เวียนหัว บ้านหมุน มึนหัว มึนงง ดีขึ้นได้ด้วยวิธีรักษาแบบแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  28178 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เวียนหัว บ้านหมุน มึนหัว มึนงง ดีขึ้นได้ด้วยวิธีรักษาแบบแพทย์แผนจีน

อาการเวียนหัว เป็นอาการที่หลายคนต้องเคยพบเจอ โดยอาการน้อยๆ อาจจะรู้สึกหนักหัว มึนๆ เวียนหัวเล็กน้อย อาการมากขึ้นจะรู้สึกเหมือนนั่งบนเรือ ในกรณีที่รุนแรงขึ้นจะมีอาการรู้สึกบ้านหมุนไปรอบๆ ไม่สามารถยืนได้ และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก มือเท้าเย็น หน้าซีด เป็นลม ส่งผลต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่สามารถทำงานได้ ไม่กล้าลุกจากที่นอน  อาการเวียนหัวอาจเกิดขึ้นได้เมื่อเปลี่ยนท่ากะทันหัน เช่น การลุกจากท่านั่ง หรือหันศีรษะมองสิ่งของ หรือรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ความดันโลหิตต่ำเกินไป หรือหลังจากทำงานหนักมาทั้งวัน อาการเวียนหัว บ้านหมุนอาจเกิดขึ้นได้

แพทย์จีนรักษาอาการเวียนศีรษะอย่างไร ?
แพทย์จีนตรวจวินิจฉัยโรคแบบองค์รวมนำข้อมูลจากทั้งตัวผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมต่างๆ มาร่วมพิจารณาหาสาเหตุของโรค อาศัยการซักประวัติอย่างละเอียด แพทย์จีนจะแยกแยะว่าคนไข้เป็น "อาการวิงเวียนศีรษะแบบใด" โดยพิจารณาจากคำอธิบายอาการของคนไข้ อาการเริ่มเกิดจากเมื่อไร มีสาเหตุอะไร มีปัจจัยอะไรกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนหัวบ้าง อาการเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เกิดขึ้นขณะพักหรือทำงานอะไรอยู่ มีอาการกี่วินาที กี่นาที กี่ชั่วโมง หรือกี่วัน  ปัจจัยกระตุ้นทำให้รุนแรงขึ้นหรือเบาลง อาการข้างเคียง ประวัติครอบครัว ประวัติโรคในอดีต ตรวจอะไรมาบ้าง ใช้ยาอะไรไป และการรักษาได้ผลเพียงใด มีโรคที่คล้ายคลึงกันในประวัติครอบครัวหรือไม่

จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยสภาวะของร่างกาย มองดู  สีหน้า ดูลิ้น การฟัง การดมกลิ่น  การจับชีพจร การคลำ  จุดประสงค์ในการตรวจวินิจฉัยนั้นเพื่อประเมินพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน ที่สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นความผิดปกติของร่างกาย แล้วใช้ทฤษฎีการแพทย์แผนจีนในการวินิจฉัยโรค การเกิดอาการเวียนหัว มีความสัมพันธ์อย่างมากกับความแข็งแรงของร่างกาย ความเครียด สภาพแวดล้อม และประจำเดือน เป็นต้น

อาการเวียนหัวไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการของโรค
สาเหตุการเกิดอาการเวียนหัวมีมากมายจึงไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดจากการสังเกต จึงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์จีน การรักษาจึงต้องหาสาเหตุแล้วรักษาที่สาเหตุไม่ใช่รักษาที่อาการคือกินแต่ยาแก้เวียนศีรษะโดยไม่มีเป้าหมาย หลังจากตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุแล้ว ก็ทำการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แผนจีน อาทิ ยาจีน ฝังเข็ม นวดทุยหนา


แพทย์แผนจีนเชื่อว่า "การเคลื่อนไหว" 动 ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ "ลม" 风 ลมมีลักาณะเคลื่อนไหว อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับ "ลม" ลมที่ก่อตัวจากภายในร่างกายเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดปกติของตับ เช่น ความร้อนสูงเปลี่ยนเป็นลมในตับ หยางในตับเพิ่มสูงเปลี่ยนเป็นลม  เลือดตับพร่องเปลี่ยนเป็นลม รวมเรียกว่า ลมในตับ 肝风内动 มีอาการสำคัญคือ วิงเวียนศีรษะ

