กินสัน


 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้