กลไกการเกิดอาการเวียนศีรษะของแพทย์แผนจีน 
1. ม้ามกระเพาะอาหารพร่องทำให้เกิดเสมหะ "ไม่มีเสมหะ ไม่มีอาการวิงเวียนศีรษะ" เกี่ยวข้องกับ "เสมหะ" “无痰不作眩”,与“痰”有关
2. การขาดสารอาหาร อินตับพร่องทำให้เลือดพร่อง "ไม่มีความพร่อง ไม่มีอาการวิงเวียนศีรษะ" เกี่ยวข้องกับ "ความพร่อง" “无虚不作眩”,与“虚”有关。
3. "ไม่มีลม ไม่มีอาการวิงเวียนศีรษะ" เกี่ยวข้องกับ "ลม"   “无风不作眩” ,与“风”有关。
4. หยางตับแกร่งทำให้เกิดไฟนานเข้าทำให้เกิดลม "ลมเกิดจะเวียนหัว ล้วนเป็นที่ตับ" เกี่ยวข้องกับ "ลมตับ"   “诸风掉眩,皆属于肝”,与“肝风”有关。
5. "เลือดคั่งเกิดลม" เกี่ยวข้องกับ "ภาวะเลือดคั่ง"  “瘀血生风”,与“瘀血”有关。


อาการวิงเวียนศีรษะทางการแพทย์แผนจีนอาจเป็นได้ทั้งภาวะแกร่งหรือภาวะพร่อง จำแนกได้ดังนี้
1. เวียนและปวดแน่นศีรษะ กำเริบเมื่อโมโหร่วมกับหน้าแดง ปากขม หูอื้อ คอแห้ง ฉุนเฉียวง่าย พบในภาวะหยางของตับแกร่งและขึ้นสู่เบื้องบน
2. เวียนศีรษะและตามัว กำเริบเมื่อใช้กำลังมาก สีหน้าซีดขาว ลิ้นซีด ใจสั่น อ่อนเพลีย ลุกขึ้นจะวิงเวียนศีรษะ พบในภาวะชี่และเลือดพร่อง
3. เวียนศีรษะและหูอื้อ ร่วมกับหลงลืมง่าย ปวดเอวและเข่าอ่อน พบในภาวะจิงของไตพร่อง



จุดเด่นของยาจีนในการรักษาอาการเวียนศีรษะ
อาการเวียนศีรษะสาเหตุจะหลากหลายและซับซ้อนมาก ดังนั้น การรักษาจึงควรขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค  หลังจากตรวจวินิจฉัย ใช้ยาตามสาเหตุ ตามประสบการณ์ ตามงานวิจัย สามารถรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้ดี เห็นผลได้ชัดเจน ซึ่งคนส่วนใหญ่ยอมรับ อาการแกร่ง สามารถใช้ยาจีนขับความชื้น ขจัดเสมหะ และช่วยปรับสมดุลน้ำส่วนเกิน  อาการพร่อง ใช้ยาจีนในกลุ่มบำรุงชี่ บำรุงเลือด บำรุงไตอินหยาง เป็นต้น  ข้อดีของยาจีนในการรักษาอาการเวียนศีรษะ

ยาจีนรักษาอาการเวียนศีรษะแบบองค์รวม หลักการรักษาอาการเวียนศีรษะยาจีนจะทำให้ตับสงบ ระงับหยางบำรุงม้ามและพลังชี่ สลายเสมหะ สงบลม บำรุงชี่และอิน แพทย์จีนพิจารณาการใช้ยาจีนค่อนข้างครอบคลุม  รักษาสาเหตุเป็นหลัก อาการหนักเบาอะไรควรรักษาก่อนรักษาหลัง ติดตามทั้งอาการและสาเหตุ ปรับสมดุลหยินและหยาง รักษาให้หายขาด และป้องกันการเกิดซ้ำ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือดและการไหลเวียนของเลือด  ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ดี

ยาจีนมีข้อได้เปรียบชัดเจนในการรักษาโรคบรรเทาอาการ ในระยะอาการสงบ ไม่ควรกินแต่ยาแก้อาเจียนและเวียนศีรษะ แต่เน้นยาที่ช่วยในการฟื้นตัวของระบบประสาทและระบบเลือดโดยรวม ยาจีนได้เปรียบชัดเจนในเรื่องการฟื้นตัวของร่างกาย ปรับสมดุลจากภายใน ให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง กำจัดอาการบวมน้ำ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน  ยับยั้งการอักเสบและติดเชื้อ ทำให้ร่างกายสมดุล ฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง

ยาจีนสามารถป้องกันโรคก่อนที่จะเกิดได้ หากผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนศีรษะซ้ำๆ สามารถปรับยาจีนที่เหมาะสมตามร่างกายของผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้

ยาจีนมีผลข้างเคียงน้อย ผลการยับยั้งที่รุนแรงมากเกินไปจะส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาทสมองและก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ หัวใจ ตับ และไตของผู้ป่วยได้ง่าย ดังนั้นในการรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน คือควบคุมอาการเฉียบพลันก่อน และเพิ่มยาจีนเมื่อควบคุมอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้แล้ว ควรหยุดยาเวียนศีรษะให้เร็ว และควรให้ยาจีนเพื่อรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ปรับสมดุลร่างกาย



ถ้ามีอาการเวียนศีรษะ เราควรทำอย่างไร ?
1. หากเวียนหัวจนทำให้กระทบกับชีวิตประจำวัน ให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยหาสาเหตุ
2. หลังจากวินิจฉัยอาการเวียนหัว บ้านหมุน มึนหัวแล้วรักษาให้ทันเวลา ร่วมมือกับแพทย์เพื่อปรับสภาพร่างกาย และปรับสาเหตุของโรค
3. หลังจากอาการดีขึ้นแล้วปรับพฤติกรรม ดูแลและป้องกันไม่ให้กลับมาเวียนหัวอีก
4. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความสุข! ทานอาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ

อาการเวียนศีรษะมีหลายลักษณะ จำแนกอย่างไร ?
อาการเวียนหัว มึนหัว หน้ามืด เดินเซทรงตัวไม่อยู่ มีความต่างกันอย่างไร ลองมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

อาการเวียนหัว 眩晕
อาการที่ทำให้เรารู้สึกหมุน รู้สึกว่าตัวเราอยู่นิ่ง แต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานั้นหมุน หรือที่เรียกว่า บ้านหมุน  หรือสิ่งแวดล้อมอยู่นิ่งๆ แต่ตัวเรานั้นหมุน บางทีก็เอียงเหมือนจะล้ม รู้สึกโคลงเคลง ตาลาย โรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหินปูนในหูชั้นใน  โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ  โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น ส่วนใหญ่ไม่กล้าลืมตาเมื่อรู้สึกวิงเวียน มักมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง เหงื่อออก ความดันโลหิตสูง

อาการมึนหัว 头昏
จะมีอาการหนักหัว มึนๆ ตื้อๆ งงๆ เบาๆ ลอยๆ แต่ไม่เวียนหมุน ไม่มีอาการตาลายหรือโคลงเคลง สาเหตุมักเกิดจาก พักผ่อนน้อย เครียด อดนอน นอนมากไป นอนผิดท่า เมาค้าง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาระงับประสาท ยาแก้แพ้ หรือยาอื่นๆ ที่มีผลต่อสมอง หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น

อาการหน้ามืด 晕厥
มักมีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ตาลาย อาจมีอาการ แน่นหน้าอก ใจสั่น อ่อนเพลียร่วมด้วย อาการนี้มักจะเป็นและหายไปภายในไม่กี่วินาที  พบบ่อยในโรคความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า หรือได้รับการกระตุ้นจากภายนอก เช่น กลัวเข็มจนเป็นลม การทะเลาะโมโหจนเป็นลม หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคทางระบบประสาท เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

อาการทรงตัวไม่อยู่ 失衡不稳
เมื่อยืนหรือเดินจะรู้สึกสูญเสียการทรงตัว เดินเซ ไม่มั่นคงราวกับว่ากำลังเดินบนสะพานแขวน มักมีอาการวิงเวียนศีรษะร่วมด้วย ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโรคทางระบบประสาทและสมอง

โรคอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุทำให้เวียนศีรษะ ?
1. ภาวะโลหิตจาง
2. ภาวะไขมันในเลือดสูง
3. ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว
4.โรคกระดูกต้นคอ 
5. ความดันโลหิตสูง 
6. โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจ
7. โรคหลอดเลือดสมอง
8. โรคหูชั้นใน เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน  โรคหินปูนในหูชั้นใน การอักเสบของหูชั้นใน โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ
9. โรคระบบเลือด โรคเลือดทั่วไป เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคโลหิตจาง และโรคเลือดที่แข็งตัวมากเกินไป
10.โรคต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ
11. การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน วัยหมดประจำเดือน  
12. เหนื่อยล้ามากเกินไป หรืออดนอน
13. น้ำตาลในเลือดต่ำ
14. โรคตา และสายตาอ่อนล้า
15. โรคที่เกิดจากความเครียด หรือปัจจัยทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล  โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น

แพทย์จีนวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการเวียนศีรษะมีแบบไหนบ้าง ?
1. กลุ่มอาการหยางตับแกร่ง 肝阳上亢型眩晕
เวียนศีรษะ ตาลาย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง ตาแดง มีเสียงดังในหู หงุดหงิด โมโหง่าย นอนไม่หลับ ฝันมาก ปากขม เวลาโกรธโมโหอาการมึนศีรษะจะรุนแรงมากขึ้น

2. กลุ่มอาการซี่และเลือดพร่อง 气血两虚型眩晕
เวลาเคลื่อนไหวร่างกายมากอาการเวียนศีรษะจะรุนแรงขึ้น มักจะเกิดขึ้นเวลาเหนื่อย อ่อนเพลีย หายใจสั้น หน้ามืด ตาลาย หน้าซีด ปากซีด ใจสั่น ท้องอืด เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ

3. กลุ่มอาการสารจำเป็นของไตพร่อง 肾精亏虚型眩晕
เวียนศีรษะแบบโล่งๆ สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ความจำไม่ดี ขี้ลืม นอนไม่หลับ ฝันมาก มีอาการปวดเอวหรืออ่อนแรงที่แขนขาและหัวเข่า หูอื้อ หูมีเสียง หูดับ ความสามารถในการได้ยินลดน้อย ถ้ามีอินพร่องร่วมจะรู้สึกตัวร้อน และเหงื่อออกในเวลากลางคืน

4. กลุ่มอาการมีความชื้นและเสมหะอุดกั้นในจงเจียว  痰浊中阻型眩晕

เวียนศีรษะและรู้สึกสิ่งรอบตัวหมุนได้ รู้สึกศีรษะหนัก อึดอัดในทรวงอก คลื่นไส้อาเจียนออกมาเป็นเสมหะและน้ำลาย    กระวนกระวาย ปากเหนียว เบื่ออาหาร

5. กลุ่มอาการเลือดคั่งอุดกั้นเส้นลมปราณ 血瘀阻络型眩晕
วิงเวียนศีรษะเป็นๆหายๆ ร่วมกับปวดศีรษะ ขี้ลืม นอนไม่หลับ ใจสั่น ริมฝีปากสีม่วงเข้ม อาจมีบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อน

การดูแลและป้องกันไม่ให้กลับมาเวียนศีรษะอีก
•  ทำจิตใจให้สบายและปรับลดความเครียด ความวิตกกังวล
•  หลีกเลี่ยงการทำงานที่หนักเกินไป
• นอนให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการนอนดึก ควรหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมง
• หลีกเลี่ยงอากาศร้อน ไปอยู่ในที่เย็น สามารถดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อเติมน้ำและอิเล็กโทรไลต์ที่สูญเสียไปเลี่ยงอาการขาดน้ำ
• หลีกเลี่ยงคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ชาเขียว น้ำอัดลมบางชนิด หลีกเลี่ยงสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่
• รับประทานอาหารให้ตรงเวลาหลีกเลี่ยงการอดอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อิ่มเกินไป
• หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เช่น หวานจัด มันมากเกินไป เค็มเกินไป
• พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมองและระบบประสาท
• หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น เล่นโทรศัพท์มือถือนาน  หลีกเลี่ยงเสียงดัง กลิ่นแรง แสงกะพริบ
• หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น การหมุนหันศีรษะเร็วๆ การเปลี่ยนแปลงท่าทางอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้มเงยคอหรือหันอย่างเต็มที่
• ถ้าเป็นโรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด ควบคุมโรคให้ดี
• ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรติดลูกอม น้ำตาลก้อนเล็กๆไว้บรรเทาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
• สำหรับผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะที่เกิดจากกระดูกต้นคอ ให้เลือกหมอนที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการก้มศีรษะเป็นเวลานาน
• หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู

บทความโดย
แพทย์จีน ศศินิภา กายเจริญ (เฝิง เจี๋ย อวี่)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.776
คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
ประสบการณ์ในการรักษา
รักษาโรคอายุรกรรมทั่วไป เช่น ภูมิแพ้อากาศ ไอเรื้อรัง กรดไหลย้อน นอนไม่หลับ ปวดหัว เวียนหัว โรคตับ โรคระบบเลือด ระบบต่อมน้ำเหลือง โรคเต้านม เนื้องอก มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ช่วยลดผลข้างเคียงของคีโม ฉายแสง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีและยืนยาวขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้